ใช้ทรัพยากรอุดมศึกษาของชาติให้ก่อผลคุ้มค่า



วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีการประชุมคณะกรรมการสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    มีวาระรายงานผลการวิเคราะห์หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่เปิดสอนในวิทยาเขตหาดใหญ่    ข้อมูลที่นำเสนอ และสาระของการอภิปรายในที่ประชุมทำให้ผมนึกถึงหัวข้อในบันทึกนี้ ... การใช้ทรัพยากรอุดมศึกษาของชาติให้ก่อผลคุ้มค่า


ท่านคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ศ. ดร. ดำรงศักดิ์ ฟ้ารุ่งสาง    นำข้อมูลการประเมินหลักสูตรระดับปริญญาโท และปริญญาเอกด้วยตัวชี้วัด ๖ ตัวคือ

  • จำนวนนักศึกษาเฉลี่ย ๓ ปี  เทียบกับแผนรับนักศึกษา
  • อัตราส่วนผลงานตีพิมพ์ ต่อจำนวนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา
  • ผลการประเมินตามองค์ประกอบที่ ๑ ของ AUN-QA
  • คะแนนรวมจาก AUN-QA
  • ร้อยละของนักศึกษาที่พ้นสภาพ
  • Retention time เฉลี่ย ๓ ปีย้อนหลัง


มีการกำหนดเกณฑ์ เพื่อให้คะแนนแต่ละตัวชี้วัด หาคะแนนรวม    แต่ท่านคณบดีชี้ให้เห็นว่า คะแนนรวมไม่ไวพอสำหรับบอกว่าหลักสูตรใดคุณภาพสูง  ปานกลาง  และต่ำมาก    ท่านชี้ว่า มีตัวชี้วัด ๓ ตัว ที่หากหากหลักสูตรใดคะแนนต่ำทั้งสามตัวชี้วัด แสดงว่าเป็นหลักสูตรที่มีปัญหาคุณภาพ คือ ตัวชี้วัดที่ ๑, ๕, และ ๖

ที่ประชุมอถิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องเกณฑ์ในการคิดคะแนน   การที่ราชการให้นำปริญญาในหลักสูตรไปปรับวุฒิได้หรือไม่    ความต้องการของตลาดผู้เรียน   การที่นักศึกษาบางหลักสูตรมีพฤติกรรมเรียนช้าๆ ใช้เวลาที่กำหนดในหลักสูตรให้ยาวที่สุด   และหากจบไม่ทันก็ยอมให้ถูกให้ออก    แล้วสมัครเข้าเรียนใหม่โดยเทียบโอนหน่วยกิตเดิมได้ทั้งหมด ฯลฯ 

ผมได้ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ของอุดมศึกษาไทย และอุดมศึกษาโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว    และต่อไปการเปลี่ยนแปลงจะยิ่งรุนแรงขึ้น   ความต้องการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาโดยรวมลดลง    แต่ความต้องการเรียนบัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพสูงจะยังคงอยู่    แต่นิยามคำว่า “บัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพสูง” อาจเปลี่ยนไป    และต่อไปนี้ผู้กำหนดคือตลาดหรือผู้เรียน    ซึ่งก็เรียนเพื่อนำความรู้และทักษะไปประกอบอาชีพ    หลักสูตรที่ไม่สนองผู้เรียนก็จะต้องหมดไป  

จึงมีความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับชาติ (และโลก) อย่าง มอ. ต้องดำเนินการประเมินคุณภาพของหลักสูตรบัณฑิตศึกษา โดยมองจากหลายมุมมอง     แยกแยะออกเป็นหลักสูตรคุณภาพสูง  ปานกลางและต่ำ    กลุ่มคุณภาพต่ำ หากมีสถาบันอื่นผลิตได้ดีอยู่แล้วอย่างเพียงพอ   มอ. ก็น่าจะปิดหลักสูตรนั้นๆ เสีย    เอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นที่มีคุณค่าต่อบ้านเมืองมากกว่า 

หลักสูตรระดับปานกลาง  ก็น่าจะกำหนดว่าจะต้องปรับปรุงให้เป็นหลักสูตรชั้นดี ภายในกี่ปี และมีการติดตามตรวจสอบสม่ำเสมอ   หากมีเค้าว่า พัฒนาไม่ขึ้น ก็ควรปิดเช่นเดียวกัน 

ทรัพยากรของบ้านเมืองมีจำกัด    เราควรใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.พ. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 645317เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2018 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2018 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท