วิพากษ์ร่าง พรบ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา



ข่าว () และ ร่าง พรบ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา () ทำให้ผมเขียนบันทึกนี้ 

ผมเขียนบันทึกนี้ เพื่อเสนอแนะว่า ต้องตีความให้แตก ว่า “ความเสมอภาคทางการศึกษา” คืออะไร    และความไม่เสมอภาคทางการศึกษามีอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด  

ที่จริงมาตรา ๕ ของร่าง พรบ. เขียนเป้าหมายของการศึกษาไว้ดีมาก    แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นความไม่เสมอภาคทางการศึกษา     

ผมตีความว่า ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาคือ การที่เด็กเพียงบางคนได้รับการศึกษา    และแม้ได้รับ แต่มีเพียงน้อยคนที่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับ mastery    เนื่องจากมี “ความไม่เสมอภาค” อยู่ในชั้นเรียน    คือครูจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่เด็กเพียงบางคนเท่านั้น (ผมเดาว่าร้อยละ ๑๐) ที่สามารถบรรลุ learning outcome ในระดับ mastery learning ได้    ผมจึงเสนอว่า ความไม่เสมอภาคทางการศึกษามีสาเหตุสำคัญ ๒ ส่วน   คือ (๑) จากความไม่เสมอภาคในระดับเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวเด็ก  และ (๒) จากวิธีจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน  

วิธีการที่ผมได้เห็นในเอกสารคำอธิบายการจัดตั้งกองทุนฯ เสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา เน้นการแก้ปัญหาความยากจนของเด็กเป็นหลัก    เป็นการแก้โดยอาศัยสมมติฐานว่าหากเอาเงินไปให้แล้วผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กจะดีขึ้น    ซึ่งผมไม่เห็นด้วย   

ผมเห็นว่า หากการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนยังเป็นอย่างโรงเรียนของรัฐส่วนใหญ่ในปัจจุบัน    และการไม่สนใจ “พื้นที่ 2/3” () เงินที่กำหนดไว้ ร้อยละ ๕ ของงบประมาณด้านการศึกษา (ซึ่งคำนวณออกมาได้มากกว่าปีละ ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท) จะสูญเปล่า    คือไม่ทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กที่ด้อยกระเตื้องขึ้นอย่างน่าพอใจ   จนทำให้เรามีพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต เพื่อหนุนเป้าหมายประเทศไทย ๔.๐

     ตัวอย่างโรงเรียนของลูกชาวบ้านที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาคือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่จังหวัดบุรีรัมย์    คือทั้งเด็กหัวดีและเด็กหัวช้าต่างก็ได้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้แบบ mastery    และยังมีโรงเรียนของรัฐอีกสองสามร้อยโรงเรียนดำเนินการตามรูปแบบลำปลายมาศพัฒนา     เป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในลักษณะที่มี “ความเสมอภาคทางการศึกษา” 

 จึงขอเสนอแนะว่า รัฐไม่ควรเน้นการเป็น “เจ้าบุญทุ่ม” ทุ่มเงินเอาไปหนุนเด็กยากจน    โดยไม่มีการจัดการให้เงินนั้นไปหนุนผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กรายนั้นๆ โดยตรง   

วิธีจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ส่วนหนึ่งอยู่ในหนังสือ “ศาสตร์และศิลป์ของการสอน” ซึ่ง download pdf file ได้ฟรี

ขอย้ำว่า ความเสมอภาคทางการศึกษาต้องดูที่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้เป็นหลัก

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ม.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 644145เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2018 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2018 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท