ทุกประสบการณ์ทำเรื่องใหญ่ เรื่องยาก มีคุณค่า น่าเรียนรู้ แต่…..


สิ่งแรกที่ประทับใจ เมื่อมีโอกาสมาเป็น senior leadership fellow ที่ Harvard school of public health คือได้เห็นการให้คุณค่า กับ ประสบการณ์ และคนที่มีประสบการณ์

 

ที่นี่เขาบอกว่า อาจารย์ที่ล้วนแต่ทรงคุณวุฒิ มีคุณค่าและความสำคัญกับ การผลิตบัณฑิตที่มากความรู้ แต่บัณฑิต ต้องการเรียนรู้จากคนที่ได้ไปลงมือทำงานจริง ไม่ใช่แค่ อาจารย์ที่มีความรู้ทางวิชาการระดับโลก เพียงอย่างเดียว

 

อาจารย์ของสถาบันระดับโลกอย่าง harvard อาจมีประสบการณ์ ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่แค่ในตำรา แต่พอมาเป็น อาจารย์ อย่างมากที่ทำได้ ก็เป็นประสบการณ์ ที่จำกัดอยู่ใน “ขอบเขตของโครงการ” ซึ่งมีเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ชัดเจน แถมมักเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขพิเศษ (มีงบประมาณสนับสนุน มีเวลามากพอที่จะค่อยๆทำ และตามดู แล้วนำมาปรับ ฯลฯ)

 

คนที่มีประสบการณ์ทำเรื่องยากๆ (สร้างการเปลี่ยนแปลง) โดยเฉพาะในขอบเขตที่กระทบ หรือเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ทำอย่างต่อเนื่องในบริบทที่เป็นจริง พบอุปสรรคมากมาย ถือเป็นผู้มีความรู้อีกประเภทหนึ่ง (เขาไม่ได้ใช้คำว่า tacit knowledge หรือความรู้แฝง อย่างที่พวกเราใช้ในวงการ การจัดการความรู้ -KM จะเป็นเพราะ tacit knowledge เป็นสิ่งที่นำเสนอจากนักวิชาการฝั่งตะวันออก คือญี่ปุ่น หรือไม่ก็ไม่ชัดเจน)

 

คนที่เป็น senior leadership fellow ของ school of public health มีตั้งแต่ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย  อดีตผู้บริหาร FDA ในอเมริกา อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขของหลายประเทศ ไปจนถึงผู้ว่าการรัฐหลายรัฐในอเมริกา ที่มีบทบาทในการทำเรื่องสุขภาพ ที่น่าสนใจในช่วงที่มีตำแหน่ง

 

ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ทำโปรแกรมนำผู้มีประสบการณ์มาพูดคุยกับ นักศึกษา พบว่า นักศึกษาชอบมาก แทนที่จะรู้สึกว่า เสียเวลา หรือมองว่าเป็นประสบการณ์ ที่อาจไม่มีหลักวิชาการรองรับชัดเจน หรือแตกต่างจากบริบทที่ตัวเองคิด หรืออยากไปทำงาน

 

ผมมารู้ในเวลาต่อมา เมื่อเกิดเรื่องถกเถียงที่ kennedy school of government (HKS) ว่าการเชิญใครมาเป็น fellow ไม่ว่าจะเป็น visiting fellow, senior fellow หรือ leadership fellow เป็นเรื่องที่สถาบันต่างๆ พึงกระทำด้วยความระมัดระวัง จะบอกแค่ว่า คนนั้นมีประสบการณ์น่าเรียนรู้ แล้วก็เชิญมาเป็น fellow อาจเข้าข่ายประมาทเกิน

 

ก่อนจะเล่าถึงกรณีถกเถียงที่ว่า มาทำความรู้จัก Harvard kennedy school of government (HKS) กันสั้นๆ หลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อ เพราะเป็น graduate school อีกแห่งหนึ่งของ Harvard ที่มีชื่อว่าผลิตนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จทางการเมือง การปกครอง ไม่แพ้ Harvard business school ที่ผลิตนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

 

HKS ตั้งมาเกือบ 100 ปีแล้ว ตั้งแต่หลัง the great depression ในอเมริกา (เศรษฐกิจตกต่ำขนาดหนักช่วง คศ 1920 จากวิกฤตตลาดหุ้น) มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งโรงเรียนมาสอนเรื่อง การปกครองในช่วงเวลาเหมาะเจาะ เพราะการเกิด great depression น่าจะมาจากความบกพร่องของการทำหน้าที่ของรัฐ ในทางกลับกัน ช่วงเวลาที่พยายามฟื้นคืนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กลไกรัฐก็ถือว่ามีความสำคัญมาก

 

เกิดตัวอย่างและบทเรียนมากมาย ที่สมควรศึกษา และเรียนรู้เพื่อให้การบริหารรัฐกิจ ในอนาคตเป็นไปอย่างเหมาะสม

 

ในช่วงเดือน กันยายน 2017 HKS เชิญ Chelsea manning อดีตทหารผ่านศึกอิรัค ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานเปิดเผยความลับทางการทหารของรัฐบาลอเมริกันใน สงครมอิรัค มาเป็น visiting fellows พร้อมกับอีกหลายคนที่มีประสบการณ์และบทบาท เกี่ยวข้องกับการบริหารรัฐกิจ

 

แต่กลับกลายเป็นประเด็นถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ จนคณบดี HKS ต้องขอยกเลิกคำเชิญ Chelsea manning ในฐานะ visiting fellows แต่ยืนยันเชิญมาพูดคุยกับนักศึกษา เป็นช่วงสั้นๆ

https://www.thecrimson.com/article/2017/9/15/iop-withdraws-manning-invitation/

 

ปฎิกริยาที่ทำให้คณบดีต้องพิจารณาและยกเลิกคำเชิญดังกล่าวมาจาก senior fellow ที่ HKS เชิญมาทำหน้าที่อยู่ในขณะนั้น คือ  Michael morel ที่เป็นอดีตรองผู้อำนวยการ CIA ที่ไม่พอใจถึงกับ ขอลาออกจากการเป็น senior fellow

 

พร้อมๆกันนั้น ผู้อำนวยการ CIA ก็ยกเลิกโปรแกรมมาที่ HKS ในช่วงที่ใกล้กัน

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่สถาบันแห่งหนึ่งเชิญใครคนใดคนหนึ่ง มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง จะเสมือนหนึ่งว่า สถาบัน เห็นด้วย หรือสนับสนุนการกระทำของบุคคลนั้น หรือไม่

 

โดยเฉพาะการเชิญมา โดยมี “ฐานะ” เป็น fellow (visiting or senior)

 

คณบดี HKS ยืนยันว่า สถาบันมีหน้าที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ที่ทำงาน เกี่ยวข้องกับรัฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ และอาจเห็นต่างกัน (กรณีนี้คือการดูแลรักษาความลับทางการทหาร กับความชอบธรรมของปฎิบัติการทางทหาร จนนำไปสู่การนำความลับมาเปิดเผยแก่สาธารณะ)

 

แต่ก็ยอมรับว่า ตนเองประเมินสถานะของการเป็น fellow ที่ได้รับเชิญจากสถาบัน ในสายตาของสังคม และสมาชิกในสถาบัน ผิดไป

 

มีคนเสนอมุมมองว่า การที่สถาบันเชิญใครมาเป็น fellow ก็เหมือนให้คุณค่ากับประสบการณ์ ที่คนนั้นมี จนถึงขั้นเหมือน endorse การกระทำที่เกิดขึ้น

และกรณี Chelsea manning จะกลายเป็นการบอกทางอ้อมว่า วิธีทำให้ตัวเองเด่นดัง คือการเอาความลับราชการมาเปิดเผย

 

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นข่าวดังมากมาย การถกเถียง และการตัดสินใจสุดท้ายของผู้เกี่ยวข้อง เกิดขั้นและจบลงในเวลาอันรวดเร็ว

 

แต่คงเป็นบทเรียนให้ผู้บริหารสถาบันที่ให้ความสำคัญกับ ประสบการณ์จริง และชอบเชิญคนมีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษา เอาไปคิดต่อได้อีกแยะ ว่า ควรเลือกวิธีการอย่างไรในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้

 

เพราะต้องยอมรับว่า การเลือกเชิญมาเป็น fellows ย่อมสะท้อนระดับการให้เกียรติ แก่ผู้ได้รับเชิญ รวมไปถึงการให้คุณค่ากับเรื่องราวของคนคนนั้น มากกว่าการเชิญมาเป็น ผู้บรรยายทั่วๆไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แต่การไปมองว่า ประสบการณ์หรือการกระทำของคนคนนั้น ท้าทายบรรทัดฐานของสังคม หรือแม้กระทั่งกรอบกฎหมาย เลยเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีคุณค่า ไม่ควรเรียนรู้ ก็อาจตัดโอกาสการเรียนรู้ ของคนที่จะจบมาเป็นผู้นำในสังคม อย่างที่ HKS

 

กลายเป็นโจทย์ของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ไม่ยกเว้นในประเทศเราเองว่า เรากำลังสร้างคนที่มีความรู้ หรือคนที่จะมาเป็นผู้นำของสังคม

หมายเลขบันทึก: 647548เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พอเราจะเชิญใครมาพูด ต้องคิดถึงว่าเป็นคนดีด้วยหรือไม่ครับ

คุณหมอหายไปนานมากๆครับ

ไปบอกก่อนว่าใครดี ใครไม่ดี อาจปิดกั้นโอกาสที่คนฟังตัดสินใจเอง

ไม่เลือกก่อนก็หาว่าคนจัดไม่รับผิดชอบ 

เรื่องยากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท