ชีวิตที่พอเพียง : 3149. โลกก้าวสู่ยุคหลังความจริง (Post-truth World) จริงหรือ



              บทความเรื่อง Factiness : Are we living in a post-truth world? ลงพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๖๑   นิยามคำว่า “โลกยุคหลังความจริง” ว่า เป็นโลกที่ความจริงที่มีหลักฐานยืนยันมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณชนน้อยกว่าความจริงที่เร้าอารมณ์และความเชื่อส่วนบุคคล

ตามนิยามนี้ สังคมไทยปัจจุบันอยู่ในโลกยุคหลังความจริง    หากดูจากทีวีหรือฟังจากวิทยุ    ความจริงที่มีหลักฐานยืนยันไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่คนอยากเสพ เพื่อเอามันในอารมณ์   ผมเรียกว่า ยุคมายาครองโลก  

วิวัฒนาการเกี่ยวกับถ้อยคำ เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๕๔๘ สมาคมถ้อยคำแห่งสหรัฐอเมริกา (American Dialect Society)  ยกคำว่า truthiness ให้เป็น word of the year    ในความหมายว่า “ความจริงที่เราอยากได้”  

ต่อมาในปี ๒๕๕๙ พจนานุกรม อ็อกซฟอร์ด เสนอคำ post-truth ให้เป็น word of the year   และให้ความหมายว่า “สภาพที่ความจริงที่มีหลักฐานยืนยันมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณชนน้อยกว่าความจริงที่เร้าอารมณ์และความเชื่อส่วนบุคคล”

ปีที่แล้ว พ.ศ. ๒๕๖๐ มีการใช้คำว่า “ข่าวลวง” (fake news) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๖๕   และติดอันดับ shortlist word of the year ของ Collins English Dictionary  ซึ่งให้ความหมายว่า “สารสนเทศเท็จ มักเร้าอารมณ์ ที่ปล่อยออกมาในรายงานข่าว” 

อีกคำหนึ่งคือ “ข่าวทางเลือก” (alternative fact)   

กลับไปที่ชื่อบันทึก    คำตอบจากหนังสือ Enlightenment Now : The The Case for Reason, Science, Humanism and Progress (2018)  เขียนโดยศาสตราจารย์ Steven Pinker นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตอบว่า ไม่จริง  

ท่านเขียนว่า “มุสาวาท, การปกปิดความจริง, การสมรู้ร่วมคิด, การจูงใจสาธารณชนให้หลงผิด, และความบ้าหลั่งของกลุ่มชน เป็นสิ่งที่มีมาคู่กับมนุษยชาติ”  และมีมาคู่กับสติปัญญาแยกยแยะว่าข่าวใดจริง ข่าวใดเท็จ   

แต่ปัจจุบันข่าวเท็จปล่อยง่ายขึ้นมาก จากความก้าวหน้าของ ไอซีที    ก็มีคนใช้หลัก หนามยอกเอาหนามบ่ง   คือตั้งเว็บไซต์ให้บริการตรวจสอบข่าว ตัวอย่างเช่น Snopes.com, FactCheck.org, OpenSecrets.org, PolitiFact.com    ซึ่งก็กลายเป็นเครื่องมือให้นักปล่อยข่าวเข้าไปลวง   

แม้นักจิตวิทยาและนักพฤติกรรมศาสตร์สมัยใหม่จะสรุปว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ไร้เหตุผล (irrational)    และนักสังคมศาสตร์แนวโพสต์โมเดิร์น บอกว่า เหตุผลเป็นเครื่องมือของผู้ครอบงำ (hegemonic weapon)    คนมองโลกแง่ดีอย่างศาสตราจารย์ พิ้งเก้อร์ บอกว่า   คนสมัยนี้ต้องมีนิสัยและทักษะตรวจสอบความจริง    เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่าข่าวลวงหรือข่าวเท็จได้เป็นตัวก่อจลาจลหรือสงครามอย่างไรบ้าง    ในสหรัฐอเมริกาเขาเอ่ยถึง สงครามสเปน-อเมริกา ในปี 1898, การยกระดับสงครามเวียดนามในปี 1964, และการก่อสงครามอิรักในปี 2003   ช่วงนั้นใครเป็นประธานาธิบดีตัวการตรวจสอบเอาเองนะครับ   แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นการสมรู้ร่วมคิดของคนหลายกลุ่ม   เมื่อมีตัวอย่างความเสียหายจากข่าวเท็จ   การฝึกพลเมืองให้รู้เท่าทันจึงสำคัญยิ่ง

จึงต้องวนมาที่ระบบการศึกษา    ที่ต้องเปลี่ยนจากการเรียนข้อเท็จจริง    มาเป็นเรียนการตีความข้อเท็จจริง   เรียนทำความเข้าใจคนที่ตีความต่างจากตนเอง 

การเรียนการสอนแนว Socratic Dialogue จึงยิ่งมีความสำคัญ 

วิจารณ์ พานิช

๙ มี.ค. ๖๑

ห้องรับแขก โรงแรม สามพราน ริเวอร์ไซด์


 

หมายเลขบันทึก: 646355เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2018 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2018 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท