๗๐๓. ทำความเข้าใจหลักสูตรแกนกลาง ๒๕๕๑.. ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๐


โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ดูเหมือนจะง่าย แต่พอทำจริงๆก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากครูทุกคน ในการระดมความคิด หาข้อมูลและข้อสรุปเกี่ยวกับโครงสร้างเวลาเรียนและโครงสร้างหลักสูตรชั้นปี ที่ต้องจัดสรรเวลาเรียนในรายวิชาพื้นฐาน

           ผมเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการพัฒนาบุคลากรหลัก เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งตอนนี้เป็นฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งจะต้องนำไปปฏิบัติในช่วงเปิดภาคเรียน..เป็นต้นไป

          บุคลากรหลักในที่นี้ หมายถึง ผู้บริหารสถานศึกษาและครูวิชาการของโรงเรียน ใช้เวลาประชุมเพียง ๑ วัน แต่ผมก็ได้ความรู้มากมาย..

            ตอนแรกก็สงสัยว่า..ทำไมต้องปรับปรุงกันด้วย ในเมื่อลักสูตร ๒๕๕๑ นั้นดีอยู่แล้ว..ทั้งในด้านการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาไว้ชัดเจน มีความยืดหยุ่นเพียงพอให้สถานศึกษาบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาได้

            อาจจะมีปัญหาบ้างในแง่ของการนำหลักสูตรไปสู่ภาคปฏิบัติในห้องเรียน ที่ครูผู้สอนจัดการเรียนการสอน ยังไม่ครอบคลุมตัวชี้วัดเท่าที่ควร

            สาเหตุหลักๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับปรุงหลักสูตร ก็คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมคนให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม

            แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต้องการเตรียมพร้อมด้านกำลังคน และการเสริมสร้างศักยภาพของประชากรในทุกช่วงวัย โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศ

            อีกทั้งต้องการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานและทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

            การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ ยังคงหลักการและโครงสร้างเดิมของหลักสูตรแกนกลางฯพ.ศ.๒๕๕๑ ที่ประกอบด้วย ๘ สาระการเรียนรู้ ได้แก่

            สาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ

            สาระสำคัญของการปรับปรุงหลักสูตรในครั้งนี้ มีไม่มากนัก ชี้ชัดลงไปที่สาระคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ มีการจัดกลุ่มความรู้ใหม่และนำทักษะกระบวนการไปบูรณาการกับตัวชี้วัด เน้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และมีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑

            กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดสำหรับผู้เรียนทุกคน ที่เป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

            กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ได้เพิ่มสาระเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วยการออกแบบและเทคโนโลยีและวิทยาการคำนวณ  เป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงบูรณาการ ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา

            ส่วนภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมศึกษา ได้ปรับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับพัฒนาการตามช่วงวัย มีองค์ความรู้ที่เป็นสากล เพิ่มความสามารถ ทักษะและกระบวนการทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้น

            เสร็จสิ้นการประชุมฏิบัติการ แต่ภาระงานของโรงเรียนยังไม่จบ ครูวิชาการจะต้องเป็นแกนนำ พาครูทำหลักสูตรสถานศึกษาให้แล้วเสร็จ ทันใช้เปิดเทอมปีการศึกษา ๒๕๖๑

            โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ดูเหมือนจะง่าย แต่พอทำจริงๆก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากครูทุกคน ในการระดมความคิด หาข้อมูลและข้อสรุปเกี่ยวกับโครงสร้างเวลาเรียนและโครงสร้างหลักสูตรชั้นปี ที่ต้องจัดสรรเวลาเรียนในรายวิชาพื้นฐาน

            การจัดเวลาเรียนต้องให้สอดคล้องกับเกณฑ์การจบและคำนึงถึงศักยภาพผู้เรียน

            วิชาหน้าที่พลเมือง ยังคงมีอยู่ เพื่อส่งเสริมการสร้างความเป็นพลเมืองดีของชาติตามความพร้อม และบริบทของสถานศึกษา

            การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ก็ยังคงอยู่ ระดับประถมศึกษาให้เรียนประวัติศาสตร์ ๔๐ ชั่วโมง/ปี

            สิ่งที่ยากที่สุดของหลักสูตรสถานศึกษา ก็คือการจัดทำคำอธิบายรายวิชา ถ้าเข้าใจและผ่านจุดนี้ไปได้..หลักสูตรสถานศึกษาจะสมบูรณ์และพร้อมสำหรับการนำไปใช้

            คำอธิบายรายวิชาส่วนแรก ประกอบด้วย รหัสวิชา ชื่อรายวิชา กลุ่มสาระการเรียนรู้ ชั้นปี จำนวนชั่วโมงหรือหน่วยกิต

            ส่วนที่สองประกอบด้วย องค์ความรู้ ทักษะ/กระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยมีแนวการเขียนประมาณว่า..ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง และผู้เรียนสามารถทำอะไรได้บ้าง?

            หลายปีแล้ว..ที่ผมไม่ได้ศึกษาและทบทวนเรื่องหลักสูตร วันนี้..จึงนับเป็นโอกาสดี ที่เข้ารับฟังและเข้าใจตลอดแนว..โดยวิทยากรที่เป็นศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่ฯผู้มีความรู้ความสามารถ ให้ความกระจ่างชัดเจน..

            โดยเฉพาะ..ในส่วนที่ปรับปรุง..ทราบแล้วว่ามีอะไรบ้าง? และเมื่อปรับแล้วจะเริ่มใช้เฉพาะป.๑ กับ ป.๔ ชั้นอื่นๆยังคงเดิม..ถ้าปีนี้..เตรียมหลักสูตรสถานศึกษาให้ดี ปีต่อไป..จะง่ายแน่นอน

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๔  เมษายน  ๒๕๖๑

 

     

หมายเลขบันทึก: 646225เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2018 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2018 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท