สัมมนาเครือข่ายโครงการเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


สัมมนาเครือข่ายโครงการเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

            การประชุมนี้จัดต่อจากการประชุมเมื่อวานนี้  ดังเล่าในบันทึกที่แล้ว   จัดที่คณะแพทยศาสตร์ มช. วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑  วันแห่งความรัก    ดำเนินรายการช่วงนำเสนอโครงการของผู้ได้รับพระราชทานทุนรุ่น ๙ โดย ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล     และดำเนินรายการช่วง lifetime mentoring & networking โดย ศ. นพ. สุรเดช หงส์อิง   

       ผู้ได้รับพระราชทานทุนรุ่น ๙ กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ  และเตรียมความพร้อมในการออกไปเผชิญชีวิตในต่างแดน ๑ ปี    โดยจะออกเดินทางปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า    แล้วแต่มหาวิทยาลัย    คือรับปริญญาก่อน แล้วจึงออกเดินทาง     รุ่นนี้ไปอเมริกา ๔ คน   สวีเดน ๑ คน    มีคนไปฝึกเรื่องที่อยู่ในขอบฟ้าใหม่ ๓ คน    เป็นเรื่อง gut microbiota ๒ คน (เรื่องวิตามินดี กับเรื่อง evidence-based disease prevention)   และเรื่อง epigenetics ๑ คน (เรื่องความอยากสุรา)    

     ที่จริงเรื่องที่ผู้รับพระราชทานทุน (เราเรียกกันติดปากว่า PMA YS (Prince Mahidol Award Youth Scholar) จะไปศึกษาหรือฝึก เป็นเรื่องใหม่ๆ น่าสนใจทั้งสิ้น    ดังเรื่องการกินวิตามินดีเสริมกับจุลินทรีย์ในลำใส้    เป็นเรื่องที่มีต้นตอมาจากการพบว่า มนุษย์สมัยนี้ขาดวิตามินดีอย่างน้อยหนึ่งในสามของประชากร    เพราะวิถีชีวิตทำให้ถูกแดดน้อย    ร่างกายสร้างวิตามินดีเองไม่เพียงพอ    จึงต้องกินวิตามินดีเป็นอาหารเสริม    แต่ก็ไม่ได้ผลตรงไปตรงมา    ผมไม่เคยคิดเลยว่า คนไทยจะขาดวิตามินดี มากขนาดนี้ เพราะเรามีแดดมาก

     PMA YS ภีม สาระสมบัติ จาก มช. ได้รับการอภิปรายมากเป็นพิเศษ    เพราะในทางวิชาชีพต้องการเป็นหมอผ่าตัดกระดูก  แต่ไปเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยเทคโนโลยี ไอที ที่พัฒนาโดย Project ECHO ()  ซึ่งเป็นกิจกรรมของแพทย์ครอบครัว    ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงประชุมบอกว่าสิ่งที่จะไปฝึก ๑ ปี กับสิ่งที่จะฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางขัดกัน    แต่ก็มีคนบอกว่าดีแล้ว    เราควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความสนใจกว้างด้วย    เพราะวิชาการทางลึกและทางกว้างมันส่งเสริมกัน    ผมมีความเชื่ออยู่ในกลุ่มหลัง 

      PMA YS สุชานันท์ กาญจนพงศ์ จากศิริราช ไปฝึกเรื่อง ภาวะหลงลืม (dementia)   พัฒนาเครื่องมือวินิจฉัย dementia ทาง อินเทอร์เน็ต และเก็บข้อมูลไว้ในระบบไอที    คนนี้สบายมาก เพราะสนใจเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ    และทางศิริราชก็ตะครุบตัวไว้เป็นอาจารย์ในภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม  

     บรรยากาศในที่ประชุมมีลักษณะ “group mentoring”   ที่ PMA YS รุ่น ๙ ทั้ง ๕ คน    และรุ่นก่อนๆ อีกห้าคน    และมีนักศึกษาแพทย์จาก มช. และ มฟล. มานั่งฟังแห่งละสี่ห้าคน   เป็นคนที่สนใจจะสมัครรุ่นต่อๆ ไป    นศพ. บอกว่า ฟังแล้วได้แรงบันดาลใจ  

        แต่พวกเราที่เป็นกรรมการอำนวยการบ้าง กรรมการดำเนินการบ้าง ของโครงการ    ฟังแล้วได้งาน    คือจะต้องมีการปรับระบบงานของการจัดการ lifetime mentoring & networking รองรับกจกรรมที่จะต้องจัดเพิ่มขึ้น   และจะยึดหลัก “inclusivity”      คือไม่ใช่จัดเฉพาะกลุ่ม PMA YS เท่านั้น   คนรุ่นใหม่ที่มีแรงบันดาลใจ และทำเรื่องสำคัญๆ ต่อระบบสุขภาพ  จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย   

     ผมบอกที่ประชุมว่า หลักการสำคัญของ lifetime mentoring คือ    ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่าง mentor กับ mentee จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโต หรือวุฒิภาวะทางวิชาการของ mentee    คือเริ่มจากอาจารย์-ศิษย์   แต่จะต้องลงท้ายด้วยการเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพหรือวิชาการ หรือเพื่อนร่วมงาน (peers)    เพราะในการตีความของผม โครงการเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต้องการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ด้านสุขภาพ    ให้แก่สังคมไทยและแก่โลก    ตามรอยพระบาท สมเด็จพระบรมราชชนก แห่ง ร. ๙

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.พ. ๖๑


                                                                                                                           

 

  1 รูปหมู่หน้ารูปปั้นหลวงปู่แหวน ที่ชั้น ๑๕ อาคารสุจินโณ

 

    

2 บรรยากาศในห้องประชุม

3 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศ. นพ. บรรณกิจ โลจนาภิวัจน์ มานั่งเป็นประธานตลอดการประชุมครึ่งวัน

หมายเลขบันทึก: 645145เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2018 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2018 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท