สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี



         สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ หรือที่ถวายเรียกกันว่า เสด็จพระนาง 

เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งสกุลบุนนาค

 เมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ (๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๔) 

ทรงร่วมเจ้าจอมมารดากับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบานและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา

กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินีหรือเสด็จอธิบดี ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕

พระองค์เป็นพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร

       ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์แรก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการสถาปนาไว้ในที่

    "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" เสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๒๘๙ (๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ ๖๖ พรรษา

     หลังจากพระองค์มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต 

พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนพระยศเป็น "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี" โดยมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Royal Highness the Princess Consort" (หรือบางครั้งทรงใช้ Her Royal Highness Phra Nang Chao Phra Raj Dhevi)

และทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาลโดยพระองค์มีพระฐานะเป็นพระมเหสีลำดับสาม รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี 

พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

พระปิตุจฉาในรัชกาลที่ ๖ และ ๗

       เมื่อผลัดแผ่นดิน พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็ทรงเป็นเช่นเดียวกันกับกับพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โศกสลดและปลีกพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังมานับตั้งแต่นั้น โดยพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน 

กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ได้เสด็จออกมาประทับที่วังบางขุนพรหมซึ่งรัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้เป็นวังที่ประทับของพระราชโอรส คือ 

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ แต่เนื่องจากทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ดำรงพระอิสริยยศสูง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโขลน และกรมวังจัดคนส่วนหนึ่งมาปฏิบัติถวายการรับใช้อยู่ที่วังนั้น เสมือนหนึ่งยังคงประทับอยู่ใน

พระบรมมหาราชวังทุกประการ และสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรฯ พระราชธิดาพระองค์เดียวนั้นได้สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ นี้เอง

      นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty Queen Sukumalmarsri, Royal Consort of His Majesty King Chulalongkorn" ทั้งนี้ มิได้มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศในทางราชการแต่อย่างใด จึงยังทรงดำรงพระยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีจนตลอดรัชกาลที่ ๖

      ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา 

พระบรมราชเทวีมีต่อพระองค์จึงทรงเฉลิมพระนามาภิไธยถวายเป็น "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า" และด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น ทรงเลื่อนพระอิสริยยศพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี 

พระอัครราชเทวี" และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระนามาภิไธยของทั้ง ๒ พระองค์เป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty the Queen Aunt"

สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

        ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระปิตุจฉา

เจ้าสุขุมาลมารศรีฯในรัชกาลที่ ๗ มิได้ทรงเป็นพระปิตุจฉาฯ ในรัชกาลนั้นอีก

ดังนั้น การออกพระนามาภิไธยในปัจจุบัน เพื่อมิให้เกิดความสับสนสมควรออกพระนามาภิไธย

โดยระบุรัชกาลให้ชัดแจ้งลงไป กล่าวคือ

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ (ทรงดำรงพระยศนี้มาตลอดรัชกาลที่๕และรัชกาลที่๖)หรือ

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๗

พระราชกรณียกิจ

            พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงว่าราชการแผนกนมัสการ และยังทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย เล่ากันว่า

 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักทรงงานอยู่จนดึก พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯก็มักจะประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้นด้วย 

ทรงหมอบเขียนพระบรมราชโองการตามรับสั่งอยู่จนรุ่งเช้า ใกล้ๆกันนั้นมีเจ้าจอมก๊กออ ซึ่งเป็นพระญาติในราชนิกุลบุนนาค อยู่งานคอยถวายรับใช้ทั้ง ๒ พระองค์

     ถึงแม้ว่าพระมเหสีชั้นลูกหลวงอีกสามพระองค์ จะได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปก็ตาม แต่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีกลับมิเคยได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีเลย พระฐานะอยู่ในลำดับกลางๆเสมอมา ซึ่งอาจเพราะเหตุนี้ ถึงกับได้ทรงมีพระดำรัสว่า

     "แม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ" (จากพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) แม้แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง เจ้าชีวิต ถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีว่า

      "ในรัชกาลที่ ๕ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีอยู่ตลอดรัชกาล โดยเหตุผลอันใดผู้เขียนไม่เคยได้ทราบ ทรงมีพระราชโอรส-ธิดาประสูติ ๒ พระองค์ การที่ท่านไม่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จฯ นั้นเป็นของแปลก เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง"

หลักฐานแห่งความ โปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง นั้น มีปรากฏอยู่เนือง ๆ ดังเช่น

         พระมเหสีพระองค์นี้ น่าจะทรงเป็น "เมีย" คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โคลงพระราชทานให้พระราชนิพนธ์นั้นมีว่า

 สุขุมาลโดยชาติเชื้อ เผ่าพันธุ์

กายกอปรวรลักษณ์อัน ละเอียดพร้อม

ไตรทวารประพฤติสรรพ์ สิ่งชอบ ควรแฮ

ละเอียดครบควรนบน้อม ท่านผู้ สุขุมาล

            เนื่องจากตามโบราณราชประเพณี พระมเหสีเทวี พระราชวงศ์ฝ่ายใน รวมถึงสนมกำนัลทั้งปวงจะประทับหรือนั่งเรือพระที่นั่งลำเดียวกับพระมหากษัตริย์มิได้ แต่ในคราวที่เสด็จประพาสบางปะอิน เมื่อพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงเตรียมการเรือพระที่นั่งเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพอดี พระราชเทวีจึงจำต้องรีบเสด็จออกไป ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสาร มีรับสั่งให้พระนางเจ้าฯ พระราชเทวีเสด็จกลับมาประทับภายในเรือพระที่นั่งองค์เดียวกัน จัดเป็นครั้งแรกที่มีพระราชวงศ์ฝ่ายในได้ประทับร่วมเรือลำเดียวกับพระมหากษัตริย์

            อีกหลักฐานหนึ่งแห่งความไว้วางพระราชหฤทัย ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์กับประเทศฝรั่งเศส (วิกฤติ ร.ศ. ๑๑๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรอมพระราชหฤทัยมาก ถึงกับมีพระราชประสงค์จะเสด็จสวรรคต และได้ทรงพระราชนิพนธ์ความในพระราชหฤทัยขึ้นมา และพระราชนิพนธ์นั้นได้ทรงส่งไปพระราชทานเจ้านายเพียง ๒ พระองค์เท่านั้น คือ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ซึ่งทั้ง ๒ พระองค์ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระราชนิพนธ์นั้น โดยพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯได้ทรงพระนิพนธ์โคลงสี่สุภาพถวาย โคลงนั้นมีความว่า

            สรวมชีพข้าบาทผู้ ภักดี

พระราชเทวีทรง สฤษฎ์ให้

สุขุมาลมารศรี เสนอยศ นี้นา

ขอกราบทูลท่านไท้ ธิราชเจ้าจอมสยาม

ประชวรหนักอกข้า ทั้งหลาย ยิ่งแล

ทุกทิวาวันบวาย คิดแก้

สิ่งใดซึ่งจักมลาย พระโรค เร็วแฮ

สุดยากเท่าใดแม้ มากม้วยควรแสวง

หนักแรงกายเจ็บเพี้ยง เท่าใด ก็ดี

ยังบหย่อนหฤทัย สักน้อย

แม้พระจะด่วนไกล ข้าบาท ปวงแฮ

อกจะพองหนองย้อย ทั่วหน้าสนมนาง

            เมื่อคราวที่สมเด็จพระราชโอรสฯ เสด็จไปทรงศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ติดต่อไปมาเสมอ มีลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งที่มีเนื้อความแสดงถึงความที่ทรงเป็น "แม่" อย่างสมบูรณ์อยู่ จึงขออัญเชิญ มา ณ ที่นี้ด้วย

"ในที่สุด โอวาทของแม่ฉบับนี้แม่ขอบอกแก่พ่อผู้เป็นลูกที่รักและที่หวังความสุขของแม่ให้ทราบว่า ตัวแม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ มักจะได้รับความทุกข์อยู่เป็นเนืองนิจ แม่มิได้มีอันใดซึ่งเป็นเครื่องเจริญตาเจริญใดอันจะดับทุกข์ได้ นอกจากลูก เมื่อเวลาที่พ่อยังอยู่กับแม่แต่เล็ก ๆ มา ถึงหากว่าแม่จะมีความทุกข์มาสักเท่าใด ๆ เมื่อแม่ได้เห็นหน้าลูกแล้ว ก็อาจจะระงับดับเสียได้ด้วยความรักและความยินดีของแม่ในตัวลูก ก็ในเวลาซึ่งพ่อไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปนี้ พ่อจงรู้เถิดว่า ข่าวความงามความดีของพ่อนั้น และจะเป็นเครื่องดับความทุกข์ของแม่ และอย่าประพฤติชั่วนอกคำสั่งสอนของแม่ จงตั้งหน้าเล่าเรียนให้ได้รับความรู้โดยเร็ว จะได้กลับมาหาแม่โดยไม่นานปี"

ในฐานะลูก พี่ และแม่

        ถึงแม้ว่าจะทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง แต่พระองค์ก็ไม่เคยทรงลืมความกตัญญูต่อเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดา แม้ว่าท่านจะเป็นสามัญชนก็ตามที พระอิสริยยศที่สูงส่งเป็นถึงพระมเหสี มิได้ทำให้ทรงขาดความเคารพต่อพระมารดาแม้แต่น้อย แม้ว่าเจ้าคุณจอมมารดาจะโมโหดุว่าอย่างไร พระองค์ก็ไม่ทรงตอบโต้ ก่อนหน้าที่จะถึงพิราลัยไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา "เจ้าจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔" ขึ้นเป็น "เจ้าคุณจอมมารดาสำลี" เพราะเหตุที่ เป็นขรัวยายของสมเด็จเจ้าฟ้าโดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการพระราชทานตำแหน่ง "เจ้าคุณ" อย่างเป็นทางการ ครั้นเจ้าคุณจอมมารดาสำลีถึงพิราลัยล่วงไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษถึงกับให้เชิญศพตั้งในท้องสนามหลวงเพื่อที่ พระราชเทวีจะได้มิต้องเสด็จไปไกล พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นในวันพระราชทานเพลิงศพถึงกับทรงเครื่องขาว และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ และพระราชนัดดาก็จะต้องทรงเครื่องขาวด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น)ถึงแก่พิราลัย ก็มิได้พระราชทานเกียรติยศเช่นนั้นบ้าง ทำให้พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงวางพระองค์ลำบากไม่น้อย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม และเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระอัครมเหสีทั้ง ๒ พระองค์ถึงกับทรงมีลายพระหัตถ์กราบถวายบังคมทูลลาจะสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงพื้นเสียและไม่รับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลายวัน

ในฐานะพระเชษฐภคินี ทรงรักใคร่พระกนิษฐามาก ทรงรับสั่งย้ำกับพระราชโอรส และพระราชนัดดาเสมอว่า แม่มีลูกสองคน แต่มีน้องเพียงคนเดียว ลูกรักแม่อย่างไรก็ขอให้รักน้าอย่างนั้นด้วย ซึ่งพระราชโอรส พระราชธิดาตลอดจนพระราชนัดดาก็ได้ทรงรับสนองพระราชเสาวนีย์ด้วยดี พระราชนัดดานั้นทรงเรียกสมเด็จฯ ว่า "เสด็จย่า" และเรียกเสด็จฯ อธิบดีว่า "เสด็จย่าพระองค์เล็ก"

และในฐานะพระราชมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ถึงสองพระองค์ คงจะไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีกว่าพระจริยวัตรของทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงเป็นพระราชธิดา และเป็นที่สนิทสิเน่หาของพระบรมราชบิดามาก โดยทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานกรมสูงถึง กรมหลวง และพระนามกรมก็คือ ศรีรัตนโกสินทร และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นั้นก็เป็นพระราชโอรสที่โปรดปรานเช่นกัน ทรงตรัสเรียกว่า "เจ้าฟ้านัมเบอร์ทู" พร้อมกับทรงมอบหมายพระราชกิจสำคัญให้หลายอย่าง เช่น ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นต้น ถ้าหากว่าทรงขาดเฝ้าไปสักสองวัน จะมีพระบรมราชโองการว่า เจ้าชายหายไปไหนไม่เห็นมา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ก็จะต้องรีบเสด็จออกมาตามพระองค์ไปเข้าเฝ้าฯ

สวรรคต

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๒๘๙

 (๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ ๖๖ พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ 

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พร้อมด้วยพระนัดดา และพระนัดดาทรงเลี้ยง ทรงหมอบเฝ้าฯ อยู่ข้างพระที่ พระบรมศพอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระเกียรติยศถวายไว้อาลัย ๑๐๐ วันเป็นกรณีพิเศษ พระเมรุมาศ นั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 

ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงหนังสือ "สามก๊ก" แจกเป็นของที่ระลึก และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์โคลงถวายหน้าพระบรมศพ

ทุกสัตมวาร

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 647789เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2018 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2018 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท