ความสำคัญของครู (การเรียนรู้ที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่เจ็ด)


การเรียนรู้ในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (ดูจากการสอบจะเห็นว่าเป็นเช่นนั้น) ซึ่งตาม Revised Bloom's taxonomy แบ่งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ด้านนี้เป็นระดับดังนี้

การเรียนรู้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน แม้จะไม่มีโรงเรียน แม้จะไม่มีครู นักเรียนก็เรียนรู้เองได้ เพราะการเรียนรู้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่การมีโรงเรียนและการมีครูดีกว่าแน่นอน เพราะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียน มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดีกว่า จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้ารัฐ โรงเรียน และครู ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีตามบทบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูซึ่งอยู่ใกล้และมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากที่สุด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงความสำคัญของบทบาทของครู (เรื่องแรกที่ผมเขียนถึงบน Gotoknow ก็คือเรื่อง บทบาทของครู แม้จะเป็นครูนอกระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการก็ตาม เพราะมีผลกระทบสูงต่อการเรียนรู้ของผม ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องง่ายสนุกและจำได้ดีจนทุกวันนี้)

ขอนำวัตถุประสงค์การเรียนรู้ข้างต้น มาพิจารณาเป็นสองตอน ตอนที่หนึ่งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ระดับล่าง คือ ระดับที่ 1. จำได้ 2. เข้าใจ และ 3. นำไปใช้  และตอนที่สองวัตถุประสงค์การเรียนรู้ระดับสูง คือ ระดับที่ 4. วิเคราะห์ 5. ประเมิน และ 6. สร้างสรรค์


วัตถุประสงค์การเรียนรู้ระดับล่าง 
เคยนำเสนอก่อนหน้านี้แล้วว่า นักเรียนและนักศึกษาส่วนใหญ่ใช้การเรียนรู้ด้วย การท่องจำ (นั่นคือเน้นระดับที่ 1.)  David Ausubel เสนอว่าควรใช้การเรียนรู้ด้วยการเข้าใจความหมาย (นั่นคือเน้นระดับที่ 2.) จะดีกว่า โดยส่วนตัวผมใช้แบบหลังนี้และรู้สึกว่าการเรียนแบบนี้ ง่ายสนุกและจำได้ดี การทำความเข้าใจเป็นบทบาทของนักเรียน เพราะการที่นักเรียนเข้าใจคือ การที่นักเรียนสามารถคิดเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารที่ได้รับใหม่เข้ากับโครงสร้างความรู้ (Cognitive structure) ที่มีอยู่ของนักเรียนแต่ละคน   ซึ่งก็ตรงกับทฤษฎีเชิงระบบของ Derek Cabrera ที่แสดงให้เห็นว่า 


         ความรู้ = ข้อมูลข่าวสาร x การคิด


ในประเด็นนี้ครูจะมีส่วนช่วยนักเรียนได้มาก ถ้าในระหว่างการสอนครูตรวจสอบเป็นระยะๆว่า นักเรียนเข้าใจมโนทัศน์ที่สำคัญๆของวิชานั้นๆ (มโนทัศน์ที่สำคัญของแต่ละวิชาได้แก่ 1. มโนทัศน์ที่เป็นหลักการของวิชานั้น 2. มโนทัศน์ที่ใช้เชื่อมโยงได้กับวิชาอื่น 3. มโนทัศน์ที่นำไปใช้งานได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ซ้ำกับ 1. และ 2.)  การช่วยให้เข้าใจอาจใช้การอธิบายมโนทัศน์มากกว่าหนึ่งวิธี (โครงสร้างความรู้ของนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน) หรือยกตัวอย่างให้เห็นรูปธรรม หรือการใช้อุปมา (การเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นที่นักเรียนรู้จักดีอยู่แล้ว) ความสำคัญของความเข้าใจ คือนักเรียนจะจำได้ง่ายและจำได้ดีกว่าการท่องจำโดยที่ยังไม่เข้าใจความหมาย และเมื่อนักเรียนเข้าใจย่อมสนใจเรื่องที่ครูกำลังสอน


ที่สำคัญกว่าคือระดับการนำไปใช้ ซึ่งจะแสดงให้นักเรียนเห็นความสำคัญ (Relevance) ของวิชานั้นๆ และเกิดความรู้สึกอยากเรียนเพราะเห็นประโยชน์ บทบาทของครูคือการแสดงตัวอย่างการนำไปใช้ และให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดตั้งแต่ในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนทราบผลทันที (Immediate feedback) ซึ่งจะช่วยเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งการให้นักเรียนช่วยกันทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม เพื่อเป็นการฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ดังที่เคยเสนอไว้ในเรื่องการแก้ปัญหาการจ้างทำการบ้านแบบกลับตาลปัตร 
อนึ่ง การสอนโดยเน้นการนำไปใช้นี้จะเป็นการเตรียมตัวเพื่อการสอบ ONET และ PISA (ซึ่งบอกไว้ชัดเจนว่า ไม่ได้ทดสอบความรู้แต่ทดสอบการใช้ความรู้) ได้เป็นอย่างดี ย่อมถูกใจนักเรียน และถูกใจโรงเรียนด้วย 


วัตถุประสงค์การเรียนรู้ระดับสูง
1. คงต้องจัดการเรียนรู้ในระดับล่างคือ ระดับที่ 1. จำได้ 2. เข้าใจ และ 3. นำไปใช้ ให้ได้ผลดีเสียก่อน
2. การเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสม โดยแต่ละเรื่องควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเพื่อ 4. วิเคราะห์ 5. ประเมิน และ/หรือ 6. สร้างสรรค์ 
3. ครูน่าจะช่วยให้นักเรียนเกิดแนวคิดเชิงระบบเสียก่อน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงมโนทัศน์ต่างๆเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ซึ่ง Dereck Cabrera เสนอหลักการคิดง่ายๆที่เรียกว่า DSRP.  https://www.google.co.th/url?s... และอ้างว่าใช้ได้ผลดีตั้งแต่ระดับเด็กอนุบาลถึงระดับนักศึกษาหลังปริญญา  เป็นการคิดที่ใช้เปลี่ยนข้อมูลข่าวสารให้เป็นความรู้ดังแสดงไว้ในสมการข้างต้น 

DSRP เป็นตัวย่อของ
          Distinction นิยาม หรือระบุเรื่องหรือประเด็นให้ชัดเจน
          System แต่ละเรื่องหรือประเด็นอาจแยกเป็นองค์ประกอบย่อย และแต่ละเรื่องหรือประเด็นก็เป็นองค์ประกอบของเรื่องหรือประเด็นที่ใหญ่กว่า
          Relationships คิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ
          Perspectives เรื่องหรือประเด็นเดียวกันมองจากมุมมองต่างกันอาจเห็นต่างกันได้ 
(ดูตัวอย่างการนำมาใช้กับเรื่องการวินิจฉัยโรค)


การเรียนรู้ตอนที่สองนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ครับ ต้องช่วยกันพัฒนาเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์
30 พฤษภาคม 2561

ป.ล.
(1) มีตัวอย่างเรื่องโครงสร้างความรู้ (Cognitive structure) หรือบางแห่งก็เรียกว่า Schema หรือ Mental model    จากเกมทศกัณฑ์เด็ก (Google:Dara.hunsa.com น้องเดียว) น้องเดียว (ขณะนั้นอายุ 5 ขวบ) เป็นเด็กชายคนแรกที่ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 4,000,000 บาท จากการตอบภาพหน้าคนได้ถูกต้องติดต่อกัน 200 หน้า (จนต้องยุติเพื่อให้คนอื่นได้เล่นบ้าง) ความน่าสนใจของน้องเดียวอยู่ที่วิธีตอบ ที่น้องเดียวพูดออกมาตามที่คิด ทำให้เรารู้วิธีคิดและวิธีจำของน้องเดียว (เพราะน้องเดียวตอบทำนองนี้ทุกครั้งไป)  ขอยกเหตุการณ์ตอนหนึ่ง (ที่ผมเล่าจากความจำ ที่จำได้เพราะจำไว้เป็นชุดหรือเป็นเรื่องในโครงสร้างความรู้ของผม) ดังนี้
          ครั้งหนึ่งมีภาพหน้าคนสองภาพให้น้องเดียวเลือกว่า หน้าไหนคือลีเวนฮุค น้องเดียวมองภาพแล้ว ตอบว่า "ผมจำหน้าบนได้ว่าคือกาลิเลโอ กาลิเลโอคือผู้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ กล้องโทรทรรศน์คือ เครื่องมือที่ใช้ขยายภาพที่อยู่ไกล ตรงข้ามกับกล้องจุลทรรศน์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ขยายภาพที่อยู่ใกล้ ผู้ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์คือลีเวนฮุค ผมจำหน้าลีเวนฮุคไม่ได้ แต่หน้าบนเป็นกาลิเลโอ ลีเวนฮุคก็ต้อง เป็นหน้าล่าง ขอตอบว่าหน้าล่างครับ"
          โปรดสังเกตว่า น้องเดียวเชื่อมโยงมโนทัศน์ต่างๆที่สัมพันธ์กันไว้อย่างเป็นระบบและพูดออกมา จนทำให้สามารถเขียนเป็นโครงสร้างความรู้ (Cognitive structure) หรือ Schema ได้ดังภาพข้างล่างนี้ (การแสดงด้วยภาพช่วยทำให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น)

(2) ผมเคยถูกพาไปดูงานโครงการตัวอย่างที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง มีการจัดนิทรรศการให้ดูในสามเรื่องคือ โครงการปลูกผักปลอดสาร โครงการอสม.น้อย และโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งโรงเรียนสามารถทำได้ผลดีทั้งสามเรื่อง  อย่างไรก็ตาม ที่โครงการอาหารกลางวัน ผมถามผู้ดำเนินโครงการว่า ได้นำผักจากโครงการปลูกผักปลอดสารมาใช้ในโครงการอาหารกลางวันหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าไม่ แล้วผักที่ปลูกนำไปใช้ทำอะไร คำตอบคือขายให้ผู้ปกครอง (โดยแบ่งกำไรให้ผู้ปลูกครึ่งหนึ่ง) ถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้นผักที่ใช้ในการทำอาหารกลางวันมาจากไหน คำตอบคือซื้อมาจากตลาด  ถามว่ามีการตรวจสารปนเปื้อนในผักก่อนซื้อหรือไม่ คำตอบคือไม่ ถามว่าทำไม คำตอบคือกลัวแม่ค้าว่าเอา 


ประเด็นที่ต้องการแสดงให้เห็นคือ การขาดความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังมิได้คิดเชื่อมโยงกับชีวิตจริง  จึงจำเป็นต้องช่วยกันพัฒนาเรื่องการเรียนรู้ระดับสูงที่กล่าวถึงนี้   


หมายเลขบันทึก: 647793เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2018 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2018 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท