ชื่อนั้นสำคัญไฉน?



ชื่อนั้นสำคัญไฉน?

ดร.ถวิล  อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4  

      ชื่อนั้นสำคัญไฉน? มีหลายคนที่มีพลังศรัทธาความเชื่อในเรื่อง “ชื่อ” และ “สกุล” ถึงกับยอมเปลี่ยนชื่อสกุลก็มี และบางคนบอกว่า เปลี่ยนชื่อ หรือสกุลแล้วชีวิตรุ่งโรจน์ พบแต่สิ่งดีงามหลายอย่างเข้ามาในชีวิต (ยกเว้นผู้หญิงเปลี่ยนสกุลตามสามี เพราะภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณ เมื่อแต่งงานกันแล้ว สกุลต้องเป็น “หนึ่งเดียว” ซึ่งได้กำหนดให้ใช้สกุลสามี เพราะประเพณีไทยเราให้เกียรติ สามี ยกให้เป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วนภรรยาให้เกียรติเป็น “แม่บ้าน” หมายถึงผู้เป็นใหญ่ภายในบ้าน (ก็ไม่เบานะครับ ได้ตำแหน่งทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเลยทีเดียว)

      สำหรับเรื่องชื่อนี้ก็เคยมีคนคิดจะเปลี่ยนมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล (คือสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่) โดยมีเรื่องเล่าว่า  

      สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระภิกษุ ผู้หวังความสำเร็จโดยชื่อ รูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ อยู่ในเมืองตักกศิลา มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อว่า “บาป” เขาคิดว่าชื่อของเขาไม่เป็นมงคลเลย จึงเข้าไปหาอาจารย์ และขอให้อาจารย์ตั้งชื่อให้ใหม่ อาจารย์จึงบอกให้ไปเที่ยวแสวงหาชื่อที่ตนเองชอบใจมาแล้วจะทำพิธีเปลี่ยนชื่อให้

     นายบาปได้ฟังอาจารย์พูดเช่นนั้นก็ได้ออกเดินทางไปแสวงหาชื่อใหม่ จนถึงเมืองหนึ่ง เดินผ่านขบวนชาวบ้านหามศพคนตายไปยังป่าช้า

     นายบาป   :  นั้นเขาหามอะไรกันครับ ?

     ชาวบ้าน   :  หามศพคนตายไปยังป่าช้าครับ

     นายบาป   :  เขาชื่ออะไรครับ ?

     ชาวบ้าน   :  เขาชื่อ “เป็น” ครับ

     นายบาป   : ชื่อเป็นทำไมจึงตาย ครับ

     ชาวบ้าน   : จะชื่อเป็น หรือชื่ออยู่ ก็ตายได้ทั้งนั้นแหละครับ เพราะชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกันเท่านั้น

     นายบาป ก็เดินทางไปเรื่อยๆ ตามที่อาจารย์ได้แนะนำ พอเดินเข้าไปในเมือง พบเห็นชาวบ้านกำลังมุงดูพวกนายทุนจับนางทาสีเฆี่ยนตีด้วยเชือกอยู่ จึงถามความนั้นว่า

     นายบาป  : นั้นทำไมเขาจึงเฆี่ยนตีผู้หญิงคนนั้นเล่าครับ ?

     ชาวบ้าน  : เพราะเขายืมเงินแล้วไม่มีเงินมาใช้คืน

     นายบาป  : เธอชื่ออะไรครับ ?

     ชาวบ้าน  : ชื่อรวยครับ

     นายบาป  : ชื่อรวยทำไมถึงยากจนครับ

     ชาวบ้าน  : จะชื่อรวย ชื่อจน ก็มีสิทธิ์เป็นคนยากจนได้ทั้งนั้น เพราะชื่อเป็นเพียงบัญญัติเรียกกันเท่านั้น

     นายบาปเริ่มรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องชื่อ

     เขาได้เดินทางออกจากเมืองไปเรื่อยๆ ในระหว่างทางพบคนหลงทางคนหนึ่ง จึงถามชาวบ้านว่า

    นายบาป  : ชายคนนั้นกำลังเดินหาอะไร ครับ

    ชาวบ้าน   : เขากำลังหลงทางครับ

    นายบาป   : เขาชื่ออะไรครับ

    ชาวบ้าน   :  เขาชื่อชำนาญทางครับ

    นายบาป   :  ชื่อชำนาญทางทำไม่จึงหลงทางครับ

    ชาวบ้าน   :   จะชื่อชำนาญทางหรือไม่ชำนาญทาง ก็มีโอกาสหลงทางได้เท่ากัน เพราะชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกันเท่านั้นครับ

    นายบาป เริ่มจะเข้าใจถึงชื่อมากขึ้น เขาจึงวางเฉยในเรื่องชื่อ เดินทางกลับไปพบอาจารย์ แล้วเล่าเรื่องที่ตนพบเห็นมาให้ฟัง และขอร้องอาจารย์ให้คงชื่อนายบาปไว้เช่นเดิม อาจารย์จึงกล่าวคาถานี้ว่า

     " เพราะเห็นคนชื่อเป็น ได้ตายไป เห็นหญิงชื่อรวย กลับยากจน ขัดสน

       และคนชื่อ ชำนาญทาง แต่กลับหลงทางอยู่ในป่า นายบาปจึงได้กลับมา"

        นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

     “ชื่อนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญหรอก เช่นเดียวกับฤกษ์ยาม ก็ไม่สำคัญ เพราะพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุว่า ธรรมะเป็น  “อกาลิโก”  (ไม่มีฤกษ์ยาม) ปฏิบัติเมื่อไร ก็ได้รับผลเมื่อนั้น

อันวิญญูชนผู้ปฏิบัติ พึงรู้ได้เฉพาะตน เช่นเดียวกับการรับประทานอาหาร ใครรับประทาน คนนั้นก็อิ่ม และรู้รสชาติอาหารว่า อร่อยหรือไม่อร่อย จะไม่อิ่มหรืออร่อยแทนกันไม่ได้”

 

 

แหล่งข้อมูล

http://www.dhammathai.org/chad...142.php

หมายเลขบันทึก: 645151เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2018 01:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2018 02:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท