Toshiba Science Museum: ท่องพิพิธภัณฑ์โตชิบา สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน


นับเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่พิพิธภัณฑ์โตชิบาจะเป็นขวัญใจของเด็กๆ ที่เห็นและสัมผัสได้ถึงความสุขจากสีหน้า สีตาและรอยยิ้ม ที่เต็มไปด้วยความกระหายใคร่รู้ พร้อมกับการพกพาระเบียบวินัยการต่อคิวกันอย่างเคร่งครัด

Toshiba Science Museum

ท่องพิพิธภัณฑ์โตชิบา สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน

 อรรถการ สัตยพาณิชย์

                “โตชิบา นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” สโลแกนคุ้นหูของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น ที่เคยได้ยินมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กๆ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ถ้านำสโลแกนภาษาไทยไปแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คงได้แค่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพราะสโกแกนของโตชิบาที่ใช้กันทั่วโลก นั่นคือ TOSHBA Leading People Leading Future 

                แม้ในอดีต โตชิบาจะเป็นแบรนด์ที่เก่าแก่ มีประวัติความเป็นมาในการก่อตั้งยาวนาน แต่ผลประกอบการของโตชิบาในปี 2560 ดูจะย่ำแย่ จนต้องขายหุ้น 80.1% หรือคิดเป็นมูลค่า 437 ล้านดอลลาร์ ให้แก่เครือมิเดีย กรุ๊ปของจีน เพื่อแลกสิทธิ์ในการถือครองการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ชื่อโตชิบายาวนานถึง 40 ปี

                เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับหลายๆ แบรนด์ของญี่ปุ่นที่อยู่ในสภาพถดถอย จนนักวิเคราะห์ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมต่างออกมาประสานเสียงตรงกันว่าเกิดจากสินค้าญี่ปุ่นขาดการปรับตัว และไม่มีการพัฒนา จนไล่ตามสินค้าแบรนด์เกาหลีใต้ จีน หรือไต้หวันไม่ทัน จนทำให้บริษัทต้องประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง

                แม้กรณีของโตชิบาและหลายแบรนด์ของญี่ปุ่นจะอยู่ในสภาพเหมือนนักมวยที่ไม่พร้อมชกไปแล้ว แต่ในวันนี้ก็ต้องขออนุญาตมาพูดถึง “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์โตชิบา” เพื่อมาดูเบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทและแบรนด์นี้เมื่อครั้งในอดีตว่ามีที่มาที่ไปกันอย่างไร

 

โตชิบาเกิดจาก 2 บริษัทรวมกัน

                        โตชิบาเกิดขึ้นจากการรวมกันของ 2 บริษัทคือ Tanaka Seizo-sho (Tanaka Engineering Works) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์โทรเลขแห่งแรกของญี่ปุ่น ก่อตั้งโดย  Hisashige Tanaka เมื่อ ค.ศ.1875 Tanaka นับเป็นนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น Thomas Edison แห่งญี่ปุ่น มีผลงานการประดิษฐ์คิดค้นหลายอย่าง อาทิ นาฬิกาหมื่นปีที่ไขลานครั้งเดียวเดินได้ 1 ปี  ตุ๊กตากลที่สามารถหยิบดอกธนูมายิงโดยอัตโนมัติ ตุ๊กตากลที่เขียนคันจิด้วยลายพู่กันได้อย่างสวยงาม ตุ๊กตากลที่เป็นเด็กผู้หญิงคอยขนน้ำชาให้แขกและสามารถกลับมาหาเจ้าของได้ เป็นต้น

                ส่วนในด้านสิ่งประดิษฐ์เชิงอุตสาหกรรม Tanaka มีผลงานการผลิตเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าแบบกังหันพลังน้ำ ต้นแบบรถจักรและเรือยนต์ไอน้ำ โทรศัพท์ เครื่องทำน้ำแข็ง จักรยาน เครื่องสีข้าว กล้องถ่ายรูป ลิฟต์ ฯลฯ โดยร่วมกับบริษัท Hakunetsu-sha  บริษัทผลิตหลอดไฟฟ้าแห่งแรกของญี่ปุ่น ก่อตั้งโดย Ichisuke Fujioka เมื่อ ค.ศ.1890 ต่อมาในปี ค.ศ.1939 ทั้ง 2 บริษัทได้รวมกิจการเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Tokyo Shibaura Denki (Tokyo Shibaura Electric Co.,Ltd.) หรือเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ Toshiba และในปี ค.ศ.1978 ก็ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Toshiba อย่างเป็นทางการ

 

Toshiba Science Museum ตั้งเมื่อ ค.ศ.1961 

 

            พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์โตชิบา หรือ Toshiba Science Museum ตั้งอยู่ที่เมืองคาวาซากิ เริ่มต้นเปิดให้ชมเมื่อปี ค.ศ.1961 ในโอกาสที่บริษัทฯ ก่อตั้งมาครบ 85 ปี ภายในพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยสาระ ความรู้ มีประวัติของผู้ก่อตั้ง มีการนำผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เป็นผลงานของโตชิบามาจัดแสดง ซึ่งผลงานหลายชิ้นเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ และบางชิ้นมีมูลค่าในเชิงมรดกทางวัฒนธรรม จึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่ผู้มาเยือนรู้สึกได้ว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว สัมผัสได้ และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบายอย่างใกล้ชิด

         นับเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่พิพิธภัณฑ์โตชิบาจะเป็นขวัญใจของเด็กๆ ที่เห็นและสัมผัสได้ถึงความสุขจากสีหน้า สีตาและรอยยิ้ม ที่เต็มไปด้วยความกระหายใคร่รู้ พร้อมกับการพกพาระเบียบวินัยการต่อคิวกันอย่างเคร่งครัด

         แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีอายุอานามมากกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ในช่วงปี ค.ศ.2013 ก็มีการปิดปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น  การจัดแสดงจะมีทั้งในส่วนนิทรรศการ และผลงานต่างๆ แบ่งเป็น 9 โซนด้วยกัน  โดยรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงทิศทางการพัฒนาในอนาคต ตัวอย่างนวัตกรรมที่สามารถพบเห็นได้ก็คือ ลิฟต์ขนส่งผู้คนภายในอาคาร โลกในอนาคตจะมีระบบเซ็นเซอร์ที่จะบอกกับผู้ที่รอลิฟต์และคนที่อยู่ในลิฟต์ว่าน้ำหนักในลิฟต์นั้นมากน้อยเพียงใด พอที่จะเพิ่มผู้โดยสารหรือไม่ และลิฟต์ก็จะทำหน้าที่ของมันเองโดยอัตโนมัติ ที่จะเลือกหยุดหรือไม่หยุดในบางชั้น หากระบบตรวจสอบแล้วพบว่าไม่อาจรับน้ำหนักเพิ่ม หรือชั้นนั้นๆ ไม่มีคน

          นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมการประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพที่สุดกับระบบเครื่องปรับอากาศ  และฮีตเตอร์ที่สามารถปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะได้โดยตัวของมันเอง จากการคำนวณพื้นที่ภายในห้องนั้นๆ ว่ามีจำนวนคนมากขึ้นหรือน้อยลง นั่นคือห้องที่ทำงานกัน 10 คน ถ้าหากวันนั้นหรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งเหลือแค่ 8 คน พลังงานความเย็นหรือความร้อนก็จะปรับให้เพียงพอกับจำนวนคน 8 คนเท่านั้น หรือมุมไหนในอาคารที่ไม่มีคนเลย ก็จะปรับลดการใช้พลังงานในมุมนั้นด้วยระบบสั่งงานทางคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ

      ส่วนการรับชมก็จะเริ่มจากบริเวณชั้น 3 มีการแนะนำผู้ก่อตั้งบริษัท และผลงานที่ถือว่ามีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น  นาฬิกาหมื่นปี ตุ๊กตากล เป็นต้น  หลังจากนั้นจะพาเข้าชมห้องรวบรวมผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านที่ผลิตขึ้นเป็นรุ่นแรก  เช่น เครื่องซักผ้าอัตโนมัติเครื่องแรก โทรทัศน์ขาวดำเครื่องแรก  เป็นต้น และไปชมเทคโนโลยีที่สมัยใหม่ เช่น หน้าจอขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นได้จากทุกมุม หรือแม้แต่ในบริเวณที่มีแสงจ้า ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะนำไปใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ เทคโนโลยีที่ใช้ในรถ Linear Motor Car เป็นต้น

      จะเห็นได้ว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของโตชิบามีความน่าสนใจ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กเยาวชนได้ และถ้าประเทศไทยต้องการจะนำพาประเทศให้ก้าวไปสู่ยุค Thailand 4.0 กันจริงๆ นอกจากจะต้องปลูกฝัง ส่งเสริมให้เด็กมีความเข้มแข็งในเรื่อง “วินัยชาติ” แล้ว การเติมพลังความคิดสร้างสรรค์ การกระตุ้นให้เด็กเยาวชนมีหัวใจในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านการซึมซับ รับรู้เรื่องราวต่างๆ จากพิพิธภัณฑ์ในแนวนี้ ก็เชื่อได้ว่าการก้าวข้ามประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางหรือการเป็นประเทศกำลังพัฒนาเป็นเรื่องเล็กที่จะผ่านพ้นปัญหานี้....

 

หมายเหตุ: บทบันทึกจากการศึกษาดูงานหลักสูตรการพัฒนานักบริหารมหาวิทยาลัยสายวิชาการระดับสูง (นบม.)” รุ่นที่ 28 สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)

หมายเลขบันทึก: 644372เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2018 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2018 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท