ชีวิตที่พอเพียง 3095. บริการการแพทย์ฉุกเฉิน



วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วม “การประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย”  หรือที่เรียกกันในภาษาไม่เป็นวิชาการว่า “กลุ่มสามพราน”    วันนี้ประชุมกันเรื่อง การเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชนตามแนวคิดการกระจายอำนาจ   นำเสนอโดย เลขาธิการ สพฉ. (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) นพ. ไพโรจน์ บุญศิรินำชัย    และ นาย พิเชษฐ์ หนองช้าง

ผมนำเรื่องนี้มาเล่าด้วยความสุข    ที่เห็นบริการการช่วยชีวิตหรือบริการสุขภาพฉุกเฉินของประเทศเราก้าวหน้าถึงเพียงนี้    และมีการทำงานวิชาการเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน   มีข้อมูลสำหรับใช้พัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง    คนไทยควรดีใจ ที่จะได้รับการดูแลปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน ดีขึ้นเรื่อยๆ  

ที่สำคัญยิ่งคือ new mindset ว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน    ที่ใช้แนวคิดบูรณาการ ไม่คิดแคบอยู่เฉพาะบริการในโรงพยาบาล    แต่มองบทบาทของฝ่ายต่างๆ ในสังคม    มีระบบจัดการเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ เหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมกันทำให้คนไทยได้รับการดูแลช่วยชีวิตได้ทันท่วงที   มีการสร้างสรรค์ระบบในรูปแบบใหม่ๆ มากมาย ในหลากหลายพื้นที่    ผมเรียกระบบตามที่ได้รับฟังว่า  “ระบบภาคีหุ้นส่วนการแพทย์ฉุกเฉิน” 

มิติสร้างสรรค์พิเศษของระบบหุ้นส่วนการแพทย์ฉุกเฉินของไทยได้แก่

  • ระบบจิตอาสา มีองค์กรเอกชนไม่แสวงกำไร ทำงานกู้ภัยฉุกเฉิน กว่า ๔๐๐ องค์กร   
  • มีระบบการจัดการก่อนถึง รพ.
  • มีการประสานนโยบายจากส่วนกลางสู่พื้นที่ 

ภาคีหุ้นส่วนสำคัญได้แก่

  • ผู้กำหนดนโยบาย (คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน  กระทรวงสาธารณสุข) 
  • หน่วยงานให้บริการ   ผู้กำกับมาตรฐานคุณภาพในพื้นที่ (สสจ.)      
  • องค์กรเอกชนไม่แสวงกำไร ... มูลนิธิต่างๆ (พลังจิตอาสา)
  • องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ภาคประชาชน

สพฉ. เข้าไปจัดการเชื่อมโยงภาคีหุ้นส่วน ให้เป็นเครือข่าย    ทำงานร่วมมือรับลูกกัน   และยกระดับคุณภาพของระบบต่อเนื่อง    มีรายละเอียดของเรื่องความสำเร็จ และความท้าทาย มากมาย 

ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศประกอบด้วย ๕ ระบบย่อย

  • ระบบบริการ
  • ระบบเทคโนโลยีสื่อสาร
  • ระบบชุดปฏิบัติการระดับสูงครอบคลุมพื้นที่  เข้าถึงภายใน ๘ นาที
  • ระบบคุ้มครองสิทธิ (วิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ ... ทุกโรงพยาบาล)
  • พลเมืองและชุมชนเข้มแข็ง  พัฒนาการเข้าถึงความรู้

มีการผลิตบัณฑิต พนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน เริ่มจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม    เวลานี้มีผลิตใน ๔ มหาวิทยาลัย แห่งละ ๓๐ คนต่อปี   และกำลังจะขยายไปอีกหลายมหาวิทยาลัย

แปลกมาก ที่ความท้าทายสูงสุดอยู่ในพื้นที่ กทม.   อยู่ที่ mindset ของผู้บริหาร    มีคนเสนอว่าในพื้นที่ กทม. ให้ดำเนินการแบบเลี่ยง กทม.  เน้นทำงานกับชุมชนในพื้นที่ และภาคีอื่นๆ เช่นร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง    ชุมชนบ้านจัดสรร   ชุมชนคอนโด 

การก้าวกระโดดของระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศตามที่เล่านี้  เป็นผลของการมี พรบ. การแพทย์ฉุกเฉิน (พ.ศ. ๒๕๕๑) () ที่ออกมาสมัย นพ. มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข    

ศ. นพ. ประเวศ วะสี ให้คำแนะนำว่า     กิจการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็น Academic social process คือต้องใช้ข้อมูล ความรู้ การสื่อสาร    ใช้อุดมการณ์ “ชีวิตคนประดุจฟ้า” 

ท่านแนะว่า ฐานสำคัญที่สุดคือ สังคมเข้มแข็ง  

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ม..ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 644144เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2018 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2018 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท