เรื่องเล่า ดร.ผึ้ง ตอน 16 สัมมนาคณะกรรมการดำเนินการ โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561


มีโอกาสได้ร่วมสัมมนาคณะกรรมการดำเนินการ โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 จัดขึ้นที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  วันนี้มาอาจารย์ที่ปรึกษาชาวไทย และนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับพระราชทุนไปแล้ว ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า PMA Youth scholar มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มาสะท้อนแง่มุมบางมุมของโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  โดยในช่วงแรกนั้นเป็นการรายงานความก้าวหน้าโครงการ โดย รศ.ดร.อังคณา ฉายประเสริฐ ว่าเด็กที่ได้รับทุนไปแล้ว จำนวน 33 คนนั้น รับทุนแล้วไปฝึกงานที่ ต่างประเทศที่ไหนบ้าง ปัจจุบันทำอะไรอยู่ ต่อมาเป็นการนำเสนอผลการประเมินตนเอง โดย อ.พญ.กนกวรุณ วัฒนนิรันดร์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับพระราชทุนรุ่นแรกได้เข้ามาช่วยงานของทีมเลขาระยะหนึ่ง ก่อนจะไปเป็น fellow  หลังจากนั้นนำเสนอ feed back จาก mentor ต่างประเทศที่มีต่อเด็กที่ได้รับทุน นำเสนอโดย อาจารย์ พญ. ธัญจิรา ซึ่งนำเสนอในภาพรวมโดย feed back ที่ได้รับเป็น positive feedback


ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ตั้งคำถามสามประเด็นต่อที่ประชุม โดยคำถามแรกคือ โครงการนี้ เป็น private หรือ public benefit   โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าได้ประโยชน์ทั้ง private and public เนื่องจาก ตัวผู้ได้รับทุนเองนั้นได้ประโยชน์โดยตรงคือได้ expand knowledge และได้ networking ตลอดจนได้พบประสบการณ์ใหม่ๆ การแก้ไขปัญหา เหล่านี้เป็นต้น ส่วน public นั้นได้ประโยชน์จากความรู้ ความสามารถของผู้รับทุนที่ contribute ให้กับ public นั่นเอง โดยอาจจะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้รับทุนกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทย โดยการรักษาคนไข้ หรือเป็นนักวิจัย หรือเป็นอาจารย์แพทย์ ก็ตาม สาธารณะล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น


สำหรับประเด็นที่สองคือ ความสำเร็จของโครงการนั้นมีหน้าตาเป็นลักษณะไหน What does success look like? ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดในใจว่า ความสำเร็จนั้นพิจารณาได้หลายมิติ อาจจะพิจารณาจากมิติการให้ทุน ที่ให้ทุนแก่คนเก่งและคนดี คือสำเร็จที่คัดเลือกได้คนเก่งและคนดี หรือความสำเร็จอาจจะพิจารณาจากมิติที่ผู้ได้รับทุน มี career path กลับมามีความก้าวหน้า มีการต่อยอดทั้งในด้านการศึกษาหรืองานวิจัย หรืออาจจะพิจารณาความสำเร็จจากมิติที่ผู้ได้รับทุนไปศึกษากลับมาแล้ว มาสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งคงต้องติดตามในระยะยาว เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นความสำเร็จของโครงการจึงขึ้นกับมุมมองของผู้พิจารณา ช่วงเวลาที่พิจารณา ตัวชี้วัดหรือความคาดหวัง ก็เป็นได้


ประเด็นที่สามคือเรื่อง mismatch between topic and sub-sequence of selected areas กล่าวคือผู้รับทุนเขียนเสนอโครงการที่สนใจจะศึกษาเข้ามา และกลับมาแล้วไปทำเรื่องอื่น ประเด็นเรื่องนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่า ตอนเปิดรับสมัครนั้น ผู้สมัครพยายามเขียนโครงการให้ match กับเกณฑ์พิจารณาเพื่อให้ตนเองได้รับเลือก โดยที่แท้จริงแล้ว อาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง หรืออาจจะเกิดจากการที่กลับมาปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ไม่ตรงสาขา หรือไม่มีตำแหน่งรองรับ ก็เป็นได้

 

หลังจากนั้น เป็นการหารือเรื่องการสร้าง career path ของ เด็กที่ได้รับทุน ซึ่งผู้ร่วมสัมมหา เห็นว่า career path ในแต่ละองค์กรนั้นต่างกัน ส่วนนี้ผู้เขียนมองว่า career path หรือความก้าวหน้าในสายอาชีพนั้น นอกจากถูกกำหนดจากหน่วยงานหรือองค์กรแล้ว ตัวของเด็กเองอาจจะคิด career path ของตนเอง กล่าวคืออาจจะอยากทำงานในสิ่งที่ชอบ ที่ถนัด เมื่อชำนาญ มีประสบการณ์ สามารถบริหารจัดการเวลาเองได้ ก็คือความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง แบบนี้เป็นต้น เพราะบางครั้ง career path อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของใครหลายๆ คน หากคนคนนั้นไม่ชอบอยู่ในกรอบ ไม่ชอบให้ชีวิตถูกกำหนดโดยความคาดหวังของสังคม

 

อีกประเด็นที่มีการอภิปรายคือแนวทางการพัฒนา lifetime mentoring and networking ซึ่งที่ประชุมแสดงความเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็นว่า mentoring นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่เริ่มแรกสถานะจะเป็น mentee กับ mentor แต่เมื่อเวลาผ่านไป mentee ก็กลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์แบบนี้ ผู้เขียนมองว่าไม่ใช่ mentee mentor ทุกคู่จะพัฒนาความสัมพันธ์แบบ lifetime mentoring ได้เพราะความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ มีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เข้าใจไม่ตรงกัน หรือ ความคาดหวังของ mentor หรือ mentee เอง ที่เมื่อผลลัพธ์ไม่ตรงกับสิ่งที่คาดหวัง ไม่ได้ดั่งใจ ต่างฝ่ายต่างไม่อยากคุยกันเลยก็มี เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับประเด็นเรื่อง networking นั้น ที่ประชุมแสดงความเห็นว่า การสร้างเครือข่ายระหว่างเด็กที่ได้รับทุนเหล่านี้ โดยมี mentor ร่วมอยู่ใน networking ด้วยนั้น เป็นเสมือนการรวมพลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต อนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าการสร้าง network นั้น ต้องมีจุดเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยควรคุยภาษาเดียว หรือมีความรู้ ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ จึงจะได้รับการยอมรับให้ร่วมเป็นหนึ่งใน network เพราะหากไม่มีความรู้ หรือโจทย์วิจัย หรือความสนใจร่วมกัน ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะสร้างเครือข่ายได้สำเร็จ

 

 

นอกจากนี้ผู้ร่วมสัมมนาเพิ่มเติมว่า น่าจะชักชวนเด็กเก่งๆ ที่อยู่ส่วนอื่นๆ มาร่วมในเครือข่ายด้วย โดยเฉพาะเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาในรอบสุดท้าย (ผ่านการคัดเลือก ได้เข้ามาสัมภาษณ์ 360 องศา) แต่ไม่ได้รับทุน PMA Youth นี้ เด็กส่วนนี้ก็มีศักยภาพที่จะสร้างผลงานหรือสิ่งดีๆ ในอนาคต เช่นกัน

สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนมองว่า การชวนเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาสัมภาษณ์ 360 องศา ด้วย เป็นเรื่องที่ดี ที่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้ต่างก็เติบโตประสบความสำเร็จและสร้างเครือข่ายได้รับการยอมรับในหลายภาคส่วนไปแล้ว  แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะชวนเด็กที่ไม่ได้รับทุนมาร่วมด้วย ไม่ใช่ว่าเด็กไม่มีความสามารถหรือไม่มีศักยภาพ หากแต่เด็กเคยมีความผิดหวังที่ไม่ได้รับทุนในอดีต มีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับเลือกตั้งแต่แรกนั่นเอง จึงเกิดความรู้สึกปฏิเสธ ไม่อยากถูกเปรียบเทียบ ระหว่างคำว่า “ได้” กับ “ไม่ได้” ซ้ำอีกครั้งนั่นเอง  

 

ผู้เขียนได้ยินที่ประชุมเอ่ยถึงประเด็นเรื่องมีเด็กเก่งๆ เด็กดี มีความสามารถอีกจำนวนมาก ที่ไม่สนใจมาสมัครขอรับทุนนี้ แม้ว่าจะชักชวนแล้วก็ตาม  ในฐานะคนนอก ผู้เขียนตั้งคำถามในใจสองข้อ คือข้อแรก “เพราะอะไร เด็กเก่งๆ เหล่านั้น ไม่สนใจมาสมัครรับทุน” ผู้เขียนมีคำตอบในใจ ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องหรือไม่ แต่ผู้เขียนคิดว่า เหตุที่เด็กเก่งๆ เหล่านั้นไม่สนใจ และไม่ต้องการขอรรับทุน เพราะเด็กเหล่านั้นต้องการอิสระ  กล่าวคือ อิสระในการเติบโต โดยปราศจากความคาดหวังของโครงการ อิสระในการเรียนรู้โดยปราศจากข้อจำกัดของเวลาที่โครงการกำหนด อิสระในการดำเนินชีวิต เลือกทางเดินโดยปราศจากการเฝ้าดู เฝ้าติดตามของโครงการ ตลอดจนอิสระในการแสวงหาโอกาสด้วยตัวของตัวเอง

คำถามที่สอง “เพราะอะไร จึงต้องการให้เด็กเก่งๆ เหล่านั้นมาสมัครเพื่อรับทุน” คำถามข้อนี้ผู้เขียนตอบไม่ได้ เพราะเป็นคนนอก ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว โครงการคาดหวังอะไรจากเด็กเก่งๆ ที่เข้ามาสมัครรับทุน

 

จากมุมมองผู้เขียนในฐานะคนนอก เห็นว่าผู้ที่ได้รับพระราชทานทุน PMA Youth นั้น เมื่อได้รับทุนแล้วจะมี mentor คอยให้คำแนะนำ ชี้แนะ  มองหาโอกาสที่ดีให้  เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว นำมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ได้รับการ ใส่ปุ๋ย รดน้ำ บำรุงดิน มีการเล็ม กิ่ง ก้านหรือใบออกบ้าง เพื่อให้เติบโตอย่างเหมาะสม แข็งแรง สวยงาม เป็นต้นกล้า ที่พร้อมนำไปปลูกให้เจริญงอกงาม ในที่ที่เหมาะสม  ซึ่งเมื่อต้นกล้าเติบโต พร้อมย้ายลงดินนั้น ก็เหมือนผู้ได้รับพระราชทานทุนนี้ เมื่อเรียนจบกลับมา พร้อมปฏิบัติงาน หากได้ปฏิบัติงานในหน่วยงานหรือองค์กรที่ส่งเสริมศักยภาพ ผู้รับพระราชทานทุนก็สามารถ contribute สิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างเต็มที่ แต่หากได้อยู่ในองค์กรหรือหน่วยงานที่มีข้อกำหนด ข้อจำกัด กฎระเบียบต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยต่อศักยภาพของผู้ได้รับทุนแล้ว ผู้ได้รับทุนก็ไม่เติบโต ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ เสมือนว่านำต้นกล้าไปลงดินผิดที่ ไปเจอดินที่ไม่เหมาะสมต่อการเติบโต ดินอาจจะเค็ม ดินอาจจะมีน้ำขัง บริเวณนั้นมีมด แมลง กัดกินราก หรืออาจจะโดนไม้ใหญ่บดบังแสงแดด จนต้นกล้าเฉาตาย หรือเติบโตแบบไม่สมบูรณ์ มีใบเหลือง ไม่มีกิ่งก้าน อย่างนี้เป็นต้น  อนึ่งการรดน้ำใส่ปุ๋ยนั้น ต้องมีวิธีการที่เหมาะสม เช่นใส่ปุ๋ยให้ห่างจากโคนต้นหนึ่งคืบหรือสองคืบ ไม่ใช่ใส่โคนต้นทีละมากๆ แบบนี้ ดินจะเค็ม ต้นไม้ก็เหี่ยวตายเช่นกัน หรือขาดความเข้าใจต้นกล้า บางสายพันธุ์ไม่ชอบน้ำ แต่ก็รดน้ำเช้าเย็นจนรากเน่า บางสายพันธุ์ไม่ชอบแดดแต่ก็อยู่ในบริเวณแดดแรง  คงเหมือนกับการที่ mentor ให้คำแนะนำ หรือช่วยเหลือ ต้องมีกลยุทธที่เหมาะสม ไม่ใช่ให้ไปศึกษาเพิ่มเติม จนไม่มีพักผ่อน หรือความช่วยเหลือแล้ว เด็กที่ได้รับทุนถูกเพื่อนร่วมงานหมั่นไส้ เป็นต้น

ขณะที่เด็กเก่งๆ กลุ่มอื่น ที่ไม่ได้สมัครขอรับทุนนั้น โดยอาจจะมีหรืออาจจะไม่มี mentor เป็นกิจลักษณะ เรียนรู้ ไปตามวิถีของตนเอง เข้าเรียน เข้าอบรมสิ่งที่สนใจตามวาระโอกาสที่อำนวยนั้น ก็เสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ถูกคัดเลือกมาเพาะ หากแต่เติบโตตามวิถีธรรมชาติ ได้รับปุ๋ย ได้รับน้ำ ตามฤดูกาล เติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งจากการที่ต้องหาปุ๋ยหาน้ำในดินด้วยตนเอง เพื่อความอยู่รอดนั้น ทำให้มีการแตกรากฝอย รากยาว หยั่งรากลึก ลำต้นสูง แตกกิ่งก้านใบ เพื่อรับแดด กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ผล ให้ดอก ให้ร่มเงาแก่สัตว์ต่างๆ  เสมือนกับเด็กเก่งๆ ที่ไม่ได้รับทุน ก็สามารถเรียนรู้ และเติบโต สร้างสิ่งใหม่ๆ มีผลงานเป็นที่ยอมรับ contribute สิ่งดีๆ แก่สังคมได้เช่นกัน

ผู้เขียนมองว่าต้นไม้ที่ผ่านการบ่มเพาะ บำรุงใส่ปุ๋ยอย่างดี กับต้นไม้ที่เติบโตตามธรรมชาติ คือความหลากหลายทางธรรมชาติ ที่สร้างประโยชน์ได้ทั้งสิ้น โดยเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมต้นไม้ทั้งสองต้นนี้อาจจะแผ่กิ่งก้านสาขามาบรรจบเชื่อมโยงกันก็เป็นได้  เช่นเดียวกับผู้ได้รับทุนและผู้ที่ไม่ได้รับทุนนั้นต่างก็สามารถเติบโตตามวิถีของตนเองและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้เช่นเดียวกัน

 

ภัทรพร คงบุญ

15 กุมภาพันธ์ 2561

หมายเลขบันทึก: 644841เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2018 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2018 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท