ดนตรีมีดีอะไร


ดนตรีมีอะไรมากกว่าที่คิดจริงๆ
                    เวลามีใครถามว่าผู้เขียนเรียนจบอะไรมา แล้วผู้เขียนตอบไปว่าเรียนจบมาทางด้านดนตรี 70 % ของผู้ถามมักจะมีคำถามต่อไปว่า "เรียนแล้วได้อะไร" หรือบางคนอาจจะสงสัยว่า "ดนตรีมันมีอะไรให้ต้องเรียนกันเยอะแยะมากมายนักเหรอ"   ดังนั้น ในฐานะที่ผู้เขียนเรียนจบมาทางด้านดนตรีและเป็นนักดนตรีคนหนึ่งจึงอยากจะบอกว่า "ดนตรีเป็นเรื่องของเสียงที่มีอะไรมากมายกว่าที่คิด" เพราะนอกจากดนตรีจะช่วยทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน อารมณ์ผ่อนคลาย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเวลาที่รถติดแล้วเราเปิดเพลงเพราะๆ ที่ถูกใจฟังในรถก็จะช่วยทำให้คลาย ความเครียดได้แล้วนั้น มีผลงานวิจัยมากมายที่มีผลสรุปว่า การให้เด็กได้ใกล้ชิดสัมผัสกับดนตรีตั้งแต่ยังเล็กนั้นจะช่วยพัฒนาศักยภาพ ของเด็กในหลายๆด้าน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์   ผู้อ่านหลายๆ คนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจจะ สงสัยและนึกภาพไม่ออกว่าดนตรีนั้นมีประโยชน์และสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพต่างๆ ของเราได้อย่างไร เราลองมาดูกันดังนี้

 1. ดนตรีช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านบุคลิกภาพและความเป็นตัวตน การได้ทำกิจกรรมดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เล่นดนตรี เต้นรำ ดนตรีจะเป็นเหมือนสื่อกลางที่ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและความเป็นตัวตนให้บุคคล นั้นมีความมั่นใจ กล้าแสดงออก กล้าคิดกล้าทำ มีเด็กวัยรุ่นหลายคนที่เป็นคนขี้อายและดูเหมือนเป็นคนไม่ได้เรื่องได้ราว แต่เมื่อได้มาเล่นดนตรีก็ได้ค้นพบตัวเองว่ามีความสุขและเมื่อรู้ว่าตนมีความสามารถในด้านดนตรีก็ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกและมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น    ผู้เขียนรู้จักเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่แต่เดิมนั้นมีความขี้อายมาก ไม่กล้าพูดจาหรือสบตากับใคร แต่พอวันหนึ่งที่เขาได้ลองเล่นกีตาร์และรู้สึกรักในเสียงดนตรี มาวันนี้เขากลายเป็นคนที่รู้จักการคบหาสมาคมกับผู้อื่นได้อย่างน่ารัก กล้าที่จะพูดคุยกับผู้ใหญ่ และมีความสามารถทางดนตรีที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น
              2 .ดนตรีช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านอารมณ์ องค์ประกอบสำคัญของดนตรีคือ คำร้อง จังหวะและทำนอง ซึ่งเมื่อมารวมกันจะเกิดเป็นเพลงๆหนึ่งขึ้นมา ซึ่งในเพลงแต่ละเพลงนั้นต่างก็มีลักษณะหรือเอกลักษณ์ของดนตรีที่แตกต่างกันออกไป เพลงที่มีทำนองและจังหวะช้าๆทำให้รู้สึกสงบ มีสมาธิและผ่อนคลาย เพลงที่มีทำนองและจังหวะเร็วๆ ช่วยทำให้อารมณ์ครึกครื้น กระฉับกระเฉงและอยากเคลื่อนไหวร่างกาย เพลงที่มีคำร้องเศร้าสะเทือนใจจะทำให้คนฟังอารมณ์อ่อนไหวตามไปด้วย ในขณะที่เพลงที่มีคำร้องปลุกใจให้รักชาติ จะทำให้คนฟังมีความคึกคัก ฮึกเหิมและกล้าหาญตามไปด้วย  ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าดนตรีมีผลเป็นอย่างมากต่ออารมณ์ของคนเรา ในปัจจุบันการให้เด็กออทิสติกหรือเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ได้ฟังเพลงประเภทต่างๆ จะช่วยให้เขาได้ผ่อนคลาย มีความก้าวร้าวทางอารมณ์ลดลง มีการแสดงออกทางอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้นและมีความพร้อมในการเรียนรู้ได้ดีมากขึ้นด้วย

             3. ดนตรีช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านสติปัญญา มีงานวิจัยมากมายที่ยอมรับว่า ดนตรีสามารถพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ได้ ยิ่งถ้าได้มีการใช้ดนตรีตั้งแต่วัยเด็กด้วยแล้วจะยิ่งเพิ่มศักยภาพของสมองได้มากขึ้นด้วย มีผลการวิจัย (Dr.Thurman) สรุปว่าการที่แม่ตั้งครรภ์ได้ฟังเพลงอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีพัฒนาการทางร่างกายและไอคิวสมองสูงและมีอารมณ์แจ่มใส  นอกจากนี้ดนตรียังช่วยในเรื่องของการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การคิดอย่างมีระบบและในเรื่องของความจำด้วย ดังนั้น การสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมดนตรีควบคู่ไปกับการเรียน เช่น ได้ร้องเพลง ได้ฟังเพลงที่ชอบ ได้เล่นเครื่องดนตรีที่สนใจ จะมีส่วนช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนในวิชาต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เพราะดนตรีช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างความมีเหตุมีผลกับจินตนาการ จึงทำให้มีการคิดวิเคราะห์หาความเป็นเหตุเป็นผลได้ดียิ่งขึ้น
             นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าดนตรีนั้นสร้างอัจฉริยะได้จริง บุคคลที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ต้องยอมรับในสมมติฐานนี้ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไอน์สไตน์ บุคคลซึ่งถูกยอมรับในเรื่องความฉลาดมากที่สุดคนหนึ่งของโลก นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่าทำไมไอน์สไตน์ถึงมีความฉลาดมากและได้พบคำตอบ ว่า เส้นใยประสาทในสมองของไอน์สไตน์แตกแขนงออกไปอย่างหนาแน่นและสื่อสารกันได้ดี มาก ซึ่งตามหลักการทำงานของสมองนั้น ถ้าหากคนใดมีเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับเซลล์สมองมากเท่าไร คนนั้นก็ยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น และในส่วนของไอน์สไตน์นั้นได้ค้นพบว่า ดนตรีมีส่วนในการส่งเสริมศักยภาพการทำงานของสมองของเขาได้มากทีเดียว  ด้วยเพราะไอน์สไตน์เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่เด็กและเรียนไวโอลินเมื่อ อายุ 6 ปี ควบคู่ไปกับการเรียนวิทยาศาสตร์ เขาเล่นไวโอลินได้เก่งมากและมีความสุขกับการเรียนรู้ทั้งดนตรีและวิทยาศาสตร์ มีความชื่นชอบผลงานของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่างโมซาร์ต บีโธเฟนและบาร์ค จนมีคำกล่าวของไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า"หากไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ ข้าพเจ้าอาจเป็นนักดนตรี ฝันกลางวันเป็นดนตรี ความสุขส่วนใหญ่ในชีวิต ล้วนมาจากดนตรี" นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนยอมรับว่าดนตรีมีส่วนสำคัญที่สามารถส่งเสริมความสามารถในการทำงานของสมองได้อย่างดีเยี่ยมมากจริงๆ
                จะเห็นได้ว่า "ดนตรีเป็นเรื่องของเสียงที่มีอะไรมากมายกว่าที่คิด" พ่อแม่บางคนไม่สนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรมดนตรีเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลาเปล่า เอาเวลาไปเรียนอย่างอื่นได้ประโยชน์กว่า แต่จริงๆแล้วการได้ทำกิจกรรมดนตรีมีประโยชน์มากมายทั้งต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ที่สำคัญดนตรีทำให้คนมีความสุข อะไรเป็นความสุขก็ควรหยิบยื่นให้กับคนที่เรารัก เพราะความสุขทำให้เกิดผลดีในทุกสิ่งได้ และความสุขนั้นก็ได้ง่ายๆจากดนตรี
ที่มา :  หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ โดย ดร.แพง ชินพงศ์

หมายเลขบันทึก: 646657เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2018 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2018 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท