ชีวิตที่พอเพียง : 3141. คำนิยม หนังสือ บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน


คำนิยม

หนังสือ บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน

วิจารณ์ พานิช

....................

 

ในงานทำบุญประจำปีให้แก่พ่อแม่และบรรพบุรุษของครอบครัวของผม ที่จังหวดชุมพร วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งตรงกับวันแม่พอดี    โบ (ธิดา พานิช) หลานสะใภ้ของผม    เอาหนังสือ บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน ที่จัดพิมพ์แบบง่ายๆ มาให้หนึ่งเล่ม    พร้อมปรารภว่า อยากหาผู้จัดพิมพ์   

ผมกลับมากรุงเทพและเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้  ก็ตระหนักในความสามารถในการเขียนของโบ    สมกับเรียนจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยปริญญาโทสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร   และมีประสบการณ์ทำงานทำหนังสือมานานตามที่เธอเล่าในหนังสือเล่มนี้    โดยที่เธอทำด้วยความรักและหลงใหลการอ่าน     จุดเด่นของหนังสือคือเขียนแบบบันทึกจากประสบการณ์ตรง นำมาตีความด้วยความรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลายมาก   เป็นหนังสือที่อ่านได้สบายๆ ทีละตอน

ความรักการอ่าน รักการเขียน และรักลูก มาบรรจบกันในหนังสือ บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน เล่มนี้    

หลังอ่านจบ ผมเอาต้นฉบับหนังสือไปให้คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล อ่าน    พร้อมกับบอกว่า ผู้เขียนเขาอยากหาสำนักพิมพ์สำหรับพิมพ์เผยแพร่    และผมอ่านแล้วมีความเห็นว่าเขียนได้ดีมาก   เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนแข็งแรง เป็นคนเต็มคน    เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองหากมีโอกาสได้เผยแพร่ในวงกว้าง  

หลังจากนั้นไม่นาน คุณปิยาภรณ์ก็บอกผมว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลจะพิมพ์เผยแพร่เอง     เพราะเป็นหนังสือที่มีคุณภาพ และสาระตรงกับเป้าหมายการทำงานของมูลนิธิฯ ที่มุ่งพัฒนาเยาวชน เน้นที่การพัฒนาลักษณะนิสัย   

 หนังสือ บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน เล่มนี้    เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงลูกสองคน    สอดแทรกวิธีการสำหรับพ่อแม่ใช้ในการเลี้ยงลูกเล็กให้สั่งสมการเชื่อมโยงใยประสาทในสมอง    วิธีการดังกล่าวจะค่อยๆ ปูพื้นฐานการมี “สมองดี” ไปโดยปริยาย    เวลานี้ ความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วบอกว่า สมองดีสร้างได้    และวิธีการที่เล่าในหนังสือ บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน เป็นวิธีการที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว   

 “สมองดี” มีหลายมิติ   มิติหนึ่งที่หน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเปิดกว้างในวัยทารกและเด็กเล็ก คือ การพัฒนา Executive Functions & Self-Regulation (เรียกย่อๆ ว่า EF)    ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมจิตใจ ควบคุมอารมณ์ และควบคุมพฤติกรรมของตนเอง รวมทั้งการทำหน้าที่คิด ที่เรียกว่า working memory   พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกตามแนวทางที่แนะนำในหนังสือเล่มนี้จะเท่ากับฝึก EF ให้แก่ลูกไปในตัว    โปรดอ่านตอนที่ชื่อว่า “ลูกชิ้นไม้นั้นกับการยับยั้งชั่งใจ”      

ในส่วนของการอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น นอกจากเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกแล้ว   ยังเป็นการกระตุ้นจินตนาการ   และเป็นกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ที่เรียกว่า socialization    ซึ่งจะช่วยให้เกิดพัฒนาการด้านจิตใจ ที่เรียกว่า attachment ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาอารมณ์ของตนเอง และพัฒนาปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น    เด็กที่มี attachment มั่นคง จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตนเอง และมีความมั่นคงทางอารมณ์

ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่า วาวา ลูกสาวคนโตของโบ มีคลังคำอยู่ในสมองมากจนผู้ใหญ่ตกใจ    ว่าเด็กอายุน้อยขนาดนั้น สามารถพูดคำที่มีความหมายลึกซึ้งถึงขนาดนั้นได้เชียวหรือ    นี่คือตัวอย่างจริงของผลลัพธ์ที่เกิดจากการฟังนิทานที่คุณแม่อ่านให้ฟัง     

หนังสือ บันทึกคุณแม่นักอ่านนิทาน เล่มนี้ เล่าเรื่องราวการเรียนรู้และเติบโตของลูก  ผ่านการสังเกตของแม่ พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้และเติบโตของแม่   นำออกมาเผื่อแผ่แก่คุณพ่อคุณแม่หรือว่าที่คุณพ่อคุณแม่    สำหรับเป็นแนวทางเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นเป็นคน “สมองดี”    ซึ่งหมายความว่า ดีทั้งด้านสติปัญญา  และด้านบุคลิก อารมณ์ และปฏิสัมพันธ์    โดยที่หนังสือเล่มนี้ เน้นด้านการพัฒนาด้านบุคลิก อารมณ์ และปฏิสัมพันธ์   ที่หนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง เสนอว่า มีความสำคัญต่อความสำเร็จในชีวิตมากกว่าความฉลาด หรือสติปัญญา  

วิจารณ์ พานิช

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 646033เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2018 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2018 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท