บทวิจารณ์เรื่องสั้นปลาข่อน้อยตาเซ่อ


วิจารณ์เรื่องสั้น

เรื่อง ปลาข่อน้อยตาเซ่อ

ปลาข่อน้อยตาเซ่อ ประพันธ์โดย รมย์ธีรา วงค์นาชาติ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับรางวัลชมเชยในโครงการประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ปลาข่อน้อยตาเซ่อมีเรื่องราวเนื้อหาที่เล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในชนบทแถบภาคอีสาน พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดเรื่องราวของความซุกซนของเด็กได้อย่างเพลิดเพลินและน่าติดตามอีกด้วย

โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง

วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น เรื่อง ปลาข่อน้อยตาเซ่อ เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตเมื่อวัยเด็กของตัวผู้ประพันธ์เอง จึงทำให้ผู้ประพันธ์เขียนออกมาได้เป็นอย่างดีและเนื้อหาก็มีความละเอียด ความสมจริง ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์ เนื้อหาในเรื่องนี้นอกจากจะมีความน่าสนใจในเรื่องของการใช้ชีวิตของเด็กในภาคอีสานแล้วยังมีการถ่ายอดเรื่องราวของความเป็นเด็กหรือความซุกซนจนเกิดเป็นความเพลิดเพลินและสนุกสนานอีกด้วย

วรรณกรรมเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กชายคนหนึ่งออกไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กและจับปลากับเพื่อน จนกระทั่งเขาเจอรูของปลาจึงวานให้เพื่อนช่วยจับให้ เมื่อเขาได้ปลามาจึงเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตเขาก็ว่าได้ เขาดูแลและรักษามันเป็นอย่างดี เพราะว่ากว่าจะถึงบ้านก็ต้องเจอกับอุปสรรคมากมายไม่ว่าจะเป็น การวิ่งหนีเจ้าของนาที่ไปจับปลาหรือจะเป็นการหนีจากการถูกมดแดงบนต้นไม้ที่เขาไปหาผลไม้กัด เมื่อกลับไปถึงบ้านด้วยความที่เขาต้องการให้คนที่บ้านรู้สึกประหลาดใจและภูมิใจกับผลงานของเขาจึงนำไปห้อยไว้ในครัวแต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครสนใจ จึงตัดสินใจเรียกเรียกพ่อแม่มาดู แต่เขาก็ต้องผิดหวังเมื่อผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่กลับมองว่าเรื่องนี้ไร้สาระใครเขาก็ทำได้ ปลาที่จับมาได้ก็เป็นเพียงปลาตัวหนึ่งที่ตาเซ่อมาให้เขาจับเพียงเท่านั้นเอง ซึ่งสิ่งนี้เองจึงทำให้เขาเสียความรู้สึกและเสียความมั่นใจในตัวเองไป

การเปิดเรื่องเป็นการเปิดในรูปแบบการกระทำของตัวละครที่กำลังยืนชมธรรมชาติในขณะที่รอเพื่อนเพื่อไปจับปลา ซึ่งเป็นการบรรยายถึงลักษณะท่าทางหรือบรรยากาศรอบ ๆ ได้อย่างละเอียดจนทำให้เนื้อหาเกิดความน่าสนใจ น่าติดตาม อีกทั้งยังทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการที่สมจริงจนสามารถดื่มด่ำ รับรู้ และเข้าถึงตัวละครร่วมไปกับผู้ประพันธ์อีกด้วย

การดำเนินเรื่องก็เป็นไปตามเข็มนาฬิกา คือ ดำเนินไปตามเวลาอย่างเป็นเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์ ไม่มีการสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ที่จะให้ผู้อ่านเกิดความไม่เข้าใจ จึงทำให้เนื้อเรื่องนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น อ่านง่าย จนเกิดเป็นความเพลิดเพลิน สนุกสนานกับการแสดงออกที่น่ารักของตัวละคร ได้มองเห็นถึงธรรมชาติของเด็กที่เป็นวัยกำลังซนซึ่งก็เป็นไปตามผู้ประพันธ์ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้รับถึงอรรถรสนั้น

การปิดเรื่องผู้ประพันธ์ปิดเรื่องในรูปแบบของการให้ผู้อ่านได้คิดซึ่งจะกล่าวว่าเป็นการปิดอย่างมีความสุขเพราะถึงแม้การหาปลามาของเด็กเรื่องที่น่าขบขันแต่อย่างไรเสียพ่อกับแม่ก็ยังคงรักและเอ็นดูอยู่นั้นก็ไม่เชิง แต่ผู้ประพันธ์ต้องการให้ผู้อ่านมองในแง่มุมของความคิดเด็กจึงทำให้เรื่องนี้จบไม่สวยงามตามแบบวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ เท่าใดนัก อย่างไรก็ดีเนื้อหาในตอนปิดเรื่องก็ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความรู้สึกร่วมด้วยไปกับตัวละคร รวมทั้งได้มองเห็น เห็นใจ และเข้าใจในความคิดของเด็ก นอกจากนี้แล้วยังมีการบรรยายถึงบรรยากาศในตอนจบจนเกิดเป็นจินตนาการที่สวยงามที่ทำให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มตาม ๆ กันไป

ข้อขัดแย้งของเรื่องนี้อยู่ตรงการที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจในธรรมชาติของเด็ก การไม่รับฟังความคิดหรือมองไม่เห็นคุณค่าของการกระทำ ซึ่งการกระทำของเด็กในแต่ละอย่างเป็นความตั้งใจและมุ่งหวังให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ได้ร่วมภูมิใจและชมเชยเขา อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้ว่าเขาทำได้นะ แต่ในวรรณกรรมเรื่องนี้ผู้ใหญ่กลับมองไม่เห็นคุณค่าการกระทำของเด็กที่เขาต้องการแสดงออกให้เห็นซึ่งบางครั้งอาจจะส่งผลกระทบบางอย่างในอนาคตของเด็กก็ได้

กลวิธีการดำเนินเรื่อง

วรรณกรรมเรื่องนี้ดำเนินเรื่องไปตามลำดับเวลาตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกทั้งยังใช้แนวคิดของสัจนิยม คือการนำเอาวิถีชีวิตความเป็นจริงของมนุษย์ในสังคมที่ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดเรื่องราวของการดำเนินชีวิตแต่ยังยกปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่บางครั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อคนที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติมากล่าวในเรื่อง ซึ่งประพันธ์ในลักษณะนี้จะส่งผลให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและสามารถเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอดีตจนมาถึงปัจจุบัน และอาจจะสามารถนำไปแก้ไขให้เหมาะสมได้

ตัวละคร

เรื่องสั้นเรื่อง ปลาข่อน้อยตาเซ่อ มีการสร้างตัวละครจากชีวิตจริงของผู้ประพันธ์แต่มีความน่าสนใจอยู่ที่ว่าผู้ประพันธ์นั้นเป็นผู้หญิงแต่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครที่เป็นเด็กผู้ชายได้ออกมาเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะท้าทายผู้ประพันธ์เป็นอย่างมาก ตัวละคนหลักในเรื่องมีดังนี้

เด็กชาย มีรูปร่างผอม ผิวคล้ำ มีลักษณะนิสัยที่ปกติแล้วเป็นคนที่ชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น มีความสามารถที่ไม่เท่าเทียมเขา และเมื่อจับปลาได้จึงทำให้เกิดเป็นความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ และทำให้เขามีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น

เจ้าแห้ง เพื่อนสนิทของเด็กชายเปรียบเสมือนว่าเป็นญาติกันเพราะมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แห้งจะเป็นเด็กที่กล้าหาญ มีความมั่นใจในตนเอง มีความชำนาญในการทำสิ่งต่าง ๆ และเขานั่นเองที่เป็นคนที่เด็กชายนำตนเองมาเปรียบเทียบ

จะเห็นได้ว่าผู้ประพันธ์นั้นสร้างตัวละครออกมาได้อย่างสมเหตุสมผลการที่ตัวละครเอกอย่างเด็กชายมีความสามารถน้อยกว่าแห้งเป็นสิ่งที่บั่นทอนความกล้าและความมั่นใจของเขา เมื่อเด็กชายจับปลาได้ตัวใหญ่กว่าแห้งเขาจึงมีความภาคภูมิใจที่ล้นเปี่ยม แต่แล้วความภูมิใจทั้งหมดที่เขามีกลับถูกทำลายด้วยการกระทำของผู้ใหญ่ จึงทำให้ตรงกับข้อคิดที่ผู้ประพันธ์ต้องการที่จะสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นและเข้าใจร่วมไปกับเขา

ฉากและบรรยากาศ

วรรณกรรมเรื่องนี้มีฉากและบรรยากาศที่สำคัญอยู่เพียงฉาก 2 ฉาก นั่นก็คือ ฉากที่ทุ่งนาที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากินและฉากที่บ้านของเด็กชาย ซึ่งตรงตามหลักการแต่งเรื่องสั้นที่ต้องมีฉากน้อยเพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินเรื่อง การบรรยายฉากและบรรยากาศไว้อย่างละเอียดและชัดเจน มีความเสมือนจริง ผู้อ่านสามารถรับรู้ได้ถึงบรรยากาศโดยรอบที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น “รวงข้าวสีเขียวอ่อนกำลังโผล่พ้นออกจากท้อง บ้างก็โอบกอดลำต้นซึ่งถูกใบเรียวยาวห่อหุ้มไว้เพื่อรอวันแย้มรับกับแสงตะวันในช่วงปลายฝนต้นหนาวอย่างเดือนตุลาคม” เมื่ออ่านแล้วผู้อ่านก็สามารถรับรู้ว่าฉากในขณะนั้นคือฉากของทุ่งนาและมีข้าวที่กำลังงอกงาม สามารถรู้สึกได้ถึงกลิ่นอายของบ้านนาที่อบอวลไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากมาย จนบางครั้งก็ทำให้นึกย้อนเวลาไปในตอนเด็กและได้ร่วมผจญภัยท่องเที่ยวไปกับตัวละครอีกครั้ง

สารัตถะ

สารัตถะของวรรณกรรมเรื่อง ปลาข่อน้อยตาเซ่อ ผู้ประพันธ์ต้องการให้ผู้อ่านได้มองเห็นวัฒนธรรมทางด้านความคิดของเด็กและผู้ใหญ่ที่เห็นต่างกัน ผู้ใหญ่บางคนมักมองว่าความคิดหรือการกระทำของเด็กเป็นสิ่งที่ไร้เดียงสา ทำไปตามประสาของเด็ก ยังไม่มีประสบการณ์มากพอ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างของเด็กที่เขากระทำไปก็ต้องการที่จะให้ผู้ใหญ่ได้มองเห็นคุณค่า มองเห็นถึงศักยภาพในตัวของเขา เขาต้องการที่จะให้ผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงาม ชื่นชม และร่วมภูมิใจกับการกระทำที่ดี ดังนั้นการเข้าใจในธรรมชาติของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่บางคนนั้นมองข้าม ซึ่งการที่ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจถึงธรรมชาติของเด็กจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพในด้านต่าง ๆ ให้แก่เด็ก ไม่ว่าเป็นด้านการกล้าแสดงออก มีความมั่นใจ มีบุคลิกภาพที่ดี ส่งผลให้เป็นผู้ใหญ่ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง สามารมองขอบเขตของปัญหาและสามารถแก้ได้ทันท่วงที ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้ใหญ่ไม่ควรจะมองข้าม การรับฟังและเอาใจใส่ในตัวเด็กนอกจากจะช่วยพัฒนาตัวเด็กแล้ว ยังสามารถที่พัฒนาประชาติได้เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นในอนาคตข้างหน้า

ประเมินคุณค่า

คุณค่าทางด้านเนื้อหา เนื้อหาในวรรณกรรมเรื่อง ปลาข่อน้อยตาเซ่อ มีเนื้อหาที่ละเอียดและชัดเจน มีการถ่ายทอดเรื่องราวที่ผ่านประสบการณ์จริงของผู้ประพันธ์จึงทำให้เนื้อหาเกิดความสมจริงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนานไปกับการผจญภัยของเด็ก จนในบางครั้งก็ทำให้ผู้อ่านหลาย ๆ คนได้นึกย้อนมองเห็นตนเองในวัยเด็กที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่แสนจะอบอุ่นอีกครั้ง

คุณค่าทางด้านการใช้ภาษา ปลาข่อน้อยตาเซ่อ มีการใช้ภาษาที่สละสลวย สั้นกระชับ และจุดเด่นของคุณค่าด้านภาษาในเรื่องนี้คือมีการใช้ภาษาถิ่นทางภาคอีสานในบทสนทนาระหว่างตัวละคร จึงทำให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าหากผู้อ่านเป็นคนทางภาคอีสานด้วยแล้วนั้นก็ยิ่งจะทำให้ได้รับอรรถรสมากขึ้นไปอีก วรรณกรรมเรื่องนี้ยังให้คุณค่าทางด้านภาษาในอีกหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านบรรยายโวหาร พรรณนาโวหารไว้อย่างชัดเจนยกตัวอย่างบทตอนเริ่มเรื่องและตอนจบเรื่อง ผู้ประพันธ์สามารถบรรยายให้เห็นถึงบรรยากาศโดยรอบและลักษณะของตัวละครไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้ผู้อ่านจินตนาการเห็นภาพตามไปด้วย

คุณค่าทางด้านสังคม วรรณกรรมเรื่องนี้ได้ทำให้ผู้อ่านมองเห็นถึงปัญหาในสังคมในเรื่องของวัฒนธรรมด้านความคิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไว้อย่างชัดเจน สามารถทำให้ผู้อ่านหลาย ๆ คนได้มองย้อนกลับไปดูตนเองว่าที่ผ่านมาพวกเขาใส่ใจลูกหลานมากพอหรือยัง ซึ่งการส่งเสริมแง่มุมเนื้อหาในลักษณะนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่ตัวของผู้ใหญ่เองว่าจะใส่ใจในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น เรื่อง ปลาข่อน้อยตาเซ่อ ที่ได้รับรางวัลชมเชยในโครงการประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เหมาะสมสำหรับผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัยโดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยเจริญเติบโต เพราะมีคุณค่าในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเนื้อหา การใช้ภาษา และด้านสังคมไว้อย่างครบเครื่องครบรส อีกทั้งยังมีการส่งเสริมและพัฒนาทางด้านความคิดของคนในสังคมให้สนใจ ดูแลเอาใจใส่ลูกหลานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะได้เติบโตไปเป็นอนาคตของชาติที่ดีสืบไป

 

คำสำคัญ (Tags): #บทวิจารณ์
หมายเลขบันทึก: 645820เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2018 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2018 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท