จริงไหม.? คำว่า ออเจ้า แท้จริงเป็นคำในภาษาฝรั่งเศส (otchaou)


เราคงตกใจนะคะ ถ้าจู่ๆ ก็มีคนบอกว่า คำว่า "ออเจ้า" ที่เรากำลังอินกันอยู่นี้ แท้ที่จริงเป็นภาษาฝรั่งเศส ที่เขียนว่า otchaou ซึ่งแปลว่า เธอ

ในห้องรวมรุ่นพี่น้องที่ดิฉันเป็นสมาชิกอยู่ห้องหนึ่ง รุ่นพี่ท่านหนึ่งนำคำนี้มาถามพี่หญิงอีกท่าน ที่ใช้ภาษาไทยได้ดี และชอบสั่งสมพจนานุกรม ว่าจริงหรือไม่ ที่คำว่า “ออเจ้า” ที่เราใช้กันติดปากในระยะนี้ ไม่ใช่คำในภาษาไทยแต่เดิมตามที่มีการแชร์ตามสื่อออนไลน์ แต่มาจากภาษาฝรั่งเศส

พี่หญิงท่านนี้ 

รีบมาตอบโดยไว

ว่า 

หาใช่ไม่

แท้จริงแล้ว 

คำว่าออเจ้านี้ มีมาในภาษาไทย

ดังที่ปรากฏในอักขราภิธานศรับท์ ของ หมอบรัดเล ที่มอบหมายให้อาจารรีย์ทัด คัด แปล แลพิมพ์ตามวิธีอักษรสยามภาคย์ ดังนี้

 แลท่านพี่ยังได้ไปค้นหาให้อีก

จนได้ความว่า

ท่านทูต ลาลูแบร์

ได้บันทึกถึงสรรพนามบุรุษที่ 2 ในภาษาไทยไว้

 แถมแปลให้เสร็จสรรพว่า

“เอ็ง” ใช้เรียกคนที่ต่ำกว่า

“มัน” ใช้เรียกอย่างดูถูก

“ออเจ้า” ใช้เรียกคนต่ำกว่าที่เราไม่รู้จัก

ซึ่ง พี่หญิงได้ให้ความเห็นส่วนตัวแนบท้ายไว้ด้วยว่า เธอได้อ่านดูในส่วนอื่นๆในบันทึกส่วนอื่นแล้ว บางอย่างก็บันทึกอย่างเป็นทางการ บางอย่างก็เป็นการเขียนบันทึกที่อาจผิดเพี้ยนไปบ้าง เพราะผู้บันทึกแทรกความเห็นส่วนตัวไว้เข้า

ว๊าว

อ่านแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า

“ช่างมีบุญจริงหนา ข้าเจ้า”

ได้พบพานท่านที่รู้อย่าง “ตามรักษาสัจจะ” คือยึดมั่นในความรู้หรือสัจจะอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ แต่ก็ไม่ปิดกั้นตนจากความรู้หรือสัจจะใหม่ และเมื่อสืบสาวจนได้ว่า สิ่งที่ตนรู้ไม่ถูกต้อง ก็ทิ้งสัจจะเดิม ไปยึดหรือรักษาสัจจะใหม่ต่อๆไป

จึงได้สัจจะใหม่ที่จริงแท้ยิ่งๆขึ้น

อ้อ

เลยขอเล่าถึงคำว่า “บุญ” ต่อท้ายอีกนิดนะเจ้าคะ

บุญ หรือ ปุญฺญ ในภาษาบาลี แปลว่า ความผ่องแผ้วของจิต ความสะอาด ความดี

คำนี้ มีใช้มาแต่ก่อน เป็นคำเก่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงคำว่าบุญนี้ว่า ขออย่ากลัวคำว่าบุญเลย เพราะบุญเป็นชื่อของความสุข

บุญยังหมายถึงการชำระซึ่งบาป หรือความชั่ว ความเลว ความไม่ดีทั้งหลาย

แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำบุญล้างบาป ทำบาปให้หาย  ไม่ต้องรับโทษจากการทำบาป เช่น ทำอะไรไม่ดีไว้แล้วไปถวายสังฆทานเพื่อหวังจะได้ไม่ต้องรับผลของกรรมไม่ดีนั้นอย่างที่อาจเข้าใจกันนะคะ

แต่หมายถึงเมื่อมีความคิดที่ไม่ดี ผ่านเข้ามาในใจ ก็หาทางคลายความคิดที่ไม่ดีนั้นไปในทางที่ปล่อยวาง น้อมลงสู่ความว่าง คิดให้ไกลจากการยึดมั่นด้วยความเป็นตัวของตน ยึดมั่นด้วยความเป็นของของตน  เพื่อให้ความคิดนั้นบรรเทาเบาบางลง

ก็คือคิดให้หายขุ่นข้อง หายโกรธเคือง หายความอยากเบียดเบียน หายแข่งดี หายเข้าใจผิด จนเข้าใจเขา เข้าใจสถานการณื

ใจผ่องใสขึ้นเป็นพักๆ

ซึ่งถ้าความคิดไม่ดีอันเป็นบาปนั้นจรเข้ามาอีก ก็ต้องคิดถึงเรื่องนั้นซ้ำๆ กระทั่งความคิดนั้นๆเกิดขึ้นไม่ได้อีก จนใจผ่องใสอย่างแท้จริง

เมื่อใจผ่องใส การกระทำทางกาย วาจา ที่เป็นไปในทางไม่ดีตามความคิดเดิมที่เคยแสดงออกมา ก็จะค่อยๆลดความรุนแรงลง ค่อยๆทำห่างออกไป จนหายไปได้ในที่สุด

บุญจึงชำระบาปในแง่นี้

ดังนั้นบุญ จึงมีทั้งบุญส่วนเหตุและบุญส่วนผล

บุญส่วนเหตุคือการกระทำเพื่อชำระบาป

และบุญส่วนผล คือการกระทำอันเป็นบาปที่ถูกชำระด้วยการกระทำอันเป็นบุญ ความสุขอันเกิดจากกาย วาจา ใจ ที่สงบ

ยังมีคำตรัสเกี่ยวกับบุญบาปในส่วนเหตุ ที่ควรนำมาเตือนตนและปฏิบัติตามค่ะ คือที่ตรัสสอนในพระคาถาที่ว่า

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ     ปาปา จิตฺตํ นิวารเย

ทนฺธํ หิ กรโต ปุญญํ    ปาปสฺสมึ รมตี มโนฯ

บุคคลควรรีบทำบุญ

ควรห้ามจิตจากบาป

เพราะถ้าทำบุญช้าไป

ใจจะยินดีในบาป

และในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ก็หวังว่าทุกท่าน (รวมทั้งผู้บันทึกเรื่องราวนี้) จะน้อมใจไปในทางสร้างเหตุอันเป็นบุญ

 จนมีความสุข ตลอดปี

กระทั่งตลอดไป

นะเจ้าคะ

ป.ล. ปาปสฺสมึ อ่านว่า ปา - ปัส - สะ - หมิง เจ้าค่ะ

หมายเลขบันทึก: 646435เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2018 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2018 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท