โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา



               โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ดำเนินการมาแล้ว ๔ ปี   และเข้าสู่ระยะที่ ๒ (ที่มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนของขบวนการปฏิรูปการเรียนรู้แนวเพาะพันธุ์ปัญญา) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐   มีช่วงเวลาของโครงการ ๒ ปี    ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง ซึ่งเป็นชุดใหม่ มี ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ เป็นประธาน    การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกของคณะกรรมการชุดนี้ 

ท่านที่ไม่รู้จักโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา อ่านได้ที่ ()    ฟังจากรายงานของ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ต่อที่ประชุม   ผมตีความว่า โครงการนี้ได้สร้างรากฐานการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ไว้เป็นอย่างดี    ทั้งด้านการพัฒนาครู  การจัดรูปแบบการเรียนรู้  และการปฏิรูปโรงเรียน   กำลังเกิดเครือข่ายโค้ชทั่วประเทศ ที่ทำงานตามแนวทางที่ ดร. สุธีระ พัฒนาขึ้น และกำลังพัฒนาต่อเนื่อง   

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา จัดการเรียนรู้แบบ โครงงานฐานวิจัย หรือ RBL (Research-Based Learning)    โดยที่โจทย์วิจัยมาจากชีวิตจริง   เน้นมาจากชุมชนโดยรอบโรงเรียน   ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง คือ Activity-Based Learning หรือ Inquiry-Based Learning นั่นเอง    โดยกำลังจะขับเคลื่อนไปสู่แนวทาง SEEEM ที่เน้นพัฒนาความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)  เชื่อมโลกกลไก (STEM) กับโลกอินทรีย์ (SEP – Sufficiency Economy Philosophy)  

ผมตีความว่า ผู้ที่ได้เรียนรู้มากที่สุดในทีมงานเพาะพันธุ์ปัญญา คือ ดร. สุธีระ เอง    เพราะหลังจากทำงานนี้ไปไม่นาน ท่านก็พัฒนาวลีเด็ด “ถามคือสอน  สะท้อนคิดคือเรียน  เขียนคือคิด”  

ในช่วงที่สองของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญานี้ เป้าหมายหลักคือการบูรณาการเข้าสู่ระบบ  เพื่อความต่อเนื่องยั่งยืน  

ผมเสนอว่า PLC ของครูในโรงเรียน   ข้ามโรงเรียน  และ PLC Online น่าจะเป็นปัจจัยความยั่งยืนต่อเนื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง    หากผมเป็นผู้บริหารโครงการนี้ ผมจะเดินช่วงที่สองด้วย PLC   อย่างน้อยก็ 50% ของกิจการ   โดยมีเป้าให้ PLC เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ที่สร้างรากที่หยั่งลึก    รากลึกที่อยู่ในโรงเรียน  ชุมชน  และในวงการครู   ที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมแนวราบ   ที่เน้นการตั้งคำถาม และช่วยกันหาคำตอบ   ไม่ใช่มีคน/หน่วยงาน กำหนดสูตรสำเร็จให้ถือปฏิบัติ   

PLC เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน  ต้องการ PMS (PLC Management Systems) เพื่อเชื่อมโยงเป็น PLC Network  และจัด Annual National PLC Forum เป็นกลไกขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับ Learning Outcome ของนักเรียน    รวมทั้งยกระดับการพัฒนาครูจากการทำงาน    ซึ่งหมายความว่า PMS ต้องสร้างกลไกการทำงาน ๓ ด้าน    ใช้เงินเพียงปีละ ๑๐ - ๒๐ ล้านบาทก็เพียงพอ

  • ส่งเสริม PLC Network  และจัด Annual National PLC Forum
  • ส่งเสริมการวัด Learning Outcome ของนักเรียนอย่างง่าย ทำโดยโรงเรียนและทีมงานของครูเอง   สำหรับใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับสู่การพัฒนาวิธีทำงานของครู
  • ส่งเสริมการสร้างผลงานวิชาการของครู จากกิจกรรม PLC   เพื่อให้ PLC เป็นกลไกพัฒนาครูอย่างแท้จริง

ผมเชื่อว่า PLC ที่ดี ที่ถูกต้อง จะนำไปสู่ systems transformation ของระบบการศึกษาไทย   โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดคือคือ ศักดิ์ศรีครู    ผลลัพธ์หมายเลขหนึ่งของ PLC คือ Learning Outcome ของนักเรียน  และหมายเลข ๒ คือการกู้ศักดิ์ศรีครู

เป้าหมายระยะยาวมาก (อาจ ๓๐ ปี) ในความฝันของผมคือ Educational Equity   ซึ่งหมายถึงคุณภาพโรงเรียนทั่วประเทศดีพอๆ กัน ไม่ต่างกันมาก    โดยตัวแบบคือประเทศฟินแลนด์ ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาที่คนในวงการศึกษาไทยนิยมไปเรียนต่อ   เราควรส่งครูไปศึกษาต่อที่ฟินแลนด์ ไม่ใช่ที่สหรัฐอเมริกา    

มีการพูดกันว่า สมัชชาการศึกษาในพื้นที่ เป็นกลไกอย่างหนึ่งของความต่อเนื่องยั่งยืน

การอภิปรายเรื่องความต่อเนื่องยั่งยืน  ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารการศึกษาของประเทศ  คือกระทรวงศึกษาธิการ   ที่มีคนพูดว่า โครงสร้างในปัจจุบัน สร้างและดูดซับนวัตกรรมไม่ได้    เป็นโครงสร้างที่ผิด   ผมใช้คำว่า “จับมือใครดมไม่ได้”   คือเป็นระบบที่ไม่มีกลไกให้เกิด accountability นั่นเอง  

ผมชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่หัวหน้าโครงการ (คือ ดร. สุธีระ) ทำ    มี ๒ ส่วน ในสัดส่วน ๘๐ : ๒๐ คือ Technical Management กับ Systems Management    ในระยะที่ ๒ นี้ส่วน ๒๐ ควรต้องขยายตัวขึ้นมาก    และใส่มิติใหม่ๆเข้าไป   เพื่อสร้างความต่อเนื่องยั่งยืน

เรื่องความต่อเนื่องยั่งยืนนี้ เมื่อฟังท่านประธาน กพฐ. คือ ดร. ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ และ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย แล้ว ผมให้น้ำหนัก ๒๐ : ๘๐ แก่กลไกในระบบ (กระทรวงศึกษาธิการ) กับกลไกนอกระบบ    ซึ่ง PMS เป็นกลไกนอกระบบที่สำคัญ 

เราได้ฟังรายงานของมหาวิทยาลัยพะเยา  และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ    ได้รับฟัง Success Story หลายเรื่อง     ที่ผมชื่นชมที่สุดคือการใช้พลังของนักเรียน พพปญ. ของมหาวิทยาลัยพะเยา     กับการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของ มรภ. ศรีสะเกษ    ทั้งสองเรื่องเป็นพื้นฐานของความต่อเนื่องยั่งยืน    คือจะทำให้ พพปญ. เป็นที่ชื่นชอบในพื้นที่    เพราะเห็นผลต่อคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชัดเจน  

ม. พะเยา ให้โควต้าศิษย์ พพปญ. เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยพะเยาโดยตรง    แล้วนิสิตเหล่านี้กลับไปที่โรงเรียนเดิมของตนเพื่อแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ    นิสิตบางคนมีศรัทธาต่อโครงการ พพปญ. มากถึงกับตั้งใจเรียนเพื่อกลับไปเป็นครูในโรงเรียนเก่าของตน    ฟังเรื่องราวของ ม. พะเยาแล้ว ผมนึกว่า จะเป็นการง่ายมากที่จะเชื่อมโยงนิสิตเหล่านี้สู่ service learning   

 มรภ. ศรีสะเกษ มีความสามารถสูงมาก ในการเชื่อมโยงกิจกรรมของโครงการ พพปญ. กับ อบจ. ศรีสะเกษ   ทำให้นายก อบจ. เห็นคุณค่าและพร้อมสนับสนุนงบประมาณ    เพราะเห็นผลเพิ่มคุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ชัดเจน       

วิจารณ์ พานิช   

๖ มี.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 646217เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2018 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2018 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดตามโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท