ชาวบ้านไร่สุขภาพดีมีรายได้ ด้วย “ธนาคารผักปลอดภัย”


ชาวบ้านไร่สุขภาพดีมีรายได้ด้วย “ธนาคารผักปลอดภัย”

            ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมปริมาณเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งได้ย้อนกลับมาทำลายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยจากการรับสารพิษเข้ามาสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว

            เช่นเดียวกับชุมชนบ้านไร่ ม.1 ต.บ้านไร่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา และไร่ใบยาสูบ ซึ่งมีการใช้สารเคมีกันอย่างไม่บันยะบันยัง นอกจากนี้แล้วยังลามไปถึงการปลูกผักเพื่อไว้ขายและบริโภคที่ต้องใช้สารเคมีอีกเช่นกัน ทำให้ชาวชุมชนไม่รู้ตัวเลยว่า ร่างกายได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม ภายหลังจากการตรวจสุขภาพ พบสารเคมีตกค้างในเลือดอยู่เป็นจำนวนมาก ทุกคนต่างตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้น

            รายจ่ายที่เสียไปกับการซื้อสารเคมีมาใช้ เสมือนเป็นอีกหนึ่งรูรั่วของโอ่งชีวิตที่มีแต่รั่วไหล มีหนี้ หาเงินมาได้เท่าไหร่ก็ไม่สามารถเต็มเต็มชีวิตให้มีความสุขได้ ดังนั้นกลุ่มแกนนำชาวบ้านจึงจัดตั้ง “สภาผู้นำชุมชน” ขึ้น เพื่อช่วยกันคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

            “เราเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่เต็มไปด้วยการใช้สารเคมี ซึ่งก่อให้เกิดโทษกับผู้ใช้และผู้บริโภค ทั้งการสัมผัสโดยตรง หรือการกิน ทำให้คนในชุมชนเจ็บป่วยเป็นโรคร้าย และยังมีสารพิษตกค้างในร่างกายเป็นจำนวนมาก  ไหนจะเครียดเรื่องหนี้สิน ยังต้องมากังวลกับปัญหาสุขภาพอีก ทุกคนจึงอยู่กันแบบไม่มีความสุข  เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนมีความสุข เมื่อปัญหามาจากการใช้สารเคมี มันก็ต้องแก้ที่ตรงนี้”  มเนศ จันดา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านไร่ ม.1 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และว่า “ดังนั้นเรามาลดการใช้สารเคมี และลองมาปลูกผักปลอดสารไว้จำหน่ายและบริโภคกันดีกว่ามั้ย เราจะทำให้เป็นชุมชนปลอดสารพิษ”

            ชุมชนจึงได้จัดทำ “ธนาคารผักปลอดภัยชุมชนบ้านไร่” ภายโต้โครงการ “ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักปลอดสาร ดีต่อผู้ปลูกและผู้กิน เหลือจากกินก็ขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว

            การจะไปบอกให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงจากการใช้สารเคมีมาทำเกษตรแบบอินทรีย์นั้นไม่ง่าย เพราะทุกคนยังไม่เชื่อมั่น สภาผู้นำชุมชนจึงต้องเป็นหัวหอก

            ผู้ใหญ่มเนศ บอกว่า เริ่มต้นมันพูดยาก เพราะทุกคนยังคุ้นเคยวิถีเดิมๆ ฉะนั้นจึงมาเริ่มต้นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อน นั่นคือ สภาผู้นำชุมชนทั้ง 45 คน ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เห็นเป็นต้นแบบก่อน ค่อยขยายจากคนต่อคนไปเรื่อยๆ เข้าเรือนเยือนบ้านไปพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อช่วยกันลดการใช้สารเคมี โดยเริ่มต้นจากการปลูกผักไว้กินเองก่อน ถ้าเหลือ หรืออยากทำขายก็ได้

“เราเน้นให้ทุกครัวเรือนปลูกผักไม่ให้เหมือนกัน  ผลผลิตจะได้มีความหลากหลาย ง่ายต่อวิธีจัดการ” ผู้ใหญ่บ้านไร่ว่า และอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากตลาดนัดชุมชนจะเป็นแหล่งกระจายผลผลิตแล้ว ยังมี “ธนาคารผักปลอดภัย” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางกระจายผลผลิต ตอนเช้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนผักกัน และส่วนหนึ่งก็จะนำไปขายแหล่งรับซื้อ โดยธนาคารจะเป็นผู้รับซื้อผักจากชาวบ้าน แต่จะไม่จ่ายเงินคืนกลับในทันที โดยให้ลงสมุดบัญชีไว้ก่อน เป็นการออมเงินไปเรื่อยๆ มีความจำเป็นจึงค่อยมาไถ่ถอน จึงเป็นวิธีการหนึ่งช่วยให้ชาวบ้านมีเงินเก็บ และเป็นหลักประกันใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

           ขณะเดียวกันสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 100 ครัวเรือน จะต้องสมัครเป็นหุ้นส่วนในอัตรา 100 บาทต่อ 1 หุ้น เพื่อใช้เป็นกองกลางของและเป็นเงินหมุนเวียนในการใช้จ่าย สามารถกู้ยืมไปลงทุนได้คนละไม่เกิน 3,000 บาท และส่งคืนได้ไม่เกิน 3 เดือน

          “ปัจจุบันชุมชนมีผลผลิตออกมาค่อนข้างเยอะ และหลากหลาย ถือว่าประสบความสำเร็จ มีชุมชนอื่นมาเรียนรู้วิธีการจัดการของเรา ผักปลอดสารที่เราเป็นตัวกลางรวบรวมไปสู่ผู้บริโภคก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีเท่าไหร่ก็ขายหมด ซึ่งต่อไปเราตั้งเป้าหมายให้ชุมชนบ้านไร่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วิถีเกษตรอินทรีย์ต่อไป” ผู้ใหญ่มเนศ กล่าว

            ด้าน เลี่ยม เขตภูเขียว เกษตรกรตัวอย่างของชุมชนบ้านไร่ กล่าวว่า เมื่อชุมชนมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน เราสามารถกระจายองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์นี้ได้ เพื่อค่อยๆ ให้ชาวบ้านซึมซับและค่อยเปลี่ยนแปลง อย่างที่เราทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง ผักปลอดสารเราขายเลี้ยงชีพด้วย เขาเห็นก็จะเปลี่ยนแปลงความคิดมาทำตามเราได้

            “ผลผลิตที่ได้จากชุมชนก็จะเอาไปขายในตลาดที่ธนาคารผักปลอดภัย ขายในชุมชนก่อนเป็นลำดับแรก  ขายไม่หมดก็มีตลาดรอบหมู่บ้านรองรับ หรือเรามีโทรศัพท์มือถือ ทุกคนมีโซเชียล อย่างของเรามี กลุ่มไลน์ “ชุมชนคนบ้านไร่” ใครมีสินค้าอะไรก็โพสต์ขายกันในกลุ่ม และที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งคือ การขายออนไลน์ การส่งไปขายที่อื่น ซึ่งเราจะพัฒนาต่อไป” เลี่ยม บอก

สิ่งที่ได้จากการรวมกลุ่มมาช่วยกันคิดช่วยกันทำนั้น เลี่ยม บอกว่า ได้มาพบปะ พูดคุย เกิดความสามัคคี ได้ทำกิจกรรม ได้แก้ปัญหาร่วมกัน  เมื่อทุกอย่างได้รับการแก้ไข ชุมชนมีเศรษฐกิจดี ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป ก็จะกลายเป็นชุมชนน่าอยู่

          ขณะที่ ลุงชุ่น ดีหา ได้ปลูกผักที่ทุกครัวเรือนต้องใช้ เช่น ข่า ตะไคร้ พริก ใบมะกรูด มะละกอ กะเพรา โหระพา ไว้รอบๆ บ้านเนื้อที่กว่า 3 งาน ผลผลิตที่ได้ก็นำไปขายมีรายได้เข้าทุกวัน และมีความสุขในวัย 64 ปี

            ลุงชุ่น บอกว่า ปลูกผักอย่างละนิดอย่างละหน่อย ทุกอย่างไม่ใช้สารเคมี สามารถเก็บไปขายได้ทุกวัน สลับหมุนเวียนกัน โดยจะนำไปขายที่แผงผักของตัวเองในตลาดใกล้บ้านตั้งแต่ตี 2 จนถึง 8.00 น. เฉลี่ยแล้วได้วันละ 500-900 บาท ก็อยู่สุขสบาย ไม่ต้องไปเดือดร้อนลูกหลาน

          “สภาผู้นำชุมชน” ทำให้ชาวบ้านไร่ ได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน  เมื่อได้มาเจอ ได้มาพูดมาคุย ได้แลกเปลี่นความเห็น หลายๆ สิ่งก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ทำให้วันนี้ “บ้านไร่” จึงเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน

   



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท