เทคนิคการสร้างแรงจูงใจ


เทคนิคการสร้างแรงจูงใจ

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต ๔

แรงจูงใจถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะธรรมชาติมนุษย์เรา เป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ ถ้าได้รับการเสริมแรงในการทำงานด้วยวิธีการที่ดีแล้วย่อมนำมาซึ่งประโยชน์สุข และท้ายที่สุดงานก็จะบรรลุเป้าหมาย ดังคำที่ว่า “คนสำราญ งานสำเร็จ”

เทคนิคการสร้างแรงจูงใจ มีหลายวิธี แต่จะขอยกเทคนิคตามแนวทางพุทธศาสนามากล่าวเพียง ๒ วิธี

๑. ปลูกศรัทธา คือฉันทะ การสร้างศรัทธาความพอใจ ให้บังเกิดขึ้น โดยนำผลงานหรือสิ่งที่เราได้ปฏิบัติได้ดีเป็นแบบอย่างมานำเสนอหรือสร้างศรัทธาด้วยผลงาน ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเกิดศรัทธาความพึงพอใจในสิ่งที่ปฏิบัติ วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการสร้างจูงใจเพื่อเข้าสู่ธรรมะ หรือลีลาการสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้ผู้ได้รับฟังพระธรรมเทศนาได้รับผลตามที่พระพุทธองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ โดยหลักพุทธธรรมที่เป็นพระคุณสมบัติของพระพุทธองค์บางประการดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ทศพลญาณ และมีหลักพุทธธรรมที่ยกมาเป็นตัวอย่างบางหลักพุทธธรรม คือ พุทธวิธีการสอน ๔ ประการ กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีในการสอนการจูงใจให้ผู้ฟังได้รับฟังพระธรรมแต่ละครั้ง แม้เป็นเพียงธรรมกถาหรือการสนทนาทั่วไป โดยไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรเป็นพิเศษก็จะดาเนินไปอย่างสำเร็จผลดีเพราะมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะที่เรียกว่าลีลาการสอน หรือพุทธลีลาการสอน หรือเทศนาวิธี ๔ ประการ อาจเรียกโดยย่อได้ว่า “แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง” หรือ “ชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน” (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), ๒๕๕๖: ๑๓๔-๑๓๕) ดังนี้

๑.๑ สันทัสสนา

ทรงอธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา พระพุทธองค์ทรงสอนแนะให้ทำความดี โดยชี้นำชีวิตที่ดีงาม การสอนให้เรียนรู้ความจริงของโลกและชีวิตที่มีอยู่ทุกวัย การเป็นตัวกลางที่จะช่วยเชื่อมโยงไปสู่การตระหนักรู้และปฏิบัติต่อความเป็นจริงของโลกและชีวิต

๑.๒. สมาทปนา

พระพุทธองค์ทรงจูงใจให้เห็นจริงด้วยชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ ทรงสอนแนะนำผู้ที่เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้วให้ทำความดีสร้างสรรค์สังคม เอหิปัสสิโก เชิญชวนให้มาดูด้วยตนเอง

๑.๓ สมุตเตชนา

พระพุทธองค์ทรงเร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกาลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นใจต่อความเหนื่อยยาก ทรงสอนปลุกเร้ากระตุ้นให้เกิดพลังทางจิตใจ เช่น ปลุกเร้าคุณธรรมให้มีความเข้มแข็ง อุปมาเหมือนคนที่บอกให้เราไปรับเอาขุมทรัพย์จะด่าว่าอย่างไรก็ไม่โกรธ

๑.๔ สัมปหังสนา

พระพุทธองค์ทรงชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติ ทรงสอนโดยให้ผู้ฟังมีความสุขและได้รับประโยชน์จากการที่ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ทุกครั้ง ธรรมะ ไม่เลือกกาลเวลา ไม่มีฤกษ์มียาม ปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ผลเมื่อนั้น ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกผู้แนะ แต่จะเห็นผลก็ลงมือปฏิบัติเอง

๒. ละเว้นอคติ ๔

อคติ ๔ หมายถึง ความลำเอียง หรือ ความไม่เที่ยงธรรม ๔ ประการ คือ

๒.๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักเพราะชอบพอพอกัน ก่อให้เกิดการขาดความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม ควรละเว้น

๒.๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธหรืออาฆาตพยาบาทกันมาก่อน ไม่ชอบพอกันมาก่อน ควรละเว้น

๒.๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลงในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะความเขลา ไม่รู้ข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดการปฏิบัติสองมาตรฐาน

๒.๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัวภัย กลัวอิทธิพล หรือกลัวอำนาจมืดหรือกลัวภัยจะมาสู่ตน เหมือนกลัวจะไม่ปลอดภัยสู่ตัวเอง ทำให้การปฏิบัติไม่เป็นธรรม ควรละเว้น

ถ้าทำได้ตามที่กล่าว ก็จะทำให้ผู้ที่เราอยากให้ทำตามที่กำหนดนโยบาย เป้าหมายไว้ก็จะสำเร็จ บรรลุผลตามเจตจำนงอย่างแน่นอน

คำสำคัญ (Tags): #เทคนิค#แรงจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 644847เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2018 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2018 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท