14 ปีความทรงจำและการเรียนรู้ จากงานชายแดนใต้ (ตอน 1)


                   เป็นเวลานานมากทีเดียวที่ผู้เขียนไม่ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้  ยิ่งถ้านับจากข้อเขียนแรก ๆ ที่ถูกกระจายผ่านสื่อสาธารณะอย่าง “โลกาภิวัตน์กับสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย” “งานข่าวกับสถานการณ์ที่เปราะบางในภาคใต้” จำได้ว่าผู้เขียนเป็น  ลำดับต้นๆ ในสมัยนั้น  ที่ใช้คำว่า “สื่อมวลชนเป็นแนวร่วมมุมกลับ”  หลังจากที่ได้รับประสบการณ์ตรงเมื่อครั้งยังทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสายทหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและต้องลงในไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะเวลานาน โดยในเวลานั้นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกได้ส่งทีมข่าวจากส่วนกลางลงไปตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗  หลังเหตุการณ์คนร้ายหลายสิบคนทำการอุกอาจปล้นปืน ๔๐๐ กว่ากระบอกและสังหารทหารซึ่งอยู่เวรยามในวันนั้นไป  ๔ ชีวิต  ภายในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  เพียง ๑ วัน ภารกิจเริ่มต้นคือการติดตามความจริงเรื่องการปล้นปืนและค้นหาปืนที่ถูกปล้นไป  เนื่องจากมีการปล่อยข่าวจนโด่งดังไปยังสื่อต่างประเทศว่า “ทหารปล้นปืนตัวเอง”  เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย มีเรื่องราวใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันซึ่งมีความมีเชื่อมโยง ซับซ้อนและมีเงื่อนงำ ขณะนั้น  สื่อของกองทัพบกอย่างทีวีช่อง ๕ ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ในชายแดนใต้เป็นอย่างมาก  ไม่ใช่เพียงเพราะติดตามผู้บังคับบัญชาหรือผู้นำทางทหารและผู้นำของบ้านเมืองที่เป็นบุคคลสาธารณะซึ่งต้องลงมาขับเคลื่อน  ติดตามการแก้ปัญหาเท่านั้น  แต่ถือเป็นมิติด้านความมั่นคงที่สำคัญยิ่ง  ต่อมาจึงมีการส่งทีมข่าวจากส่วนกลางหมุนเวียนมาอยู่ประจำอย่างน้อย ๒ ทีมทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ( Stingers ) ของเราซึ่งมีประจำทุกจังหวัด  บางจังหวัดก็มีผู้สื่อข่าวท้องถิ่นมากกว่า ๑ ทีม เช่น นราธิวาส เนื่องจากที่พื้นที่แต่ละอำเภอค่อนข้างห่างไกล  เดินทางค่อนข้างลำบาก  นอกจากเพิ่มคนยังมีการนำเครื่องไม้เครื่องมือการตัดต่อโทรทัศน์แบบครบครัน ทั้งรถถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียม (SNG)  ไปประจำในพื้นที่ มีบรรณาธิการเฉพาะกิจทำหน้าที่บริหารข่าวสารหรือคัดเลือกข่าว (Gate Keepers) ที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้  มีช่วงเวลาออกอากาศประจำในเวลาทองของสถานี ( Prime time)  ความยาวของข่าวอย่างจุใจมากถึง  ๘-๑๐ นาทีทุกวัน   ในห้วงวันเวลานั้นต้องบอกว่าเรตติ้งสูงมาก    ใคร ที่อยากรู้ความคืบหน้าของเหตุการณ์ชายแดนใต้  ก็ต้องติดตามช่อง ๕ เพราะเป็นฟรีทีวีเพียงช่องเดียว  ที่เกาะติดสถานการณ์ทุกวันอย่างเข้มข้น  นอกจากการรายงานสดเหตุการณ์จากพื้นที่แล้วยังมีการทำสกู๊ปข่าวหรือข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative News) ทุกวัน..สมัยนั้นมีฟรีทีวีเพียงแค่ ๖ ช่อง และการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนยังมีน้อยมาก  เนื่องจากต้องใช้เวลาในการผลิตมากกว่าข่าวธรรมดา  ใช้ข้อมูลเชิงลึก  ใช้ทักษะและความสามารถของผู้สื่อข่าวในการประมวลเหตุผล เชื่อมโยงข้อมูลและร้อยเรียงให้เห็นประเด็น (Agenda Setting) และแง่มุมที่สำคัญ (Frame Setting) ที่ต้องการให้สังคมรับรู้   ถึงแม้ว่า "ไอทีวี" จะเป็นช่องที่มีความโดดเด่นในการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน  ผู้สื่อข่าวอย่างน้อง มนตรี อุดมพงษ์ และ ติชิลา  พุทธะสาระพันธุ์  จะมีเอกลักษณ์  ที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบ  แต่ก็ในเวลานั้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือนำเสนอข่าวชายแดนภาคใต้  ทุกวันเหมือนสื่อของกองทัพบก  ซึ่งเราเกาะติดจนสามารถติดตามค้นหาปืนที่ถูกปล้นไปจากกองพันพัฒนาที่ ๔ กระบอกแรกได้  ที่บ้านโต๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส  ถูกฝังเก็บไว้ใต้ดินอย่างดี เป็นอันคลี่คลายเงืื่อนงำได้หนึ่งข้อ..กับข่าวลือที่ว่าปืนที่ถูกปล้นส่งออกไปที่อาเจ๊ะห์ ประเทศอินโดนีเซียแล้ว  จนถึงการสืบค้นหาจนเจอปืนกระบอกที่สองจากหลายร้อยกระบอกที่หายไป...เวลาที่ใช้ในการสืบเสาะจนเจอปืนกระบอกที่สองนี่ก็ห่างกันนานหลายเดือน  เจ้าหน้าที่ที่เจอก็เป็นคนละชุดกับชุดแรกเสียด้วย..เหตุการณ์ปล้นปืนผ่านไป ๑ ปี  สืบค้นหาปืนเจอเพียงแค่ ๒ กระบอก ยังไม่ทันได้อยู่จนเจอปืนกระบอกที่สามก็มีคำสั่งให้ถอนทีมเสียก่อน เนื่องจากปลายปี  พ.ศ. ๒๕๔๘ เกิดปรากฎการณ์สึนามิ ด้านชายฝั่งทะเลอันดามันในพื้นที่ภาคใต้  มีผู้คนเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก  พวกเราจึงต้องเปลี่ยนภารกิจ  จากการรายงานข่าวและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นการรายงานเหตุการณ์สดๆ ของการติดตามค้นหา  การช่วยชีวิต  การจัดการศพนับพันและการฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมากและเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยในเวลานั้นเช่นกัน...  

ดวงกมล  เทวพิทักษ์

หมายเลขบันทึก: 646437เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2018 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2018 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท