โนราโรงครู นาฏกรรมภายใต้สิ่งลี้ลับ


               อดีตกาล การแสดงมีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการร่ายรำที่ก่อนจะแสดงแต่ละครั้งจะต้องมีการไหว้ครูขอขมากันก่อน เพราะการร่ายรำ เรื่องนี้นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และบางคนก็มีเชื้อสายของครูรำอีกด้วย ผู้ที่เรียนนาฏศิลป์จะรู้ว่าการร่ายรำไทยนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลคุ้มครองอยู่ หากทำผิดวิถีเดิม ก็จะถูกครูหรือบรรพบุรุษทำให้เกิดอันตรายขึ้น โนราโรงครู เป็นเรื่องสั้นของคุณอัษฎาวุธ ไชยวรรณ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศะการประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชื่อเรื่องของเรื่องสั้นอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร่ายรำของโนรา แต่เมื่อได้อ่านแล้วมิได้มีเพียงเท่านั้น แต่ผู้อ่านจะพบว่ายังมีเรื่องเหนือธรรมชาติที่คนไทยเรายังมีความเชื่ออยู่อีกด้วย

                พูดถึงเนื้อเรื่อง เราจะได้รู้จักกับเจต เด็กชายที่รับผลจากสิ่งลี้ลับ นั่นก็คือพลังจากบรรพบุรุษของเขาทำให้เขากลายเป็นเหมือนเจ้าชายนิทรา นอนหลับเหมือนกับคนที่ตายแล้ว และแม่ของเขาก็พยายามหาวิธีที่จะช่วยเขาให้กลับมาเป็นปกติ ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้? เรื่องมีอยู่ว่า ทางบ้านของเจตจะมีการทำโรงครูแสดงโนรา ก่อนที่จะแสดงก็จะต้องมีการเซ่นไหว้หรือเลี้ยงผีบรรพบุรุษที่เป็นครูโนราก่อน เจตได้เตรียมของเซ่นไหว้เรียบร้อย และมีคนที่จะเป็นร่างทรงของวิญญาณบรรพบุรุษ และเรื่องก็เกิดขึ้น มีเสียงออกจากร่างทรงพร้อมกับความโกรธที่ไม่ได้กินของเซ่นไหว้ จึงได้สาปเจตให้นอนสลบเหมือนกับคนตาย แม่ของเจตก็ทำโรงโนราเพื่อเป็นการขอขมาบรรพบุรุษหรือวิญญาณแม่มาลีมาลา และปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น เจตกลับมาเป็นปกติ

                จากสันนิษฐานแล้ว ผู้แต่งน่าจะเป็นคนใต้ เพราะโครงเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับโนรา ซึ่งเป็นการแสดงของภาคใต้และมีความรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวใต้ และจุดมุ่งหมายของผู้แต่งนั่นก็คือ นาฏศิลป์ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ หากจะทำ จะต้องมีการขอขมาอย่างถูกต้อง และผู้แต่งยังมองว่าคนไทยนั้นยังเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันอยู่ และมีความกลัวต่อสิ่งนั้นด้วย

                เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไร? แน่นอนว่าจะเกิดเรื่องอะไรต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ ความขัดแย้งภายในเรื่องนี้คือ การทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่พอใจ ถ้าจะพูดตามความคิดของผู้วิจารณ์ก็คือ วิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีกิเลส มีรัก โลภ โกรธ หลงเหมือนมนุษย์ธรรมดา เรื่องนี้เหตุเกิดจากแม่มาลีมาลาผู้เป็นครูโนราไม่ได้กินของเซ่นไหว้ที่แม่ของเจตและคณะจัดเตรียมให้ จนได้แสดงพลังทำให้เจตนั้นล้มป่วยเหมือนกับคนตาย แม่ของเจตจึงต้องหาทางช่วยเจต แต่ถึงกระนั้น ผู้แต่งก็ยังเล่าถึงเรื่องกรรมวิธีในการแสดงของภาคใต้ เช่นขั้นตอนการเตรียมโรงโนรา หรือสิ่งที่ต้องเตรียม สิ่งที่ต้องทำ แสดงว่าผู้แต่งนั้นเคยทำหรือมีส่วนร่วมในสิ่งเหล่านี้ และสิ่งที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้ที่ทำให้เนื้อเรื่องมีความเข้มข้นคือเรื่องเหนือธรรมชาติ ถ้าหากผู้แต่งจะนำเสนอเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเดียวก็ดูจะน่าเบื่อเกินไป จึงได้เสริมเรื่องราวเหนือธรรมชาติไว้นั่นก็คือการมีร่างทรง ที่แม่มาลีมาลาได้เข้าร่างแล้วด่าแม่ของเจตเรื่องที่ไม่ได้กินของเซ่นไหว้

                มาพูดถึงตัวละครกันดีกว่า เริ่มด้วยเจต เด็กชายที่ไม่รู้เรื่องอะไรแต่ต้องตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุด ที่ต้องล้มป่วยเพราะแม่ตัวเอง แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของแม่เขาทีเดียว เพราะแม่ของเขาก็ตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุด แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่พอใจเอง ส่วนแม่ของเจตก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เธอก็ได้ทำตามจารีตประเพณี แต่ก็เป็นผู้เคราะห์ร้ายเช่นเดียวกันที่ลูกของเธอต้องมาเป็นเช่นนี้ และสุดท้ายคือแม่มาลีมาลา วิญญาณบรรพบุรุษที่โกรธแม่ของเจตเพราะไม่ได้กินของเซ่นไหว้ บทสนนทนาก็จะเป็นแม่ของเจตพูดกับเจต และแม่มาลีมาลาด่าแม่ของเจต

                ผู้แต่งได้ถ่ายทอดมุมมองความรักของแม่และลูกดังที่เห็นจากเรื่องคือแม่ของเจตทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้เจตกลับมาเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นพาเจตไปพบแพทย์หรือเตรียมพิธีกรรมต่างๆที่เชื่อว่าจะทำให้เจตเป็นปกติได้ และสิ่งที่ทำให้เราเห็นชัดคือบทสนทนาที่แม่ของเจตคุยกับเจต

“แม่ แม่ เจตรักแม่นะ”

คำแรกที่เจตเอื้อนเอ่ยด้วยน้ำตาล้นเอ่อ สองมือพนมก้มลงกราบแทบเท้า

ของแม่ด้วยความซาบซึ้งถึงพระคุณบุพการี

“หายแล้วลูกรัก เจต ลูกแม่”

แม่นั้นแสนดีใจและคิดถึงแก้วตาดวงใจที่สุด

“แม่แทบจะขาดใจแล้วรู้ไหม” หยาดน้ำตาแห่งความสุขหลั่งรินอาบสองแก้มของแม่ฉ้อง

                นอกจะเรื่องนี้จะสะท้อนเรื่องความรักของแม่ที่มีต่อลูกแล้ว ยังสะท้อนถึงประเพณีของคนที่จะต้องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนที่จะทำอะไร โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์ เพื่อไม่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โกรธ และต้องทำให้ถูกวิธีอีกด้วย

                การลำดับโครงเรื่อง ถ้าคุณผู้อ่านได้อ่าน จะพบว่าผู้แต่งนั้นได้แบ่งเรื่องเป็นตอน ๆ คล้ายกับบทในนว-นิยาย การลำดับเหตุการณ์ของเรื่องนี้จะเป็นแบบสลับไปสลับมา เริ่มแรกจะเป็นฉากที่แม่ของเจตได้คุยกับหมอเกี่ยวกับอาการของเจตว่าเจตไมได้เป็นอะไร แล้วสลับมาเป็นตอนที่เจตล้มป่วย แล้วสลับเป็นตอนที่แม่มาลีมาลาโกรธแล้วก็เป็นตอนทำพิธีและเจตกลับมาเป็นปกติ

                กลวิธีของผู้แต่งนั้นจะเน้นไปทางด้านประเพณีมากกว่าการเน้นในส่วนของเรื่องเหนือธรรมชาติ โดยจะเป็นการบรรยายและพรรณนาเกี่ยวกับการสร้างโรงครูโนรา และพิธีกรรมต่างๆของการแสดงโนรา แล้วเสริมเรื่องเหนือธรรมชาติลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติของเรื่องให้น่าสนใจมากขึ้น

                ดังที่กล่าวมาข้างต้น เรื่องสั้นเรื่อง โนราโรงครูนั้น ได้ให้คุณค่า ทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องประเพณีการร่ายรำและพิธีการต่างที่คนต้องมีการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเสมอ เป็นแนวคิดให้ผู้อ่านได้รู้จักวัฒนธรรมของชาวใต้มากขึ้น

 

รพีชาติ พนมรัตน์

หมายเลขบันทึก: 645831เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2018 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2018 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท