Stroke ใกล้ตัว


เฮ้ย..เชี่ยแล้ว ผมเริ่มรู้สึกชาปลายลิ้น มันเริ่มไต่ระดับการชามาจนถึงครึ่งลิ้น แก้ม หน้าด้านซ้าย มันหนาๆตึงๆ และการชามันก็มาจนถึงติ่งหูซ้ายจนได้

“ชิปหาย.......หรือว่าจะมีอาการหลอดเลือดอุดตันในสมอง”

เหตุการณ์ที่ว่า มันเกิดขึ้นเร็วมาก ผมกำลังตัดสินใจว่าจะโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินจากหมายเลข ๑๖๖๙ ดี หรือว่าโทรหาหมอรุ่นน้องที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมองดี หรือโทรหาเพื่อนที่เป็นหมอเอ็กซเรย์ เจ้าพ่อหลอดเลือดสมองที่เขาร่ำลือกันว่าเก่งที่สุดในเมืองไทยดี

แล้วใจผมก็แว๊บไปถึง “FAST”

......................

นานมาแล้ว

ช่วงหนึ่ง ที่ผมได้เข้านั่งร่วมประชุมกับทีมที่เขาดูแลผู้ที่มีอาการทางหลอดเลือดสมอง การประชุมนั้นเขาเรียกกันว่า PCT หรือ patient care team เรียกเสียดูหรู ฟังดูเป็นการประชุมที่ไฮโซชะมัด แต่อันที่จริงมันก็เป็นการประชุมเพื่อวางแผนกันในการดูแลผู้ป่วยโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญหลายๆกลุ่ม และที่ต้องหลายกลุ่มนั้นก็เพื่อทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างราบรื่นลื่นไหล

และในวันนั้นผมก็ได้รู้จัก FAST

“เอิ่ม ขอโทษนะครับ ผมอาจจะเป็นคนใหม่ในทีม ช่วยปูพื้นให้สักนิด ว่าฟ้าสที่พูดๆกันอยู่นั้นมันคืออะไร” ผมยกมือพร้อมส่งเสียง เพื่อหยุดทุกคนที่กำลังเมามันในวงประชุม

จริงๆแล้ว มันก็ดูแทบจะเป็นเรื่องที่หลายๆคนชาชินกัน เมื่อไหร่ที่มีการประชุมเรื่องคุณภาพของโรงพยาบาล ก็จะต้องมีศัพท์แปลกๆ ดูหรูๆ คนพูดดูมีภูมิดี (แต่กูฟังไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจไง)

เอิ่ม..อันที่จริง ก็น่าจะชินๆๆกันได้แล้วนะ

“ขอโทษทีอาจารย์แป๊ะ พวกเราอาจจะชิน เพราะเราประชุมกันมาระยะหนึ่งแล้ว” อาจารย์ท่านนั้นหยุดเพื่อเตรียมตัวอธิบายให้ผมฟัง (หรือประชดวะ)

FAST เป็นคำย่อของการให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ ว่ามันคืออาการของ stroke

ว่าไปนั่น

stroke อ่านว่า สะโตร๊ก หรือหากจะให้การออกเสียงดูดีมีขาติตระกูลแล้วละก็ ต้องออกเสียงว่า “ซโตร๊กเค่อะ” ต่างหากเล่า

stroke เป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองมีปัญหาจนทำให้คนเกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาต (อันนี้ก็อีกอย่าง พฤกษ์ กับ พาต มันต่างกันยังไงวะ) ไม่ว่าจะเป็นจากหลอดเลือดแตก ตีบ หรือตัน

และเมื่อมัน แตก ตีบ หรือตัน ก็จะทำให้สมองส่วนที่อยู่ปลายหลอดเลือดนั้นเกิดการขาดเลือดและไม่ทำงาน มันจึงทำให้เราเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ไง (แล้วพฤกษ์กับพาต ต่างกันยังไงวะ)

“F” มันย่อมาจาก face ครับ

คนที่เริ่มมี stroke ส่วนหนึ่งจะมีอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มีอาการ “ชา” และเมื่อมีอาการแบบนี้ คนไข้ก็จะมีลักษณะปากเบี้ยว บางคนมุมปากตก น้ำลายไหลย้อยได้

ดังนั้น หากใครคิดว่าตัวเองเป็น stroke รีบไปที่กระจกแล้วฉีกยิ้ม (แต่หากเดินไม่ไหว ก็ใช้วิธีเซลฟี่ได้นะครับ)

ผมแอบเหลือบมองในกระจกแล้วยิ้ม

“เฮ้ย มันชาสุดชีวิต แต่ปากไม่เบี้ยวว่ะ” มันชาเหมือนหน้าหนาๆ เอามือลูบแก้มก็ไม่รู้สึก ตบหน้าก็รู้สึกแค่สะเทือน ไม่ได้เรียกเมียมาลองตบเพราะกลัวเป็นรอยช้ำ 

“A” ย่อมาจาก arms หรือแขน

มันคือการอ่อนแรงของแขนหรือขา

นั่นเป็นเพราะว่า การเคลื่อนไหวของร่างกายถูกควบคุมด้วยสมองไง ดังนั้นหากสมองขาดเลือด มันหยุดทำงาน แขนขาก็จะไม่มีแรง เคยเห็นคนที่เป็นอัมพฤกษ์กับอัมพาตไหมล่ะ (เออ แล้วบอกผมได้หรือยัง ว่าพฤกษ์กับพาตต่างกันยังไง)

คิดได้ดังนั้น ผมจึงลองค่อยๆยกขา ไอ้ที่ว่าค่อยๆนั้นก็เพราะกลัว หากยกไม่ขึ้นจริงๆผมคงร้องไห้โฮ 

เฮ้ย..ยกได้ 

เชี่ย ดีใจ

ลองยกแขนขึ้นมา 

เฮ้ย..ยกได้ กำมือได้ 

อูย ดีใจ

ผมได้ยินเสียงน้องผู้หญิงข้างๆกระซิบ “พี่คะ เจ็บไหมคะ”

ผมไม่กล้าตอบ

“S” ย่อมาจาก speech หรือการพูด

ที่เอาเรื่องการพูดมารวมด้วยนั้น ก็เพื่อดูหน้าที่ของการใช้ภาษาและกำลังของลิ้น เพราะหากสมองส่วนที่ขาดเลือดเป็นส่วนที่ควบคุมเรื่องการสื่อสาร คนๆนั้นก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา เช่น เข้าใจแต่พูดออกมาไม่ได้ (เอิ่ม คงไม่ได้หมายถึงการเกรงกลัวอิทธิพลจากใครหรอกนะครับ อันนั้นคงเรียกว่า น้ำท่วมปากเสียมากกว่า) หรือเข้าใจและพูดได้ แต่พูดอะไรออกมาก็ไม่รู้ ประหนึ่งนักการเมืองตอบคำถามผู้สื่อข่าว หรือฟังแล้วไม่เข้าใจ แปลความหมายไม่ออก ทั้งๆที่ใช้ภาษาเดียวกันมาตั้งชาติหนึ่งแล้ว (แต่เอ๊ะ คนพูดไทยเป็น stroke แล้วแสดงอาการออกมาเป็นพูดภาษาอังกฤษสำเนียงดีเลย จะได้ไหมนะ อันนี้ไม่รู้) หรือท้ายที่สุดก็เป็นเพราะลิ้นอ่อนแรง กระดกกระดิกไม่ได้ เวลาพูดออกมา ก็จะเป็นเสียงอู้อี้อ้อแอ้ เป็นต้น

“เอิ่ม..น้องครับ พี่ตื่นเต้นจังเลย หน้ามันชาๆนะ” ผมทดสอบ speech ของตัวเอง ก็พบว่ามันยังใช้การได้ รู้สึกลิ้นเต็มๆปากและกระดากอาย แต่ไม่ได้อ่อนแรง รับรู้และสื่อสารภาษาได้ดีอยู่

มันก็โล่งไปอีกเปลาะ

“T” อันนี้ผมสับสนหน่อยๆ เพราะบางคนบอกว่า มันคือ time หรือเวลา เวลาที่เป็นช่วงเวลาทองของการรักษาแล้วอาจจะช่วยให้เราหายได้สนิท ว่ากันว่ามันคือ ๒๗๐ นาที บางที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดอุดตันในสมอง บางที่อาจจะพาไปแทงหลอดเลือดแถวๆต้นขา แล้วดันสายลวดเข้าไปในหลอดเลือดในสมอง จากนั้นเมื่อเห็นรอยอุดตันก็จะทำการรักษาแบบเฉพาะ เช่นหากเจอรอยตีบก็ถ่างออกเสีย หากเจอลิ่มเลือด ก็ดึงหรือลากมันออกมา มันก็จะทำให้หายจากการตันหรือตีบได้ สมองก็จะทำงานได้ต่อไป

แต่ไอ้ที่ทำให้ผมสับสนมากไปกว่านั้นก็คือ T อาจจะย่อมาจาก  “tell” หรือ “telephone” ก็ได้นะ หมายความว่า เมื่อเกิดอาการก็รีบบอกใครก็ได้ให้เร็วที่สุด ร้องของความช่วยเหลือ หรือไม่ก็หยิบโทรศัพท์มากดเลข ๑๖๖๙ แล้วบอกตำแหน่งที่จะมารับตัวเราให้เร็วที่สุด

แต่เอาเหอะ จะเป็น time หรือ tell ก็ช่างมัน สาระอยู่ที่รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ก็แค่นั้น นอกเหนือจากนั้นก็ฝากชีวิตไว้กับหมอเลยครับ

ผมรู้จัก FAST มานาน กำลังคิดตำหนิสังคม ว่าทำไมจึงไม่มีการสื่อสารให้รับรู้โดยทั่ว แถมเมื่อคิดจะสื่อสาร ก็ใช้คำศัพท์ที่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจเสียอีก คนจะเป็น stroke มันก็รุ่นๆผมหรือไม่ก็แก่กว่า ซึ่งแน่นอนว่า คงจะเข้าใจและรับรู้กันเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ

เหมือนกับบ่น แต่ตอนนี้บ่นไม่ออก เพราะกำลังตกใจ

“พี่แป๊ะคะ มันจะรู้สึกชาๆแบบนี้ไปสัก ๒ ถึง ๓ ชั่วโมงนะคะ ฉีดยาชาไปเยอะหน่อย พี่จะได้ไม่เจ็บตอนกรอฟัน”

ออ ลืมไป ผมกำลังมาทำฟัน

บ้าเอ๊ย ตกใจหมด

ธนพันธ์ ชูบุญฟันสึกฟันเสียว อูย..เซี๊ยวเสียว

๓๑ มกราคม ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 644334เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2018 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2018 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท