การบริหารการศึกษาจากเขตพื้นที่การศึกษาสู่โรงเรียน


การบริหารการศึกษาจากเขตพื้นที่การศึกษาสู่โรงเรียน
ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4


การบริหาร คือกระบวนการทำงานของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ผู้บริหาร คือผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่นช่วยทำโดยใช้ศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ


กระบวนการในการบริหาร
กระบวนการในการบริหาร (Process of Administration) Luther Gulicks และคณะได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารที่เรียกว่า “POSDCORB” ไว้ 7 ประการ คือ


1. การวางแผนงาน (Planning) หมายถึงการหาวิธีการในการดำเนินงาน ประกอบด้วยโครงการ แผนงาน ทั้งแผนระยะสั้น (แผนปฏิบัติการ) ระยะกลาง (แผนพัฒนา 3-4 ปี) ระยะยาว (แผน 20 ปีหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ)


2. การจัดองค์การ (Organizing) หมายถึงการจัดโครงสร้างขององค์กรสายบังคับบัญชา ที่คล่องตัว ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จากนั้นก็เป็นผู้อำนวยการกลุ่มในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 7 กลุ่มงานและหน่วยตอบสอบภายใน และขณะนี้มีกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มการจัดการศึกษาทางไกล หรือกลุ่ม ICT และกลุ่มพัฒนา 

3. การบริหารงานบุคคล (Staffing) หมายถึงการบริหารบุคคลในองค์กร เช่น การสรรหา การพัฒนา การบรรจุแต่งตั้ง การธำรงรักษา การให้สวัสดิการสวัสดิภาพ การยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นต้น

4. การวินิจฉัยสั่งการ (Directing) หมายถึง การตัดสินใจของผู้บริหารในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายและเป้าประสงค์จากการระดมสมองของบุคลากรในองค์กร ผู้บริหารต้องมีการวินิจฉัยสั่งการที่รวดเร็วแม่นตรง รวมทั้งมีข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยงาน

5. การประสานงาน (Co–ordinating) หมายถึง การประสานงานในองค์กรและนอกองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อขัดแย้งให้สำเร็จลุ่ล่วงไปด้วยดี ทั้งในองค์กรและ นอกองค์กร

6. การรายงาน (Reporting) หมายถึงการรายงานผลการปฏิบัติงานในรอบปี องค์กรจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลผลการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ การรายงานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ และเป็นข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน เที่ยงตรง มีมาตรวัด รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนข้อมูลจะทำให้การบริหารองค์กรได้อย่างแม่นตรง รวดเร็วต่อผู้บริหาร

7. การจัดทำงบประมาณ (Budgeting) หมายถึงการจัดตั้งและจัดสรรงบประมาณ อย่างเช่น ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นการแจ้งจัดสรรงบประมาณ แจ้งอนุมัติงบประมาณไปยังโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปสู่การบริหารจัดการตามกรอบงานภายในโรงเรียนทั้งงานวิชาการ งานบริหารงานบุคคล งานบริหารงบประมาณ และงานบริหารทั่วไปมีการทำระบบบัญชี และงบประมาณเป็นแบบมาตรฐานซึ่งสามารถตรวจสอบระบบบัญชี (Balance Sheet) ได้อย่างมีระบบ 

หลักธรรมที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน

หลักธรรมในพุทธศาสนาที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการบริหาร มีหลายหลักธรรม แต่หลักการบริหารที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนควรนำมาปฏิบัติประกอบการบริหารงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนที่อยากเสนอแนะคือ “หลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ มองดูอาจจะเป็นแนวคิดพื้น ๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นประโยชน์มาก คือ


1. ธัมมัญญุตา (Knowing the Law, Knowing the Cause)
ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น เหตุที่จะทำให้การยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้าน O-NET ให้สูงขึ้นน่าจะมีอะไรบ้าง รู้จักการวิเคราะห์ความจริงที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากหลักการวิเคราะห์สภาพภายในและภายนอก (SWOT ANALYSIS) หลักการและเกณฑ์แห่งเหตุผล ทั้งตัวป้อน กระบวนการ ผลผลิต และผลลัพธ์ มาบริหารจัดการองค์กร


2. อัตถัญญุตา (Knowing the Meaning, Knowing the Purpose) ความเป็นผู้รู้จักผล รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากการกระทำตามหลักแห่งเหตุ บริหารงานองค์กรให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ และรู้ถึงประโยชน์ขององค์กรที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพ มีแผนงานที่ดี การวางแผนที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ ไว้พร้อมสรรพ


3. อัตตัญญุตา (Knowing Oneself) ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ ณ จุดใด ทั้งด้านบุคลากร ด้านศักยภาพ ด้านการพัฒนา

  4. มัตตัญญุตา (Moderation, Knowing how to be temperate) ความผู้รู้จักประมาณ คือ ศักยภาพของคนในหน่วยงาน จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ต้องพิจารณาให้รู้จักประมาณในความเพียงพอขององค์กร ขีดความสามารถขององค์กร ขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร รวมทั้งการ แข่งขันที่รอบคอบและรู้จักประมาณขีดความสามารถขององค์กร


5. กาลัญญุตา (Knowing the Propertime) ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้กาลเวลา อันเหมาะสม และระยะเวลาในการประกอบกิจ หมายถึง การบริหารจัดการ จะต้องมีความเข้าใจถึงระยะเวลาที่เหมาะสม การสร้างโอกาสขององค์กรจะต้องพิจารณา ถึงสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ ว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร อะไรควรหลีกเลี่ยง หรืองด อะไรควรกระทำ เวลาใดควรขยายกิจการ หรือช่วงเวลาใดที่จะบริหารองค์กรให้ประสบผลสำเร็จต่อองค์กรมากที่สุด


6. ปริสัญญุตา (Knowing the Assembly, Knowing the Society) ความเป็นผู้รู้จัก ชุมชน คือ รู้กริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้น ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร การบริหารจัดการ จำเป็นต้อง ปฏิสัมพันธ์กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพันธมิตร และคู่แข่ง การสร้างสรร หรือ การประสานงานกับชุมชน หรือกลุ่มบุคคลที่มีผลต่อองค์กร ก็คือเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา เป็นการบริหารจัดการที่สร้างความสัมพันธ์ด้วยเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อชุมชน หรือสาธารณะชน จะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร


7. ปุคคลัญญุตา (Knowing the individual, Knowing the different individuals) ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักความแตกต่างของบุคคลว่าโดยอัธยาศัย ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และคุณธรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการมอบหมายงานตามหลักใช้งานให้ถูกกับคน ( Put the right man on the right job) การบริหารจัดการในการรู้บุคคล เปรียบเสมือนการพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องมีการพัฒนา และบริหารบุคคลในองค์กรให้มีความรู้ความสามารถ และภักดีต่อองค์กร มีความสามัคคี สร้างความเป็นธรรม และเสมอภาคให้แก่ บุคลากรในองค์กร รวมถึงการทำงานเป็นหมู่คณะการติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ด้วยความเป็นมิตรไมตรี รวมทั้งมีความจริงใจ
ต่อกัน


สรุป
การบริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสู่โรงเรียนจะบังเกิดผลดีนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ควรหาหลักธรรมที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลมาใช้ โรงเรียนก็เช่นกันควรนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหาร เพราะหลักธรรมที่นำมาเสนอแนะนี้เป็นเพียงตัวอย่าง เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หลักธรรมอื่นๆ เช่น หลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ คือสังคหวัตถุ 4 หลักธรรมเพื่อการทำงานให้สำเร็จ คืออิทธิบาท 4 หลักธรรมสำหรับการอยู่ร่วมกัน คือพรหมวิหาร 4 เป็นการปกครองคนในหน่วยงานของผู้บริหาร อปริหานิยธรรม 6 เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 644852เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท