ศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการสะพานสูง


ศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการสะพานสูง

ที่แห่งนี้คอยเติมเต็มกำลังใจร่วมกัน

          เด็กพิการ แม้จะมีความบกพร่องทางร่างกาย แต่ถ้าหากได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกวิธีและต่อเนื่อง แล้วย่อมมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้

            ทว่าสถานที่ที่รับดูแลเด็กพิการนั้นกลับมีน้อยมากและอยู่ไกล ซึ่งผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่าย  เสียเวลา และอุปสรรคที่สำคัญ คือความยุ่งยากในการเดินทาง แต่คงจะดีไม่น้อยหากมีสถานที่ที่คอยช่วยฟื้นฟูเด็กพิการนั้น อยู่ใกล้บ้าน

            ศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว (สะพานสูง) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 ที่นี่เกิดจากความร่วมมือของชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ เพื่อให้เป็นจุดนัดพบใกล้บ้านของพ่อแม่ได้เข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยกันฟื้นฟูศักยภาพให้เด็กพิการอย่างถูกวิธี เพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้น

            สร้อยพัชร เอมสุวรรณ์ หรือ “แม่ตุ๊ก” ผู้รับผิดชอบศูนย์ศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว เขตสะพานสูง เอ่ยถึงจุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ แห่งนี้ ว่า จากการที่มีลูกพิการทั้ง 2 คน ทำให้ต้องหาวิธีมาดูแลลูก กระทั่งได้เข้าร่วมกับชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ทำให้ได้วิธีดูแลลูก ฝึกฝนลูกจนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ก็เริ่มชวนพ่อแม่ซึ่งมีลูกพิการในละแวกบ้านมารวมตัวกัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ และมีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใครมีอะไรก็มาพูด มาคุย มาปรึกษากัน

            แรกเริ่มสมาชิกมีเพียง 3-4 ครอบครัว เมื่อสมาชิกเพิ่มมากขึ้น บ้านที่เคยใช้เป็นสถานที่รวมตัวทำกิจกรรมก็เริ่มคับแคบ ทางชุมชนหมู่บ้านนักกีฬา เขตสะพานสูง กทม. อนุญาตให้ใช้ห้องสมุดเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสุขภาพของชุมชน มาทำเป็น “ห้องเรียนฝึกทักษะเด็กพิการในสวน” มาตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

            เมื่อถามถึงสิ่งแรกที่พ่อแม่ลูกพิการต้องทำคืออะไร แม่ตุ๊ก บอกว่า พ่อแม่ต้องยอมรับในลักษณะความพิการของลูกให้ได้ก่อน และความพิการแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน รายละเอียดต่างกัน แล้วหาเพื่อนรวมกลุ่มแทนการอยู่คนเดียว เพราะจะได้เห็นว่าคนๆ อื่นก็ประสบกับสิ่งเดียวกัน บางคนมากกว่าเราก็มี เขายังยิ้มได้ แล้วยอมรับตัวเอง เปิดใจที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ ลงมือทำ ผลดีก็จะเห็นในตัวเด็ก อย่างสมองแม้ถูกกระทบกระเทือน แต่เด็กคือวัยกำลังเจริญเติบโต มันสามารถสร้างและทดแทนได้

            เมื่อเข้ามาที่ศูนย์ฯ นี้แล้ว ทางศูนย์ฯจะร่วมวางแผนการฝึกให้ โดยเริ่มจากแยกฝึก-เหมือนเด็กปกติที่ไปโรงเรียนครั้งแรก ต้องฝึกให้เด็กอยู่กับคนอื่นโดยไม่มีพ่อแม่ให้ได้ก่อน เมื่อเริ่มชนก็ค่อยมาเข้ากิจกรรมกลุ่ม จากนั้นก็จะให้พ่อแม่มาฝึกขั้นตอนการดูแลร่วมกัน จะได้รู้วิธีฝึกลูกว่าควรทำอะไรบ้าง เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านพร้อมๆ กัน

            “สิ่งสำคัญที่เราเน้น คือ ถ้าอยากให้เด็กมีพัฒนาการ ต้องเกิดจากการกระตุ้น พ่อแม่อย่าไปคิดแทน หรือทำให้ อย่ารู้ใจไปหมด เพราะเด็กถ้าไม่ได้รับการฝึก พอไปอยู่กับคนอื่น แล้วเขาจะสื่อสารได้อย่างไร” แม่ตุ๊ก ย้ำ

            ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว (สะพานสูง) มีเด็กพิการที่อยู่ในการช่วยเหลือ 14 ราย โดยกิจกรรมซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จะมีตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ มีกิจกรรมฟื้นฟูที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมสันทนาการกลุ่ม การเรียนรู้ผ่านการเล่น การนวดถือพื้นฐานเพื่อการฟื้นฟู การฝึกทรงตัว และยังมีกิจกรรมธาราบำบัด ซึ่งเป็นการฟื้นฟูด้านการเคลื่อนไหว โดยใช้สระน้ำอุ่นเป็นสถานที่ให้เด็กได้ลงไปยืดเส้นยืดสาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

            นอกจากนี้ทางกลุ่มยังออกพื้นที่ “เพื่อนเยี่ยมเพื่อน” เพื่อค้นหาเด็กพิการรายใหม่ เพื่อไปให้กำลังใจและความรู้ในการดูแล ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไปพบจะมีความยากลำบากในการเลี้ยงลูก  ขาดความรู้ ความมั่นใจในการดูแล

            “เพราะพ่อแม่น้อยคนที่จะรู้ปัญหา บางคนไม่ยอมรับ คิดว่าไม่เป็นไรมาก บางคนก็ปล่อยเลยตามเลย และดูแลแบบตามมีตามเกิด เราค่อยๆ มาปรับความคิด ว่าบางที่ลูกไม่ใช่ได้แค่ร้องไห้ ยังมีพัฒนาการได้อีกถ้าได้ฝึกอยากสม่ำเสมอ เราสร้างแนวคิดให้เชื่อก่อนว่า การฝึกอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เขาได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าเราทุ่มเทได้มากแค่ไหน ปรับทัศนคติ ถ้าจริงจัง มีวินัยฝึกลูกจริงจัง แล้วลูกสุขภาพดี แม้จะค่อยๆ ก้าวได้ทีละนิด แต่ก็จะค่อยๆ เห็นพัฒนาการ” แม่ตุ๊ก บอก

            ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ในกล่ามอย่าง วสันต์ ชื่นชม คุณพ่อลูกพิการ ที่เคยประสบปัญหาในการพาลูกไปบำบัดที่อื่นๆ แต่หลังจากที่ทราบจากเพื่อนว่าใกล้บ้าน ก็มีสถานที่ที่รับดูแลเด็กพิการด้วย เขาจึงนำลูกมาฝึกที่นี่

            วสันต์ เล่าว่า เริ่มรู้ว่าลูกมีปัญหาด้านสมองก็เมื่ออายุได้ 1 ขวบ ทั้งๆ ที่คลอดมาไม่มีความผิดปกติ แต่เริ่มสังเกตเห็นพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กรายอื่น ก็พาลูกไปบำบัดทั้งที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ และโรงพยาบาลเด็ก ซึ่งการเดินทางลำบากพอสมควร เพราะไกลบ้าน จนมีเพื่อนมาบอกว่า ที่ชุมชนก็มีสถานที่ดูแลเด็กพิการ ก็เลยมาที่นี่ ถือว่าสะดวก ใกล้บ้าน เพราะยังต้องดูแลลูกคนเล็กอีกด้วย พอมีที่ใกล้บ้านก็สะดวกขึ้น เราเห็นพัฒนาการลูกที่ดีขึ้น แม้จะไม่หวือหวา แต่ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เช่น อาการเกร็ง ก็เห็นว่ามีการกล้ามเนื้อคลายกว่าเมื่อก่อน

          ศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว (สะพานสูง) ที่แห่งนี้ นอกจากจะเป็นสถานที่คอยช่วยเหลือเด็กพิการแล้ว ที่นี่ คือ สถานที่ที่คอยสร้างกำลังใจร่วมกัน ขาดความรู้ ความกำลังใจ ก็มาเติมเต็มร่วมกัน




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท