การสืบเสาะที่เร้าการโต้แย้ง Argument-driven inquiry


หลากหลายประสบการณ์การเรียนการสอน และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษา ชี้นำไปว่าการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม (active learning) นั้น สนับสนุนให้ผู้เรียนได้ขุดคุ้ยประสบการณ์ ความรู้เดิม มาเข้าแก้ไขสถานการณ์ปัญหาที่เผชิญอยู่เบื้องหน้า ภายใต้รูปแบบกิจกรรมที่กำหนดสภาพแวดล้องที่เอื้อให้เกิดการแก้ไขหรือหาคำตอบสำหรับสถานการณ์นั้น ๆ ได้ การประสานความรู้ใหม่เข้ากับประสบการณ์หรือความรู้เดิม (ภายใต้กรอบของการสร้างความรู้ constructivism) ความสำเร็จของการเรียนการสอนแบบผู้เรียนมีส่วนร่วมจึงเพิ่มแนวรุกเข้าสู่การจัดการเรียนการสอน วิทยาศาสตร์

ด้วยวิทยาศาสตร์เองนั้นก็เป็นกระบวนการหาความรู้ไปด้วยในตัวเองอยู่แล้ว หรือที่เราเรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเอามาจัดการเรียนการสอนให้มีชื่อไม่ซ้ำเดิมว่า การสืบเสาะ (inquiry) ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ ก็ได้ล้อไปตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น วงจรการสืบเสาะหรือ 5Es และการสังเกต ทำนายและอธิบาย (Predict-Observe-Explain, POE) ก็ได้มีงานวิจัยหลากหลายมีผลสอดคล้องไปในทางที่ประสบผลเลิศในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ ซึ่งแน่นอนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์นั้น ย่อมนำไปสู่การสร้าง จิตวิทยาศาสตร์ (science literacy) ได้ อันจะสานผลในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นความรู้ ทักษะ และเจตคติ ในการเลือกใช้วิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม

ต่อมาเมื่อนักวิจัยได้พยายามทำความเข้าใจผลสำเร็จของการเรียนการสอนแบบสืบเสาะนั้น พบว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการ "ขุดคุ้ย" ความรู้เดิม ประสบการณ์ที่มี มาใช้ในสถานการณ์ที่กำหนดให้นั้น การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน นั้น มีส่วนสำคัญยิ่ง การที่ผู้เรียนเสนอมุมมองแนวคิดหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์มาแล้วเกิดการโต้แย้ง (argumentation) ก็ส่งผลให้เกิดการปรับเข้าสู่แนวคิด (มโนมติ) ที่มาจากการไตรตรอง คิดแย้ง ยืนยัน สนับสนุน ด้วยข้อมูลหรือแนวคิดพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการโต้แย้งขึ้นในระหว่างการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Argument-driven inquiry, ADI) นั้น กล่าวได้ว่าเป็นการดึงประโยชน์จากกระบวนการเชิงจิตวิทยา มาเพื่อให้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ดำเนินไปได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์นั้น หากผู้เรียนได้มีโอกาสได้เสนอแนวคิดของตัวเอง ต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้า แล้วพร้อมจะขัดเกล่าหรือถูกขัดเกลาด้วยการโต้แย้งด้วยเหตุผล ข้อมูล ประสบการณ์ ทฤษฎี กับผู้เรียนอื่น ๆ หรือกับผู้สอน ย่อมเปิดประตูการเรียนรู้กว้าง เห็นโลกผ่านสายตาผู้อื่นได้ เห็นตัวเองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สร้างเสริมความสามารถด้านการสื่อสาร มีความอ่อนโยนและเคารพต่อความคิดเห็นของผู้อื่น อันจะส่งผลต่อการใช้หลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ประกอบการตัดสืนใจที่ถูกต้องเป็นธรรมและไม่เบียดเบียนในการดำเนินชีวิต

การจัดการเรียนการสอนแบบ ADI นั้น มีพื้นฐานการจัดอย่างไร 

ติดตามในตอนต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #argument-driven inquiry
หมายเลขบันทึก: 646833เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2018 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2018 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท