ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 17 : การสอบคัดเลือกสายบริหารอำนวยการ ตอน 1


29 มีนาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการสอบสายบริหารและอำนวยการข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีข้อวิพากษ์ตำนานให้ได้เล่าขานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระแสลบหรือบวกก็คงเป็นแง่มุมให้ได้คิดกัน เพราะคงไม่มีผลไปเปลี่ยนแปลง “มติของ ก.กลาง” ที่ได้รับมอบอำนาจจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบที่ 8/2560 [2] ให้จัดการสอบครั้งนี้ ซึ่ง ก.กลาง โดย “คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.)” ได้มีการเตรียมการวางเป็นมาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างยาวนาน เอาเป็นว่าตั้งแต่ก่อนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคนก่อน (ก่อน 1 ตุลาคม 2560) และกว่าการจัดการสอบจะแล้วเสร็จและบรรจุแต่งตั้งได้คงอีกนาน อย่าเกินมิถุนายน 2561 ก็แล้วกัน

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งว่า [3] การสอบในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิสอบทั้งสิ้น 24,436 คน แบ่งเป็นระดับสูง 1,663 คน ระดับกลาง 9,810 คน ระดับต้น 10,913 คน รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 836 คน และผู้อำนวยการสถานศึกษา 1,214 คน โดยแบ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิสอบในรอบเช้า ช่วงเวลา 9.00 - 11.30 น. จำนวน 11,473 คน ซึ่งมีผู้เข้าสอบจริง จำนวน 9,870 คน ขาดสอบจำนวน 1,603 คน และสำหรับรอบบ่าย ช่วงเวลา 14.00 น. - 16.30 น. มีผู้มีสิทธิเข้าสอบจำนวน 12,963 คน ซึ่งมีผู้เข้าสอบจำนวน 11,055 คน ขาดสอบจำนวน 1,908 คน รวมมีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 20,925 คน คิดเป็นร้อยละ 85.63 ของผู้มีสิทธิสอบทั้งหมด โดยจะดำเนินการบรรจุครั้งแรกจำนวน 9,895 อัตรา ซึ่งบัญชีจะมีอายุ 1 ปี เมื่อสอบข้อเขียนผ่านแล้ว ผู้สอบจะต้องเข้าสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งต่อไป (สอบสัมภาษณ์) ทั้งนี้ จะประกาศผลผู้มีสิทธิสอบภาคความเหมาะสมภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 นี้ โดยผู้ที่สอบผ่านจะต้องส่งผลงานที่ประสบความสำเร็จและวิสัยทัศน์ถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561

 

สถานการณ์การสอบที่อลหม่าน

ลองมาดูข้อสังเกตตามกระแสกันมีข้อสังเกตที่น่าทึ่งมาก ๆ ถือเป็นประสบการณ์การสอบของผู้เข้าสอบที่ไม่เหมือนใคร และ ไม่น่าจะมีใครเหมือน ด้วยปริมาณจำนวนผู้เข้าสอบที่มากกว่าสนามสอบใด ๆ เอาเป็นว่าน้อง ๆ สนาม “สอบแข่งขัน” สนามหนึ่งก็ได้ ขอเล่าเรื่องฝากไว้เป็นหน้าประวัติศาสตร์

(1) เรื่องสถานที่สอบถือว่าสุดยอดสมบูรณ์ แต่การให้ท้องถิ่นมาสอบที่เดียวกัน ซึ่งไม่เคย ไม่รู้จัก จึงต้องมาเป็นหมู่คณะ หรือบางคนมีสามีภรรยาเป็นผู้ติดตาม จึงทำให้การจราจรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ติดขัด วิ่งหาห้องสอบกันแทบไม่ทัน หรือบางคนมาตั้งแต่เช้าจนเป็นลม (2) ปัญหาการจราจรกรุงเทพและปริมณฑลทำให้ผู้สอบต้องพยายามหาที่พักใกล้เคียงเพื่อให้ทันสอบ ปัญหารถ ปัญหาที่จอดรถทำให้การบริหารเวลาแบบจวนเจียน กว่าจะได้ถึงห้องสอบบางคนต้องเป็นลม (3) การจัดการสอบห้ามอุปกรณ์ส่วนตัว ยา อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องประดับ พระเครื่อง เงิน ธนบัตร ฯลฯ [4] ทำให้มีปัญหาในการฝากสิ่งของ และการติดต่อสื่อสารกัน (4) เรื่องข้อสอบอัตนัย ปรนัย มีข้อโต้แย้งเรื่องมาตรฐานในตำแหน่งที่สอบ แต่ปรากฏว่าไม่มี รวมถึงตำแหน่งต่างๆ ในระดับเดียวกัน เพราะเป็นการใช้ข้อสอบชุดเดียวกันของ อบต. อบจ. เทศบาล เพราะภารกิจหน้าที่ อปท. ที่แตกต่างกัน (5) การสอบเช่นนี้ด้วยวิธีการเช่นนี้ มองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ถูกทาง ปัญหาคืออะไรต้องแก้ที่ปัญหา ที่จริงปัญหาคือ “ระบบอุปถัมภ์” หรือการให้ “อำนาจนักการเมืองแบบสิทธิขาดมาก” (ล้นฟ้า) หรือ การ “ขาดการถ่วงดุลอำนาจ” เพื่อคุณธรรมก็ต้องแก้ไขกันตรงนั้น เป็นต้น (6) ควรมีการทบทวนพิจารณารูปแบบวิธีการในการสอบใหม่เช่น การสอบรูปแบบนี้ใช้เหมาะสำหรับการเปลี่ยนสายงาน ส่วนความก้าวหน้าในสายงานโดยเฉพาะสายงานบริหารอำนวยการฯ ควรหาวิธีอื่น เหล่านี้เป็นเพียงความเห็นหนึ่ง ที่จะสะท้อนออกมาเพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ไขในโอกาสต่อไป

 

สรุปภาพรวมในประเด็นต่าง ๆ

ในเรื่อง (1) การถูกควบคุมเข้ม  การจัดแบบแถวทหาร  คงไม่ทำให้เกิดความอึดอัดใด เพราะคนสอบได้ถอดหัวโขนออกไว้ ณ ที่ทำงานแล้ว  ความสะดวกสบายถูกจำกัดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา  ความหงุดหงิดก็มีบ้างเช่นการทำข้อเขียนไม่ได้เรียบร้อยสมบูรณ์  เพราะมัวไปเพ่งอ่านทบทวนข้อสอบปรนัยจนเลยกินเวลาการสอบข้อเขียนไปบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพ หรือต้องเข้าห้องน้ำบ่อย อาจเป็นอุปสรรคบ้าง ตลอดจนลายมือที่อ่านยากเพราะเร่งรีบในการเขียนที่คนตรวจคงอ่านลำบากซึ่งอาจเกิดความกังวลใจเรื่องกรรมการตรวจข้อสอบบ้างแม้ก่อนหน้านั้นได้มีประกาศกำหนดกรอบข้อสอบไว้แล้วก็ตาม ก่อนวันสอบมีผู้สอบหลายคนสมัครเข้ารับการติวข้อสอบจากบรรดาอดีตบุคคลากรท้องถิ่นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็คงได้แนวคิดแนวข้อสอบบ้างตามความขยันและภูมิความรู้ที่มีของผู้สอบแต่ละคน อีกทั้งความรู้มุมมองและแง่มุมที่ได้จากการติวอาจนำไปใช้ในการทำงานด้วยเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการสอบ และก็มั่นใจในโอกาสที่เปิดสอบครั้งนี้ว่า จะมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมเหมือนเช่นเดิมที่ส่วนกลางได้ดำเนินการเมื่อครั้งปี 2542-2546 (2) สำหรับผู้สอบสายบริหารอำนวยการที่ไม่เคยผ่านระบบสอบส่วนกลางมาก่อน ก็คงภูมิใจเถิดที่ได้สอบในส่วนกลาง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เรารู้ว่า  แท้ที่จริงนั้นตำแหน่งและอำนาจมิใช่เป็นสมบัติของเรา แต่มันเป็นขององค์กร (อปท.) เพราะเมื่อเราย้ายตำแหน่งไปคนอื่นเขาก็มาใช้แทน  เราต่างหากที่จะต้องสวมตำแหน่ง (แต่งตั้ง) และทำหน้าที่บทบาทในตำแหน่งนั้น เพื่อสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าให้แก่องค์กร และประชาชน ได้อย่างสมบูรณ์เป็นธรรมถูกต้องคุ้มค่าได้อย่างไรต่างหาก (3) ปัญหาการจราจรในการไปสอบการเข้าห้องน้ำ หรือข้อจำกัดในความสะดวกใด ๆ เป็นสภาพปัญหาที่ย่อมมีเป็นธรรมดา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการบริหารจัดการการวางแผนตนเองของผู้เข้าสอบเป็นสำคัญ เป็นหน้าที่ในการปรับตนเองให้เข้ากับบริบท  มิใช่ให้บริบทปรับให้มาหาตนเอง

 

ยุทธการน้ำเก่าไล่น้ำใหม่

ในการสอบสายบริหารและอำนวยการระยะแรกอาจยังไม่เห็นผลเพราะ บุคคลากรคนเดิม ที่มาจากระบบอุปถัมภ์ยังคงอยู่ในระบบฉะนั้น คงต้องสอบสายบริหารฯ ไปอีกสักระยะหนึ่ง หรืออีกอย่างต่ำ 5 ปี จนกว่าจะมีบุคคลากรคนในระบบใหม่ หรือ “คนจากระบบคุณธรรม” ที่ใช้ความรู้ความสามารถในการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยหวังว่าคนจากระบบใหม่นี้จะเข้าไปมีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารงานฝ่ายประจำของ อปท. ได้อย่างเต็มกำลัง และ หวังต่อไปว่า “การทุจริตการบริหารงานบุคคล อปท.” (ที่หมายรวมถึงระบบอุปถัมภ์ด้วย) คงลดลงไม่ยากเหมือนเช่นทุกวันนี้แต่ก็หวังว่าให้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงใน “บุคคลากรท้องถิ่น” อปท. ขนาดกลางไปก่อนโดยเฉพาะในสายบริหารฯ สำหรับ อปท.ที่เป็นเมืองใหญ่ เช่น ทม. ทน. คงยากเพราะในบริบทปัจจุบันตลอดเวลากว่า 18 ปีระบบการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนใหญ่ (คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 60-70 หรือกว่านี้) ได้ถูกวางขุมกำลังไว้ด้วยระบบอุปถัมภ์หมดแล้วจากนักการเมืองรุ่นก่อน ไม่ว่าตำแหน่งปลัด รองปลัด หัวหน้าส่วนฯ ลงมาถึงเจ้าหน้าที่สายผู้ปฏิบัติ จึงเป็นไปได้ลำบากที่ผู้สอบด้วยระบบคุณธรรมเข้าไปชุดนี้จะไปชำระล้างระบบเดิม เพราะนายก อปท. รวมเครือญาติบริวารและพวกพ้องยังอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงสังเกตได้ง่ายมากว่า ตำแหน่งสายบริหารและอำนวยการฯ ใน อปท. ขนาดใหญ่ “ไม่มีตำแหน่งว่าง” และ “อปท. ไม่รายงานตำแหน่งว่างเพื่อรับการสรรหาจาก กสถ.” เพราะ ระบบการบริหารงานบุคคลเขาได้วางกำลังไว้หมดแล้วนั่นเอง

 

การล็อกสเปคบุคคล

จะว่าไปการวางหมากตัวบุคลากรท้องถิ่นแต่เดิมนั้นผูกติดกับราชการส่วนภูมิภาคมาก เพราะ อปท. ต้องอยู่ในกำกับของจังหวัด และอำเภอนั่นเอง เมื่อก่อนอาจพบว่า นายอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ ปลัด อปท. และ นายก อปท. อยู่ที่ไหนก็จะ “หน้าเดิมๆ”คู่กันมาตลอด คนอื่นไม่เอา นี่ไงคือสโลแกนที่ว่า “นายอำเภออยู่ที่ไหน ก็เป็นนายอำเภออยู่ดี คือนายอำเภอจะย้ายไปไหนก็ได้ง่ายกว่า แต่หากเป็นท้องถิ่น นายกคนนี้ ปลัดท้องถิ่นก็ต้องคนนี้”ซึ่ง “แตกต่างกัน” เป็นที่มาของความยากด้วยต้นทุนราคาแพงของ อปท.

 

นึกถึงการทุจริต หากยังมีการเลือกตัวบุคลไปแต่งตั้งได้ยิ่งซ้ำร้ายไปใหญ่

มีกรณีศึกษาตัวอย่างของจริงว่า อปท.เขตเมืองขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีตำแหน่งนักบริหารงาน อปท. หรือ หัวหน้าส่วนฯ “ว่างลง” แต่เดิมมาหากไม่มีการ “สอบ” (คัดเลือกหรือสอบคัดเลือก) ก็จะมีการวางกำลังกัน โดยไปหาคนที่รู้จักหรือเป็นพวกพ้องย้ายมาทำงานหรือเรียกว่ามา “รักษาการ” ไม่ว่าตนเองจะมีคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติไม่ครบก็ตาม เพื่อหวังรอการเข้าสู่ “ตำแหน่งบริหารอำนวยการฯ” ที่หวังไว้เพราะ อปท. จัดสอบเอง ท่านพอจะมองเห็นอะไรใช่ไหม นี่เป็นตัวอย่างการเข้าช่องทางของระบบอุปถัมภ์ที่มีมาก่อนอย่างยาวนานแล้ว

 

เท้าความหลัง การสอบตำแหน่งบริหารใน อปท.เกิดใหม่

ช่วงการเกิดใหม่ของเทศบาลที่เปลี่ยนแปลงฐานะมาจากสุขาภิบาลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 [5] ทำให้ต้องมีการสรรหาบุคคลากรเพื่อดำรงตำแหน่ง “ปลัดเทศบาล” เป็นจำนวนมาก มีการเปิดโอกาสให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นและผู้มีประสบการณ์ท้องถิ่น 2 ปี ทุกคนได้เข้ามาสอบคัดเลือก เป็นการสอบโดย “เวทีการสอบคัดเลือกจากส่วนกลาง” กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  เพื่อแต่งตั้งเป็นปลัดเทศบาลระดับ 3-4-5-6 ในปี 2542 สนามสอบ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และหลังจากนั้นก็มีการสอบโดยเวทีส่วนกลางอีกเป็นละลอกหลายครั้ง ในปี 2543 - 2546 จนกระทั่งเปลี่ยนระบบการบริหารงานบุคคลใหม่ที่อยู่ในอำนาจของ “ก.จังหวัด” ที่มีระบบประเมิน ผ่าน ก.จังหวัดโดยไม่ต้องสอบได้ เหมือนหลาย ๆ คนที่เข้าสู่ตำแหน่ง สายบริหาร อำนวยการ หรืออื่น ๆ โดยการประเมิน (ไม่ต้องสอบ) แต่การสอบที่ส่วนกลางทำให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้สอบมีความมั่นใจมากกว่าเพราะบรรยากาศช่วงนั้นระบบอุปถัมภ์สูงจึงมีปลัด อปท. หัวหน้ากองหรือ ผอ.กองหลายคนต้องผิดหวังพลาดตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือเสียโอกาสเลื่อนระดับ เพราะฝ่ายบริหารได้คัดเลือกบุคคลอื่นนอก อปท. มาดำรงตำแหน่งนั่งแทรกแทนคนเก่าที่จะได้เลื่อนตำแหน่งการสอบคัดเลือกที่ส่วนกลางจึงเป็นเปิดโอกาสให้ข้าราชการท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถตามระบบคุณธรรมได้มีโอกาสมีช่องทางในการเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งด้วยความมั่นใจ และความภูมิใจเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม การสอบคัดเลือกในรอบนี้ก็เช่นกัน หากข้าราชการส่วนท้องถิ่นคนใดมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในการเข้าสอบบรรยากาศการสอบก็คงเหมือนการสอบที่เคยสอบในครั้งก่อนที่ผ่านมาเหมือนเดิม

 

การแต่งตั้งจากบัญชีผู้สอบได้

มีข้อสงสัยว่าการแต่งตั้งจะใช้ผลสอบจากกรรมการสอบอย่างไร จะใช้ผลสอบปรนัย และอัตนัยจะเรียงลำดับคะแนน ลำดับที่ หรือ ใช้คะแนนผลสัมภาษณ์ เรียงลำดับขึ้นบัญชี  เพราะการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์เป็นประเด็นปัญหาหลักที่ต้องมาดำเนินการสอบคัดเลือกโดยส่วนกลาง ปัญหาเรื่องตำแหน่งที่ว่าง ก็มีปัญหาในบางรายตำแหน่ง ที่ไม่มีจำนวนผู้สมัครสอบ นอกจากนี้การสรรหาภายใน 150 วันนับตั้งแต่ตำแหน่งว่าง ยังคงเป็นหน้าที่ของนายก อปท. โดยมติเห็นชอบ ก.จังหวัด [6] ฉะนั้น จึงทำให้การ “สอบคัดเลือก” ในครั้งนี้ด้อยราคาไปถนัดใจ การแต่งตั้งในตำแหน่งที่ว่างตามลำดับก็ยังไม่เห็นทางที่ชัดเจน เพราะมีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งว่างที่อยู่ในเมืองใหญ่ หรือ อปท.ใหญ่จนหมดสิ้นแล้ว ตำแหน่งที่เหลืออยู่ ก็จะเป็นตำแหน่งใน อปท. ที่เล็ก ๆ อยู่ไกล ๆ ไกลปืนเที่ยง สามจังหวัดชายแดนใต้  ที่คนไม่อยากไป  เป็นต้น จึงเหมือนว่า เป็นการปลอบประโลมใจคนที่ไม่มีเส้นสายได้ดีใจในสิ่งที่ตนได้เข้าสอบ

 

การสอบสายนักบริหารอำนวยการครั้งนี้ถือว่า บรรยากาศโดยรวมมีความคึกคักมาก ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี แต่ที่น่าคิดและเป็นห่วงก็คือ เรื่องความสุจริตและเป็นธรรมความโปร่งใส เพราะมีกระแสข่าวการทุจริตจ่ายเงินในวงจำกัด และเมื่อพิจารณาจากมาตรการต่าง ๆ ที่ กสถ. ได้ดำเนินการสอบครั้งนี้แล้ว การทุจริตการสอบจะยากมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม “ข้อสอบรั่ว” หรือ การเปิดโผ “ข้อสอบเฉพาะ” อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างผู้เข้าสอบได้ 

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine & Oang-art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 29 วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม- วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 

& หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2561 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23701หน้า 6(กลาง), เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2]คำสั่ง หน.คสช.ที่ 8/2560 ลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, http://library2.parliament.go....

[3]อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการสรรหาข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ครั้งที่ 5/2561 พร้อมเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินการสอบฯวันที่ 27 มีนาคม 2561, 27 มีนาคม 2561, http://www.sevendaynew.com/433...

[4]อนุญาตให้นำปากกา และดินสอ ยางลบ และเอกสารประกอบการสมัครสอบ ที่ใส่ซองและปิดผนึกเข้าห้องสอบได้เท่านั้น (ในห้องสอบเตรียมดินสอ และยางลบให้ที่โต๊ะ ถ้าผู้เข้าสอบจะนำดินสอ ยางลบส่วนตัวมาก็ได้) ส่วนอย่างอื่นอาทิ ธนบัตร เงินเหรียญ กุญแจรถยนต์ โทรศัพท์ สร้อยคอ พระ และอื่นๆไม่อนุญาต

[5]พรบ.เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ประกาศ ในราชกิจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา หน้า 1 เล่ม 116 ตอนที่ 9 ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542, http://web.krisdika.go.th/data...

[6]ประกาศ ก.ท.จ.เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาล (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) ข้อ 139 กำหนดให้เทศบาลรายงานตำแหน่งสายงานบริหารที่ว่างให้ ก.ท.จ. ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างหรือที่กำหนดขึ้นใหม่ แล้วดำเนินการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งบริหารที่ว่างภายใน 60 วัน โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธี ดังนี้

1) รับโอนพนักงานเทศบาลหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นประเภทอื่น ที่อยู่ในสายงานนักบริหารในตำแหน่งและระดับเดียวกัน

2) สอบคัดเลือก หรือคัดเลือกเพื่อเลื่อนระดับสูงขึ้น

3) คัดเลือกเพื่อรับโอนข้าราชการประเภทอื่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นประเภทอื่นที่มีลักษณะเทียบเคียงได้กับตำแหน่งบริหาร โดยมีหนังสือรับรองจากส่วนราชการต้นสังกัด

4) รายงาน ก.ท.จ. หรือ ก.ท. แล้วแต่กรณี เพื่อขอใช้บัญชีผู้สอบคัดเลือกหรือคัดเลือกได้ โดยไม่ต้องเรียงตามลำดับที่

หากมีตำแหน่งบริหารที่ว่างเกินกว่า 60 วัน โดยไม่ได้ดำเนินการสรรหา หรือสรรหาแล้ว ไม่สามารถบรรจุแต่งตั้งบุคคลแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 150 วัน ถือว่าการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นอันยกเลิก ให้ ก.ท.จ.หรือ ก.ท. ส่งบัญชีผู้สอบคัดเลือกได้ของจังหวัดหรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาบรรจุแทนภายใน   30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือส่งตัว

ดู  หนังสือสำนักงาน ก.จ. , ก.ท. และ ก.อบต ที่ มท 0809.2/ว 54 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เรื่อง แนวทางการรักษาการในตำแหน่งบริหารเกินกว่า 150 วัน กรณีได้รับผลกระทบตามคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560,

http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=64528.0   & 

http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2017/7/18427_1_1499315867483.pdf

& หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0809.2/ว 1667 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560

เรื่อง การสรรหาตำแหน่งสายงานผู้บริหารที่ว่างตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2560, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2017/8/18636_1_1503374029652.pdf

& หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0809.2/ว 2455 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 เรื่อง การสรรหาตำแหน่งสายงานผู้บริหารที่ว่างตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560,  http://www.thongthinlaws.com/2010/11/080922455-10-2560-82560.html



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท