M สไตล์บ้านๆ
ว่าที่ร้อยตรี นพรัตน์ เอ็ม ไชยชนะ

"สะนู่มู่หละ" วิถีชีวิตกับความมั่นคงทางอาหารในมิติวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงโปร์ บ้านบ้องตี้ล่าง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี


บ้านบ้องตี้ล่าง 

สะนู่มู่หละ  วิถีชีวิตกับความมั่นคงทางอาหารในมิติวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงโปร์ 

หลักคิดเรื่อง "สะนู่มู่หละ" เป็นเรื่องของศีลธรรมและวัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นกฎระเบียบของชุมชน ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติไม่อยู่ในความเที่ยงธรรม ต้องรับผิดตามกฎ สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของสังคมมนุษย์ สังคมสัตว์ ธรรมชาติ มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการประกอบอาชีพทางเศรษฐกิจ การทำมาหากินทุกอย่าง ถ้าเรามีฐานทางเศรษฐกิจ คือ การมาหากินอย่างเดียวย่อมจะไม่เกิดความไม่เสมอภาค ทำให้เกิดความแย่งชิงอำนาจ และการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ไม่มีความเป็นธรรมในสังคม จึงต้องมี สะนู่มู่หละ เข้ามาเพื่อชี้เห็นถึงถึงคุณธรรม ศีลธรรม และมีกฎทางสังคม คือ ระเบียบแบบแผนในหลักการนี้ด้วย เพื่อการวางกรอบระเบียบให้อยู่ร่วมในสังคม (สุรวัฒชัย ไทรสังขชวลิต และคณะ, 2552: 42) ดังนั้น สะนู่มู่หละ จึงมีความสัมพันธ์เรื่องคน สังคม การอยู่ร่วมกัน ภุมิปัญญา วัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนและท้องถิ่น และระดับครัวเรือนต่อไป

            วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่นี้ยังคงมีรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมซึ่งยึดมั่นในพระพุทธศาสนานับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติและวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก เช่น ในการเลือกพื้นที่ทำไร่ ปลูกข้าวไร่ ปลูกบ้าน ฯลฯ ล้วนจะต้องมีการทำพิธีบวงสรวง เสี่ยงทาย ขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองอยู่ทั้งสิ้น สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฏีโครงสร้างหน้าที่ที่มนุษย์เมื่ออยู่รวมกันในสังคมต้องมีการจัดระเบียบทางสังคมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกัน ในกฎระเบียบที่มีการตกลงร่วมกันเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข (นพรัตน์ ไชยชนะ, 2559: 89) สำหรับประเด็นวิถีชีวิต "สะนู่มู่หละ" ที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนบ้านบ้องตี้ล่าง พบว่า

 

            ชุมชนชาติพันธุ์บ้านบ้องตี้ล่าง

            บ้านบ้องตี้ล่าง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีโดยทั่วไปเป็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกับที่ราบ บริเวณชุมชนถูกล้อมรอบไปด้วยป่าและภูเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อนกันออกไป บริเวณแนวภูเขาและผืนป่ารอบนอกกลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างชุมชนบ้องตี้กับหมู่บ้านและตำบล และประเทศเมียนมาร์ ปัจจุบันชุมชนบ้านบ้องตี้อยู่ในเขตการปกครองของหมู่ที่ 1 บ้านบ้องตี้บน หมู่ที่ 2 บ้านบ้องตี้ล่าง และหมู่ที่ 3 บ้านท้ายเหมือง มีเอกสารงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้กล่าวถึงที่มาของชุมชนแห่งนี้ อาทิ งานวิจัยเรื่อง ความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนของคนชายขอบ: รูปแบบการบริโภค และแหล่งที่มาของอาหารของครัวเรือนกะเหรี่ยงภาคตะวันตก ประเทศไทย โดยสุรชัย รักษาชาติ (2545: 47 - 49)  และงานวิจัยเรื่อง 80 ปี ของชุมชนบ้องตี้: จาก "หมู่บ้านกะเหรี่ยง" ถึง "หมู่บ้านชายแดน" โดยเรวดี อุลิต (2552: 30 -33) และงานวิจัยเรื่องกะเหรี่ยงในนอกปฏิสัมพันธ์ชุมชนชายแดน โดย คมลักษณ์ ไชยยะ (2551: 23- 25) ได้กล่าวถึงที่มาของบ้องตี้ สอดคล้องกัน กล่าวคือ "บ้องตี้" มีที่มา  2 กรณี ด้วยกัน คือ

            ข้อมูลจากเอกสารพบว่า บ้องตี้ น่าจะเพี้ยนมาจากคำในภาษากะเหรี่ยง ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า "เปาะทิ" มีความหมายว่า "ห้วยน้ำเหลือง"  ชุมชนมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่า บริเวณถิ่นนี้เป็นที่จุดพักของผู้คนมาตั้งแต่สมัยอดีตยุคก่อนประวัติศาสตร์จากคำที่กล่าวมาข้างต้นผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ห้วยน้ำเหลืองอาจจะมาจากชื่อ ลำห้วยในชุมชน และจากสภาพของภูเขาหินปูนที่มีสีเหลืองติดบริเวณผา ซึ่งสอดคล้องกับการจัดสนทนากลุ่มที่ได้สอบถามถึงที่มาของชื้อหมู่บ้านบ้องตี้ ที่ได้กล่าวว่า

 

        "บ้องตี้ มาจากภาษากะเหรี่ยงนะ เพราะกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หลักๆ คำว่าบ้องตี้ มันมาจากคำว่า "เบาะทิ" แปลว่า น้ำเหลือง ไม่รู้มาจากอะไร" (พิชิต  ช้างแรงกาล, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559)

 

            ส่วนอีกความหมายหนึ่งกล่าวว่า "บ้องตี้" มาจากภาษามอญ หากพูดว่าว่า "บ้องตี่" คนมอญสามารถเข้าใจความไดทันที ชาวมอญเป็นชนชาติเก่าแก่ เคยครอบครองดินแดนพม่าตอนล่าง ซึ่งมีเมืองสะเดิมเป็นศูนย์กลาง สำหรับบ้องตี่ แปลว่า เมื่อขา บางคนบอกว่า เมื่อยน่อง ขาล้า เป็นต้น อาการปวดเมื่อนเหนื่อยล้าเหล่านี้ บ่งบอกถึงความห่างไกลของพื้นที่ อันเกิดจาการเดินทางในสมัยนั้น หากมาจากในเมืองหรือหมู่บ้านอื่นกว่าจะถึงหมู่บ้านบ้องตี้ต้องเดินกันจน "เมื่อยขา" หรือต้องเดินกันจนถึงเหนึ่งวันเต็มๆ กว่าจะไปถึงตัวอำเภอไทรโยคหรือกาญจนบุรี ดังคำกล่าว

     ""บ้องตี้" มาจากภาษามอญ แปลว่า เมื่อยขา ปวดเมื่อย ล้า เพราะการเดินทางจากในอดีต มันต้องเดินทางไกล กว่าจะไปถึงเมือง ต้องเดินลัดเขา ใช้เวลาเป็นวันๆ " (เอกพงษ์ บุญจันทร์, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560)

 

            จากการสอบถามในการจัดเวทีสนทนากลุ่ม พบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีความเชื่อว่า หมู่บ้านบ้องตี้นั้น มาจากภาษามอญ และน่าจะเคยมีคนมอญอาศัยอยู่ก่อน แต่บ้องตี้ในยุคบรรพบุรุษของพวกเขามาตั้งถิ่นฐานมีแต่คนกะเหรี่ยง ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยงที่เกิดในประเทศไทยและฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในมอญในชุมชนบ้องตี้มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

            กล่าวได้ว่า ชุมชนชายแดนบ้านบ้องตี้ล่าง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีที่มาที่ยังคงสับสนของคนในชุมชนอยู่ ในทัศนะของผู้วิจัยมีความเห็นว่า คำว่าบ้องตี้ เป็นคำที่เป็นไปได้ ทั้งสองชื่อ ขณะเดียวกัน มีความเห็นว่า บ้องตี้ น่าจะเป็นภาษามอญมากกว่า เนื่องจากในอดีต การสำรวจพรมแดนระหว่างไทย - เมียนมาร์ ต้องใช้คนมอญ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวในการสำรวจเส้นทาง การเดินทางสำรวจดังกล่าวต้องเดินข้ามหุบเขาตามแนวชายแดน จนต้องพูดว่า "บ้องตี้" ซึ่งแปลว่าเมื่อยขา ปวดเมื่อยนั้นเอง

 

            ความหลากหลายของทรัพยากรท้องถิ่น

            บ้านบ้องตี้ล่าง เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา เมื่ออยู่ในชุมชนจะมองเห็นแนว "เขาแดน" หรือเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวจากเหนือลงใต้ มองเห็นอยู่ไม่ไกล และสามารถมองเห็นได้ทุกบริเวณ พื้นที่แวดล้อมของชุมชนเป็นผืนป่าตามแนวเขา สลับกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งกระจายอยู่รอบนอกชุมชน ไปจนจรดเขตป่าสงวนแห่งชาติวังใหญ่ - แม่น้ำแควน้อย อุทยานแห่งชาติไทรโยค (คมลักษณ์ ไชยยะ, 2551: 33) ทางทิศตะวันตกของชุมชนติดเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและเมียนมาร์ มีแนวทิวเขาที่เขาบ้านเรียกว่า "เขามะพร้าว" ซึ่งเป็นแหล่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่แหล่งนี้เข้าไปล่าสัตว์และเก็บหาของป่า ดังคำกล่าว

 

"บ้องตี้ล่าง เป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเป็นชุมชนชายแดน โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอยู่จำนวนมากที่สุด ข้อดีของชุมชนนี้ คือ การเป็นพื้นที่ชายแดนและค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์"  (ผกามาศ แสงพิรม, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560)

 

"พื้นที่ตรงนี้ติดกับพม่า และก็มีการขามพรมแดนไปมา ติดต่อกันระหว่างบ้องตี้กับหมู่บ้านอีกฝั่ง โดยคนส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนกะเหรี่ยงเป็นหลัก"  (บุญแสง อาทิตนอก, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560)

 

            ภายใต้พื้นที่ชุมชนที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ พื้นที่บางส่วนถูกปกคลุมไปด้วยผืนป่าและภูเขาและการกระจายตัวของผู้คนในชุมชน ที่ไม่ได้รวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันดังคำกล่าว

 

"ดูจากพื้นที่มันกว้างมากเลยนะ บ้านคนที่นี้เลยกระจายไปตามที่ทำกินของตัวเอง" (สมควร บุญลอย, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560)

 

"บ้านแต่ละหลังดูข้าง ๆ กัน แต่ความสัมพันธ์ก็เป็นแบบเครือญาติ เพราะเราเชื่อว่าเรามาจากที่เดียวกัน และเรามีบรรพบุรุษเดียวกัน"  (พิชิต  ช้างแรงกาล, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560)

 

ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รู้จักการพึ่งพาธรรมชาติ รู้จักการใช้ประโยชน์จากพืชพรรณที่มีตามธรรมชาติ โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้ สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้พืชมาเป็นอาหาร เป็นยารักษาโรค เป็นเครื่องรางของขลังหรือไม้จะใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รู้จักวิธีการปลูกพืชให้ผสมผสานกับการดำเนินชีวิต เช่น วิธีการปูลกข้าวไร่ การหว่านเมล็ดผักชนิดต่างๆ วิธีการเก็บเมล็ดพันธ์ เพื่อใช้ไว้เพราะปลูกในปีถัดไป  สำหรับฐานทรัพยากรอาหารในชุมชนบ้านบ้องตี้ล่าง  มีข้อค้นพบดังนี้

ความหลากหลายของพืช การศึกษาพืชพื้นบ้านจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากพืชได้หลายลักษณะด้วยกัน และในพืชชนิดต่างหนึ่งๆ นั้นก็มีการนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายลักษณะ ซึ่งสามารถแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของชุมชนในท้องถิ่นได้ 5 กลุ่ม คือ 1.ใช้เป็นอาหาร ทั้งที่เป็นอาหารโดยตรงหรือเป็นอาหารสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นธัญพืช ผักและผลไม้ 2.ใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยและเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เน้นไม้ที่เป็นไม้เนื้อแข็งและทนทาน 3. ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ รวมถึงพืชเป็นสีย้อม 4. ใช้รักษาคนและสัตว์ รวมทั้งพืชพิษชนิดต่างๆ ที่ใช้เป็นยาป้องกันและกำจัดแมลง 5.พืชที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรม จากการเดินสำรวจ การสัมภาษณ์ผู้นำในชุมชนสอดคล้องกับคำกล่าวว่า

 

"ที่นี้มีผักท้องถิ่นเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อ บางทีก็ยังเอามาใช้แจกจ่าย แบ่งปันกัน ส่วนใหญ่เราได้จากการหาจากในป่า แล้วเอามาปลูกไว้ในไร่ และก็ปลูกไว้หลังบ้าน"  (ผกามาศ แสงพิรม, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560)

 

"พืช หรือ ผัก ส่วนใหญ่สามารถหาได้ในชุมชน แต่ปัจจุบันก็ต้องปลูกไว้ที่บ้านนะ เพราะไม่สามารถเข้าไปหาในป่าได้แล้ว คนเยอะขึ้น ทรัพยากรก็เริ่มหมดเหมือนกัน" (เอกพงษ์ บุญจันทร์, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560)

 

ความหลากหลายของสัตว์ บนพื้นที่บ้านบ้านบ้องตี้ล่าง เป็นพื้นที่มีการเชื่อมต่อของอาณาบริเวณเชิงนิเวศวิทยา (Ecoregion) คือ เขตพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียมาร์ ซึ่งมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวพรมแดนระหว่างสองประเทศ พื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นเทือกเขาและสภาพป่าที่มีการผสมผสานกันของป่าหลายชนิดซึ่งส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เมื่อพิจารณาถึงความหลากหลายของป่าที่อุดมสมบูรณ์ในอดีต พบว่าสัตว์สามารถพบได้อย่างชุกชุม กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สามารถล่าสัตว์ป่าได้อย่างเสรี แต่การล่าที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์ป่าลดลงจนทำให้บางชนิดต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด ต่อมารัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องประกาศพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าให้สามารถดำรงชีวิตและสืบต่อพันธุ์ได้ตามปกติในสภาพธรรมชาติ ทั้งนี้ได้รับการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาหลายแห่ง สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของผู้นำชุมชน กล่าวว่า

 

"ที่บริเวณนี้ ติดกับพม่า ทำให้มีสัตว์ค่อนข้างเยอะ เมื่อก่อนสัตว์ป่ามาถึงบ้านเลยนะ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่บ้าง มีช้างป่าลงมาถึงหน้าบ้านเลย" (วรวิทย์ - , สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560)

 

"สัตว์ป่ามีเยอะอาจะเป็นเพราะชุมชนเราติดพื้นที่ชายแดน และก็มีป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์"  (สไวย วิเศษคุณาการ, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560)

 

การธำรงรักษาฐานทรัพยากรท้องถิ่นของชาวบ้านบ้านบ้องตี้ล่างนั้น ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร จากวิถีการผลิตเอื้อต่อการมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี ปลูกข้าว ปลูกพืชเศรษฐกิจ ปลูกพืชบริเวณที่อาศัย สืบทอดภูมิปัญญาในชุมชน สามารถมีแหล่งอาหารไว้บริโภคตลอดปี แต่ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงต้องมีการปรับตัวเนื่องจากกฎหมายเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ชุมชนต้องนำพันธุ์พืชจากธรรมชาติมาปลูกไว้บริโภครอบบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครอบครัว

            วิถีชีวิตกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

            แนวคิดเรื่อง “การอยู่ร่วมกับป่า”  ปรากฎขึ้นมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ศยามล เจริญรัตน์. 2556: 16) ความผูกพันธ์ของคนและป่าที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ที่มีลักษณะให้และรับอย่างเกื้อกูลในการยังชีพ เพื่อคงอยู่ได้ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งมีทั้งแนวการดำเนินการจัดการ และข้อห้ามที่มีความเหมือนและต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่วิถีชีวิตการทำมาหากินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปร์บ้านบ้องตี้ล่าง อาจแบ่งได้หลายลักษณะตามรูปแบบการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน อย่างแรก คือ อาชีพการทำการเกษตรกรรม คือ การทำไร่และการเลี้ยงสัตว์ และสอง คือ อาชีพนอกภาคการเกษตรกรรม ดังคำกล่าว

 

"เมื่อก่อนจำได้ว่าสมัยตา ยาย เขาก็ทำไร่หมุนเวียนกัน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะเนื้อที่จำกัด และก็ไปยึดตามการเปลี่ยนแปลงของชุมชนอื่น ๆ นั้นก็คือการปลูกมัน อ้อย ข้าวโพด" (พลอย มิลินกุร, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560)

 

"ก็ทำอย่างที่เห็น ไร่ และก็เลี้ยงสัตว์เล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ขายบ้าง แบ่งบ้าง กินบ้าง" (ทองอาน วิเชียรเลิศ, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560)

 

            อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตแต่ละวันของผู้คนในบ้องตี้ล่าง ล้วนสัมพันธ์กับฤดูกาลในรอบปี เพราะแม้ว่าผู้ทำอาชีพนอกภาคการเกษตรกรรม เช่น รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ส่วนมากก็จะทำการเกษตรควบคู่ไปด้วย ข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่บ้านบ้องตี้ล่างนั้น มีไร่มันสำปะหลังเป็นพื้นที่เพาะปลูกมากสุด ส่วนรองลงมาคือ การทำไร่ข้าวโพด วิถีชีวิตของผู้คนในบ้องตี้ล่างเกือบทั้งหมด ต่างก็มีส่วนเกี่ยวพันกับระบบการผลิตทางการเกษตรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากไม่ได้เป็นเจ้าจองที่ ก็อาจเป็นแรงงานรับจ้างในการเพาะปลูก ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกเริ่มมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอรับกับปริมาณผู้คนที่เพิ่มขึ้น

            จะเห็นได้ว่า ในยุคสมัยปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปร์บ้านบ้องตี้ล่างได้หันมาทำการเกษตรแบบกระแสหลักกันเกือบทั้งหมู่บ้าน ทั้งนี้เป็นเพราะแรงจูงใจในเรื่องค่าตอบแทนจากการขายผลผลิตให้กับนายหน้า/พ่อค้าคนกลางที่สามารถทำกำไรให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งแท้จริงแล้วเบื้องหลังนั้นเป็นผลมาจากการที่สภาพนิเวศทางเกษตรยังไม่เสื่อมโทรม ดินยังอุดมสมบูรณ์อยู่สูงเนื่องจากเป็นดินใหม่ จากการสำรวจในงานวิจัยของสุรชัย รักษชาติ (2545: 67) กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2517 ในบริเวณตำบลบ้องตี้มีพื้นที่ป่า 6,690 ไร่ หรือร้อยละ 89.2 ของพื้นที่ทั้งหมด ปี พ.ศ. 2540 กลับพบว่าในพื้นที่ป่าเหลืออยู่เพียง 2,805 ไร่ หรือร้อยละ 37.4 ของพื้นที่ สอดคล้องกับคำกล่าวว่า

 

"เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ที่ลดลงจากการพัฒนาจากภายนอก และจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่มันไปเร็วที่เหลือ ทำให้ป่าก็ถูกทำลายหมด ชุมชนเราก็เหมือนกัน ปัญหาส่วนใหญ่จากคนนอกทั้งนั้น" (ปฐมพงศ์ ทองเปาะ, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560)

 

"พื้นที่ป่าลดลง เป็นผลมาจากคนภายนอกที่เข้ามาอยู่ในชุมชน และจากกลุ่มนายทุนมากกว่าคนในชุมชน เพราะเรามีกฏของเรา เรารักษาป่า เราไม่ได้ทำลายป่า" (ลำยอง ศิริสัตยกูล, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560)

 

            กล่าวโดยสรุปได้ว่าปัจจุบัน การเกษตรกรรมของชุมชนบ้านบ้องตี้ล่าง นั้นได้เป็นการเกษตรแบบกระแสหลัก และเป็นอาชีพหลักของกลุ่มชนในพื้นที่ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบ้องตี้ล่างประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมู่บ้านมีอาชีพหลักคือการทำไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะเข้าไร่ เพื่อไปทำกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

            กล่าวได้ว่า พัฒนาการของชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยทำให้ชุมชนได้ปรับตัวเขากับสภาวะการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ระบบการผลิตการเกษตรของชุมชนกระเหรี่ยงบ้านบ้องตี้ล่าง เริ่มจากการผลิตเพื่อยังชีพ ทำไร่หมุนเวียนในเขตป่าตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงต่อมาเมื่อชุมชนได้ติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้นจากกระบวนการของโลกาภิวัตน์ ทำให้คนที่มาจากนอกชุมชนนำระบบการผลิตแผนใหม่ เข้ามาประกอบการแต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก จนเมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น ทำให้ชุมชนต้องปรับตัวทำการเกษตรแผนใหม่กันมากขึ้น อย่างไรก็ดีในระยะหลังนี้ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการเฟื่องฟูต่อเนื่อง แต่วิถีชีวิตในระบบวัฒนธรรมความเชื่อของกลุ่มกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปร์ในชุมชนยังคงเหนียวแน่น ฐานวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เชื่อว่าธรรมชาติทุกส่วนมีเจ้าผู้ครอบครอง และไม่ยึดมั่นถือติดว่าคนเป็นเจ้าของธรรมชาติ แต่วิถีชีวิตของคนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทำให้คนกะเหรี่ยงบ้านบ้านบ้องตี้ล่างใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และปรับตัวเข้าหากับกระแสการพัฒนาหลัก ดังคำกล่าว

 

"เมื่อก่อนชุมชนนี้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีกะเหรี่ยง แต่ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว เพราะพื้นที่น้อย และจากกฎหมายด้วย" (จุฑาทิพย์ เกษตเกษร, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560)

 

"ความเชื่อของการทำมาหากินของเรา รุ่นบรรพบุรุษทำมาอย่างไร เราก็ปฏิบัติตามและทำต่อ สืบทอดต่อจากรุ่น สู่รุ่น ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่สามารถอธิบายความหมายมันได้ แต่เราก็จะทำ" (ธง ชัยสงค์, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560)

 

            ชาวกะเหรี่ยบ้านบ้องตี้ล่างใช้ทรัพยากรในชุมชนทั้งแหล่งน้ำ พืช สัตว์ อย่างระมัดระวัง หากแต่ปัญหาการบุกรุกที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มนายทุนข้างนอก แต่อย่างไรก็กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเองพยายามปรับตัวและใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างระมัดระวังและไม่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติมากเกินกว่าการหาอาหารให้พอกิน พอใช้ในครัวเรือนของตน มีข้อห้ามหลายประการที่สร้างให้เกิดความมั่นคงในเรื่องทรัพยากรทางชีวภาพให้เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ (สุวัฒชัย ไทรสังขชวลิต และคณะ, 2552, : 90) กล่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรียง ณ พื้นที่บ้านสะเนพ่อง จังหวัดกาญจนบุรี สร้างความหลากหลายของระบบนิเวศวิทยา เช่น ห้ามล่านกเงือก เพราะถือว่าเป็นบาปเทียบเท่ากับการฆ่าสามเณร 1 องค์ หรือนกในตระกูลนกเงือก เช่น นกกก ซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ซึ่งสัตว์ประเภทเหล่านี้ต้องใช้สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ในการอยู่อาศัย เพราะต้องทำรังในโพลงไม้ขนาดใหญ่ จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมความเชื่อของชุมชนที่เคารพธรรมชาติ ใช้อย่างรู้คุณค่านั้น และไม่รุกรานสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรท้องถิ่น พึ่งพาอาศัยกันและกันทำให้ไม่เกิดการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา และดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และยังสอดคล้องกับการความคิดเรื่อง "สะนู่มู่หละ" ในวิถีชีวิตที่ดูแลรักษาทรัพยากรท้องถิ่น ผืนป่า ไร่ การทำมาหากิน จัดเป็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่กุลโลบายเอื้อต่อการสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในชุมชนที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 643510เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2017 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2017 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท