ชีวิตที่พอเพียง 3120. PMAC 2018 : 4. พิธีเปิด



สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเหมือนทุกๆ ปี    ไฮไล้ท์ของพิธีคือ keynote speech โดย ๔ ท่าน คือท่านแรกในฐานะตัวแทน ของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๐   โดย Eric Green พูดเรื่อง The Human Genome Project and Beyond : A Journey to Advance Human Health   สาระคล้ายๆ ตอนไปพูดที่ศิริราชเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม   แต่คราวนี้พูดลงลึกกว่า และเชื่อมโยงสู่โอกาสสร้างความก้าวหน้าในการดูแลสุขภาพของมนุษย์มากกว่า    คือพูดด้านการประยุกต์ใช้เพิ่มขึ้นจากที่พูดที่ศิริราช   ท่านระบุว่าการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่องจากโครงการ Human Genome Project จะมีมากมายเหลือคณา    เช่น ด้านเกษตรกรรม  ปศุสัตว์   การศึกษาเทือกเถาเหล่ากอ   ประวัติศาสตร์ของประชากร   วิวัฒนาการ   เชื้อโรคติดต่อ   นิติเวชศาสตร์  พลังงานชีวมวล   และ microbiome  เป็นต้น 

ที่ท่านจะเน้นในการบรรยายคือผลกระทบต่อ สุภาพ โรค และการแพทย์    ซึ่งกล่าวโดยย่อที่สุดคือ การก้าวสู่ยุค การแพทย์จีโนมิก    โดยที่การทำ whole human genome sequencing ทำได้ง่ายมากโดยเทคโนโลยี nanopore sequencing    ในไม่ช้าจะมีเครื่องเล็กๆ เล็กกว่าโทรศัพท์มือถือ ต่อกับโทรศัพท์มือถือ ก็ทำ human genome sequencing ได้    และเวลานี้ทำ whole genome sequencing ของคนได้ในราคาเพียง ๑ พันดอลล่าร์  

ที่สำคัญยิ่งคือการวิจัยในยุคหลังจีโนมิกส์จะช่วยให้เกิดความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นฐานทางพันธุกรรมกับสภาพแวดล้อมที่เผชิญในการดำเนินชีวิต ต่อการเกิดโรคต่างๆ    นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมหรือเป็นภัยต่อสุขภาพในระดับปัจเจก   

จีโนมิกส์ กับสรีรวิทยา จะเข้ามาผสานกัน นำไปสู่การแพทย์แม่นยำ (precision medicine)    เปลี่ยนจากการแพทย์เฉลี่ย (average medicine) อย่างที่ปฏิบัติกันในปัจจุบัน  

ท่านเล่าเรื่อง โครงการ All of Us Research Cohort (www.allofus.nih.gov) ที่คนอเมริกันกว่า ๑ ล้านคน จะเป็นอาสาสมัครให้โครงการรวบรวมข้อมูล จีโนมิก  ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพ  ข้อมูลการดูแลสุขภาพระยะยาว จากข้อมูลดิจิทัล นำมาวิเคราะห์วิจัยสร้างความรู้เพื่อความก้าวหน้าสู่ การดูแลสุขภาวะอย่างแม่นยำ ในอนาคต  

Keynote speaker ท่านที่สองคือ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus, DG WHO  กล่าวถึงบทบาทขององค์การอนามัยโลกในการ coordinate การดำเนินการเร่งด่วนเพื่อยับยั้งการระบาดใหญ่ของโรกติดเชื้อ   โดยให้ข้อมูลว่า เพียงในช่วง ๖ เดือนแรกที่ท่านเข้ารับตำแหน่ง องค์การอนามัยโลกมีส่วนเข้าไปเชื่อมโยงความร่วมมือแบบเร่งด่วนเพื่อยับยั้งการระบาดใหญ่ถึง ๕๐ ครั้ง   เป็นการชี้ให้เห็นว่าในโลกนี้มีการปะทุของโรคระบาดที่นั่นที่นี่ตลอดเวลา พร้อมที่จะขยายใหญ่เป็นการระบาดระดับโลกได้เสมอ หากดำเนินมาตรการควบคุมยับยั้งไม่ถูกต้อง    หรือมีช่องโหว่  

ท่านชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สุด ต่อการป้องกันและรับมือโรคติดเชื้อระบาดใหญ่คือ ระบบสาธารณสุขมูลฐาน และระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า    ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างได้ 

Keynote speaker ท่านที่สามเป็นผู้ที่จะมาเป็น executive director ของ Global Fund to Fight AIDS, TB and Malaria คือ Peter Sands   ท่านผู้นั้มาจากภาคธุรกิจการเงิน    กล่าวออกตัวตั้งแต่ต้นว่าตนมาจากต่างประสบการณ์    แต่สาระที่พูดน่าประทับใจมาก    โดยพูดแบบอิงข้อมูล บอกว่าในปี ๒๕๕๘ โรคทั้งสามที่เป็นเป้าของ GF ฆ่าคนไปถึง ๕๐ ล้านคน    ท่านเสนอหลักการ ๕ ข้อคือ

  • สื่อสารกันด้วยถ้อยคำของคนธรรมดา  สู่การกำหนดนโยบาย
  • พึงตระหนักว่า ผู้มีความเสี่ยงสูงส่วนใหญ่เป็นคนจน
  • บูรณาการเรื่องเชื้อดื้อยาเข้าในมาตรการ
  • สร้างระบบสุขภาพที่มีความมั่นคงยืดหยุ่น โดยการเอาชนะการทำงานแบบแยกส่วน
  • สร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ  เพราะสุขภาพของผู้หญิงนำไปสู้สุขภาพของเด็ก

ท่านกล่าวยกย่อง PMAC ว่าเป็นตัวอย่างของวิธีทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

Keynote speaker ท่านสุดท้ายเป็นผู้หญิง ชื่อ Mercedes Tatay, International Medical Secretary ของ MSF  ถือว่าเป็นเสียงของ NGO    ท่านเริ่มด้วยเชื้อวัณโรคดื้อยา    และกล่าวถึง the big five of descriptive epidemiology คือ Who?, What?, Where?, When?, Why and how?  

Who หมายถึงคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง   ซึ่งเรารู้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนจนและคนชนบท

What หมายถึง อะไรบ้างที่เป็น threat   ท่านเอ่ยถึงโรคคอตีบ ที่ควรจะหมดไปนานแล้ว แต่ยังระบาดอยู่ในหมู่ประเทศยากจน  เพราะการฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึง

Where หมายถึงพื้นที่ที่โรคติดเชื้อยังระบาดอยู่ เป็นบริบทจำเพาะ ได้แก่ บริเวณที่มีการสู้รบ  มีผู้อพยพจำนวนมาก  อยู่กันอย่างแออัด  และบริเวณที่ไม่ได้รับการครอบคลุมของบริการสุขภาพ

 When ตอบว่า เดี๋ยวนี้   ต้องมองเป็นเรื่องเร่งด่วน  ทำเดี๋ยวนี้

Why and how ตอบว่า ต้องเปลี่ยน threat and fear เป็น opportunity

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ม.ค. ๖๑  เพิ่มเติม ๑๘ ก.พ. ๖๑




1 Eric Green กำลังโชว์เครื่องมือทำ whole genome sequencing ขนาดจิ๋วต่อกับ smart phone


2 Dr. Tedros

3 Peter Sands


4 Mercedes Tatay

หมายเลขบันทึก: 645146เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2018 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2018 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท