ตามรอยออเจ้าไปเมืองอโยธยาและละโว้


วันนี้ผมได้ตามรอยออเจ้ามาเมืองอโยธยา...จุดแรกที่ต้องไปก่อนที่อื่นคือ#วัดไชยวัฒนาราม# มีคนแต่งชุดไทยกันเยอะมาก ไปเที่ยวนี้เห็นที่นี่เขาปรับภูมิทัศน์ได้สะอาด งดงามจนดูแปลกตา  ที่ชอบมากคือมีต้นไม้ใหญ่หลายต้นทั้งก้ามปู สัตบรรณ อยู่ภายในวัด ให้ให้ออเจ้าได้พักร่มเงาเย็นสบายคลายความร้อนจากอากาศที่แผดเผา จุดต่อไปคือ#วัดพุทไธสวรรค์# เส้นทางนี้อยู่ถนนเลียบริมแม่น้ำ มีวัดเก่าๆหลายวัด  เลยไปหน่อยก็เป็นบ้านโปรตุเกส ถัดไปเป็นบ้านญี่ปุ่น  เราขับรถต่อไปเห็นป้าย#ตลาดโก้งโค้ง# ได้ยินชื่อมานานต้องแวะไปสักหน่อย แต่ต้องเลี้ยวโค้งไปทางสายบางปะอิน ที่นี่มีอาหารและของใช้แบบไทยโบราณหลายอย่าง แม่ค้าก็แต่งชุดไทยชาวบ้านย้อนยุค เลยอุดหนุนสินค้าไปหลายอย่าง เสร็จแล้วขับรถเข้ามาในเมือง ผ่านวัดพนัญเชิง เลยไปหน่อยเห็นป้ายร้านอาหาร #"ครัวย่าบัว"# แถวเส้นทางไปตลาดน้ำอโยธยา  เที่ยงพอดีรู้สึกหิว คิดว่าอาหารร้านนี้น่าจะอร่อยเลยแวะไปทานกัน ร้านนี้บรรยากาศดีมากอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก มองไปเห็นวัดพนัญเชิงพอดี เรามากันแค่สองคนเลยสั่งแกงส้มไหลบัว กับแกงคั่วหอยขมสองอย่าง เราพูดตรงกันว่าอร่อยมากๆ ราคาก็ไม่แพงนัก  ยังเหลือใส่ถุงกลับมาทานต่อที่บ้านอีกสองถุง  ทานเเสร็จหนังตาเริ่มหย่อนเลยเปลี่ยนใจไม่ไปตลาดน้ำอโยธยาแล้ว กลับกันดีกว่า  แต่ใจก็อยากไปย้อนรอยเส้นทางที่เคยไปบ่อยๆเลยขับรถข้ามสะพานแล้วขับเลียบแม่น้ำอีกฝั่งผ่านวัดสุวรรณาราม เห็นร้านอาหารหลายร้านที่เราเคยไปทานกันมาแล้ว ต่อไปอีกนิดก็ผ่านวัดจีน มองเข้าไปในวัดแล้วใจหาย เราเคยเดินจากโรงแรมริเวอรที่พักประจำของเรา(ตรงข้ามวัดพนัญเชิง)ไปกราบหลวงพ่อพรภิรมย์ที่กุฏิเล็กๆของท่านหลังวัดจีนนี้ ฟังท่านคุยเรื่องราวในอดีตกันบ่อยๆ บัดนี้ไม่มีท่านให้เราไปกราบแล้ว  ขับต่อมาผ่านโรงแรมที่พัก  ผ่าน#ป้อมเพชร#ที่ครั้งหนึ่งฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เอาเรือรบมาจอด  ถัดมาก็เป็นดินแดนโรตีสายไหมของบังต่างๆหลายๆบัง  ผ่านวังฯมาข้ามสะพานใกล้วัดไชยวัฒนารามอีกรอบ แล้วกลับบ้านตามเส้นทางสายบางปะหัน-ปทุมธานี แต่ก็ไม่ลืมแวะอุดหนุนสินค้า#ศูนย์ศิลปชีพเกาะเกิด# อีกแห่ง  กลับถึงบ้านเมืองนนท์บ่ายสามโมงกว่าๆ  
    ก่อนหน้านี้ผมได้ตามรอยออเจ้าไปที่เมืองละโว้อีกเมือง แต่เมืองนี้ผมว่ายังดูเงียบเหงา ไม่คึกคักเท่าไร  และการตกแต่งแปงบ้านแปงเมืองสร้างมูลค่าเพิ่มตามกระแสบุพเพสันนิวาสยังมีไม่มากนัก
      จากการชมโบราณสถาน โบราณวัตถุที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและลพบุรีทำให้คิดไปถึงการบริหารจัดการเรื่องนี้ทั่วประเทศว่า กรมศิลปากร ตลอดจนจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะนำข้อเสนอสองข้อนี้ไปพิจารณาทบทวนเพิ่มเติมคือ
      1.กรมศิลปากรควรเพิ่มราคาค่าเข้าชมโบราณสถานโบราณวัตถุเสียใหม่ให้สูงขึ้น เพื่อให้มีรายได้มาปรับปรุงสถานที่ให้ดียิ่งขึ้น  เพราะเท่าที่เก็บคนละ 10 บาทนั้นน้อยมาก และผู้อาวุโสก็ไม่เก็บเลย ผมคิดว่าอย่างน้อยเก็บคนละ 20 บาทก็ยังดี หรือมากกว่านี้ก็ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ ส่วนผู้อาวุโสน่าจะเก็บบ้างคนละ 10 บาทก็ยังดี เขาคงไม่ว่ากัน จะได้มีส่วนสร้างบุญกุศลให้แก่บ้านเมืองด้วย(ผมเองยังไม่ยอมใช้สิทธิ์ผู้อาวุโสทั้งสองจังหวัด) ถ้าเราไปต่างประเทศจะเห็นว่าเขาเก็บยุบเก็บยับทุกที่ทุกเรื่อง ในราคาแพงมากๆเรายังยอมจ่าย แม้แต่ดูน้ำตกยังเก็บเงิน  แต่พอเขามาเที่ยวบ้านเรากลับใจดีอย่างไม่มีเหตุผล เรื่องนี้ต้องแก้ไขให้มีมาตรฐานเดียวกัน  
     2.น่าจะมีมัคคุเทศน์และมีสื่อข้อมูลในรูปแบบต่างๆมาช่วยแนะนำสถานที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อให้บริการแก่ผู้มาเข้าชมในทุกจุดด้วย โดยอาจฝึกนักเรียนนักศึกษาหรือผู้สนใจให้มาร่วมงาน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ และมีรายได้ด้วยก็ได้

หมายเลขบันทึก: 646653เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2018 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2018 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท