บันทึกถึงคุณลุง Kitaro


เช้าวันนี้ จู่ๆผมก็ได้ฟังเพลง “Caravansary” ของคุณลุง Kitaro

แล้วเพลงนี้ก็พาผมย้อนกลับไปถึงต้นปี ๒๕๓๓ ปีที่ผมต้องรายงานตัวเข้าเรียนในคณะแพทย์ที่ ม.อ.

กระบวนการต้อนรับพวกเราในคราวนั้นมันน่าตื่นใจ

ผมจำอะไรได้ไม่มากนัก ที่เลาๆคุ้นตา คือเพื่อนที่สวมชุดนักเรียนของโรงเรียนเก่าของตัวเองมานั่งรวมกันอยู่ในห้อง M105 หรืออาจจะ 103 ก็ชักเลือน มันคือห้องเรียนใต้หอสมุดคณะแพทย์ มันคือห้องด้านในและอยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งตอนนี้ชื่ออะไร ผมก็ขอสารภาพว่าไม่รู้ (แปลว่าจำไม่ได้) เพราะตั้งแต่มันถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อของอดีตคณบดีท่านต่างๆ หลังจากถูกบูรณะใหญ่ในคราวนั้น ผมก็จำไม่ได้อีกเลยเช่นเดียวกัน ว่าห้องไหนคือห้องไหน (ห้องวิจารณ์ ห้องพันธ์ุทิพย์ ห้องอติเรก และห้องเกษม) ส่วนชื่อห้องที่จำได้แม่นยำก็คือ ห้องประชุมทองจันทร์ เพราะมันไม่เคยถูกเปลี่ยน แต่เอาเถอะ เป็นว่าในวันนั้นพวกผมอยู่ห้องด้านในทางซ้ายมือ

ผมจำเพื่อนคนที่นั่งด้านหน้าได้ ว่าคือสองสาวจากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ตอนนั้นไม่รู้จักชื่อ รู้แต่ว่ามันสองคนหน้าตาสวยดี 

ผมยังจำได้อีกว่า ในวันนั้นมีอาจารย์แพทย์มาต้อนรับพวกเราด้วย ท่านคืออาจารย์พรทิพา ท่านเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา “แม่เล็ก” คือชื่อที่อาจารย์บอกให้พวกเราใช้เรียกท่าน ซึ่งจนแล้วจนรอด พวกเราก็เรียกท่านว่าอาจารย์มาตลอดนั่นแหละ

เห็นไหม ว่าความทรงจำเริ่มลางเลือน

แล้วก็มาถึงช่วงท้ายสุดของงานในวันนั้น ก็เป็นช่วงที่พี่นักศึกษาแพทย์ปี ๑ ออกมาต้อนรับพวกเรา 

ห้องประชุมถูกหรี่ไฟ

พี่ๆออกมายืนอยู่หน้าห้องและด้านข้างๆ

เสียงเพลงบรรเลงค่อยๆแว่วมาและดังขึ้น สำเนียงมันไพเราะเหลือเกิน ผมบรรยายไม่ถูกว่ามันเป็นสำเนียงของอะไร เครื่องดนตรีไฟฟ้าที่สร้างสรรพเสียงต่างๆออกมามันดูดและสะกดวิญญาณของผมให้หยุดนิ่ง

ผมรู้สึกเช่นนั้น

เพลงมันจับใจผมมาก

จากนั้นภาพที่ถูกฉายขึ้นจอคือรูปเด็กนักเรียนชายชั้น ม.๖ ๒ คน ผมได้เห็นหน้าเขาแล้วราวครู่หนึ่งก่อนหน้า นั่นคือเพื่อนนักเรียนที่สอบเข้ามาเรียนรุ่นเดียวกัน เขามาจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย “เหลิมกับหลง” คือนายแบบในสไลด์ที่พี่ๆนำขึ้นมาฉาย 

เสียงกดเลื่อนถาดสไลด์ดังครืดๆ เพื่อเปลี่ยนภาพ และมีเสียงบรรยายประกอบ เพลงเมื่อครู่ถูกเปลี่ยนเป็นเพลงอื่นๆ ตามอารมณ์ของภาพบนจอที่ถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

มันทันสมัยที่สุดในยุคนั้นด้วยการต้อนรับน้องๆโดยการฉายสไลด์ การบันทึกเสียงในห้องอัดของคณะแพทย์มีความทันสมัย แต่การกดให้ถาดสไลด์หมุนไปเพื่อฉายรูปตามบทนั้น ยังต้องใช้คนมายืนกด

ผมจำได้ว่า ในปีถัดมา “พี่จิ๊บ” รุ่นพี่ปี ๓ ผู้ซึ่งคลั่งไคล้เทคโนโลยี เริ่มนำเครื่องบันทึกและฉายสไลด์ที่เรียกว่า ซิงโครไนเซ่อร์ มาใช้ มันสามารถจดจำลำดับของภาพสไลด์และช่วงเวลาในบทบรรยายได้ ดังนั้น เมื่อเริ่มการฉายสไลด์แล้ว คราวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คนยืนกดปุ่มเครื่องฉายอีกต่อไป

ไปเสียไกล แต่เชื่อไหม ว่าผมจำเสียงเพลงในวันนั้นได้ติดหู 

มันติดหูแม้กระทั่งเมื่อกลับบ้านที่สุราษฎร์ฯไปแล้วก็ออกไปหาซื้อเทปตามร้านขายเทปที่มีอยู่ในตอนนั้น ผมฮัมเสียงเพลงดังกล่าวให้คนขายฟัง ไม่มีใครรู้จักเพลงที่ผมฮัมออกมาสักคน

ท้ายที่สุดก็เข้าใจได้ว่า เราคงไม่สามารถได้ฟังมันอีก แล้วก็ค่อยๆลืมมันไป กระทั่งวันก่อนปิดเทอมภาคเรียนแรก 

“เฮ้ย...ตู่ครับ นายเปิดเพลงอะไร” ผมเอ่ยถามรูมเมทชาวยะลา เพื่อนร่วมห้องที่เรียนคณะวิศวะ 

“อ้อแป๊ะ มันคือเพลงของ Kitaro นายอยากฟังมั้ย” แล้วตู่ก็เปิดเร่งเสียงขึ้นมา

ผมขอตลับเทปของเพื่อนมาดู

“Mirage” คือชื่อเพลงนั้น

ผมหยุดกิจกรรมทุกอย่างและฟังมัน ขนลุก นี่ไง เพลงที่ผมพยายามค้นหามันตั้งแต่จบ ม.๖ เพลงที่เป็น background ในสไลด์ที่พี่ปี ๑ ตอนนั้นใช้ต้อนรับน้องๆ

มันอยู่ในห้องนอนที่ผมอยู่ตรงนี้มาตลอดทั้งเทอม มันห่างกันแค่มุมห้องเท่านั้น

 

การผจญภัยบนเส้นทางสายไหม ในชุด “Silk road” จึงเป็นตลับเทปชุดแรกของคุณลุง Kitaro ที่ผมไปได้มาจากร้านขายเทป “Boss” ร้านขายเทปในตำนานของหาดใหญ่ 

ฟังมันจนเทปยืด

ธนพันธ์ ชูบุญเพ้อฝันเพ้อเจ้อรำพึงรำพันไปกับเสียงนกร้อง ลมพัด สายน้ำ และซอจีน “Caravansaty” คืออีกเพลงที่จับใจ

๗ พค ๖๑


คำสำคัญ (Tags): #kitaro#silk road
หมายเลขบันทึก: 647014เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2018 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท