ญาณวิทยากับการสืบเสาะ


หากเราพูดถึง "สาระการเรียนรู้พื้นฐาน" มันก็ย่อมหมายถึงมันเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อ "การดำเนินชีวิต" ไม่ใช่เพื่อการสอบเรียนต่อเป็นสำคัญ สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ก็ย่อมหมายถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ทั้งในด้าน ความรู้ (พุทธิพิสัย) ทักษะ (ทักษะพิสัย) และทัศนคติ (จิตพิสัย) เช่น รู้ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือภัยพิบัติมีสาเหตุที่เข้าใจได้หาใช่โทษกรรมเก่า มีความสามารถในการลงมือกระทำด้วยความรู้เข้าใจ ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ข่าว สถานการณ์ สามารถประสานความรู้หรือแนวคิดที่ข้ามแขนงวิชาต่าง ๆ ได้ มีความรู้สึกที่ดีต่อการได้ใช้วิทยาศาสตร์ในการเผชิญปัญหา สนใจใคร่รู้ สามารถสืบเสาะความรู้ด้วยตนเองได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็น "พื้นฐาน" ที่พลเมืองของรัฐที่เมื่อได้รับการศึกษาแล้ว พึงแสดงออกได้ ไม่ใช่แค่ทำข้อสอบได้

คราวนี้การ "ทำให้" ผู้เรียนมีความรู้นั้น ก็ต้อง "สอน" ปัญหามันก็มาอยู่ตรงนี้ ตรงที่เราอาจเข้าใจเรื่องของการสร้างหรือพัฒนาความรู้ในตัวบุคคลไม่กระจ่างนัก หลายคนก็อาจ เอ๊า แหม...ง่ายจะตาย เคยเรียนมาอย่างไรก็สอนไปอย่างนั้น ก็แค่นี้เองไม่เห็นจะยากเย็นอะไร ก็อาจต้องสาวความต่อไปว่า แล้วตัวเองหน่ะ เข้าใจอย่างแจ่มชัดไหมว่าที่เข้าใจ หรือที่เรียกว่า "รู้เรื่อง" นั้นหน่ะ มันเกิดขึ้นตอนไหนในกระบวนการที่เราเรียกกันว่า "เรียน" เช่น ตอนฟังในห้อง ตอนถามตอบกับครู ตอนทำแบบฝึกหัด ตอนทำปฏิบัติการ ตอนทำข้อสอบ ตอนทำข้อสอบเสร็จแล้ว ไปเรียนวิชาอื่นแล้วก็พาทำให้เข้าใจในเนื้อหาที่เคยสงสัยซะงั้น เป็นต้น ศาสตร์ที่ว่าด้วยความเข้าใจต่อการรู้ การเรียนรู้เข้าใจนั้น ก็คือ "ญาณวิทยา" (epistemology) บ้างก็อาจเรียกเป็นทฤษฎีของการเรียนรู้ แต่การที่จะเจาะลึกลงไปในเรื่องญาณวิทยาทั้งหมด ก็อาจทำให้เรื่องราววุ่นวายไปกันใหญ่ สิ่งที่เราจะพุ่งเป้าสนใจไปในตอนนี้ก็เอาเป็น ความเชื่อเกี่ยวกับญาณวิทยา หรือ ความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้ (epistemic belief) เพราะเมื่อเราเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว การแสดงออกของเราก็จะปรากฏร่องรอยของความเชื่อนั้น ๆ เช่น ถ้าเราเชื่อว่าการรับฟังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อเราจัดการเรียนการเรียนการสอน เราก็จะเน้นไปที่การบอกเล่าเนื้อหา การพยายามพูดให้ฟังโดยคาดหวังว่าผู้เรียนก็จะได้ความรู้นั้น ๆ ตามต้องการ หรือบางคนอาจมีความเชื่อว่าการได้ทำโจทย์เยอะ ๆ แก้โจทย์มาก ๆ ก็จะทำให้สามารถเข้าใจเนื้อหาวิชาได้ วิธีการสอนก็จะปรากฏเป็นการให้ผู็เรียนทำโจทย์แบบต่าง ๆ จำนวนมาก ๆ แก้ปัญหาแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า (rote learning) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำโจทย์ได้คะแนนดี ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีความเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการได้ ดังนั้น ผลของความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้นั้นจะปรากฏแสดงชัดที่ตัวผู้สอน ซึ่งแม้ว่าแผนจัดการเรียนรู้จะพยายามทำให้เป็นการเรียนรู้แบบผู้เรียนมีส่วนร่วม (active learning) แต่หากยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้เป็นแบบการอธิบาย ผู้สอนนั้น ๆ ก็จะยังคงแก้ปัญหาความไม่เข้าใจของนักเรียนด้วยการพยายามอธิบาย แต่หาก ผู็สอนนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้เป็นแบบการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ผู้สอนนั้น ๆ ก็จะพยายามสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้สรุปเนื้อหาความเข้าใจด้วยตนเองโดยปราศจากการอธิบายข้อความสำเร็จ

การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการสืบเสาะ (inquiry) นั้น อยู่บนพื้นฐานการสร้างความรู้ด้วยตัวผู้เรียนเอง ดังนั้น มันจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้สอนมีความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้ที่สอดคล้องไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ มีความอดทนรอคอยคำตอบ ยอมเสียเวลาเพื่อให้นักเรียนได้มุ่งมั่นกับสถานการณ์ การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการสืบเสาะจะได้ผลนั้น ความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้ของผู้สอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อย ๆ เราก็ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมด้วยแนวทางที่เราไม่มีความเชื่อใด ๆ เกี่ยวกับวิธีนั้น ๆ ได้ และแน่นอนการได้มาซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้ มันก็สะท้อนไปยังวิธีการหาความรู้ การควบคุมกำกับตนเอง การประเมินความรู้ที่ได้ เป็นวงจรการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้ของแต่ละคน การสืบเสาะเพื่อเรียนรู้ เข้าใจ เรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงเสริมกัน การจะจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเรียนรู้ด้วยวิธีสืบเสาะนั้น จึงสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยการมีความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาของความรู้ที่คล้องจอง (satisfy) ไปด้วยกันกับการสืบเสาะ

วงจรการสืบเสาะนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีสืบเสาะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเป็นการล้อเลียนธรรมชาติการเรียนรู้อย่างถึงที่สุด (ได้เคยเขียนรวบรวมจากแนวคิดของท่านพุทธทาสใน บทความเรื่อง ความรู้นั้น...ถ่ายทอดไม่ได้) การพยายามเข้าใจวิถีและวิธีการเรียนรู้ของตนนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนเพื่อผู้อื่นต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #argument-driven inquiry#epistemic belief
หมายเลขบันทึก: 646836เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2018 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2018 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท