หลักสูตรท้องถิ่น


หลักสูตรท้องถิ่น

ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น 

           นักวิชาการและนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่นไว้หลากหลายดังนี้ กรมวิชาการ (2545) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่นหมายถึง มวลประสบการณ์ที่จัดขึ้นทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ และคุณภาพการดำรงชีวิตโดยพยายามใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้บนพื้นฐานของสภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ของตนเองตลอดจนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง ใจทิพย์เชื้อรัตนพงษ์ (2539) กล่าวว่า หลักสูตรระดับท้องถิ่นหมายถึงมวลประสบการณ์ที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานและบุคคลในท้องถิ่นจัดให้แก่ผู้เรียนตามสภาพและความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ ประมวลสาระชุดวิชาการพัฒนาหลักสูตรและวิทยวิธีทางการสอน(มสธ.) (มปป.) ให้ความหมายหลักสูตรท้องถิ่น หมายถึงเนื้อหาสาระและมวลประสบการณ์ที่จัดให้กับผู้เรียนในท้องถิ่นที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะถ้าพิจารณาขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรของหลักสูตรกลางและหลักสูตรท้องถิ่นจะพบว่ามีขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไปบ้างหลักสูตรท้องถิ่นแบ่งได้เป็น 2ลักษณะ คือ  หลักสูตรท้องถิ่นที่สร้างขึ้นเพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อผู้เรียนในท้องถิ่นทุกวัย ทุกระดับอายุ เช่น หลักสูตรจักสาน หลักสูตรการทำของชำร่วยจากเปลือกหอยเป็นต้น หลักสูตรอีกประเภทหนึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเสริมหลักสูตรแกนกลางให้มีความสมบูรณ์ขึ้นหลักสูตรท้องถิ่นในลักษณะนี้จะใช้ร่วมกับหลักสูตรแกนกลาง โดยอาจจัดเป็นรายวิชาอิสระที่ให้เลือกเรียนหรือไม่อาจจัดเป็นรายวิชาแต่จัดเป็นกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ผู้สอนสามารถดัดแปลงเนื้อหาที่กำหนดมาจากส่วนกลางมาประยุกต์โดยนำเอาสาระทรัพยากร เทคนิควิธีการท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ได้ 

หลักสูตรท้องถิ่น

          คือหลักสูตรที่ได้คิดค้น ประยุกต์ มาจากสภาพแวดล้อม ชุมชน ทรัพยากรรวมทั้งบุคลากรและความสนใจ ความสามารถของนักเรียน  กล่าวโดยสรุปหลักสูตรท้องถิ่น คือการจัดประสบการณ์การเรียนและเนื้อหาสาระให้กับผู้เรียนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงทางสังคมวัฒนธรรมและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและของท้องถิ่นนั้น ๆ  

ความเป็นมาของหลักสูตรท้องถิ่นการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นและจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม 

(Integratedlearning to the Unified Concept) 

            ในการจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ ปรับปรุง พ.ศ. 2545 ได้กำหนดการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยแนวทางการจัดการศึกษา โดยเฉพาะมาตรา 22 : หลักการจัดการศึกษา มาตรา 23 : สาระการเรียนรู้มาตรา 24 :กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวมโดยผ่านการบูรณาการเรียนรู้ด้านต่างๆ อย่างสมดุล การเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวมเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงหลอมรวมเป้าหมายการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ สาระหรือประสบการณ์ทั้งภายในกลุ่มสาระหรือระหว่างกลุ่มสาระ อย่างกลมกลืนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และพัฒนาผู้เรียนเป็นองค์รวม (ทุกด้าน)ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้ผ่านโครงงานและการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่สอดคล้องกับชีวิตจริง  นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542เป็นกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกที่เป็นเสมือนธรรมนูญการศึกษา  ที่กำหนดกรอบแนวคิด  ความมุ่งหมายและหลักการสิทธิหน้าที่ทางการศึกษา ระบบการศึกษา  แนวการจัดการศึกษา  การบริหารและการจัดการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา  ครู  คณาจารย์และบุคลากร  ทรัพยากรและการลงทุน เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้ถึง 9 หมวด 78 มาตรา  ที่ครอบคลุมการปฏิรูปการศึกษาไว้ครบทุกด้าน  โดยเฉพาะในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา  ตามความที่ปรากฏในมาตรา 27 กำหนดให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทยความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวชุมชน สังคม และประเทศชาติ  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาโดยตรงที่จะต้องจัดทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น  

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หลักการจัดการศึกษาแนวการจัดการศึกษา

           ซึ่งระบุไว้ในหมวด 4 ได้แก่มาตรา 22,23 24,25, 26, 27, 28, 29, 30 ซึ่งแสดงแผนภูมิดังต่อไปนี้

ความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่น

          ถึงแม้ว่าจะมีหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บทแล้วแต่ยังต้องมีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ทั้งนี้มีเหตุผลและความจำเป็นดังต่อไปนี้คือ (ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ 2539:109-110)

               1.1   หลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บทได้กำหนดจุดหมายเนื้อหาสาระ และกิจกรรมอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้คล้ายคลึงกัน ทำให้กระบวนการเรียนการสอนมุ่งเนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่เป็นหลักการทั่ว ๆ ไปไม่สามารถประมวลรายละเอียดเกี่ยวกับสาระความรู้ตามสภาพแวดล้อม สังคม เศษฐกิจ ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นในแต่ละแห่งได้ทั้งหมด จึงต้องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นให้มากที่สุด

              1.2   การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลกระทบโดยตรงต่อทรรศนะและการดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งในเมืองและชนบท จึงต้องมีหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อปรับสภาพของผู้เรียนให้สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังกล่าวโดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภูมิลำเนาท้องถิ่นของตน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาตน ครอบครัว และท้องถิ่นตลอดจนดำเนินชีวิตอยู่ในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นสุข

              1.3     การเรียนรู้ที่ดีควรจะเรียนรุ้จากสิ่งที่ใกล้ตัวไปยังสิ่งที่ไกลตัวเพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถดูดซับได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นจึงควรมีหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงตามสภาพเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นตน แทนที่จะเรียนรู้เรื่องไกลตัว ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักชีวิต ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจะช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพัน รวมทั้งภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน

             1.4    ทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในชนบทของไทยมีอยู่มากมายและมีค่าบ่งบอกถึงความเจริญมาเป็นเวลานาน หลักสูตรแม่บทหรือหลักสูตรแกนกลางไม่สามารถนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หลักสูตรท้องถิ่นสามารถบูรณาการเอาทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งหลายมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าด้านอาชีพ หัตถกรรม เกษตรกรรม ดนตรี การแสดงวรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมีผลทำให้ผู้เรียนได้รู้จักท้องถิ่นของตน เกิดความรักความผูกพันกับท้องถิ่นของตน และสามารถใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในการประกอบอาชีพได้    

          ลักษณะ/รูปแบบของหลักสูตรท้องถิ่น                           

หลักสูตรท้องถิ่น  มี  2  ลักษณะ/รูปแบบ  คือ                        

  •       เป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้างอย่างเท่าเทียมกับครู  และนักวิชาการจากภายนอก  เนื้อหาสาระ  โครงสร้างการจัดเวลา  การจัดการและการบริหารหลักสูตรเป็นไปตามแนวคิดและหลักการทีชาวบ้านในท้องถิ่นให้ความสำคัญ  และเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่สมาชิกของท้องถิ่นนั้นจะต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอด  ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่นนั้น โดยเฉพาะมีการบูรณาการวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นท้องถิ่น  กระบวนการเรียนรู้ตามวิถีท้องถิ่นกับความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน  ชาวบ้านที่ร่วมสร้างหลักสูตรมีส่วนร่วมในการประเมินนักเรียน 
  •      เป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจากหลาย ๆ  องค์กรทั้งภาครัฐ  เอกชนและกลุ่มธุรกิจเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน  หรือแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชน  เนื้อหาที่บรรจุในหลักสูตรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญญาชาวบ้านโดยตรง  เป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ  และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านลงความเห็นร่วมกันว่าสามารถช่วยให้ชุมชนพัฒนาตนเองได้โดยคงความเป็นเอกลักษณ์ของตนไว้  ชาวบ้านจัดสรรงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการพัฒนาและและดำเนินการเอง 

แนวทางการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น            

         ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอาจมีขั้นตอนแตกต่างกันไปบ้างตามแนวความคิดของนักการศึกษาและนักวิชาการ ดังนี้  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 (2544) กล่าวในขั้นตอนการจัดหลักสูตรไว้ดังนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สถานศึกษานำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษานั้นกำหนดโครงสร้างที่เป็นสาระการเรียนรู้จำนวนเวลาอย่างกว้าง ๆ มาตรฐานการเรียนรู้ที่แสดงคุณภาพผู้เรียนเมื่อเรียนจบ 12ปี และเมื่อจบการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้นของสาระการเรียนรู้แต่ละกลุ่มสถานศึกษาต้องนำโครงสร้างดังกล่าวนี้ไปจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพปัญหา ความพร้อม เอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้งนี้สถานศึกษาต้องจัดทำรายวิชาในแต่ละกลุ่มให้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนด การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นมีขั้นตอนดังนี้  

ขั้นที่ 1 การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น          

ขั้นที่ 2 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน          

ขั้นที่ 3 การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตรระดับท้องถิ่น          

ขั้นที่ 4 การกำหนดเนื้อหา         

ขั้นที่ 5 การกำหนดกิจกรรม          

ขั้นที่ 6 การกำหนดคาบเวลาเรียน          

ขั้นที่ 7 การกำหนดเกณฑ์ การวัดและประเมินผล          

ขั้นที่ 8 การจัดทำเอกสารหลักสูตร         

ขั้นที่ 9 การตรวจสอบคุณภาพและการทดลองใช้หลักสูตร          

ขั้นที่ 10 การเสนอขออนุมัติใช้หลักสูตร          

ขั้นที่ 11 การนำหลักสูตรไปใช้           

ขั้นที่ 12 การประเมินผลหลักสูตร 

        การปรับหลักสูตรให้เข้ากับสภาพสังคมของท้องถิ่นอาจจะดำเนินการในระดับเขตการศึกษาระดับจังหวัด ระดับอำเภอ หรือระดับโรงเรียนก็ได้ การดำเนินการทุกระดับหากจะให้เป็นไปอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอนควรมีลำดับขั้นดังนี้     

  • ขั้นที่1จัดทำคณะทำงานควรเลือกบุคคลที่มีความสามารถและมีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ          
  • ขั้นที่2ศึกษาสภาพข้อมูลพื้นฐาน เพื่อจะได้ทราบข้อมูลที่แท้จริงภายในสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น          
  • ขั้นที่3กำหนดจุดมุ่งหมายสำหรับหลักสูตรท้องถิ่นว่าจะทำการพัฒนาโดยการปรับหลักสูตรกลางหรือสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาเสริมนั้นควรให้บรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง          
  • ขั้นที่4ดำเนินการเลือกเนื้อหาสาระที่มีอยู่ในหลักสูตรกลางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นและ/ หรือจัดสร้างกระบวนวิชาขึ้นมาใหม่          
  • ขั้นที่5ดำเนินการใช้หลักสูตรตามที่ได้ปรับขยายไว้แล้วโดยมีการนิเทศติดตามผลการใช้อย่างใกล้ชิด          
  • ขั้นที่6ประเมินผลการใช้หลักสูตร เป็นขั้นที่มีความสำคัญมากเพราะจะทำให้ทราบว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไร          
  • ขั้นที่7ทำการปรับปรุงแก้ไขเป็นขั้นตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรว่าสมควรจะได้มีการปรับปรุงแก้ไข ตรงจุดไหนจึงจะทำให้หลักสูตรเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาในสังคม ส่วนรวมและสังคมท้องถิ่นให้มากที่สุด 

แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรนั้นกรมวิชาการ (2545) ได้ให้แนวทางพัฒนาหลักสูตรเป็น 5ลักษณะ ดังนี้ 

1. การปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเสริม ให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่น โดยไม่ทำให้จุดประสงค์ เนื้อหา คาบเวลาเรียน ของรายวิชาพื้นฐานนั้นเปลี่ยนไป

2. การปรับหรือเพิ่มรายละเอียดหัวข้อของเนื้อหา หมายถึง การปรับเนื้อหาด้วยการลดหรือเพิ่มปรับรายละเอียดของเนื้อหา โดยไม่ทำให้จุดประสงค์ คาบเวลาเรียน ของรายวิชาพื้นฐานนั้นเปลี่ยนไป          

3. การปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน เป็นการเพิ่มเติม ตัดทอน สื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับท้องถิ่น โดยไม่ทำให้จุดประสงค์ คาบเวลาเรียน ของรายวิชาพื้นฐานนั้นเปลี่ยนไป 

4. การจัดทำสื่อการเรียนการสอนขึ้นใหม่ ทำได้โดยการจัดทำหนังสือเรียน คู่มือครู หนังสือเสริมประสบการณ์ แบบฝึกหัด และเอกสารประกอบการเรียนการสอนขึ้นใช้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ เนื้อหา และสภาพท้องถิ่น    

5. การจัดทำคำอธิบายรายวิชาเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เป็นการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นทั้งรายวิชาแต่ไม่ซ้ำซ้อนกับรายวิชาที่เป็นรายวิชาพื้นฐานโดยศึกษาทั้งหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาที่จัดทำไว้แล้ว         


หมายเลขบันทึก: 643535เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2017 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2017 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท