ประเด็นร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 8 : ปัญหาสำคัญในมุมมองจากองค์กรกลาง


ประเด็นร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 8 : ปัญหาสำคัญในมุมมองจากองค์กรกลาง

28 ธันวาคม 2560

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

 

องค์กรการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นมีจำนวนมาก

          ความคาดหวังใน “บทบาทหน้าที่” ที่ดีขององค์กรการบริหารงานบุคคล หรือ “องค์กรกลาง” เป็นสิ่งที่ประสงค์ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกคน ฉะนั้นการกำหนด “บทบาท” (Role) และ “ภารกิจอำนาจหน้าที่” (Authority and Function) รวมทั้งการมอบหมายหน้าที่ให้แก่องค์กรด้วย จึงสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะ “การจัดตั้งองค์กรกลางบริหารงานบุคคล ที่มีความเป็นกลางได้จริง เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับ ฝ่ายบริหาร หรืออยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหารโดยตรง”

 

องค์กรบริหารงานบุคคลฝ่ายพลเรือน

องค์กรกลางในราชการฝ่ายพลเรือนไทยแยก3 องค์กรหลัก ได้แก่ (1) องค์กรควบคุมกำกับนโยบายกำหนดยุทธศาสตร์ (Policy control Organization) ในการปฏิรูประบบราชการ เป็นองค์กรเหนือองค์กร หรือจะเรียกว่าเป็น “ซุปเปอร์” คือ “ก.พ.ร.” หรือ “คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ” [2] แต่ในทางปฏิบัติองค์กรนี้“ไม่เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล” แต่อย่างใด (2) องค์กรบริหารงานบุคคลกลางหลักและรองที่รับมอบอำนาจ (Central Personnel Organization (Agency) and Sub – Organization) คือ “ก.พ.” หรือ “คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” (Civil Service Commission - CSC) [3], และ อนุกรรมการสามัญ ระดับ อ.ก.พ. กระทรวง, กรม, จังหวัด (Civil Service Sub-Commission - CSSC) และ (3) องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ “ก.พ.ค.” (Merit Systems Protection Commission or Board – MSPC, MSPB) [4] ที่เป็น “หน่วยเฝ้าระวัง” (Watch Dog of Merit System) ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

 

“ก.พ.ร.” หรือ “คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ”

เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตาม พรบ. บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 [5] มีหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน และเสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาระบบราชการ หน่วยงานทั้งของรัฐและรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมท้องถิ่น) ผ่านกลไกต่าง ๆ ได้แก่ ก.พ.ร., อ.ก.พ.ร. และ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (คตป.) เพื่อให้เกิด การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามมาตรา 3/1 [6] และ มาตรา 71/10 [7] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ที่สำคัญก็คือ บทบาทในการเป็นผู้จัดโครงสร้างส่วนราชการการปฏิรูปโครงสร้างส่วนราชการที่ได้ตัดโอนมาจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นอกจากนี้มี “คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)” [8] ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2540 มีสำนักงาน ก.พ. เป็นฝ่ายเลขานุการ

          มีข้อสังเกตตามร่าง พรบ.ฯฉบับ สถ. ที่กำลังรับฟังความคิดเห็นปัจจุบัน คือ ร่าง มาตรา 23 [9] มาตรา 157 [10] ประเด็นการบริหารกำลังพลภาครัฐ ตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ดังนี้ (1) ตามมาตรา 23 กำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะ มาตรา 23 (6) การกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าครองชีพ  และสวัสดิการ ประโยชน์ตอบแทนอื่น  ให้คำนึงถึงการมีสัดส่วนที่เหมาะสมแก่รายได้และการพัฒนาท้องถิ่น โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง (2) ตามมาตรา 157 การจัดทำโครงสร้างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรอบอัตรากำลัง ข้าราชการและพนักงาน และกำหนดงบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อรองรับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโดยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยประสานงานกับกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

ข้อสังเกตในปัญหาสำคัญงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

          ขอประมวลภาพกระชับประเด็นเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาบางประการ เนื่องจากงานการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือทรัพยากรมนุษย์เป็นงานเฉพาะทางที่เป็นหัวใจในการจัดการคน (People Operations)

(1) เริ่มจากปัญหาอุปสรรคของ ก.พ. จากข้อมูลปี 2544 [11] ดังนี้ (1) ปัญหาการบริหาร ยังไม่อาจปฏิบัติภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย เพราะมาเน้นปฏิบัติมากกว่า (2) ปัญหาประสิทธิภาพการพิจารณา ใช้เวลามากล่าช้าด้วยปริมาณคำร้องที่มาก ที่ต้องรายงานนายกรัฐมนตรีอีกขั้นตอนหนึ่ง (3) ปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนถึง 3 หน่วยงานคือส่วนราชการ (กระทรวง ทบวง กรม), ก.พ. และ ศาลปกครอง (4) ปัญหาการไม่เห็นความสำคัญในการรักษาวินัยคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการซึ่งในท้องถิ่นพบปัญหาสำคัญทางการปฏิบัติในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 [12] อาทิ (1) ปัญหาตัวคณะกรรมการระดับจังหวัด คือ ด้านความเข้มแข็งของ ก.จังหวัด ไม่เป็นกลาง ไม่รู้ถ่องแท้ ไม่กล้าตัดสินใจ และ (2) ปัญหาด้านการถ่วงดุล ที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ภายใต้บุคคลคนเดียว ทั้งในตัวนายก อปท.เอง และ ตัวองค์กรบริหารงานบุคคล

(2) ในแนวทางการร่างกฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นนั้นยากยิ่ง เพราะหาตัวหลักกฎหมายมาเทียบยากอย่างไรก็ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) [13] ได้พยายามยึดแนวทางการร่างกฎหมายล้อจากกฎหมายหลัก คือ “พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน” และจาก “กฎหมายบุคคลกรุงเทพมหานคร (กทม.)” ที่มีผู้บริหารท้องถิ่นเป็นฝ่ายการเมืองเข้ามาตามวาระ ไม่ต่อเนื่อง แต่อาจมีข้อจำกัดที่ กทม. เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “มหานคร” (Metropolitan)ที่เป็นชุมชนเมือง (Urban) ขนาดใหญ่มาก

(3) การปฏิรูปท้องถิ่นมิใช่ประเด็นหลักในการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2560 [14] มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมี 11 ด้าน แต่ปรากฏว่าไม่มี “ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น” เพราะ รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 [15]บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ซึ่งในมาตรา 258 ข.(2) (3) (4) บัญญัติเรื่องท้องถิ่นไว้ในด้านการบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับการบริการประชาชนการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐ การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ

(4) การจัดทำร่าง “พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” ไม่ต่อเนื่อง ขาดตอน ไม่ตลอด ทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้รับร่างพระราชบัญญัติเหล่านั้นไว้พิจารณาแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง จากฉบับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พ.ศ. 2558 มาฉบับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พ.ศ. 2559 และ มาเป็นร่างฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) พ.ศ.2560 คือฉบับที่กำลังรับฟังความคิดเห็นปัจจุบันเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 [16] ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 [17] แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในช่วงอธิบดีจรินทร์ จักกะพาก ที่ปัจจุบันอธิบดีสุทธิพงษ์ จุลเจริญมารับช่วงต่อเพียงข้ามเสี้ยวเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีปัญหาความสับสนเกิดขึ้นมาก แม้ก่อนหน้านั้น จะได้รับฟังความคิดเห็นบ้างตามแนวทางรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วก็ไม่มีข้อยกเว้นการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

(5) มีข้อสังเกตว่าเดิมร่าง “กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการข้าราชการท้องถิ่น”  ตามผลการศึกษาในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 [18] ได้เสนอคณะกรรมการกลางบุคคล จตุภาคี ในสัดส่วนเท่ากันระหว่าง ส่วนราชการเกี่ยวข้อง นายก อปท. ข้าราชการ อปท. และ ผู้ทรงคุณวุฒิกล่าวคือ มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากเดิม 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ประกอบด้วย (1) ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง (2) ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และ (3) ผู้ทรงคุณวุฒิ เปลี่ยนเป็น 4 ฝ่าย (จตุภาคี) ประกอบด้วย (1) ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง (2) ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (3) ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และ (4) ผู้ทรงคุณวุฒิ

(6) มีผลศึกษาของเย็นวารี (2557) เรื่ององค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐที่ควรทบทวน [19]สรุปว่า บทบาทองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ใน 3 ลักษณะ คือ (1) “ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม” (2)  “ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล” และ (3) “ผู้แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ”  ทั้งสามบทบาทมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน (Conflict of Roles)  หรือ มีความขัดแย้งของบทบาท โดยเฉพาะการย้ายข้าราชการตำแหน่งสูง และยังครอบคลุมไปถึงประเด็นที่มีผลกระทบกับข้าราชการทุกคน โดยถ้าจะให้ความสำคัญกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ก็ต้องจัดตั้งองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการอิสระ (Commission)  ถ้าจะเน้นความเข้มแข็งของรัฐบาล ก็ต้องจัดตั้งองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลในรูปสำนักงานที่มีหัวหน้าสำนักงานขึ้นตรงกับหัวหน้ารัฐบาล  ถ้าจะเน้นความเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องจัดตั้งในรูปสหภาพข้าราชการ

จากประสบการณ์ของต่างประเทศองค์กรกลาง มีการจัดองค์กรเป็น 3 รูปแบบ [20] คือ (1) รูปแบบ คณะกรรมการ (Commission Type) 3-7 คน ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 9 – 18 คนมีวาระ 1-2, 2-4 ปี (2-6 ปี) (2) รูปแบบผู้อำนวยการ (Directory Type) เป็นมืออาชีพ (Professional) ที่นิยมกันในวงธุรกิจ และ (3) รูปแบบผสม (Mixed Type) โดยอังกฤษ อเมริกา จะเป็นแบบกระจายอำนาจ แต่แถบเอเชีย และ ไทย เป็นแบบรวบอำนาจ

(7) ผลการศึกษาของธนาคารโลก เรื่อง รายงานศึกษาการบริหารจัดการการคลังสาธารณะของประเทศไทย รายงานศึกษาฉบับที่ 3 (2553) [21] ให้ข้อแนะนำว่า หน่วยงานส่วนท้องถิ่นไม่ควรอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎระเบียบที่กำหนดจากส่วนกลาง จากข้อกำหนดด้านการคลังที่กำหนดเพดานรายจ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรในท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ดี และหากท้องถิ่นมีการนำแนวทางการดำเนินงานที่ให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารบุคลากรแล้ว ในระยะยาวจะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นหาทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการให้บริการมากขึ้นทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการดังกล่าวก็อาจจะนำไปใช้กับการบริหารราชการส่วนกลางด้วยก็จะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหน่วยงาน อย่างไรก็ดีกรอบวงเงินรายจ่ายค่าตอบแทนบุคคลากรท้องถิ่นควรเพิ่มให้เป็นร้อยละ 50 เพื่อช่วยแก้ปัญหาความไม่พอเพียงของบุคลากรท้องถิ่น ซึ่งในประเทศบราซิลก็มีกฎการคลังที่คล้ายคลึงกับของประเทศไทยโดยกำหนดกรอบวงเงินรายจ่ายค่าตอบแทนบุคคลากรท้องถิ่นไว้ที่ร้อยละ 60 และที่ร้อยละ 50 สำหรับรัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางตามลำดับ

         

          การศึกษาทำความเข้าใจองค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือ “องค์กรกลาง” เป็นเรื่องเฉพาะทางที่ต้องอาศัย “มืออาชีพ” (Professional) เพราะ งานบุคคลเป็นหัวใจอันสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะงานการบริการประชาชน เป็น “งานบริการสาธารณะ” หรือ “กิจกรรมสาธารณะ” ของ อปท. ที่ต้องให้อำนาจอิสระแก่ อปท. ตามที่รัฐธรรมบัญญัติไว้ โดยไม่อยู่ใต้อาณัติ การกำกับ หรือ การควบคุม ชี้นำอันเกินจำเป็น ยกเว้นในเรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ” ที่ อปท. ต้องมีมากขึ้น

 

 

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23628  หน้า 6, บทความพิเศษ 

[2]มาตรา 71/1 ให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ร.” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีหนึ่งคนที่นายกรัฐมนตรีกำหนดเป็นรองประธาน ผู้ซึ่งคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบหมายหนึ่งคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสิบคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การบริหารธุรกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยาอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผล คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคนต้องทำงานเต็มเวลาก็ได้ ***

เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง

การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจากรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอโดยวิธีการสรรหา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

*** มาตรา 71/1 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550,

http://www.bandungcity.go.th/i... 

https://www.opdc.go.th/uploads...

[3]พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 13 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ก.พ.”

[4]ปิลันธน์ กาทอง, องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณีการอุทธรณ์และร้องทุกข์,  วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2553, http://digi.library.tu.ac.th/t...  

& วัธนี  ตรีทอง, สถานภาพและบทบาทด้านพิทักษ์ระบบคุณธรรมของ ก.พ., ภาคนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2544, http://digi.library.tu.ac.th/t...

[5] บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ (เรียบเรียง), พรบ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 8 พ.ศ.2553, http://wiki.kpi.ac.th/index.ph...

[6]มาตรา 3/1  การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน

การจัดสรรงบประมาณ และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงหลักการตามวรรคหนึ่ง

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้

*** เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545

[7]มาตรา 71/10   ก.พ.ร.  มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1.  เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่น  ซึ่งรวมถึงโครงสร้างระบบราชการ ระบบงบประมาณ ระบบบุคลากร  มาตรฐานทางคุณธรรม และจริยธรรม  ค่าตอบแทน และวิธีปฏิบัติราชการอื่น  ให้เป็นไปตามมาตรา 3/1  โดยจะเสนอแนะให้มีการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์และมาตรการก็ได้

2.  เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานอื่นของรัฐที่มิได้อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหารตามที่หน่วยงานดังกล่าวร้องขอ

3.  รายงานต่อคณะรัฐมนตรีในกรณีที่มีการดำเนินการขัดหรือไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 3/1

4.  เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการจัดตั้ง การรวม การโอน การยุบเลิก การกำหนดชื่อ การเปลี่ยนชื่อ การกำหนดอำนาจหน้าที่ และการแบ่งส่วนราชการภายในของส่วนราชการที่เป็นกระทรวง  ทบวง กรม  หรือส่วนราชการอื่น

5.  เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา และกฎที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

6.  ดำเนินการให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการอบรม

7.  ติดตาม ประเมินผล  และแนะนำเพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ

8.  ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้  หรือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง  ทบวง กรม รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติ ในกรณีที่เป็นปัญหา มติของคณะกรรมการตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

9.   เรียกให้เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นใดมาชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา

10. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนาและจัดระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่น เสนอต่อคณะรัฐมนตรี  เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

11.  แต่งตั้งคณะกรรมการ  คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ  ตามที่ มอบหมาย และจะกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนอื่นด้วยก็ได้

12. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

*** ส่วนที่ 4 คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มาตรา 71/1 ถึง มาตรา 71/10 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545

[8]กำลังคนภาครัฐ : สภาพปัจจุบันและแนวโน้ม, โดยthaireform, 18 มกราคม 2560, https://www.isranews.org/thair...

1. ปัจจุบันภาครัฐเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีอัตรากำลังทุกประเภท ทั้งในฝ่ายพลเรือนและทหาร รวมทั้งสิ้น 2841,259 อัตรา โดยร้อยละ 63.41 มีสถานะเป็นข้าราชการที่เหลืออีกร้อยละ 36.59 ไม่ใช่ข้าราชการ   (พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานช้าง) โดยกำลังคนภาครัฐส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ในราชการบริหารส่วนกลางและภูมิภาค  มากกว่าส่วนท้องถิ่น

2. ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2538-2558) อัตรากำลังภาครัฐทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.74 ต่อ ปี โดย

2.1 อัตราข้าราชการในสังกัดฝ่ายบริหารในราชการบริหารส่วนกลางและภูมิภาค มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ   0.65 ต่อปี (ข้าราชการที่มีจำนวนลดลง ได้แก่ ข้าราชการทหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงทำให้จำนวนใน ภาพรวมลดลง)

2.2 อัตราข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการกรุงเทพมหานคร พนักงานส่วนตำบล และพนักงานเทศบาล) ข้าราชการนอกฝ่ายบริหาร (ข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้าราชการตุลาการและข้าราชการอัยการ) และพนักงานราชการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.59 34.60 และ 14.49 ต่อปี ตามลำดับ

… คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งสำนักงาน ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดกรอบอัตรากำลังและวางแผนบริหารกำลังคนภาครัฐเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำข้อเสนอสำหรับการบริหารขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี แล้ว ซึ่งจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

[9]มาตรา 23 ภายใต้บังคับมาตรา 8 ให้คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(1) กำหนดทิศทาง นโยบาย  ยุทธศาสตร์ หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานในการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเพื่อให้การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทมีประสิทธิภาพเป็นแนวทางที่สอดคล้องกัน และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของท้องถิ่นและของรัฐ

(2) ออกกฎ ก.ถ. ประกาศและระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น  การให้คำแนะนำหรือวางแนวทางการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้  กฎ ก.ถ. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

(3) กำหนดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(4) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญาประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่น  เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นและการกำหนดเงินเดือนหรือค่าตอบแทนรวมทั้งระดับตำแหน่ง ตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ และประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว

(5) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสอบแข่งขัน การสอบคัดเลือก คัดเลือก การบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย  การโอนข้าราชการส่วนท้องถิ่นระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับส่วนราชการอื่น หรือการรับโอนข้าราชการประเภทอื่นมาเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น การเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนระดับ การสอบสวน การลงโทษทางวินัย  การให้พ้นจากตำแหน่งและการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

(6) การกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าครองชีพ  และสวัสดิการ ประโยชน์ตอบแทนอื่น  ให้คำนึงถึงการมีสัดส่วนที่เหมาะสมแก่รายได้และการพัฒนาท้องถิ่น โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

(7) พัฒนาข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ ความสามารถ  ความซื่อสัตย์ สุจริต คุณธรรมและมีทัศนคติที่ดี เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งส่งเสริมให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติราชการ

(8) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้และจัดทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับทิศทาง นโยบาย และยุทธศาสตร์การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ทุนการศึกษาดังกล่าวให้ใช้จากรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสงค์จะให้ทุนการศึกษานั้น

(9) ดำเนินการสรรหาข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยการสอบแข่งขัน สอบคัดเลือกและคัดเลือกตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น  ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่นและตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา

(10) ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎ ก.ถ.

(11) จัดระบบทะเบียนประวัติข้าราชการส่วนท้องถิ่นและการแก้ไขทะเบียนประวัติข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการควบคุมเกษียณอายุราชการของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

(12) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้

(13) กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นและการบังคับการให้เป็นไปตามนโยบาย กฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรฐาน และมติของ ก.ถ.  รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

(14) ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้ง กำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เป็นปัญหา

(15) กำกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.ถ.

(16) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่น

[10]มาตรา 157 ให้กระทรวงมหาดไทยประสานงานกับกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำโครงสร้างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรอบอัตรากำลัง ข้าราชการและพนักงาน และกำหนดงบประมาณ รวมทั้งการดำเนินการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อรองรับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

[11]ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข และ ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร, การวิจัย “บทบาทหน้าที่ของ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. และบทบาทของส่วนราชการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในทศวรรษหน้า”, บทที่ 2 ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. และบทบาทของส่วนราชการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล, 2552,  http://lib.dtc.ac.th/ebook/Hum...

& บทสรุปสำหรับผู้บริหาร, http://lib.dtc.ac.th/ebook/Humanity/Research/36%20Executive%20Sum%20TH.pdf

[12]PowerPoint การรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://local.moi.go.th/7.1.pdf   ในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

[13]สรุปเวทีสัมมนาร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย), จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย วันที่ 29 มิถุนายน 2559, ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้า แกรนด์ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, http://www.lrct.go.th/th/wp-content/uploads/2016/09/สรุปการสัมมนาร่างพระราชบัญญัติ-การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น-พ.ศ.-.....pdf

[14]ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน, ข่าวไทยพีบีเอส, 15 สิงหาคม 2560,

https://news.thaipbs.or.th/con...

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 ด้าน ดังนี้ (1) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (2) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (5) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (6) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7)  คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (8) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ (9) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม (10) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (11) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

[15]มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ ...

ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

                (1) ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

                (2) ให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน

                (3) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน

                (4) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง

โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา

                (5) ให้มีการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน ...

[16]ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...., ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (การรับฟังความคิดเห็น), ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0809.2/ว 1821 ลงวันที่ 8 กันยายน 2560 เรื่อง ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...  , http://www.dla.go.th/pub/25600...

[17]มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็นพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ  ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

[18]ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...., ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การรับฟังความคิดเห็น 8 กันยายน 2560 , อ้างแล้ว, กำหนดคณะกรรมการเป็น “ไตรภาคี”  & ดู อรทัย ก๊กผล และสุมามาลย์ ชาวนา, ร่วมคิด ร่วมปฏิรูป การบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น, สถาบันพระปกเกล้า, local forum 2007, 2550. http://kpi.ac.th/media/pdf/M10_186.pdf

[19]เย็นวารี, องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ : ประเด็นที่ควรทบทวน, 13 กุมภาพันธ์ 2557, http://hrnoakkala.blogspot.com/2014/02/blog-post_20.html

[20]ดู จุรี วิจิตรวาทการ จิรวรรณ ภักดีบุตร และ เกศกานดา จตุรงคโชค, 2547 ใน ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข และ ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร, การวิจัย “บทบาทหน้าที่ของ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. และบทบาทของส่วนราชการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในทศวรรษหน้า”, 2552, อ้างแล้ว

& ประวิทย์ ทองภูเบศร์, การบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานคร : ศึกษาเฉพาะกรณีคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520, http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/0340/01ชื่อเรื่อง.pdf

[21]รายงานศึกษาการบริหารจัดการการคลังสาธารณะของประเทศไทย รายงานศึกษาฉบับที่ 3, ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น (แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ), 2553, http://documents.worldbank.org/curated/en/219131468312352683/pdf/674860v20P14640ons0Paper0THAI0Clean.pdf



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท