ชีวิตที่พอเพียง : 3145. หอจดหมายเหตุพุทธทาส



หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ (www.bia.or.th) ดำเนินการมาครบ ๘ ปีแล้ว  

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๑ มีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โดยมี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัยเป็นประธาน   และคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นรองประธาน   ซึ่งเมื่อฟังรายงานกิจการในปี ๒๕๖๐ แล้ว   ผมสรุปกับตัวเองว่า เป็นการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแนวท่านพุทธทาส คือแนววิชาการ   ไม่ใช่แนวป๊อปปูล่าร์    ผู้คนนับถือว่าเป็นธรรมะแท้  แต่มีเพียงคนส่วนน้อยที่นิยมชมชอบ และใกล้ชิด   ซึ่งสมัยที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ก็มีสภาพเช่นนี้

หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ดำเนินการเพื่อสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาส ที่ท่านบันทึกไว้เมื่อวันที่ ๙ และ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ว่า “… ขอให้เป็นประโยชน์แม้ตายแล้ว คือสันติภาพของโลก” (บทนำ หนังสือ หัวใจนิพพาน : เทศนาชุดสุดท้ายของพุทธทาส   จัดพิมพ์ในวาระพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมนาถบพิตร  วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐)  

โดยนัย หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ทำงานเพื่อสันติภาพของโลก

โดยชื่อของหอจดหมายเหตุฯ ระบุชัดเจนว่าเป็นที่เก็บ จัดระบบ ให้บริการ และเผยแผ่ ผลงานของท่านพุทธทาส

ผมชื่นชมที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ๕ ปี (๒๕๖๑ - ๒๕๖๕)    กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “สืบสานงานธรรมเพื่อศีลธรรมและความถูกต้อง”   โดยมีพันธกิจ ๓ ข้อ  (๑) มุ่งเป็นหอจดหมายเหตุทางศาสนธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้ตามมาตรฐานสากล  (๒) มุ่งนำพาผู้คนเข้าถึงแก่นแท้อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ผ่านกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ทางจิตใจ และปัญญา    เกิดความร่วมมือกันระหว่างศาสนิก ทั้งในและต่างหลักศรัทธาศาสนา ในการนำพาสันติสุข และการหลุดพ้นจากอำนาจแห่งวัตถุบริโภคนิยม   ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างถูกต้องตามหลักพุทธรรม  (๓) สร้างสานเครือข่ายภาคีทางธรรม เพื่อการขับเคลื่อนงานธรรมให้กว้างขวางในสังคม  

มีการเสนอ ๖ ยุทธศาสตร์    ที่ผมชอบมากคือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ที่ภายในเวลา ๕ ปี จะมีการกระจายกลุ่มเป้าหมาย จากปัจจุบัน บุคคลทั่วไปเป็นกลุ่มได้ประโยชน์ร้อยละ ๘๐   จะกระจายเป็น ๔ กลุ่ม   ที่ผมชอบมากคือมีกลุ่มในระบบการศึกษา (นักเรียน  พ่อแม่  ครู) เป็นร้อยละ ๒๐ ของภาพรวม    จากเดิมไม่ได้เป็นเป้าหมายชัดเจน    เป้าหมายอื่นคือ บุคคลทั่วไป ร้อยละ ๓๐   องค์กรทางศาสนา ร้อยละ ๓๐   และภาคราชการและเอกชน ร้อยละ ๒๐  

ในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา หอฯ ทำงานได้มากมาย    โดยเงินรายรับและรายจ่ายพอๆ กัน คือเลี้ยงตัวได้   แต่เมื่อคิดค่าเสื่อมของอาคารและครุภัณฑ์ ก็ติดลบประมาณปีละ ๑๕ ล้านบาท      

วิจารณ์ พานิช

๖ มี.ค. ๖๑

 


 

หมายเลขบันทึก: 646216เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2018 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2018 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท