๑๙๖. น้อมกราบคารวะครู.. อาจารย์สันติ สายพุฒิกสิกร ครูศิลปะของชาวเพาะช่าง



การคิดสร้างสรรค์และกระบวนการสุนทรียปัญญา ....
กราบครู อาจารย์สันติ สายพุฒิกสิกร ครูศิลปะของชาวเพาะช่าง
....................................................................  

ได้รู้ข่าวจากเพื่อนและรุ่นพี่เพาะช่างว่าอาจารย์สันติ สายพุฒิกสิกรได้ถึงแก่กรรม เลยได้น้อมคิดและน้อมคารวะต่อท่าน ตื่นเช้าขึ้นมาก็ขอเขียนรูปรำลึกถึงอาจารย์และการได้เรียนกับอาจารย์ที่เพาะช่าง พร้อมกับเป็นโอกาสปฏิบัติบูชาต่ออาจารย์ด้วยรักและด้วยความเคารพยิ่ง  

อาจารย์สันติเป็นอาจารย์เพ้นท์ติ้งของสาขาจิตรกรรมสากล คณะวิชาวิจิตรศิลป์ประติมากรรมและภาพพิมพ์ของเพาะช่าง อาจารย์จบจากศิลปากร  ภาพที่เห็นจนคุ้นตาก็คือ อาจารย์จะสะพายกระเป๋าหนัง สวมเสื้อแขนยาวพับแขนตัวหลวม กางเกงขายาวลูกฟูก สอนปี 4 และปี 5 ของเพาะช่าง หรือปี 1 และปี  2 ของหลักสูตรต่อยอดอีกสองปีจากระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพของวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษา พูดเสียงสูงเบาๆ พูดเล่นน้อย แต่หากเป็นการตรวจงานและวิจารณ์ผลงาน อาจารย์จะให้เวลามากกับการพูดและสนทนากับนักศึกษาเจ้าของงานเป็นรายชิ้น    

ในปีหนึ่งผมเรียนกับอาจารย์ในเรื่อง Creative Art Composition  หรือการสร้างสรรค์องค์ประกอบศิลป์ และปีสองก็เรียนในขั้นสูงต่อเนื่องแต่เน้นออกไปทางด้าน Creative Conceptual Art หรือการสร้างสรรค์ศิลปะเชิงมโนทัศน์ ได้ความเข้มข้น ความประทับใจ และได้กระบวนการเรียนรู้ภายในของตนเองจากการได้เรียนกับอาจารย์มากเป็นอย่างยิ่ง  

ผมกับเพื่อนมาจากต่างจังหวัดรุ่นแรกที่จบจากศิลปหัตถกรรมจากวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี สอบเข้าเรียนเพาะช่างได้ทั้งหมดทุกคน และเรียนในสาขาจิตรกรรมสากลด้วยกัน 3 คน คือ ผม เลิศชาย สินเสริฐ และอุดม เรื่องรุ่งทิพากร ผมกับเลิศชายและกลุ่มเพื่อนอีกหลายคน เมื่อขึ้นปีสองก็รวมกลุ่มสืบทอดประเพณีที่รุ่นพี่สร้างไว้คือการสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะเหมือนกับกวดวิชาและติวเข้มให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มุ่งสอบเข้าเรียนต่อทางศิลปะที่เพาะช่าง ช่างศิลป์ และศิลปากร เป็นการสอนและติวเข้มแบบให้เปล่า ความหมายโดยนัยก็คือ ผมและเพื่อนๆ อยู่ในบรรยากาศแวดล้อมของกลุ่มคนที่พากันเอาหมดทั้งการเรียน ทำกิจกรรม การให้สปิริตต่อหมู่คณะ และการมุ่งงานอุดมคติทางสังคม

ผม เลิศชาย และอุดมนี้ เมื่อตอนเรียนอยู่ต่างจังหวัดก็เรียกว่าพอตัว จะเรียกว่าหากเป็นทางด้านเพ้นท์ติ้งและวิจิตรศิลป์แล้วละก็ จัดว่าอยู่แถวหน้าเลยก็ได้ แต่สิ่งที่คิดว่าเราเก่งเมื่ออยู่ภูธรนั้น พอมาอยู่ที่เพาะช่างก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะที่เพาะช่างนั้น เสมือนเป็นกรุงโรมทางศิลปะแหล่งหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ โดยเป็นที่รวมของคนเก่งยอดฝีมือจากทั่วประเทศ หลายเรื่องก็แทบไม่เคยได้เรียนไม่เคยได้เห็น อีกทั้งหลายเรื่องที่คิดว่าเก่งว่าแน่มากแล้ว ก็ต้องขวนขวายเรียนรู้และทำงานกันใหม่ การได้เรียนกับอาจารย์สันตินี้ก็เช่นกัน  

ผมจำได้ไม่ลืมว่าการทำงานเรียนชิ้นแรกกับอาจารย์นั้น ผมกับเลิศชายได้ E ทั้งสองคน และครั้งที่สองเลิศชายนอกจากผ่านเป็นอย่างดีแล้ว ก็ได้คะแนนอยู่ในกลุ่ม B และ A แต่ผมนั้นได้ D

ครั้งแรกที่ผมกับเลิศชายได้ E หรือได้คะแนนต่ำที่สุดของงาน Creative  Arts Composition  ของอาจารย์นั้น เกิดเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ในหัวและเป็นที่ขบขันของผมกับเลิศชาย ที่เอามาพูดถึงด้วยกันกับกลุ่มเพื่อนๆเมื่อมีโอกาสรำลึกความประทับใจกันอยู่เสมอ เพราะอย่างผมกับเลิศชายนั้น คิดว่าตนเองแน่ ไม่เคยคิดว่าจะได้คะแนนผลงานแบบนั้น

ตอนนั้น ผมกับเลิศชายเป็นเด็กวัดสระเกศ งานชิ้นแรกของอาจารย์นั้น ผมกับเลิศชายคิดและหารือกันมากมายว่าจะต้องคิดและทำอย่างไร โดยที่ก็ไม่ค่อยเข้าใจนักว่า Arts Composition และโจทย์ที่อาจารย์ให้ Assignment นั้น มันเป็นอย่างไร คิดไปก็หาแนวการทำงาน แล้วก็คิดว่าจะใช้สื่อแบบ Natural Forms โดยนำเอาวัสดุ สิ่งของ มาติดประกอบกัน ให้สิ่งที่หามานั้นเป็นองค์ประกอบงานและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆด้วยตัวมันเอง ซึ่งคิดว่าแหกกรอบและคิดสร้างสรรค์ที่สุดแล้วสำหรับตนเอง ทำไปก็แบ่งปันวัสดุและสิ่งของที่หามาได้ให้กัน ซึ่งตรงนี้นั่นเองที่ทำให้กลายเป็นได้ E หรือคะแนนต่ำสุดทั้งสองคน เพราะหลายอย่างเห็นได้เลยทีเดียวว่ามันมีอยู่คนละครึ่งในงานของผมกับเลิศชาย ผมจำได้ไม่ลืมที่อาจารย์บอกว่า คุณแค่แก้ปัญหาเรื่องสื่อและการใช้วัสดุ ทำงานคิดสร้างสรรค์น้อยไป !!  

งานครั้งที่สอง ผมทำงานหนักมากกว่าเดิม คิดมาก และใช้ฝีมือมาก แล้วก็คิดว่างานของตนเองดี แต่เมื่อนำเสนอผลงานต่ออาจารย์และกลุ่มเพื่อน ปรากฏว่าเลิศชายได้ไปอยู่ในกลุ่ม A และ B  แต่ผมนั้นได้ D อาจารย์บอกว่าความสร้างสรรค์ทางศิลปะ ไม่ใช่การใช้ฝีมือมากอย่างเดียว !!!  

พอได้เห็นผลครั้งที่สอง ทำให้ผมเริ่มขำไม่ออก เริ่มคิดและคุยเชิงตรวจสอบการอยู่กับวิธีคิดแบบเดิมและความเชื่อมั่นว่าตนเองเก่ง ต้องเริ่มตั้งหลักใหม่ ต้องคุยและเรียนรู้จากเพื่อน ต้องศึกษาค้นคว้า ฝึกฝน  เข้าไปดูงานของต่างประเทศทั้งที่เพาะช่างและศิลปากร 

รวมทั้งมีส่วนมากที่ทำให้เกิดทรรศนะเชิงวิพากษ์และเกิดการขวนขวายศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองทางศิลปะกันในหมู่พวกเรา ระหว่างความเป็นช่าง ความเป็นช่างฝีมือ ความเป็นศิลปิน ความเป็นศิลปะบริสุทธิ์ ศิลปะเพื่อสังคม ศิลปะเพื่อชีวิต และอีกหลายอย่าง ทำให้เกิดการอ่าน คุย ดูหนัง ดูงานศิลปะ เดินไปหาและคุยกับศิลปินในหลายแขนงของประเทศ และฟังปาฐกถาทางศิลปะ 

หลังจากนั้น ผลการเรียนกับอาจารย์ก็ดีขึ้นตลอด 

เมื่อเรียนในขั้นสูงขึ้นในวิชาของอาจารย์ ครั้งหนึ่งของปีสุดท้าย และเป็นโครงงานเชิงสรุปรวบยอดให้สร้างสรรค์และนำเสนองานแบบ Conceptual Art และ Happening Art หรือศิลปะฉับพลันที่บูรณาการและหลอมรวมกับองค์ประกอบต่างๆในธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และการมีผู้คนหรือชีวิตจริงเข้าไปสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้น โดยผู้สร้างสรรค์งานจะต้องสามารถแสดงสดและสร้างสรรค์การเข้าไปเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ให้สามารถถ่ายทอดและนำเสนอบทสรุป นำผู้ชมให้เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกลึกซึ้งฉับพลันดังที่ต้องการได้  

อาจารย์ให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ทุกคนสามารถติดตั้งงานและแสดงผลงานสดให้ทั้งในเพาะช่างและย่านวิถีชีวิตเมืองแถวพาหุรัด สวนกุหลาบ และโดยรอบเพาะช่าง อาจารย์จะเดินตรวจเป็นรายชิ้นของทุกคน ผมนั้นคิดมาก ทำงานเชิงความคิดจนแทบจะคิดไม่ออก จนรู้สึกได้ถึงภาวะกดดันที่อยู่ข้างใน แล้วก็เริ่มมองออกไปในสภาพแวดล้อม สู่ปรากฏการณ์ทางสังคม รวมทั้งในธรรมชาติ พอถึงเวลาส่งงานและเดินตรวจงานของอาจารย์ ผมก็ไม่ได้ทำอะไร แต่เดินเข้าไปในอาคารเรียนและในห้อง Learning Studio ที่พวกเราเขียนรูป ในนั้นมีตู้เหล็กเก็บของ ผมขนเอาสิ่งของในตู้ออก แล้วก็เข้าไปนอนขดหันหน้าเข้าตู้และหันหลังออกอยู่ในชั้นเล็กๆในตู้อีกทีหนึ่ง เมื่อเข้าไปอยู่ในตู้แล้วก็ปิดตู้ไว้ แล้วก็ขอให้เพื่อนๆช่วยเปิดนำเสนอให้เมื่อได้เชิญอาจารย์มายืนตรวจงาน โดยไม่ต้องบอกอาจารย์และผู้ชมอื่นๆก่อนว่าเป็นอย่างไร พออาจารย์มาถึงและพร้อม เพื่อนก็เปิดตู้ออก อาจารย์และทุกคนที่เห็นก็ผิดคาดและไม่ทันได้นึกถึงว่าในชั้นเล็กๆของตู้อันคับแคบนั้นจะมีคนเข้าไปอัดอยู่นั้น งานชิ้นนั้นสามารถสื่อและถ่ายทอดความกระทบใจอย่างฉับพลันต่อเรื่องราวที่ผู้สร้างสรรค์งานต้องการนำเสนออย่างมีศิลปะได้ การคิดจนรู้สึกได้อยู่ข้างในแล้วก็ถ่ายทอดออกมาตรงๆโดยไม่ได้ใช้วัสดุสิ่งของและไม่ได้ทำอะไรในเชิงฝีมือเลยครั้งนั้น กลับทำให้ผมได้ A !!!  

อาจารย์เป็นผู้สอนผ่านการให้กระทำและไม่กระทำ เพื่อเข้าถึงความจริงจังและเข้มข้นต่อการทำงาน จะคุยและให้ข้อวิจารณ์อย่างรอบด้านก็เฉพาะแต่คนที่เริ่มต้นตั้งคำถามหรือขอสนทนาเองกับอาจารย์เท่านั้น อาจารย์ไม่เน้นให้หลงไหลต่อทักษะฝีมือ อาจจะเป็นเพราะพวกที่ผ่านเข้าไปเรียนถึงเพาะช่างได้นั้น คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องฝีมือและเทคนิคต่างๆกันอีกแล้ว แต่อาจารย์จะเน้นการสะท้อนความมีอิสรภาพที่จะคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะลงไปในงานให้มาก รวมทั้งเน้นการได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองให้ชัดเจนในทุกชิ้นงาน    

การได้เรียนรู้จากการฝึกปรือตนเองภายใต้การเฝ้าดูของอาจารย์นั้น จึงได้ทั้งความสนุก ท้าทายการคิด  ท้อแท้ การต้องอดทน การต้องศึกษาค้นคว้า ดูผลงานของศิลปินให้มากทั้งในและต่างประเทศ ได้ฝึกฝนการทำงานคิดและสร้างสรรค์ ด้วยการมีอาจารย์เป็นครูคอยให้การชี้แนะและสะท้อนผลเพื่อการพัฒนาตนเองได้อย่างดีที่สุด ผมได้เรียนกับอาจารย์ ได้พัฒนาจากผลการเรียนต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด หลายอย่างได้ติดตัวมาให้ได้ใช้ในชีวิตการทำงานมาจนทุกวันนี้    

ขอกราบ น้อมบูชา และขอนำเอาสิ่งต่างๆที่ได้รับจากอาจารย์ ไปถ่ายทอดเผยแพร่ให้ยิ่งงอกงาม ด้วยการทำงานและดำเนินชีวิต เพื่อสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติ ให้เป็นปฏิบัติบูชาต่อพระคุณของท่าน อาจารย์สันติ สายพุฒิกสิกร ครูศิลปะของชาวเพาะช่าง.

หมายเลขบันทึก: 643681เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2017 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2018 04:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอคารวะอาจารย์สันติและอาจารย์ด้วยครับ

สวัสดีปีใหม่ครีบ

สวัสดีปีใหม่ครับ อ.ขจิต มีความสุข มีพลังกายพลังใจ ได้ทำงาน ได้เห็นความสำเร็จงอกงามอยู่เสมอๆนะครับ

ใช่ครับ

มีงานตลอดมีความสุขดี

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้อาจารย์และครอบครัวมีสุขภาพดีและมีความสุขตลอดไปครับ

ขอบคุณมากๆครับอาจารย์  สนุกและมีความสุขกับงานมากๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท