๗๒๙. ปัญหาของการศึกษาไทยที่แท้จริง (๒)


ในยุคนี้.ครูอย่าคิดว่า การเน้นสอนเด็กแล้ว เด็กจะห่างไกลคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ควบคู่คุณธรรมแน่นอน ผมสังเกตมาหลายปีแล้ว เด็กอ่านคล่องเขียนคล่อง ล้วนเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย..ดังนั้น..การสอนอ่าน..จึงเห็นผลที่คุ้มค่ายิ่งนัก

             ผมคิดว่า..การนำประสบการณ์การสอนมาแลกเปลี่ยนกัน บางทีอาจจะดีกว่าการอ่านจากตำรา หรือฟังจากผู้รู้..ซึ่งหลายครั้งแล้ว ที่เราผ่านเข้าออกในหลายห้องประชุม แต่เราไม่เคยปรับเปลี่ยนวิธีสอน..หรือวิธีคิด..เลย

            ที่สุดแล้ว..เราอาจจะต้องมายอมรับกัน แล้วทดลองทำดู ทำตามบริบทของเรา ให้สอดคล้องกับปัญหา..การสอนภาษาก็เช่นเดียวกัน ต้องแก้ให้ตรงจุด โดยเฉพาะการอ่าน..ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนรู้ ประเมินให้ได้ว่า..วันนี้เราอยู่ในจุดไหน?

            ผู้เขียน..สอนการอ่านการเขียนให้นักเรียน โดยใช้ประสบการณ์ทางภาษา ให้นักเรียนฝึกบ่อยๆ ทำซ้ำๆ ใช้วิธีสอนแบบลองผิดลองถูก จนเห็นผลเป็นที่น่าพอใจ ตลอด ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา

            สิ่งที่สำคัญที่สุด..คือ ครูทุกคนให้ความร่วมมือและเห็นพ้องต้องกันว่า..ภาษาไทย เป็นเครื่องมือหรือทักษะ..ที่จำเป็น..ก่อนที่จะไปพัฒนาสาระวิชาอิ่นๆ

            การอ่าน..จึงเป็นต้นตอของปัญหา มากกว่างานนโยบายฯหรือโครงสร้างทางการศึกษา ที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่คุณภาพ..ผู้เรียน เราเปลี่ยนได้ แม้จะต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม..

            การที่ผู้เขียนมองเห็นภาพเชิงประจักษ์ว่า..การประเมินผลนักเรียนในทุกระดับชั้น หรือการมุ่งเน้นที่ ป๓, ป.๖ และม.๓ ม.๖ ก็แล้วแต่..ข้อสอบแบบปรนัยในเชิงวิเคราะห์..มีความยากมากขึ้นเป็นลำดับ..

            ในที่นี้ มิได้หมายความว่า..ผู้เขียนมาเชิญชวนให้ทุกโรงเรียนทำคะแนนให้ติดอันดับ แล้วนำค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นนั้น..ไปแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและองค์กร..

            ความจริง..หาเป็นเช่นนั้นไม่..เพราะการอ่าน เป็นทักษะชีวิต..เด็กอ่านแล้วคิดวิเคราะห์ได้ เป็นกำไรของครูและเด็ก..ที่ครูสามารถนำไปพัฒนาการสอน ส่วนเด็กนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

            ความเข้าใจเบื้องต้น..ครูต้องเข้าใจก่อนว่า..ถ้าเด็กอ่านได้ ก็ย่อมพัฒนาการเขียนได้..ซึ่งต่อไปข้อสอบจะเป็นแบบให้เขียนตอบมากขึ้น และแทบทุกวิชาจะต้องอ่านทั้งสิ้น อ่านอะไรบ้าง? ประกอบด้วย..แบบเรียน วรรณกรรม สารคดี และบทความ

            ที่กล่าวมา คือ..โจทย์ ที่นักทดสอบ เอาไปจัดทำเครื่องมือหรือแบบทดสอบ แล้วนำกลับมาถามเด็ก และจะไม่ถามตรงๆ คือไม่เน้นความรู้ความจำ ใช้คำถามเชิงสร้างสรรค์(ซึ่งมีหลายรูปแบบ) ถามแบบให้แก้ปัญหา คิดเชื่อมโยงเพื่อการนำไปใช้

            ดังนั้น..ในปัจจุบัน..ครูเรา..จึงเหนื่อยมาก สอนแทบเป็นแทบตาย แต่เด็กตอบไม่ได้ “ข้างบน”ก็ไม่เคยลดความเข้มข้นของข้อสอบ และอ้างว่า..ได้ออกตามตัวชี้วัด แต่..คำถามที่ถามเด็กนั้น..ล้วนจับต้องไม่ได้เลย คือล่องลอยอยู่ในอากาศ...

            เพราะฉะนั้น..ถ้าจะให้จับต้องได้ ครูก็ยิ้มได้ และเด็กก็มีความสุข ครูจะต้องเน้นการอ่าน..ในทุกสาระวิชา อ่านแล้วสนทนาไปกับเด็ก..นำคำหรือสถานการณ์ออกมาคิดนอกกรอบ..ตั้งประเด็นคำถามแบบบูรณาการ

            ในบางประเด็น..อาจให้เด็กทำโครงงานเพิ่มเติม แสวงหาความรู้ต่อยอด หรือทำแผนภูมิความคิด แผนภูมิภาพ..เพื่อให้การเรียนรู้แต่ละหน่วยแต่ละหน้า มีคุณค่าและมีความหมายยิ่งขึ้น..

            งานนี้..ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆสะสม เด็กห้องไหนอ่านคล่องจะไปได้เร็ว ห้องไหนอ่านไม่คล่อง..ครูก็อย่าท้อ..ต้องอดทนเพื่อเห็นผลที่ดีในบั้นปลาย..

            ผมทดลองใช้กับเด็กป.๔ และป.๕ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาวิธีพัฒนาเด็กให้ตรงจุด ก็ยังพบประเด็นที่เป็นปัญหา...กล่าวคือ..

            “...ปิดเทอมได้ไปเที่ยว อำเภอปากช่อง กับคุณลุงที่เกษียณอายุราชการแล้ว..” ข้อความในวรรณกรรมจริงๆยาวกว่านี้ เด็กอ่านได้คล่องมาก แต่ไม่รู้ว่าปากช่องอยู่ที่ไหน เกษียณอายุราชการ คืออะไร?..” ครูต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็ก

            ประเด็นเหล่านี้..นักทดสอบชอบนำไปใช้สร้างเครื่องมือ อย่างง่ายที่สุดก็ถามว่า...

            “ลักษณะภูมิประเทศในข้อใด ตรงกับอำเภอปากช่อง?” หรือ..จังหวัดในข้อใด ที่อยู่ใกล้เคียงกับอำเภอปากช่อง..?อย่างนี้เป็นต้น

            หรืออาจตั้งคำถามได้ว่า..”อาชีพใดต่อไปนี้ที่ต้องมีการเกษียณอายุราชการ..?”

            ผมให้นักเรียนอ่านเรื่องราวจากหนังสืออ่านนอกเวลาที่เก่ามากๆ..เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิง..ที่อยู่บ้านริมน้ำ..เด็กอ่านแล้ว ผมก็สนทนาเกี่ยวกับภาพประกอบในเรื่อง..

            เด็กช่วยกันบอก ช่วยกันตอบ..เกี่ยวกับภาพบ้านในหนังสือ..ผมเลยบอกว่า..ครูยกบ้านหลังนี้ให้เป็นบ้านของเธอ..ทุกวันนี้เธออยู่กับใคร?..ทำงานอะไรบ้าง.?ในบ้านหลังนี้..เขียนเล่าให้ครูรู้หน่อยสิ...

            การเขียน..ก็เป็นส่วนหนึ่งของการคิดและวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน เป็นทักษะที่บูรณาการ ฟัง พูด อ่าน เขียน ให้ร้อยรัดสัมพันธ์กัน..

            ในยุคนี้.ครูอย่าคิดว่า การเน้นสอนเด็กแล้ว เด็กจะห่างไกลคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ควบคู่คุณธรรมแน่นอน ผมสังเกตมาหลายปีแล้ว เด็กอ่านคล่องเขียนคล่อง ล้วนเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย..ดังนั้น..การสอนอ่าน..จึงเห็นผลที่คุ้มค่ายิ่งนัก

            อ้อ..เขียนถึงตรงนี้ นึกขึ้นมาได้ เด็กในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ของมูลนิธิเด็ก ส่วนใหญ่มีปัญหา..แต่ครูเขาก็ไม่เน้นให้เข้าวัดนะครับ ครูเขาให้อ่านหนังสือ ผลเป็นไง?..ทุกวันนี้ เขาส่งคนดีคืนสู่สังคม..ได้อย่างมากมาย..ครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๖  พฤษภาคม  ๒๕๖๑

 

หมายเลขบันทึก: 647668เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2018 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2018 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท