การประกันคุณภาพภายนอก


การประกันคุณภาพภายนอก

( External Quality Assurance )

ดร.ถวิล อรัญเวศ 
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

          เมื่อพูดถึงเรื่องประกันคุณภาพ คงจะนึกถึงร้านอาหารที่พอเอ่ยชื่อแล้วคนก็อยากไปรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นร้านไก่ย่าง ข้าวเหนียว ส้มตำ ปลาเผา ร้านลาบ ก้อย ทั้งนี้เพราะเขามีระบบ การจัดทำที่ดี โดยเฉพาะไก่ย่าง ถ้าร้านไหนที่มีกระบวนการทำตั้งแต่การใส่เครื่องปรุงก่อนย่าง ไม่ว่าจะเป็น พริก เกลือ น้ำปลา สมุนไพร ตอนย่างก็ย่างให้กรอบไม่เปียกชื่น มีรสหอมกรุ่นด้วยสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นรสตะไคร้ มะกรูด มะนาว แล้ว ลูกค้าก็จะติดใจในรสชาติ เกิดความเชื่อมั่นในฝีมือ เพราะทำแบบสดๆ ไม่นำไก่ย่างที่ค้างคืนมาอุ่นขายแล้วขายอีก หรือร้านปลาเผาก็เช่นกัน ถ้าเจ้าของร้านร้านไหน มีความตั้งใจทำปลาเผาด้วยการนำปลาสดมาทำ ก่อนเผาก็หมักปลาด้วยเครื่องปรุงไม่ว่าจะเป็นตะไคร้ ข่าขิง ใบมะกรูดที่บดละเอียด น้ำปลา เกลือหรือสมุนไพรอื่นๆ แล้วแต่จะชอบ หรือร้านลาบ ก้อย เขาทำลาบก้อยด้วยเนื้อสดๆ สะอาด มีเครื่องปรุงครบครัน แถมด้วยข้าวเหนียวที่นึ่งและส่ายข้าวไม่ให้เมียกหรือเหนียวเฉอะแฉะ นึ่งพอดี ไม่เหนียวติดมือ ก็น่ารับประทานนี้คือการประกันคุณภาพของร้านอาหารเพื่อให้ลูกค้าอยากมารับประทาน

           ส่วนสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกางเกง เสื้อผ้า ที่นอน หมอนมุ้ง เครื่องใช้ไม้สอยก็คงเช่นเดียวกันนี้ ถ้าผลิตภัณฑ์ยี่ห้องไหนมีระบบการจัดเย็บที่ดี สีสวย สีไม่ตก ลวดลายสวยงาม ใส่สบาย ก็จะเป็นแรงดึงดูดให้ลูกค้าอยากจะไปจับจ่ายซื้อมาใช้ สินค้าบางชนิดจะมีการประกันงานเป็นหลายปี ถ้าส่วนไหนเสียหายก่อนกำหนดเขาจะดูแลบริการหลังขาย นี้คือการประกันคุณภาพของสิ้นค้าและบริการ

            ด้านการศึกษาก็เช่นกัน ถ้าสถานศึกษาใดจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพที่ดี สร้างศรัทธาความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองได้แล้ว ผู้ปกครองก็อยากจะส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน เช่น ประกันคุณภาพด้าน

           อ่านออกเขียนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีผลสัมฤทธิ์เป็นเลิศ ก่อเกิดงานอาชีพเร่งรีบพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี มี
การพัฒนาหลักสูตร อ่านพูดสนทนาอังกฤษ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ บ่มเพาะคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงสู่ห้องเรียน เพียรดูแลระบบช่วยเหลือนักเรียน
 ฯลฯ   

          สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ปกครองเกิดศรัทธาความเชื่อมั่นต่อโรงเรียน และอยากนำบุตรหลานมาเข้าเรียน

การประกันคุณภาพภายนอก

         การประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินคุณภาพ การจัดการศึกษาเพื่อให้มีการติดตามและตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ ซึ่งประเมินโดยคนภายนอกคือ “สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเรียกชื่อย่อว่า“สมศ.”

          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชน รูปแบบและวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นไปตามหลักเกณคลหรือหน่วยงานที่ สมศ.รับรอง ทำหน้าที่ประเมิน มีหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

        1. เป็นการประเมินเพื่อมุ่งให้มีการพัฒนาคุณภาพ การศึกษา ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการตัดสิน การจับผิด หรือการให้คุณ ให้โทษ

        2. ยึดหลักความเที่ยงตรง เป็นธรรม โปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง (evidence– based) และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้(accountability)

        3. มุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมและประสานงานในลักษณะกัลยาณมิตรมากกว่าการกำกับควบคุม

        4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพและ การพัฒนาการจัดการศึกษาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

        5. มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการศึกษากับจุดมุ่งหมายและหลักการศึกษาของชาติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ให้เอกภาพเชิงนโยบาย แต่ยังคงมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยสถาบัน/สถานศึกษาสามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เต็มตามศักยภาพของสถาบันและผู้เรียน

กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑

(เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๑๑ ก ราชกิจจานุเบกษา ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)  

         กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๔๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

          ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓

          ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

        “การประกันคุณภาพการศึกษา”

          หมายความว่า การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษา โดยมีกลไกในการควบคุมตรวจสอบระบบการบริหารคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชนว่าสถานศึกษานั้นสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา และบรรลุเป้าประสงค์ของหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล

        “สำนักงาน”

          หมายความว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

        ข้อ ๓ ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาโดยการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้จัดให้มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา และจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเอง ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาเป็นประจำทุกปีเพื่อให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาตามวรรคหนึ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษามีหน้าที่ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแนะนำสถานศึกษา เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

             ข้อ ๔ เมื่อได้รับรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาตามข้อ ๓ แล้ว ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาจัดส่งรายงานดังกล่าวพร้อมกับประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องการให้มีการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบซึ่งรวบรวมได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานศึกษาแห่งนั้นให้แก่สำนักงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการประเมินคุณภาพภายนอกให้สำนักงานดำเนินการประเมินผลและติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และจัดส่งรายงานผลการประเมินและการติดตามตรวจสอบดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะ ให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น ๆ เพื่อให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไปในการดำเนินการตามวรรคสอง สำนักงานอาจจัดให้บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานดำเนินการประเมินผลและติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาได้ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้นติดตามผลการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาตามวรรคสอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

           ข้อ ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาอันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้

               ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑

                    ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

                 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่แนวทางใน

การดำเนินการตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ ไม่สอดคล้องกับหลักการประกันคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง จึงส่งผลให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอกไม่สัมพันธ์กัน เกิดความซ้ำซ้อนและคลาดเคลื่อนจากการปฏิบัติ ทำให้ไม่สะท้อนความเป็นจริงและเป็นการสร้างภาระแก่สถานศึกษาและบุคลากรในสถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่กำกับดูแล และหน่วยงานภายนอกเกินความจำเป็น สมควรปรับปรุงระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้มีกลไกการปฏิบัติที่เอื้อต่อ การดำเนินการตามมาตรฐานการศึกษาของแต่ละระดับ และเกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

           ที่กล่าวมานี้ เป็นกฎกระทรวงล่าสุดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งสถานศึกษาจะต้องศึกษาทำความเข้าใจและนำมาดำเนินการ

สรุป

           การประกันคุณภาพการศึกษา คือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับบริการทางการศึกษาว่าหลังจากได้ส่งบุตรหลานมาเข้าเรียนหรือเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนหรือสถาบันทางการศึกษานั้นแล้ว จะทำให้บุตรหลานของเขาเป็นคนดี มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้

           ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น ผู้เรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณได้ตามระดับการศึกษา มีผลสัมฤทธิ์เป็นเลิศในระดับสากล หรือนานาชาติ ก่อเกิดงานอาชีพ มีหนึ่งโรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์  เร่งรีบพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยี นำระบบDLIT DLTV มาใช้ตามสภาพบริบทของโรงเรียน มีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนและท้องถิ่น  ผู้เรียนสามารถอ่านพูดสนทนาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมกับระดับชั้นเรียน  ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ บ่มเพาะปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมไทย ๑๒ ประการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงสู่ห้องเรียน เพียรดูแลระบบช่วยเหลือนักเรียน ฯลฯ

          ในระดับอุดมศึกษา เป็นการที่ให้ผู้เรียนสำรวจตนเองว่าจะประกอบอาชีพอะไร และส่งเสริมสนับสนุนให้เขาสามารถไปได้ถึงจุดหมาย สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ปกครองเกิดศรัทธาความเชื่อมั่นต่อโรงเรียน/สถาบัน และอยากนำบุตรหลานมาเข้าเรียน

          สถานศึกษาอาจจะประกันคุณภาพ เช่นเป็นหนึ่งทั้งด้านคุณภาพและคุณธรรมโดยเฉพาะคุณธรรมนี้แหละจะเป็น หลักประกันชีวิต สามารถดำรงตนในสังคมอย่างมีความสุข รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ และคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการคือขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ

          รวมแล้วต้องประกันความรู้คู่คุณธรรม น้อมนำวิชาชีพ วิชาชีวิตมาปลูกฝังจนเป็นวิถีชีวิตก็จะทำให้ผู้เรียนเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ

---------------

แหล่งข้อมูล

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๑๑ ก ราชกิจจานุเบกษา ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

http://www.ratchakitcha.soc.go...

http://www.mua.go.th/users/bhe...

หมายเลขบันทึก: 645322เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2018 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2018 01:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท