ชีวิตที่พอเพียง : 3151. ระบบดูแลผู้สูงอายุ



วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ในการประชุมกลุ่มสามพราน เราคุยกันเรื่อง ระบบดูแลผู้สูงอายุ  ผู้นำเสนอหลักคือ พญ. ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย (มสผส.) นำเสนอเรื่อง ระบบการดูแลผู้สูงอายุภาพรวมในประเทศไทย    เป็นการนำเสนอแบบอิงข้อมูลหลักฐานอย่างดีเยี่ยม   ใช้ข้อมูลจาก ๒ แหล่งหลัก คือ (๑) รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ ปี ๒๕๕๙ รายงานนี้จัดทำโดย มสผส. ทุกปี  (๒) ผลการวิจัยระบบบริการสุขภาพไทยที่ควรจะเป็นในอนาคตเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (ผลงานของ IHPP)   ดู ppt ประกอบการนำเสนอของท่าน ที่นี่

 


คุณหมอลัดดา ผันตัวเองจากเดิมเป็นหมอผ่าตัดหูคอจมูกเด็ก ที่สถาบันสุขภาพเด็กมหาราชินี    มาเป็นนักจัดการงานวิจัย   และลงท้ายที่ผู้สูงอายุ   นำเสนอแบบอิงข้อมูลอย่างน่าชื่นชมมาก    ผมได้ความเข้าใจว่า มสผส. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการรวบรวมข้อมูลด้านผู้สูงอายุ  เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายของประเทศ    คุณหมอลัดดาจับงานนี้อย่างต่อเนื่องมา ๑๐ ปี   เปลี่ยนตัวเองจากการทำหน้าที่หมอดูแลผู้ป่วยรายคน   มาเป็นหมอดูแลสุขภาพของระบบ  ซึ่งในที่นี้คือระบบบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ   ก่อคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองยิ่ง    ผมมีชื่อว่ามีส่วนสร้างจุดผกผันในชีวิตของคุณหมอลัดดา จึงมีความสุขใจยิ่งนัก  

เรื่องสังคมสูงอายุ เป็นแนวโน้มโลก   ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย (มีประชากรอายุเกิน ๖๐ ร้อยละ ๑๐) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘   และคาดว่าจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (ร้อยละ ๒๐) ในปี ๒๕๖๔    จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (ร้อยละ ๒๘) ในปี ๒๕๗๔

ผมได้ยินคำว่า Geriatric syndrome วันนี้เป็นครั้งแรก   หมายถึงกลุ่มโรคของผู้สูงอายุ ได้แก่ หลงลืม  ซึมเศร้า  ผลข้างเคียงจากยา  หกล้ม  ติดเตียง  ขาดอาหาร  กลั้นปัสสาวะไม่ได้    

ตามด้วยการนำเสนอเรื่อง ระบบการดูแลผู้ป่วยสูงอายุในระยะยาวในกรุงเทพมหานคร โดย นพ. วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รอง ผอ. สำนักอนามัย กทม. และ นพ. สมชาย ตรีทิพย์สถิต ผอ. กองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม.   ดู ppt ประกอบการนำเสนอ ที่นี่

หัวใจของการดูแลผู้สูงอายุคือ การดูแลโดยชุมชน    ไม่ใช่การพึ่งพาระบบบริการเป็นหลัก    ระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชนดำเนินการพัฒนาในหลายอำเภอ

เป็นที่รู้กันว่า ในปัจจุบัน ผู้สูงอายุในชนบท มีสุขภาพชีวิตดีกว่าผู้สูงอายุใน กทม. มาก   มีตัวอย่างครอบครัวผู้สูงอายุใน กทม. ที่เอาพ่อแม่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ไปไว้ในโรงพยาบาลเอกชนต้องเสียเงินมากมาย สิ้นเนื้อประดาตัว   

ผลการวิจัยที่สนับสนุนโดย สวรส. (ดู ppt ประกอบการนำเสนอ ที่นี่) พบว่า ระบบดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งควรสมดุลระหว่าง health care กับ social care   ยังอ่อนแอมากในการดูแลด้านสังคม   เห็นได้ขัดว่าระบบนี้ของประเทศกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา    โชคดีที่เรามีกลไกวิจัยเชิงระบบ สำหรับเป็น feedback แก่การพัฒนาระบบ   ผลงานวิจัยมีข้อสรุปและข้อเสนอ ๑๐ ข้อ   จากการนำเสนอของ นพ. พีระพล ผอ. สวรส. ผมได้ความรู้ว่า care giver แก่ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ไม่ใช่วิชาชีพสุขภาพ   เพราะต้องดูแลทั้งด้านสุขภาพและด้านสังคม   ถือเป็นวิชาชีพแยกออกไป    ผลงานวิจัยนี้ชื่อ การสังเคราะห์การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวสำหรับประเทศไทย โดยสัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และกนิษฐา บุญธรรมเจริญ ()

ข้อค้นพบของการวิจัยระบบชิ้นนี้ บอกว่า บทบาทของกระทรวง พม. ยังน้อยไป  

ผมถามคุณหมอลัดดาว่า เมืองใหญ่เมืองใดที่ระบบดูแลผู้สูงอายุดีที่สุด    คำตอบคือเชียงใหม่  จากการดำเนินการของเทศบาล   ผมได้ความรู้ว่าเมืองเชียงใหม่มีผู้สูงอายุ ร้อยละ ๓๐ ของประชากร (ไม่นับผู้สูงอายุต่างชาติที่มาอยืที่เชียงใหม่ เช่นญี่ปุ่น)  เป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเรียบร้อยแล้ว

เมื่อพูดถึงการผลักดันระดับนโยบาย คุณหมอลัดดาบอกว่า ติดขัดมากในการออกกฎหมายในระดับรัฐบาล   ซึ่งคุณหมอชูชัย ศุภวงศ์ ชี้แจงว่า รมต. กอบศักดิ์ ภูตระกูล กำลังดำเนินการ   โดยต้องดูทิศทางของนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก  

คุณหมออำพล จินดาวัฒนา ชี้ให้เห็นแนวโน้มภาพใหญ่อื่นที่เกี่ยวข้องคือ เวลานี้คนเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนประเทศ รวมทั้งผู้สูงอายุ    และนิยามผู้สูงอายุที่ ๖๐ ปี ชักจะไม่สอดคล้องกับสภาพจริง ที่คนอายุ ๖๐ - ๗๐ จำนวนมาก ยังแข็งแรง ทำงานได้ดี    ประเทศญี่ปุ่นถึงกับเปลี่ยนนโยบายเป็นสังคมไม่สูงวัย   ส่งเสริมคนอายุ ๖๐ - ๗๐ ให้ทำงาน  

ท่านบอกว่าเรื่องผู้สูงอายุมี ๔ ด้าน คือ เศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  และสุขภาพ  ที่เชื่อมโยงกัน   แต่วันนี้เราแยกเอามาคุยกันเรื่องเดียวคือเรื่องสุขภาพ    

ผมออกจากห้องประชุมก่อนการประชุมจะจบ    ข้างล่างคือรายงานการประชุมที่ ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว กรุณาจด

 

การประชุมสามพรานฟอรั่มวันที่ 9 มีนาคม 2561

อ ประเวศ กล่าวเปิดการประชุม

และแจ้งเรื่องการจัดประชุมใหญ่ร่วมกันระหว่างสามพรานฟอรัมและ คุณสุชาดา. สวนสามพราน จัดประชุม เรื่องคนรุ่นใหม่กับอนาคตประเทศไทย

รวบรวมคนรุ่นใหม่ ที่ทำเรื่องดีๆต่างๆ ทีมสื่อช่อง 3 ไทยรัฐ. เพื่อ นำเรื่องดีๆ ขยายต่อยอด

ประเทศไทยมีจุดแข็งที่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์. Joseph Harris จากมหาวิทยาลัยบอสตันที่สนใจประเทศไทยและทำงานวิจัยพบว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยซึ่งมีผลกระทบต่อโลกเกิดจากภาคส่วนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข

ที่เป็น autonomous ไม่ใช่ bureaucracy ความสำเร็จเกิดขึ้นจากความต่อเนื่องทางปัญญา เช่น HA ของนายแพทย์อนุวัฒน์ส่วนการทำงานของข้าราชการในตำแหน่ง ผู้บริหารจะไม่ต่อเนื่องเป็น. Stepping stone เพื่อเป็นขั้นตอนการทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นในอนาคต

นายแพทย์ไพโรจน์ กล่าวความก้าวหน้าของงานการแพทย์ฉุกเฉินว่าขณะนี้ได้เชื่อมต่อระหว่าง 1669 กับ อบจ. ในบางพื้นที่. ให้พื้นที่เป็นเจ้าของขับเคลื่อนเช่นเดียวกับเรื่องเด็กปลอดภัย stroke suicide ได้มีการอภิปรายเรื่องสื่อกับการสอนทำ CPR ด้วยวิธีที่ถูกต้องในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส

อาจารย์สมศักดิ์ประกาศเชิญชวนพบคณบดีของคณะสาธารณสุขศาสตร์ Harvard school of PH มหาวิทยาลัยบอสตันจะจัดสัมมนาอบรมเชิงปฏิบัติการและสร้างเครือข่ายทางด้าน

Health system ในวันที่ 24 เมษายน 2561

 

การนำเสนอ เรื่อง LTC

ทางกทม มีโครงการเรื่อง

Preventive LTC โดยใช้ Cognitive excercise เพื่อป้องกันการหกล้มและภาวะสมองเสื่อม

 

อาจารย์ประเวศกล่าวว่าระบบการรักษาคือ hospital care เป็นตัวเสริมแต่หลักการคือ Community care ชุมชนชนบททำได้ง่ายกว่าชุมชนเมืองเช่นชุมชนหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวนสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ 100% ส่วนในเมือง capacity ไม่พอใช้ค่าใช้จ่ายสูงสำหรับ nursing home ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน

ตามนโยบายของนายกสภาการพยาบาลให้มีพยาบาลหนึ่งคนประจำสองหมู่บ้านและผู้ช่วยพยาบาลหนึ่งคนประจำหนึ่งหมู่บ้านเพื่อดูแลเด็กและสูงอายุทุกคนให้ใช้โมเดลในการขับเคลื่อนโดยเฉพาะที่โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น

สำหรับชุมชนเมือง. สสส ได้ปรึกษากับทางสภาการพยาบาล เนื่องจากมีความต้องการให้มีหน่วยพยาบาลดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในคอนโดมีเนี่ยม

อาจารย์พีรพลกล่าวว่าประเทศไทยจะแตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นเพราะกระทรวงที่ดูแลผู้สูงอายุคือกระทรวงHealth Labor Welfare งบประมาณจึงมาจากแหล่งเดียวในขณะที่ประเทศไทยงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขทำให้ LTC เป็นมิติของ Health careการดูแลทางสังคมยังไม่มีบทบาทชัดเจนและยังไม่มีงานวิจัยที่สนับสนุนผลลัพธ์ทำให้ดูเหมือนเป็นงานต่อยอดจากงานอาสาสมัครที่เคยทำอยู่เดิม แตกต่างจากงานศูนย์เด็กเล็กซึ่งได้งบจากกระทรวงพัฒนาสังคมท้องถิ่นดูแลและเป็นเจ้าของเองทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

อาจารย์ประเวศสรุปว่าสาเหตุของการพัฒนาช้าในประเทศไทยเกิดจาก

  1. การขาดการออกแบบที่ดี เกิดการติดขัดในระบบการทำงานแยกส่วนทำให้ไม่เกิดพลังทางปัญญา สวรส ทำงานวิจัยอย่างเป็นระบบ. Research design development implement
  2. ภาคท้องถิ่นไม่มีระเบียบการใช้เงิน. LTC ควรสนับสนุนควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุเช่นสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อให้ช่วยเหลือดูแลกันเองหรือดูแลตนเองและผู้อื่นด้วย

 

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ได้เสนอความก้าวหน้าไปสองเรื่อง ที่ได้เสนอรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล แล้ว คือ

1.ผู้สูงอายุ ติดเตียง. ติดบ้าน รวมประมาณหนึ่งล้านคน โดยชี้ให้เห็นว่า

จะได้ใจ คนฐานล่างประมาณ 15-20ล้านคน โดยได้ประสานกับนายกสภาการพยาบาล ประธานสภาผู้สูงอายุ.แล้ว พร้อมสนับสนุนเต็มที่ รวมทั้งได้ประสานให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น สปสช. สสส. มสช. กระทรวงสาธารณสุข มาหารือกับดร.กอบศักดิ์ แล้ว คาดว่า จะนำเสนอเข้าที่ประชุม กขร. คณะกรรมการขับเคลื่อนเร่งรัดนโยบายรัฐบาล ปลายเดือนนี้ ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. สภาประชารัฐท้องถิ่น ได้แจ้งให้ทราบว่า ยุทธศาสตร์ตำบลเข้มแข็ง ได้ดำเนินการแล้ว โดยร่วมกับอาจารย์สมสุข บุญญะบัญชา เป็นผู้นำเสนอแนวคิดเรื่องนี้ มาตั้งแต่ ร่างสภาพลเมือง บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญมา ด้วยกัน กำลังหานักกฎหมายมาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสภาประชารัฐท้องถิ่น ตำบล ต่อไป

 

อาจารย์อำพลเสนอว่าในสภาพปัจจุบันคนไทยจำนวน 65,000,000 คนและการดูแลสุขภาพต้องคำนึงถึงคนต่างชาติย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากด้วยผู้เกษียณอายุราชการ 60 ปีทำให้เกิดการติดบ้านติดเตียงเร็วขึ้น. เนื่องจากไม่ได้ทำงานอีกต่อไปจึงควรสนับสนุนให้ทำงานต่อไป. อาจารย์ประเวศเสนอเรื่องการติดขัดที่ระเบียบข้อบังคับให้ปรึกษาคุณสมพร ใช้บางยางอธิบดีกรมปกครองส่วนท้องถิ่น. ฝ่ายกฎหมายปรึกษาคุณบวรศักดิ์. ภาคเอกชนเสนอให้ตัดกฎหมายข้อบังคับที่ไม่มีประโยชน์ 130,000 ฉบับ ได้เสนอทางสำนักอนามัยให้ทำความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยให้สนับสนุนนิสิตนักศึกษาทำงานช่วยเหลือคนจนและผู้สูงอายุซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าการเรียนในห้องเรียนและนักศึกษายังสามารถชวนอาจารย์มาทำงานวิจัยเพิ่มเติมด้วย. อาจารย์ประเวศกล่าวปิดประชุมและได้เล่าเรื่องการปฏิรูปโรงเรียนแพทย์สมัยอาจารย์อารีถึงสาเหตุที่ทำไม่สำเร็จและ ให้คำสอนว่า”การทำความดีไม่ง่าย”

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๖๑

 




หมายเลขบันทึก: 646360เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2018 01:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2018 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท