วิจารณ์เรื่องสั้นเรื่อง สายน้ำ


“...ทำไมชาวบ้านถึงเห็นความสำคัญของการแข่งเรือยาวมากขนาดนี้ มันก็จัดทุกปีอยู่แล้ว ไม่เห็นน่าตื่นเต้นตรงไหนเลย…”

          เป็นเนื้อความตอนหนึ่งจากวรรณกรรมเรื่องสั้นเรื่อง “สายน้ำ” ของนิติพร  ชุมศรี นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษาคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ในโครงการประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เหตุผลที่ข้าพเจ้าเลือกวิจารณ์เรื่องนี้ ก็เพราะว่าวรรณกรรมเรื่องสายน้ำมีความน่าสนใจเหมาะแก่การศึกษาเนื้อหาในตัวบทวรรณกรรม

เนื้อเรื่องย่อ

          “สายน้ำ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของสายน้ำ หนุ่มวัยรุ่นผู้มีความเกียจคร้านอย่างที่สุด เขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเทคโนโลยีมากกว่าประเพณีท้องถิ่น ทั้งที่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่น้ำมูลหล่อเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่เกิด ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่เห็นความสำคัญของประเพณีแข่งขันเรือยาว จนกระทั่งพี่ชายของเขาประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถลงแข่งขันเรือยาวได้ สายน้ำจำต้องลงแข่งขันแทนพี่ชาย โดยมีเงินรางวัลเป็นแรงจูงใจสูงสุด การฝึกซ้อมพายเรือทุกวันทำให้ชีวิตของสายน้ำเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อถึงวันงานประเพณีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัด ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ  72  พรรษาอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เรือโลหะของหมู่บ้านของสายน้ำได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ สายน้ำก็เป็นหนึ่งในฝีพายเรือโลหะนี้ จากการลงแข่งขันทำให้สายน้ำค้นพบคำตอบด้วยตัวเองว่า ทำไมผู้คนรอบข้างตัวเขาจึงให้ความสำคัญกับประเพณีแข่งขันเรือยาวมากขนาดนี้ นั่นเป็นเพราะ สิ่งที่เขาได้จากการลงแข่งมีค่ามากกว่าชัยชนะนั่นเอง

1. โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง

          1.1 การเปิดเรื่อง

          ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการบรรยายความคิดของตัวละครเอกที่มีต่อเหตุการณ์ที่กำลังประสบ ผ่านสายตาของผู้เขียนเอง โดยมีการสอดแทรกมุมมองชีวิตของผู้เขียนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หากพิจารณาเนื้อความเริ่มเรื่องที่ว่า

          “เขาไม่คิดมาก่อนเลยว่าเสี้ยวหนึ่งของชีวิตจะต้องมาล่องลอยท่ามกลางสายน้ำอันกว้างใหญ่แห่งนี้” (น.21)

ทำให้เข้าใจได้ว่าชีวิตของตัวละครเกิดพลิกผันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรนั้น ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านติดตามเนื้อเรื่องต่อไป

          ถือได้ว่าผู้เขียนเปิดเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจใคร่รู้ อยากทราบว่าทำไมตัวละครต้องคิดเช่นนั้น เนื้อเรื่องเป็นมาอย่างไร จะเห็นว่าการเปิดเรื่องสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

          1.2 การดำเนินเรื่อง

  • ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ

          หากพิจารณาเหตุการณ์ในตอนต้นเรื่องกับเหตุการณ์ในตอนท้ายเรื่อง จะพบว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์มีความสัมพันธ์กัน ผู้เขียนวางโครงเรื่องได้อย่างมีเอกภาพ กล่าวคือ เหตุการณ์ตอนต้นจะเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ตอนท้ายเรื่อง นั่นคือ เหตุการณ์ต้นเรื่องเป็นตอนที่ตัวละครกำลังจะเริ่มแข่งขันเรือยาว ส่วนเหตุการณ์ท้ายเรื่องก็เป็นเหตุการณ์ที่เรือเข้าสู่เส้นชัยพอดี

          หากนำเหตุการณ์ทั้งสองมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันจะกลายเป็นเหตุการณ์เดียวกัน มีความสอดคล้องและเป็นเหตุเป็นผลกัน ถือเป็นกลวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

          มีเหตุการณ์ในเรื่องที่สัมพันธ์กันอีก ดังเช่นเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่ว่า

“เวลาเกือบเที่ยงวัน สายน้ำลืมตาตื่นขึ้นมา เขากวาดมือคลำหาโทรศัพท์มือถือตามซอกหลืบต่างๆ เมื่อเจอก็เปิดเข้าเว็บโน้นเว็บนี้ กว่าจะได้ฤกษ์ลุกจากเตียงก็ตอนที่สายตาของเขาเริ่มเมื่อยล้า” (น.22)

เหตุการณ์ดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของสายน้ำที่เป็นคนเกียจคร้าน และหากนำมาเปรียบเทียบกับอีกเหตุการณ์ในตอนที่ว่า

          “อาบน้ำเสร็จแล้ว ไปช่วยพ่อหาปลานะลูก” แม่กล่าว

          “พ่ออยู่ไหน”

          “ศาลาท้ายหมู่บ้าน”

          เขาพยักหน้ารับก่อนเดินลากขาไปทำธุระส่วนตัวซึ่งกินเวลานานมาก กว่าจะเดินทางถึง พ่อของเขาก็จับปลาเสร็จพอดี และเหลือบมองลูกชายตัวดีพร้อมส่ายหน้าแสดงความผิดหวัง “กว่าจะมานะเอ็ง” (น.22)

          จะพบว่า เหตุการณ์ทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน โดยเหตุการณ์ที่สองเป็นการกล่าวเพื่อเน้นย้ำลักษณะนิสัยของสายน้ำให้ผู้อ่านเห็นชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้อ่านเชื่อว่า สายน้ำมีนิสัยเกียจคร้านจริงๆ ซึ่งต่างจากสายลมพี่ชายของเขาที่เป็นคนขยัน ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของสองพี่น้อง ทั้งที่อยู่บ้านหลังเดียวกัน ผู้เขียนได้แฝงนัยยะอะไรบางอย่าง ชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิด วรรณกรรมเรื่องนี้จึงมีเนื้อหาที่น่าสนใจ กระตุ้นให้ผู้อ่านได้ใช้ความคิดขณะที่อ่านเนื้อเรื่อง

          แม้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องจะสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องในกลวิธีการดำเนินเรื่องอยู่  กล่าวคือ ผู้เขียนได้กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สายลมทุ่มเทกับการซ้อมแข่งเรือยาวอย่างหนัก จนกลายเป็นฮีโร่ประจำครอบครัว และพ่อแม่ก็ภาคภูมิใจในตัวสายลมมาก จากนั้นผู้เขียนมีการบอกกล่าวแก่ผู้อ่านด้วยประโยคที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังลงตัวแล้วเชียว” (น.25) ประโยคนี้ทำให้ผู้อ่านเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ทำให้เนื้อเรื่องไม่น่าสนใจ ผู้อ่านไม่รู้สึกตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ในเรื่อง จะเห็นว่าผู้เขียนตั้งใจให้เหตุการณ์นี้เป็นจุดสุดยอดของเรื่องก็ว่าได้ แต่เป็นเพราะประโยคดังกล่าวทำให้เนื้อเรื่องขาดสีสัน ไม่เข้มข้น และไม่เร้าใจผู้อ่าน เพราะผู้เขียนเกริ่นนำด้วยประโยคที่ทำให้ผู้อ่านสามารถเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ เมื่ออ่านต่อไป จะพบว่าเนื้อเรื่องตรงกับสิ่งที่ผู้อ่านคาดไว้ จึงทำให้เหตุการณ์ตอนนี้หมดเสน่ห์ที่จะเร้าความสนใจผู้อ่าน หากผู้เขียนดำเนินเรื่องต่อไปโดยไม่ใช้ประโยคบอกเล่ามาแทรก อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ได้

 

  • ข้อขัดแย้งหรือปมของเรื่องที่น่าสนใจ

          เหตุการณ์นี้สื่อให้เห็นถึงข้อขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวละคร จากเหตุการณ์ที่สายน้ำรู้สึกว่า หมู่บ้านเงียบผิดปกติ ทุกคนในหมู่บ้านหายไปไหนหมด พอได้ทราบว่าพวกเขาไปดูการซ้อมแข่งเรือยาวรอบอุ่นเครื่อง สายน้ำจึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “ทำไมชาวบ้านถึงเห็นความสำคัญของการแข่งเรือยาวมากขนาดนี้ มันก็จะทุกปีอยู่แล้ว ไม่เห็นน่าตื่นเต้นตรงไหนเลย” (น.24)

จะเห็นว่าสายน้ำมีความคิดที่ไม่ตรงกับชาวบ้านคนอื่นๆ ทำให้เกิดปมขัดแย้งขึ้นในใจของตัวละคร ทั้งยังมีเนื้อความอีกตอนหนึ่งที่สื่อให้เห็นถึงข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวละครอีกเช่นกัน เห็นได้จากข้อคำถามของสายน้ำที่ว่า “ชนะแล้วได้อะไร นอกจากเงินรางวัลและถ้วยพระราชทาน” (น.25)

จะเห็นว่า คำถามข้อนี้น่าสนใจมากทีเดียว ผู้เขียนรู้จักใช้คำถามมากระตุ้นความสนใจของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับตัวละคร และผู้เขียนก็ได้คลายปมขัดแย้งนี้ขึ้นในตอนท้ายว่า

“มาถึงตรงนี้เขาพอจะเข้าใจแล้วว่าแข่งเรือยาวทำไม เราได้อะไรกลับมานอกจากเหนื่อยเปล่า เราแข่งเพื่อชัยชนะ...เป็นชัยชนะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน แต่เป็นการเอาชนะใจตัวเองให้ได้ต่างหาก” (น.29) ผู้เขียนคลายปมได้อย่างชัดเจนทั้งยังสื่อถึงแนวคิดสำคัญของเรื่องด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกเหตุการณ์ที่ตัวละครเกิดความขัดแย้งกับตัวเอง จากเหตุการณ์ตอนที่สายน้ำเกิดความลังเลที่ต้องเลือกว่าจะลงแข่งขันเรือยาวแทนพี่ชายหรือไม่ลงแข่งดี ซึ่งผู้เขียนก็ได้คลายปมขัดแย้งในทันที คือ สายน้ำตัดสินใจลงแข่งแทนพี่ชาย การตัดสินใจในครั้งนี้ส่งผลให้ชีวิตของสายน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ถือได้ว่า ผู้เขียนสร้างปมขัดแย้งได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ตัวละครดูมีชีวิตชีวา ช่วยให้เนื้อเรื่องมีสีสันเข้มข้น น่าติดตาม และไม่น่าเบื่อ

 

1.3 การปิดเรื่อง

          ผู้เขียนปิดเรื่องแบบสุขนาฏกรรม กล่าวคือ จบเรื่องได้อย่างมีความสุข โดยผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเรื่องด้วยคติสอนใจให้ผู้อ่านได้ขบคิดและนำไปเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตต่อไป ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำแนวคิดสำคัญของเรื่องอีกด้วย ดังเนื้อความตอนท้ายที่ว่า

          “ในที่สุด หัวเรือลำหนึ่งพาแม่ย่านางทะยานสู่เส้นชัยเป็นลำแรก ท่ามกลางเสียงร้องแสดงความดีใจของชาวอำเภอสตึก การแข่งขันเป็นเรื่องของแพ้กับชนะ แต่ชัยชนะที่สำคัญที่สุดคือการเอาชนะใจตัวเอง” (น.30)

          นับได้ว่าผู้เขียนจบเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยการใช้ประโยคที่ลึกซึ้งกินใจ สามารถให้คติสอนใจแก่ผู้อ่านได้ ถือเป็นการสร้างภาพจำให้ผู้อ่านจดจำเรื่องนี้ได้ไม่มีลืม

 

  • ความสมจริง

          เหตุการณ์ที่มีความสมจริงที่พบในเรื่องมากที่สุดก็คือ เหตุการณ์ในงานประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน ผู้เขียนได้บรรยายฉากและบรรยากาศของงานได้อย่างสมจริง แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนต้องเคยไปร่วมชมการแข่งขันเรือยาวในสถานที่จริงมาแล้ว จึงสามารถบรรยายเหตุการณ์และบรรยากาศในงานได้อย่างสมจริง ทำให้ผู้อ่านเกิดมโนภาพ เสมือนว่าได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานนั้นจริงๆ สำหรับใครที่ยังไม่เคยไปดูประเพณีแข่งขันเรือยาวที่อำเภอสตึก เมื่อได้อ่านแล้วจะรู้สึกอยากไปทันที เพราะผู้เขียนถ่ายทอดอัตลักษณ์งานประเพณีแข่งขันเรือยาวได้อย่างน่าสนใจ

          เหตุการณ์ตอนที่สายน้ำกำลังแข่งขันเรือยาวรอบชิงชนะเลิศก็มีความสมจริงเช่นเดียวกัน ผู้เขียนบรรยายลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวละครในทุกท่วงท่าอย่างได้อรรถรส ทำให้ผู้อ่านลุ้นระทึกไปกับตัวละคร เอาใจช่วยให้ฝ่ายตัวละครเอกเป็นฝ่ายชนะ จะเห็นได้ว่าความสมจริงนี้ช่วยให้เหตุการณ์ในเรื่องดูน่าเชื่อถือ  ว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นจริง และผู้เขียนก็เคยไปร่วมงานประเพณีนี้จริงๆ จึงสามารถมาเขียนเล่าเรื่องราวได้อย่างน่าตื่นเต้น และสมจริง

          มีเหตุการณ์หนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่า  ยังไม่สมจริงเท่าไร คือตอนที่สายลมประสบอุบัติเหตุตกต้นมะพร้าว ดังเนื้อความที่ว่า

          “สายลมประสบอุบัติเหตุขณะช่วยพ่อปีนเก็บลูกมะพร้าว ตกลงมาแขนหักและกระดูกทะลุผิวหนัง อาการสาหัส” (น.26)

จากเหตุการณ์นี้จะเห็นว่า ผู้เขียนจงใจให้เกิดเหตุการณ์นี้มากเกินไป จึงทำให้ขาดความสมจริง เห็นได้จากการที่ผู้เขียนสร้างอุบัติเหตุให้เกิดขึ้น และกล่าวเน้นให้สายลมบาดเจ็บเฉพาะที่แขน เสมือนเป็นการจงใจมากเกินไป ซึ่งในความเป็นจริง คนที่ตกลงมาจากที่สูงจะต้องได้รับบาดเจ็บทั้งตัว ซึ่งการได้รับบาดเจ็บที่แขนก็ส่งผลต่อการแข่งขันแข่งเรือยาวโดยตรง เหตุการณ์นี้จึงดูไม่เป็นธรรมชาติหรือมีความสมจริงน้อย

 

  • การดึงดูดความสนใจ

          จากเนื้อเรื่องจะพบว่า ผู้เขียนมีการดึงดูดความสนใจผู้อ่านในทุกๆ เหตุการณ์ในเรื่อง แต่ที่เห็นเด่นชัดก็คือการตั้งคำถาม โดยผู้เขียนมักจะตั้งคำถามในเนื้อเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้คิดตามไปด้วย เช่น

          “ชนะแล้วได้อะไร นอกจากเงินรางวัลและถ้วยพระราชทาน?” (น.25)

          นอกจากนี้การใช้บทสนทนาในเรื่องก็ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบทสนทนาจะช่วยให้ผู้อ่านไม่เบื่อหน่าย ลดความรู้สึกซ้ำซากจำเจในขณะที่อ่านได้

 

 

2. กลวิธีในการดำเนินเรื่อง

          กลวิธีในการเล่าเรื่องนี้คือ ผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมด และมีกลวิธีในการดำเนินเรื่องแบบย้อนหลัง กล่าวคือ ในตอนเริ่มเรื่องผู้เขียนได้ใช้ฉากและเวลาที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ เป็นฉากที่สายน้ำนั่งอยู่บนเรือ พร้อมที่จะแข่งขัน เพียงรอเสียงสัญญาณจากกรรมการ ให้ปล่อยตัวเท่านั้น แล้วผู้เขียนก็ได้เล่าไปถึงเหตุการณ์ย้อนหลัง โดยใช้คำว่า “ สองเดือนก่อน” เล่าย้อนไปถึงเรื่องในอดีต ทำให้ผู้อ่านได้ทราบชีวิตความเป็นมาของสายน้ำว่า เขาได้มาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแข่งขันเรือยาวในครั้งนี้ได้อย่างไร และกว่าที่เขาจะมาถึงจุดๆ นี้ได้เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง จนเรื่องดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย ซึ่งผู้เขียนก็ได้เล่ากลับมาสู่เหตุการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่ต่อจากเหตุการณ์ตอนต้นเรื่อง

          จะเห็นว่า ผู้เขียนมีกลวิธีในการดำเนินเรื่องอย่างน่าสนใจ แม้ว่าจะเป็นการเล่าย้อนหลังแต่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด อ่านแล้วเข้าใจง่าย พร้อมทั้งสื่อแนวคิดได้อย่างชัดเจน

          หากพิจารณาด้านกลวิธีการแต่ง จะพบว่า ผู้เขียนมีการใช้ภาพพจน์ในเนื้อเรื่องด้วย อย่างเช่น เนื้อความที่ว่า

          “มันเป็นแม่ ที่เปรียบดั่งสายโลหิตคอยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณพ่อแก่แม่เฒ่าตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษยุคก่อนประวัติศาสตร์” (น.21) เนื้อความนี้มีการใช้ภาพพจน์อุปมาโดยใช้คำว่า ดั่ง ในการกล่าวเปรียบว่า แม่น้ำมูลเป็นเหมือนสายเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนชาวอำเภอสตึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

          ส่วนอีกเนื้อความหนึ่งซึ่งมีการใช้ภาพพจน์อุปมาเช่นกัน ดังเนื้อความที่ว่า

          “สายน้ำสัมผัสได้ถึงเสียงหัวใจที่เต้นรัวดั่งกลองศึก” (น.30) ผู้เขียนใช้คำว่า ดั่ง ในการเปรียบว่า เสียงหัวใจของสายน้ำเต้นแรงมากเหมือนกับเสียงกลองศึกเมื่อยามถูกตี

          นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ภาพพจน์อุปลักษณ์อีกด้วย ดังเนื้อความที่ว่า

          “ทั้งสามคนคือขุมพลังที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขา” (น.22) ผู้เขียนใช้คำว่า คือ ในการกล่าวเปรียบว่า ทั้งสามคนในที่นี้คือ พ่อ แม่ และสายลม  คือ กำลังใจที่ดีที่สุดของสายน้ำ

          และอีกเนื้อความตอนหนึ่งที่ว่า “ความหิวคือปีศาจร้ายที่คุกคามเขาในขณะนี้อย่างช่วยไม่ได้” (น.24) ผู้เขียนใช้ภาพพจน์อุปลักษณ์โดยกล่าวเปรียบว่า ความหิวคือปีศาจร้าย

          จะเห็นว่า การที่ผู้เขียนใช้ภาพพจน์มากล่าวเปรียบนี้ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ อีกทั้ง เนื้อความก็กินใจผู้อ่าน สามารถสร้างจินตภาพ และช่วยสร้างอรรถรสให้ผู้อ่านได้เข้าถึงตัวบทวรรณกรรมได้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย

3. ตัวละคร

          วรรณกรรมเรื่องสั้น เรื่อง “สายน้ำ” มีตัวละครเอกเพียงตัวเดียว นั่นคือ สายน้ำ และมีตัวละครประกอบ ได้แก่ สายลม พ่อ และแม่ โดยอาจพิจารณาลักษณะนิสัยของตัวละครเอก ได้ดังนี้

สายน้ำ

          สายน้ำเป็นตัวละครเอกที่มีลักษณะนิสัยแบบซับซ้อน หรืออาจเรียกว่า เป็นตัวละครที่มีหลายมิติ คือมีทั้งดีและไม่ดี เห็นได้จากที่เขาเคยเป็นคนเกียจคร้านมาก่อน ทั้งยังไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับประเพณีท้องถิ่นอีกด้วย แต่พอเวลาผ่านไปเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเขาส่งผลให้สายน้ำมีการปรับตัวและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เห็นได้จากเหตุการณ์ ดังนี้ “เวลาเกือบเที่ยงวัน สายน้ำลืมตาตื่นขึ้นมา เขากวาดมือคลำหาโทรศัพท์มือถือตามซอกหลืบต่างๆ เมื่อเจอก็เปิดเข้าเว็บโน้นเว็บนี้ กว่าจะได้ฤกษ์ลุกจากเตียงก็ตอนที่สายตาของเขาเริ่มเมื่อยล้า” (น.22)

          เนื้อความดังกล่าวเป็นการเผยให้เห็นนิสัยเกียจคร้านของสายน้ำอย่างชัดเจน

ส่วนเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ

          “สายน้ำเรียนรู้แล้วค่อยๆ ซึมซับทีละน้อย มีความสุขทุกครั้งที่จับไม้พาย เพราะเขาอยากล่องเรือยาวร่วมกับเพื่อนๆ ความรัก ความสามัคคีเป็นสิ่งสำคัญ ต้องพายเรือพร้อมกันมันถึงจะไปได้เร็ว”(น.28)

          เป็นเหตุการณ์หลังจากที่สายน้ำได้ไปฝึกซ้อมพายเรือทุกวัน แล้วทำให้เขาหลงรักการพายเรือ และเห็นความสำคัญของการแข่งเรือยาว

          หากนำเหตุการณ์ทั้งสองมาเปรียบเทียบกันจะพบว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม นับได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวช่วยเผยลักษณะนิสัยของตัวละครให้เห็นเด่นชัดขึ้น ทำให้ผู้อ่านทราบถึงนิสัยพื้นฐานของตัวละคร ซึ่งลักษณะนิสัยนี้สอดคล้องกับธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีปะปนกันไป

          เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของสายน้ำที่มีหลายลักษณะ สามารถเห็นได้จากเหตุการณ์

“สายน้ำเกิดลังเลขึ้นมา หากเขาร่วมเป็นนักกีฬา...จากนี้คงต้องตื่นเช้าไปซ้อมทุกวัน และตอนเย็นก็ยังต้องซ้อมอีก มันน่าเบื่อตรงที่กิจวัตรประจำวันที่เคยๆ มันจะแปรเปลี่ยนไป เขายังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่อีกนัยหนึ่ง เขาเห็นใจพี่ชายตัวเอง ความพยายาม ความมุ่งมั่นที่ทำมามันพังทลายเพียงเสี้ยววินาที” (น.26)

          จะเห็นว่า สายน้ำรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองเขาเกิดลังเลไม่รู้ว่าจะต้องตัดสินใจอย่างไร แต่สุดท้ายความคิดฝ่ายดีของเขาก็เอาชนะฝ่ายไม่ดีได้ แม้ว่าเขาจะทำตัวไม่ค่อยดี แต่เมื่อเห็นพี่ชายลำบาก เขาก็ให้ความช่วยเหลือพี่ชายได้ โดยการสานต่อเจตนารมณ์ของพี่ชาย

          ส่วนอีกเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงจิตใจฝ่ายดีของมนุษย์ที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์ให้แสดงพฤติกรรมที่ดีออกมา ดังเช่น

          “สายน้ำค้นพบความอ่อนแอของตนเอง เขาร้องได้ไม่ดังเท่าเพื่อนคนอื่น ขนาดเดียวกันกล้ามเนื้อต้นแขนแสดงอาการเมื่อยล้า ถึงกระนั้นแล้วเขากลับฝืนทนต่อไปไม่กล้าทำตัวเป็นภาระกับเพื่อนร่วมทีม ยิ่งเห็นความพร้อมเพรียงอันทรงพลังด้วยแล้วยิ่งไม่สมควรขัดขืน” (น.27)

          แม้จะดูขัดแย้งกับนิสัยเดิมของสายน้ำแต่ก็เป็นความขัดแย้งที่กลมกลืน จะเห็นว่าการกระทำของสายน้ำสมควรได้รับคำชื่นชม ทำให้ผู้อ่านประทับใจในตัวละคร นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้เสนอความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ผ่านความคิดของตัวละครเอกนั่นคือ

“แม้รู้เต็มอกว่ามันเหนื่อยเปล่าก็ตามที ยังดีที่มีเงินรางวัลเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ก็สู้ต่อได้” (น.26)

จะเห็นว่าความคิดดังกล่าว ซื้อให้เห็นถึงความโลภของมนุษย์อย่างชัดเจน

4. ฉาก

          ฉากที่ปรากฏในตอนเริ่มเรื่อง ถือเป็นฉากที่สอดคล้องกลับเหตุการณ์ในเรื่อง ดังเนื้อความที่บรรยายว่า

“เบื้องหน้าที่เขาเห็นคือแผ่นหลังอันกำยำของเพื่อนบ้านหลังตรงข้าม นอกจากนี้ยังมีญาติสนิทมิตรสหายอีกมากมายนั่งอยู่เคียงข้างกันพร้อมจับไม้พายไว้แน่น เสียงผู้คนมากมายร้องตะโกนคอยเป็นกำลังใจให้อยู่ฝั่งบันไดริมตลิ่ง เสียงมหรสพดนตรีลูกทุ่งหมอลำดังแว่วเข้าหู ฟังแล้วก็เกิดครึกครื้นนึกอยากลุกขึ้นมาแสดงลีลาท่าทางอวดสาวสวยที่ยืนเกาะราวกั้นฝั่งทางโน้น แต่ก็กลัวเรือจะล่มเสีย มันจึงเป็นเพียงแค่ความคิดธรรมดาที่ต้องเก็บไว้ภายใน” (น.21)

จะเห็นว่าฉากดังกล่าว สื่อให้เห็นถึงหรือสภาพแวดล้อมภายในงานประเพณีแข่งขันเรือยาว ที่มีบรรยากาศแห่งความครึกครื้น น่าสนุกสนาน จนทำให้สายน้ำอยากลุกขึ้นมาเต้นเลยทีเดียว

อีกทั้งยังมีฉาก ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในเรื่อง คือฉาก

“สิ้นเสียงสัญญาณ เขาไม่รอช้าควบไม้พายจ้วงตวัดเหนือผิวน้ำอย่างพร้อมเพรียงตามที่ซ้อมกันมา หัวหน้าทีมค่อยนับจังหวะการพายแก่ลูกทีม คลื่นน้ำแตกกระเซ็นตามความเร็วที่แล่นผ่าน สายน้ำแห่งนี้จะนำเราไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือหนทางข้างหน้า เสียงนักพากย์เรือยาวเสียงร้องตะโกนของกองเชียร์ดังสะท้อนลั่นผืนน้ำ ทุกคนมีความสุข แต่ความสุขมีหลายรูปแบบ แล้วแต่อารมณ์ที่สัมผัสขณะนั้น” (น.30)

จะเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง ผู้เขียนก็ได้บรรยายฉากและบรรยากาศได้อย่างเข้มข้น ทำให้ผู้อ่านเกิดความตื่นเต้น และมีอรรถรสในการอ่านยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีอีกฉากที่น่าสนใจ ดังที่ผู้เขียนบรรยายว่า

“ถือดีๆ นะเอ็ง เสียงคำสั่งจากผู้เป็นพ่อดังไล่หลัง เตือนสติลูกชาย เขาถอนหายใจฟอดใหญ่ ก่อนก้มลงมองฝูงปลาสร้อย ปลากราย ที่สะดิ้งในถัง กลิ่นคาวลอยโชยแตะจมูกจนเขาต้องเบือนหน้าหนี” (น.23)

          ฉากนี้มีความสมจริงเป็นอย่างมาก ผู้เขียนบรรยายได้อย่างมีชีวิตชีวา สื่อถึงบรรยากาศตอนกลิ่นคาวปลาลอยโชยได้อย่างยอดเยี่ยม

5. สารัตถะ

          แก่นของเรื่องนี้ คือ การเอาชนะใจตัวเอง จากในเนื้อเรื่องจะเห็นว่า สายน้ำเป็นเด็กที่เกียจคร้าน ไม่สนใจวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น นั่นคือ ประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานที่จัดขึ้นทุกปี เขาเกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไมชาวบ้านคนอื่นๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับประเพณีนี้ แต่เมื่อเขาได้ลงแข่งขันเอง  ก็ทำให้เขาได้รู้ว่าประเพณีแข่งขันเรือยาวให้อะไรแก่เขามากกว่าที่คิด ดังจะเห็นได้จากเนื้อความที่ว่า

“มาถึงตรงนี้เราพอจะเข้าใจแล้วว่าแข่งเรือยาวทำไม เราได้อะไรกลับมานอกจากเหนื่อยเปล่า อ่าวเราแข่งเพื่อชัยชนะ...เป็นชัยชนะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน แต่เป็นการเอาชนะใจตัวเองให้ได้ต่างหาก” (น.29)

จะเห็นว่าสายน้ำได้เรียนรู้และรู้จักเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองให้ดีขึ้นได้จากการลงมือกระทำ สายน้ำพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่าเขาเอาชนะใจตัวเองได้ ยิ่งเห็นเพื่อนร่วมทีมเข้มแข็งสามัคคีกัน ยิ่งกระตุ้นให้เขามีแรงฮึดสู้พร้อมที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายข้างหน้า อีกทั้งผู้เขียนมีการเน้นย้ำแก่นเรื่องในตอนท้ายเรื่องด้วย คือ

“...การแข่งขันเป็นเรื่องของแพ้กับชนะ แต่ชัยชนะที่สำคัญที่สุดคือการเอาชนะใจตัวเอง...”

(น.30)

ถือได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีแก่นเรื่องที่ชัดเจน ผู้เขียนสื่อเนื้อหาได้สอดคล้องกับแก่นของเรื่อง

          นอกจากนี้ยังมีแนวคิดรองซึ่งพบได้ในเหตุการณ์ดังนี้

          “...สายน้ำเดินตัวอ่อนกลับบ้านก่อนทิ้งตัวลงบนเตียงอย่างอ่อนแรง สายลมตามมาดูอาการของน้องชาย เขาเข้าใจดี... ครั้งแรกย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายจะปรับตัวได้เอง นอกจากร่างกายแล้ว น้องชายของเขายังต้องปรับทัศนคติเกี่ยวกับการแข่งเรือยาวใหม่ด้วย ถ้าใจไม่สู้ สมองจะสั่งการช้า ความขี้เกียจจะบังเกิดทันที

...กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว เปรียบดั่งใจคน ต้องเรียนรู้ ต้องสร้างประสบการณ์ ต้องพยายามจึงจะบรรลุผลสำเร็จ...” (น.27)

จากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คนเราต้องมีความมุ่งมั่นพยายาม จึงจะได้มาซึ่งความสำเร็จ

อีกแนวคิดประการหนึ่งของเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึง ความสมัครสมานสามัคคีกันของคนในชุมชน ที่อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง รักใคร่กลมเกลียว และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังเนื้อความที่ว่า

“ฝีพายทั้งสองทีมต่างยิ้มและพูดคุยกัน พวกเขาไม่มองกันเป็นคู่แข่ง มีแต่พี่กับน้อง เราเหมือนแข่งขันเพื่อความสนุก ไม่ใช่เพื่อเงินรางวัลหรือถ้วยพระราชทาน พวกเราเพียงแค่ต้องการพักผ่อนหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร”

จะเห็นว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึง ความมีมิตรไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านมองเห็นถึงความดีงามของประเพณีท้องถิ่นที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในชุมชน หรือต่างชุมชน

ในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น จะพบว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น

นับได้ว่าผู้เขียนสื่อถึงสารัตถะของเรื่องได้อย่างตรงไปตรงมา มีความชัดเจน มีทั้งการสอดแทรกคติเตือนใจต่างๆ ให้ผู้อ่านได้ขบคิดตามไปด้วย ถือเป็นการสื่อแนวคิดที่ให้คุณค่าแก่ผู้อ่านเป็นอย่างมาก

6. การประเมินค่า

          เราสามารถประเมินค่าเนื้อหาของวรรณกรรมเรื่องนี้ได้ โดยการแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของเรื่อง อาจพิจารณาได้ดังนี้

          ความคิดเห็นของผู้เขียนที่สามารถพบได้ในเรื่อง ดังเนื้อความที่ว่า

          “สายน้ำไม่เคยถูกจับจ้องโดยเหล่าผู้คนมากมายมาก่อนเลย ภาพที่เขาเห็นบ่งบอกถึงวัฒนธรรมประเพณีที่ไม่มีวันเลือนหายไปพร้อมกับความก้าวหน้าและทันสมัยของกระแสโลกยุคโลกาภิวัตน์ เรายังกล้าเบือนหน้าหนีจากวัตถุทางเทคโนโลยีบางอย่าง เพื่อหันมาสืบสานวัฒนธรรมประจำถิ่นของเรา อีกอย่างวัฒนธรรมนี้แหละ เป็นสิ่งเชื่อมโยงผู้คนให้มาพบปะกัน เป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ… แม่น้ำมูลของพวกเราทุกคน และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำถิ่นอีกนัยหนึ่ง” (น.28-29)

          จะเห็นว่าผู้เขียน สอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองลงไปในงานเขียน ผ่านมุมมองความคิดของตัวละครเอก เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสำนึกรักในวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งถือว่าความคิดเห็นดังกล่าวให้แง่คิดแก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

          นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้แสดงความรู้สึกของตนเองลงในงานเขียนด้วย ดังเนื้อความที่ว่า

“ประเพณีแข่งขันเรือยาวจะไร้ซึ่งชื่อเสียงหากไม่ได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานถ้วยรางวัลแก่เรือยาวที่ชนะเลิศในแต่ละประเภท คงเป็นประเพณีแข่งเรือยาวที่จัดกันธรรมดาในอำเภอ ไม่โด่งดังเหมือนทุกวันนี้ อำเภอสตึกได้รับสิ่งตอบแทนจากคนต่างถิ่นที่เข้ามารับชมบุญประเพณี ทางด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม สนามแข่งเรือของเราเป็นสนามที่กว้างที่สุด และมีมาตรฐานไม่น้อยหน้าจังหวัดอื่น มันคือความภูมิใจของพี่น้องชาวอำเภอสตึกทุกคน” (น.29)

          ความรู้สึกที่ผู้เขียนถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับรู้ แสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและสำนึกรักวัฒนธรรมประเพณีบ้านเกิดของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม

          ในด้านข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเรื่อง ถือได้ว่ามีความน่าเชื่อถือมากในเรื่องงานบุญประเพณีแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะประเพณีนี้มีการจัดขึ้นทุกปี จะเห็นว่าการที่ผู้เขียนนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาสร้างเป็นงานเขียน จะทำให้งานเขียนมีความสมจริง และน่าเชื่อถือมากขึ้น ดังเช่นเหตุการณ์ที่ผู้เขียนบรรยายว่า

          “บรรยากาศรอบสวนเฉลิมพระเกียรติ  72  พรรษา จึงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่ออกมาชม มาเชียร์ และมาจับจ่ายซื้อสินค้าพื้นเมืองที่ไม่ค่อยได้มีออกมาขายในวันปกติธรรมดา” (น.28)

          แสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนเคยได้ไปชมประเพณีแข่งขันเรือยาวจริงๆ จึงสามารถถ่ายทอดบรรยากาศของงานได้อย่างสมจริง

          หากพิจารณาถึงลักษณะเด่นของเรื่องนี้ โดยมองในภาพรวมจะพบว่า วรรณกรรมเรื่อง”สายน้ำ” มีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ เป็นการเล่าเรื่องแบบย้อนหลัง แต่โครงเรื่องก็ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด ผู้อ่านอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที แต่ก็มีบางจุดที่บกพร่องอยู่บ้าง โดยภาพรวมแล้วถือว่าผู้เขียนวางโครงเรื่องได้อย่างมีเอกภาพ และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 645830เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2018 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2018 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท