ครูเพื่อศิษย์ ณัฏฐา ถมปัทม์



 


“ครูน้ำนิ่ง” ครูยุคใหม่ผลิตสื่อการสอนเพื่อเปลี่ยนนักเรียน

 

 

 

·          ตั้งปณิธาน จะทำให้เด็กมีความสุขทุกวันระหว่างอยู่ที่โรงเรียน

·          ผลิตสื่อการสอนด้วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

·          ผ่อนคลายความดุ ไม่ทำให้เครียด ทำให้รู้สึกว่าเด็กเข้าใกล้ได้มากขึ้น ได้กล้าตอบ กล้าพูด

·          เป็นคนพร้อมที่จะเรียนรู้ เป็นคนที่อยากลองทำ

 

 

          แสงสว่างแห่งความหวังฉายแสงมาที่โรงเรียนบ้านโชกเหนือ จ.สุรินทร์ เพราะมีครูรุ่นใหม่ตัวเล็กๆ ที่มีความมุ่งมั่น และมีปณิธานแรงกล้าที่จะทำให้เด็กมีความสุขทุกวันที่อยู่ที่โรงเรียน กลายเป็นแรงฮึดที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง ส่งผลให้นักเรียนมีการเรียนดีขึ้นทันตาเห็น นี่คือครูรุ่นใหม่ ครูน้ำนิ่ง - ณัฎฐา ถมปัทม์ อายุ 28 ปี  มาทำความรู้ครูคนนี้กัน...

          ครูน้ำนิ่ง ไม่เคยคิดฝันว่าอยากเป็นครู เพราะพ่อคอยบอกเสมอว่าอย่าเป็นครูเหมือนพ่อเพราะเหนื่อยและลำบาก แต่อาจจะเป็นเพราะฟ้าลิขิตหรืออะไรก็ตามที พอเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เจ้าตัวกลับไปสอบชิงทุนเรียนต่อที่ *"โครงการเพชรในตม"  รุ่นที่ 23 เมื่อเรียนจบเอกการประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แล้วเจ้าตัวก็ต้องกลับมาใช้ทุนที่บ้านเกิด ที่โรงเรียนบ้านโชกเหนือ อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ เป็นโรงเรียนที่เคยเรียนสมัยประถมฯ ครูน้ำนิ่งสอบบรรจุเป็นครูครั้งแรกในปี 2556 สอนประจำชั้น ป.2  และเป็นครูมาแล้ว 4 ปี  เมื่อได้บรรจุครูจริงๆ ครอบครัวกลับดีใจ จากนั้นเจ้าตัวได้เรียนจบปริญญาโท เอกการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง

            แต่อาชีพครูก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่ครูน้ำนิ่งฝัน ด้วยความที่ฝึกสอนที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ ด้วยบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างกรุงเทพกับสุรินทร์ ในกรุงเทพ นักเรียน ผู้ปกครอง  สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนการสอนทำให้ครูน้ำนิ่งมีความสุขมาก จนฝันไปไกล

“ตอนนั้นไฟแรงเลย แต่พอกลับมาสอนจริงๆ ที่โรงเรียนบ้านโชกเหนือกลายเป็นว่ามีความแตกต่างกันมาก เราปรับตัวอยู่นาน เหมือนเราเคว้งอยู่นานเหมือนกัน จับจุดไม่ถูกเลย ต่างกันคือเด็กที่นี่เขาไม่ได้พร้อมมาก อาจจะด้วยฐานะ และความสัมพันธ์ที่เขาไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองที่เป็นพ่อแม่โดยตรง การสนับสนุนของผู้ปกครองก็มีน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่กับผู้ปกครองที่อายุมากแล้ว ตา หรือ ยาย การสอนการบ้านจะยากหน่อย การร่วมมือจะยากหน่อย ความไม่พร้อมของเด็กคือไหวพริบของเขาไม่ได้ไวเหมือนตอนเราฝึกสอน ปุ๊บปั๊บๆ

แต่นี่เราต้องหาวิธีการให้เด็กคิด แล้วเอาคำตอบออกมาได้ ด้วยความเป็นคนใจร้อน ไม่ยอมรอฟังคำตอบเด็ก ก็จะเป็นคนให้ความรู้เด็กไปเลย 3 เดือนแรกที่กลับมาเหนื่อยมาก ไม่มีความสุขอย่างที่เราคิดเลย พอเริ่มเหนื่อย เราก็โอเคมาค่อยๆ คิดว่าให้ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แต่ก็ยังหาวิธีที่เหมาะกับเด็กยังไม่ได้ ยังไม่เป็นแผน เป็นอะไรเลย....”

ถึงจะบอกให้ตัวเองใจเย็นๆ แต่เมื่อเหนื่อยและเครียดมาก ครูน้ำนิ่งก็เริ่มมีแว๊บๆ เรื่องลาออก แต่กลับมีแรงฮึดเพราะแววตาเด็กๆ ที่สื่อมาถึงใจ “เหมือนเด็กมีพลังบางอย่างส่งถึงเราซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ เหมือนเขาอยากเรียนอยากรู้ ก็โอเค เราก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นเราจะเรียนในแบบของเรา เราก็ไปต่อ

 


 


“...เราขอว่าให้เด็กมีความสุขในการเรียนอยากให้เขามาโรงเรียนทุกวัน

เราก็เลยเริ่มหากิจกรรมต่างๆ ด้วยความที่เทคโนโลยีเข้าถึง เราก็เล่น fb , line ก็จะเห็นการสอน เห็นตัวอย่างการสอนเยอะมาก อันไหนใช้กับเด็กได้ก็เอามาใช้...”

 


เราก็ตั้งไว้ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้วันหนึ่ง เด็กมีเรื่องไปเล่าให้ผู้ปกครองฟังว่าวันนี้เขาเรียนเรื่องอะไร เขามีความสุข คืออยากให้เขามีความสุขกลับไป เหมือนประมาณว่า หนูไม่ได้เก่งมาก เด็กก็ไม่ได้เก่งมาก แต่เราขอว่าให้เด็กมีความสุขในการเรียน อยากให้เขามาโรงเรียนทุกวัน เราก็เลยเริ่มหากิจกรรมต่างๆ ด้วยความที่เทคโนโลยีเข้าถึง เราก็เล่น FB , Line เราก็จะเห็นการสอน เห็นตัวอย่างการสอนเยอะมาก เห็นอันไหนใช้กับเด็กได้ก็เอามาใช้ ตัวอย่างเช่น ใบงาน หรือ กิจกรรม  

คือเราเห็นว่าเด็กชอบทำกิจกรรมที่เขาได้ลงมือทำ เป็นตัวการ์ตูนเขียนลงไป ได้อ่าน บางทีชิ้นงานบางอย่างเคลื่อนไหวได้ เหมือนป๊อปอัพ เขาสนใจมากกว่าที่ครูเขียนบนกระดานแล้วเขาเขียนตาม เขาชอบการสอนแบบนี้ แล้วก็คอยถามตลอดว่าครูขา วันนี้หนูจะได้ทำตัวอะไรคะ เขาอยากทำ อยากเรียนรู้แบบนั้นทุกวัน ที่มีคำศัพท์หรือว่าโจทย์เลขอยู่ในตุ๊กตา

เมื่อครูน้ำนิ่งเห็นเด็กๆ มีความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ ทำให้เธอเกิดกำลังใจที่จะสอน  “เราเห็นเด็กเขาอยากทำ เราก็ดีใจ มีความสุขมาก กำลังใจเริ่มมา”

แต่ครูน้ำนิ่งก็คิดว่ายังไม่พอที่ตัวเองได้ศึกษาและนำมาทดลองทำด้วยตัวเอง จึงพยายามหาวิธีการใหม่ๆ แต่ด้วยเป็นครูที่ยังมีประสบการณ์น้อย  และไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใครดี เพราะว่าครูแต่ละคนก็เจอปัญหาเหมือนกัน ทำให้ครูน้ำนิ่งประสบปัญหาการจัดการในชั้นเรียนไม่ค่อยลงตัว ทำให้เกิดความท้อ แล้วยังมีปัญหาระดับชาติคือเรื่องการอ่านเขียนที่ยังหาวิธีแก้ไม่ได้


 


“... เมื่อก่อนการฝึกนักเรียน ใน 1 ชั่วโมง เหมือนฝึกอ่าน ฝึกเขียน เราฝึกน้อยไป เหมือนเราเพียงแต่ว่าสอนให้มันจบในเวลาเท่านี้ๆ ต้องทันนะ เดี๋ยวจะจบแล้ว จะหมดชั่วโมงแล้ว อันที่จริงสามารถยืดหยุ่นได้ แล้วใน 1 ชั่วโมงเราต้องทำให้เด็กได้ฝึกอ่าน ฝึกเขียนได้มากที่สุด...”


แต่ถือว่าเป็นความโชคดีที่โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (SCB Connext ED) และได้เข้าร่วมโมดูลอ่านออกเขียนได้ (Module พัฒนาศักยภาพครู ยกระดับคุณภาพวิชาการ : อ่านออกเขียนได้ โดยอาจารย์ไซหนับ เอสเอ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ) นี่คือจุดที่ทำให้ครูน้ำนิ่งมีพลังกลับเข้าไปอีก เพราะการมาเติมเต็มครั้งนี้ ครูน้ำนิ่ง บอกว่าวิทยากรเก่ง และเข้าใจว่า ครูเจอปัญหาอะไรบ้าง “ซึ่งที่วิทยากรพูดมามันใช่เลย นี่มันเด็กห้องเรา นี่มันโรงเรียนเรานี่นะ มันใช่เลยปัญหาที่เจอ แล้วพอเราได้ไปอบรม เราก็เหมือนกับได้ไปฟื้นฟูความรู้ ได้เทคนิคการสอนภาษาไทย ว่าเริ่มอย่างไรๆ ด้วยความที่ไม่ได้เป็นครูที่จบเอกภาษาไทย พอได้เทคนิคตรงนี้เข้ามา ก็เหมือนเป็นแรงผลักดันที่ให้เรานำมาใช้

เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าเราเรียนอะไรมาตอนเด็ก เราก็เอาที่เราเคยเรียนมาสอนเด็ก แต่ในความเป็นจริงที่ครูเราเคยสอนมา ซึ่งพอมาปัจจุบันมันกลับใช้ไม่ได้หรือไม่ใช่แล้วเพราะเด็กเปลี่ยนไปทุกวัน ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด แต่บางอย่างสิ่งที่เขาสอนมาแต่โบราณ ยังเอามาใช้ได้อยู่ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาแต่สิ่งใหม่ๆ อย่างเดียว ทำให้เราก็เริ่มรู้สึกมั่นใจในการสอนมากขึ้น

การสอนแบบเดิมที่ไม่ใช่แล้ว เช่น การฝึกนักเรียน เมื่อก่อนการฝึกนักเรียน ใน 1 ชั่วโมง เหมือนฝึกอ่าน ฝึกเขียน เราฝึกน้อยไป เหมือนเราเพียงแต่ว่าสอนให้มันจบในเวลาเท่านี้ๆ ต้องทันนะ เดี๋ยวจะจบแล้ว จะหมดชั่วโมงแล้ว อันที่จริงสามารถยืดหยุ่นได้ แล้วใน 1 ชั่วโมงเราต้องทำให้เด็กได้ฝึกอ่าน ฝึกเขียนได้มากที่สุด เราทราบแล้วก็เอามาปรับ แรกๆ เราก็ค่อนข้างจะนำเข้าสู่บทเรียนเยอะไป แบบว่าเราเล่นอะไรมากเกินไป พอเข้าเนื้อหาวิชาเราอาจจะฝึกเขาน้อยไป พอเราฝึกนักเรียนเขามากขึ้น นักเรียนเขาก็อ่านออกเขียนได้

ครูน้ำนิ่งเริ่มยิ้มออกเมื่อเริ่มเห็นเด็กอ่านออกเขียนได้ แม้กระทั่งเด็ก LD ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ตัวอย่างคือน้องผักบุ้งที่เป็นพลังใจให้ครูไปต่อ

“ตอนนี้รู้สึกภูมิใจกับการสอนในปีนี้มาก เพราะว่าครั้งแรกที่น้องผักบุ้ง ขึ้นมาจาก ป.1 เราก็ลองให้เด็กอ่านดู เราก็พบว่าอ่านช้า อ่านไม่ค่อยออก สะกดไม่ค่อยได้ ซึ่งเขา บางคนอาจจะคิดว่าเขาบกพร่อง เป็นเด็ก LD (เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้) หรือเปล่า แต่ในความรู้สึกเรา เรารู้สึกว่าใช่หรือไม่ใช่นะต้องลองดู กลายเป็นว่าตอนนี้อ่านออก เขียนได้ และเรียนดีขึ้น เราสังเกตตั้งแต่เขาขึ้นมา ป.2 คือ เราก็เห็นพัฒนาการที่น้องเขาเปลี่ยนไปชัดเจน ตอนแรกเราก็กลัวมากว่าเขาจะเป็น LD หรือเปล่า แต่พอเราฝึกเขามากๆ เขาไม่ใช่ เขาเรียนรู้ได้ เพียงแต่ว่าเขาขาดการฝึก เราก็พยายามฝึก และฝึกพร้อมกันในห้อง อ่านหนังสือทุกวัน”


 


“...เมื่อก่อนสื่อจะมีแค่ไม่กี่อย่าง มีแค่บัตรภาพ บัตรคำ แต่ที่โรงเรียนก็มีจอทีวี มีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ค่อยได้ใช้ตรงนี้เท่าไหร่ เพราะใช้ไม่เก่งและผลิตสื่อก็ยังทำไม่เป็น แต่พอเข้าร่วมโครงการก็จะมีการสอนให้ทำสื่อง่ายๆ ผ่านโปรแกรมง่ายๆ อย่าง powerpoint ก็สามารถมาทำสื่อการสอนได้ง่ายมาก ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน...”                                                            


จากที่ไปอบรมมา ครูน้ำนิ่งบอกว่าข้อแรกที่นำมาใช้คือการฝึก ฝึกในภาษาไทย นอกจากนั้นก็มีเรื่องของการใช้สื่อการสอนที่เปลี่ยน คือการสอน เมื่อก่อนสื่อจะมีแค่ไม่กี่อย่าง มีแค่บัตรภาพ บัตรคำ แต่ที่โรงเรียนก็มีจอทีวี มีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ค่อยได้ใช้ตรงนี้เท่าไหร่ เพราะใช้ไม่เก่งและผลิตสื่อก็ยังทำไม่เป็น แต่พอเข้าร่วมโครงการก็จะมีการสอนให้ทำสื่อง่ายๆ ผ่านโปรแกรมง่ายๆ อย่าง powerpoint ก็สามารถมาทำสื่อการสอนได้ง่ายมาก ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน

เมื่อเด็กเปลี่ยน วิธีคิดของครูก็เปลี่ยนไป ครูน้ำนิ่งบอกว่าเริ่มเปลี่ยนความคิดตัวเองใหม่ คิดว่าเด็กทุกคนเขาสามารถทำได้ เมื่อก่อนอาจจะคิดว่าจะให้ทำอันนี้อาจจะยากไป เด็กทำไม่ได้ เราก็เลยไปปรับให้มันง่ายๆ แต่พอเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เราก็มองว่าต้องให้เด็กลองดู ลองให้เขาทำ ปรากฎว่าเขาก็ทำได้ เหมือนว่าเด็กเขามีอะไรซ่อนไว้ข้างหลังอีกเยอะ ขึ้นอยู่กับว่าครูจะไปดึงออกมาได้หรือเปล่า


 


...พอเราเปลี่ยนวิธีคิด นักเรียนเขาก็เรียนอย่างมีความสุข สังเกตได้ เขาไม่ขาดเรียน เขาอยากมาโรงเรียน เคยมีผู้ปกครองมาส่งบอกว่าป่วยมากเลย แต่ไม่อยากขาดเรียน...”


พอเราเปลี่ยนวิธีคิด นักเรียนเขาก็เรียนอย่างมีความสุข สังเกตได้ เขาไม่ขาดเรียน เขาอยากมาโรงเรียน เคยมีผู้ปกครองมาส่งบอกว่าป่วยมากเลย แต่ไม่อยากขาดเรียน ยายบอกว่าให้พัก แต่เขาบอกว่าเขาเป็นห่วง เขาอยากมาโรงเรียน เราก็คิดว่ามันเกิดจากการที่เขาสนุกกับการเรียนรู้และเขาไม่เบื่อ

สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาหลังเข้าอบรมคือแรงบันดาลใจและวิธีการสอน เป็นการสอนที่ถูกต้อง เพราะว่าเรายังสอนไม่เก่ง และเรายังจับต้นชนปลายไม่ถูก พอเราได้วิธีมาปุ๊บ เราเอามาใช้กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ก็เลยทำให้เรามั่นใจ เดิมเรายังสอนให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ก็คือในเรื่องของการที่ให้เขาร้องเล่น คือเพลง เหมือนกับว่าเป็นการรีแลกซ์ไปก่อน เราใช้ตลอด รีแลกซ์เด็กก่อนแล้วก็การควบคุมชั้นเรียน เรามีกฎกติกาสร้างให้เด็กตลอด ทุกอย่างคือเราทำมาตลอดอยู่แล้ว แต่มันยังไม่เห็นผลชัด คือเด็กยังไม่ไปถึงเป้าหมายของเราคือเด็กอ่านออกเขียนได้ให้คล่อง เรียนเข้าใจ เป็นคนกล้าแสดงออก กล้าตอบ กล้าอะไรอย่างนี้

วิธีการที่เราเอามาใช้แล้วแก้ปัญหาตรงนี้ได้คือ เริ่มผ่อนคลายคือความดุของเราลง ไม่ทำให้เครียด ให้รู้สึกว่าเขาเข้าใกล้เราได้มากขึ้น ให้เด็กได้พูดคุย เราจะไม่ตำหนิเขา ไม่ชี้ว่าอันนี้ผิด อันนี้ไม่ถูก ให้เด็กลองพูดมา เขาจะได้กล้าตอบ เพราะว่าตอนแรกๆ เด็กก็ไม่กล้าตอบ เขากลัว กลัวตอบไปแล้วผิด เพื่อนหัวเราะเยาะ เหมือนเรามาให้กำลังใจ เหมือนเรามาสร้างบรรยากาศในห้องเรียนใหม่

 


“...เริ่มผ่อนคลายคือความดุของเราลง ไม่ทำให้เครียด ให้รู้สึกว่าเขาเข้าใกล้เราได้มากขึ้น

ให้เด็กได้พูดคุย เราจะไม่ตำหนิเขา ไม่ชี้ว่าอันนี้ผิด อันนี้ไม่ถูก...”


แบบเดิมถึงเราจะรีแลกซ์ให้เขาเล่น แต่พอเข้าเนื้อหาเราก็จะวิชาการจ๋ามากๆ วิชาการคือสอนเหมือนเดิม ยังเรียนจากตำราเรียนอยู่ ยังใช้รูปแบบเดิมอยู่ เท่ากับว่าเราเอารูปแบบใหม่ เทคนิคใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้เข้าไปปรับช่วงการสอนวิชาการของเรา กับโมดูลภาษาไทยที่อาจารย์วิทยากรเข้าไปให้ความรู้ เข้าไปโคชให้ เราเองก็พร้อมรับแนวทางใหม่ๆ อยู่แล้ว เป็นคนที่พร้อมมากถ้าเกิดต้องเรียนรู้อะไร เป็นคนที่อยากลองทำ แต่ในใจ ตอนแรกคิดว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นเหมือนอบรมอะไรที่ผ่านมาไหม ที่มักจะไม่ชัดเจนนำไปปฏิบัติยาก จะพูดแต่ใหญ่ๆ กว้างๆ ไม่ได้พูดเฉพาะแบบนี้

พอเปลี่ยนวิธีสอนมา 1 ปี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับปีการศึกษาก่อน ก็พบว่าเด็กมีการเปลี่ยนแปลงมากเด็กๆ เขาสื่อสารดีขึ้่นกว่ารุ่นก่อนเยอะเลย  พูดไปแล้วมีการโต้ตอบ เหมือนคำตอบของเขาถูกใจครูมากขึ้น ผลการเรียนเขาดีขึ้น การประเมินอ่านออกเขียนได้ที่ทาง สพฐ. (สำนักงานคณะการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ประเมิน 2 – 3 ครั้งต่อปี ผลคะแนนออกมาเด็ก 17 คน ไม่มีปรับปรุง ซึ่งจะไม่นับจำนวนเด็ก LD ที่มี 3  คน

สำหรับเด็ก LD 3 คน เขาพัฒนาได้ ตอนที่เขาขึ้นมาทีแรก เขาก็ยังอ่านไม่คล่องแม่ ก กา คำง่ายๆ ที่ไม่มีตัวสะกด แต่ตอนนี้เขาอ่านได้ คือเราจะมีแบบฝึก 1 เล่มที่มีแต่คำแม่ ก กา เขาก็จะมาอ่านให้เราฟัง บางทีคำไหนอ่านไม่ได้ เขาก็นึก แล้วเขาก็อ่านได้ ขอให้เราฝึกเขาทุกวัน เขาก็สามารถนึกออก ถ้าเป็นเมื่อก่อนสระอาง่ายๆ เรารอเขาจนท้อ ทุกวันนี้คือง่าย เขาอ่านได้ในระดับของเขาที่เขาพัฒนาได้ด้วยตัวเอง แม่ ก กา ก็สบายใจได้ เหมือนไม่กี่สระหรอกค่ะ แต่สอนสระที่เขาเจอมากที่สุดก่อน เอาเป็นสระเดี่ยวก่อน ถ้ามากกว่านั้นเขาก็จะไม่รับ เขาจะไม่อยากเรียน ก็ค่อยๆ พัฒนาไป

และรู้สึกภาคภูมิใจกับการสอนของตัวเอง โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยที่เราทุ่มเทสุดๆ เลย เพราะว่าถ้าเด็กอ่านหนังสือออก วิชาอื่นเขาก็ทำได้ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อก่อนจะมีปัญหาเรื่องโจทย์ปัญหาที่มีทั้งการอ่าน และการวิเคราะห์ คือเด็กอ่านหนังสือไม่คล่องไม่ออก จะอ่านโจทย์อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องไม้เบื่อไม้เมามากเรื่องโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ มันมีตัวหนังสือด้วย ไม่ใช่มีแต่ตัวเลข ถ้าเป็นตัวเลขอย่างเดียว เด็กอาจทำได้หมด แต่พอมีตัวหนังสือ เขาอาจจะอ่านไม่คล่อง การวิเคราะห์ไม่ถึง แต่พอการศึกษาเทอมนี้เด็กอ่านออกเขียนได้ทั้งห้อง พอมาเจอโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ เด็กสามารถตอบได้  

ด้านพฤติกรรม เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือเด็กมีความกล้าแสดงออก กล้าตอบ กล้าคิด เวลามีกิจกรรมที่โรงเรียนก็อาสาอยากแสดง   รู้สึกดีใจ ภูมิใจ มีความสุขมากขึ้น 

สำหรับตัวอย่างเด็กที่มีเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมชัดเจน ต้องขอยกตัวอย่างน้องผักบุ้ง เมื่อก่อนเขาจะไม่ค่อยพูด จะก้มหน้าก้มตาตลอด คือเขาเป็นเด็กที่มีผิวสีเข้มกว่าเพื่อน เพื่อนในห้องก็มาล้อเขา เขาก็ไม่พูด แล้วอ่านหนังสือไม่เก่ง เพื่อนก็จะล้อเขา เขาก็จะขาดความมั่นใจ แต่พอเราเริ่มกอดเขา เริ่มให้กำลังใจ พูดคุยกับเพื่อน ทำความเข้าใจ คือตอนนี้ผักบุ้งกลายเป็นเด็กมั่นใจ จากเมื่อก่อนพูดน้อย ตอนนี้เริ่มพูด เรื่องมีเสียง เพื่อนในห้องยอมรับเขามากขึ้น ไม่มีการล้อเลียนปมด้อยแล้ว  


  

“...เราจะไม่รักเด็กคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ชมแต่เด็กคนนี้

รักแต่เด็กคนนี้ ไม่มีค่ะ เด็กทุกคนเป็นเด็กพิเศษเท่ากันหมด...”


 

กับน้องผักบุ้ง เราให้กำลังใจเขา กอดเขา ให้ความอบอุ่นกับเขา คือเราจะไม่รักเด็กคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ชมแต่เด็กคนนี้ รักแต่เด็กคนนี้ ไม่มีค่ะ เด็กทุกคนเป็นเด็กพิเศษเท่ากันหมด เพราะว่าเด็กบางคนที่เขาเรียนเก่ง เขาก็มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนกลายเป็นว่า ด้วยความที่ครูชมเขามากๆ เขาอาจจะไปว่าเพื่อน ไปทำอะไรเพื่อน โดยที่เขาไม่รู้ตัว เพราะเขายังเด็กอยู่ แต่พอเขาเริ่มเห็นว่างานนี้ ชิ้นนี้ เพื่อนที่เรียนด้อยกว่าทำได้ดีมากเลย เราก็จะหยิบขึ้นมาพูดมาชมให้เพื่อนเก่งเห็น อยากให้เด็กเห็นว่าคนเรามีความเก่งไม่เหมือนกัน เก่งคนละอย่าง

 

พอเราเปลี่ยนตัวเอง เด็กมีความสุข เด็กรักครู สัมผัสได้ว่าเด็กรักเรา เด็กอยากมาโรงเรียน พอมาโรงเรียนก็อยากช่วยครูถือของ เหมือนเขาเฝ้ารอ เฝ้ารอว่ากิจกรรมแต่ละวัน ครูจะให้ทำอะไร

สำหรับแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเปลี่ยนตัวเอง คือเด็กๆ ค่ะ ด้วยความที่อาชีพครู ที่เขาบอกว่าได้บุญ ได้สอนคน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เหมือนทำบาป ถ้าเราทำไม่เต็มที่กับเขา คือเด็กไม่ได้เรียน ไม่ได้ความรู้กลับไป เขามาแล้วก็เล่นแล้วก็กลับไป มันก็เหมือนเราไปทำบาปกับเด็ก โดยที่เอาวันๆ หนึ่งของเขา แทนที่เขาจะได้เรียนรู้กลับหายไป


 


“...ใช้กระบวนการสอนแบบ  Active Learning ให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ทำไปด้วย

โดยมีเครื่องมือที่ใช้สร้างการเรียนรู้ให้เด็กคือกิจกรรม ใบงาน

เด็กต้องเรียนต้องทำไปด้วย ให้เขาทำชิ้นงานหรือผลงานเป็นของตัวเอง...”


            ตอนนี้ครูน้ำนิ่งได้ใช้กระบวนการสอนแบบ  Active Learning ให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ทำไปด้วย โดยมีเครื่องมือที่ใช้สร้างการเรียนรู้ให้เด็กคือกิจกรรม ใบงาน ที่เด็กต้องเรียนต้องทำไปด้วย ให้เขาทำชิ้นงานหรือผลงานเป็นของตัวเอง ครูน้ำนิ่งเล่ากระบวนการสอนในห้องเรียนแบบคร่าวๆ ให้ฟังว่า เริ่มแรกการนำเข้าสู่บทเรียนก็จะเป็นการร้องเพลง พาเต้น ให้เด็กสนุก เสร็จแล้วเราก็พาเข้าสู่บทเรียน ซึ่งอาจจะเป็นการใช้คำถาม ปริศนาคำทาย หรือเกม กระตุ้นเด็ก 5-10 นาที เข้าสู่บทเรียนอาจจะใช้สื่อทางทีวี อาจเป็น powerpoint หรือคลิปสั้นๆ แล้วก็มีการอธิบายเพิ่มเติม เมื่อเด็กเข้าใจปุ๊บเราก็จะให้เด็กร่วมกันทำชิ้นงานขึ้นมาจากเรื่องที่เราเรียนไปเมื่อกี้ เป็นการทบทวนความรู้ของเขา เป็นรายบุคคล พอมีชิ้นงานมาปุ๊บ เราก็ให้เด็กมาฝึกกับเรา มาอ่านให้เราฟัง มาพูดให้เราฟังว่าวันนี้หนูเรียนเรี่องอะไรแล้วค่อยสรุปกันอีกที

เนื่องจากตัวเองสอนทุกวิชา การสอนแต่ละวัน ตอนเชื่อมแต่ละวิชา บางทีเราก็ใช้การบูรณาการไปเลย เช่นชั่วโมงเช้า 3 ชั่วโมง เราจะไม่ได้เรียนว่าวิชาแรกภาษาไทย สองคณิตศาสตร์ สามวิทยาศาสตร์ เราเอามาบูรณาการกัน สิ่งไหนที่พอเข้าได้ เราก็บูรณาการเข้าหากันได้ โดยที่เด็กไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเรียนวิชาอะไรอยู่ แต่ความจริงเรียนไปถึงวิทย์ ไปถึงคณิตแล้วค่ะ เหมือนไม่มีการเปลี่ยนคาบเลยด้วยซ้ำเป็นการต่อเนื่องกันไป

ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ ป.2 เรียนเรื่องเงิน เราก็เชื่อมไปถึงเรื่องสังคมที่เกี่ยวกับสกุลเงินของประเทศต่างๆ อาจจะเริ่มจากประเทศในอาเซียนของเรา และไปถึงประเทศอื่นๆ ตามทื่สนใจว่าประเทศไหน อย่างไร เด็กก็จะสนใจ หน้าตา 5 บาทของแต่ละประเทศและของประเทศเรา ก็จะไปถึงเรื่องสังคม ส่วนเรื่องคณิตศาสตร์ ก็เป็นเรื่องเงินอยู่แล้ว แล้วก็เรียนเรื่องคำคล้องจอง เราก็อาจจะเอาคำต่างๆ เหมือนสกุลเงินนี้คล้ายๆ กัน เอาคำนี้มาต่อคำคล้องจองกัน แล้วแต่ว่าหน่วยไหนจะสามารถเชื่อมได้ เราก็จะจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม ใช้เครื่องมือหลากหลาย สลับสับเปลี่ยนสอดคล้อง บางทีก็เอา BBL มาใช้ด้วยก็มี ทำ brain gym อะไรแบบนี้ จะเอามาใช้เมื่อไหร่อย่างไรก็ดูจากแผนการสอน คือเรามีแผนการสอนที่ทำเสร็จไว้แล้ว เราก็มานั่งดูว่าอันนี้เราจะเอาอะไรมาใส่ เอากิจกรรมอะไรมาทำดี ที่น่าสนใจ แล้วเป็นคนที่ชอบนั่งดู Facebook , Youtube อยู่แล้ว ก็จะเห็นว่าอะไรน่าสนใจ ดูแล้วเราทำได้ เรารู้ว่าหน่วย ป.2  เรื่องเรียนอะไรบ้าง เวลาไปเจออะไรในนี้ เราก็หยิบเอาเรื่องนี้ไปสอน มันน่าสนใจ อะไรแบบนี้


 


“...เป็นคนที่ชอบนั่งดู Facebook , Youtube อยู่แล้ว

ก็จะเห็นว่าอะไรน่าสนใจ ดูแล้วเราทำได้ เรารู้ว่าหน่วย .2 

เรื่องเรียนอะไรบ้าง เวลาไปเจออะไรในนี้ เราก็หยิบเอาเรื่องนี้ไปสอน...”


เรามีการวางแผนการสอนไว้แล้วแต่แผนก็สามารถปรับเปลี่ยนได้อยู่แล้ว กิจกรรมที่ทันสมัย สนุกเข้าไปได้ แต่สุดท้ายต้องได้ตัวชี้วัดเป็นหลัก การสอนแบบนี้ทำให้สนุกค่ะ เพราะเป็นคนที่ชอบทำสื่อด้วยมั้งคะ คือสนุก สื่อที่เราได้ลงมือทำ แล้วคนทำเองภูมิใจ แล้วเด็กร้อง อู้ ว้าว เห็นสื่อเรา แล้วเราก็ภูมิใจ เป็นแรงให้เราอยากทำ

ครูคนอื่นก็จะบอกว่าหนูขยันทำสื่อมาก เราก็บอกว่าไม่ได้ต้องอะไรมาก นั่งดูทีวีอยู่บ้านก็ทำไป

ครูน้ำนิ่งได้สร้างเพจใน Facebook ชื่อบันทึกห้องปอสอง ห้องครูน้ำนิ่ง เป็นพื้นที่ที่ครูน้ำนิ่ง บันทึกเรื่องราวและกิจกรรมการเรียนการสอนรวมทั้งแชร์สื่อที่ครูน้ำนิ่งสร้าง หรือครูท่านอื่นๆสร้าง เช่นของครูลิลลี่ ที่เผยแพร่ให้ครูคนอื่นด้วย เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนมีภาระหน้าที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจอยากทำสื่อมากแต่งานเขายุ่งมาก เราอยากแชร์ไปให้เห็น เขาเห็นแล้วรู้สึกว่ามันง่ายก็ปริ้นท์ออกมาๆ ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันเร็ว อยากให้เด็กๆ คนอื่นๆ ได้ใช้ เอาไปใช้ด้วย และให้ครูโรงเรียนอื่น หรือครูสายชั้นเดียวกันก็เอาไปใช้ได้ สื่อที่เน้นทำคือวิชาภาษาไทยค่ะ วิชาคณิตศาสตร์มีบ้างเล็กน้อย สร้างสื่อเองมีไม่เยอะ ไม่ถึง 10 ชิ้น ที่ได้เอาไปแชร์ไว้

สำหรับครูยุค 4.0 หรือครูศตวรรษที่ 21 ในความคิดของครูน้ำนิ่งต้องมีคุณลักษณะใดบ้าง อันดับแรกเรื่องอุดมการณ์และจิตวิญญาณของความเป็นครูต้องมาก่อนเลย แล้วก็เปิดใจ เหมือนครูบางท่าน เป็นครูมานานแล้ว ก็จะรู้สึกเหนื่อย ท้อ ก็คือต้องไม่ทิ้งอุดมการณ์ที่เคยมีตั้งแต่แรกๆ แล้วก็เปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งมันง่ายมากที่จะเรียนรู้ เอามาปรับใช้กับการเรียนการสอน แล้วก็หาความสุขในการเป็นครูให้เจอ ซึ่งส่วนใหญ่ความสุขของครูคือการสอนนักเรียน ทุ่มเท ตั้งใจ สอนให้บรรลุเป้าหมายในสิ่งที่เราตั้งไว้ หนึ่งวันของเขาที่มานั่งเรียน เขาจะต้องได้รับความรู้กลับไป นิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่ามาโรงเรียนแล้วกลับไปไม่ได้อะไรเลย อันนี้คือเป้าหมายในแต่ละวันค่ะ ถ้าเราสอนเรื่องนี้ วันนี้เด็กต้องได้เรื่องนี้ วันต่อไปเราก็จะเพิ่มไปเรื่อยๆ แล้วทั้งเทอมก็จะบรรลุตามตัวชี้วัดและอะไรที่กระทรวงกำหนดไว้



 

อยากฝากบอกเพื่อนครูค่ะ อย่าละทิ้งอุดมการณ์ค่ะ ให้โฟกัสที่นักเรียน ทุกองค์กรมีปัญหาอยู่แล้ว มีปัญหา มากน้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราจะทิ้งไม่ได้คือการสอนผู้เรียนคือนักเรียนนี่แหละ อย่าทิ้งอุดมการณ์ตัวเองที่มาเป็นครู ต้องส่งเสริมให้เด็กเติบโตไป อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ให้เขาเอาตัวรอดได้ อย่าตกไปเป็นเหยื่อของสิ่งไม่ดี

-------------------------------------------------

*โครงการเพชรในตมซึ่งเป็นโครงการสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่สนใจจะเป็นครู ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงศึกษาธิการ โดยหลักสูตรที่นักเรียนจะเข้าศึกษา คือ การศึกษาบัณฑิต (กศ.บ. 5 ปี) วิชาเอกการประถมศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองจากคุรุสภาแล้ว และเป็นโครงการที่ให้ทุนนักเรียนเรียนครูเมื่อจบแล้วบรรจุเป็นครูโดยตรงนั้น

 

หมายเลขบันทึก: 644888เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2018 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2018 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท