M สไตล์บ้านๆ
ว่าที่ร้อยตรี นพรัตน์ เอ็ม ไชยชนะ

ชุมชนบ้านบ้องตี้ล่าง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี


บริบทชุมชนบ้านบ้องตี้ล่าง

   ชุมชนบ้านบ้องตี้ เป็นหมู่บ้านชายแดนไทย –เมียนมาร์ มีช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมา โดยมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นแบ่งพื้นที่ของทั้งสองประเทศ หลังแนวพรมแดนนี้ ในอดีตเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกะเหรี่ยง ซึ่งชาวบ้านทั้งสองฝั่งมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน หมู่บ้านเหล่านี้ได้แก่ หมู่บ้านห้วยโมง กะวอวา (ลานช้างเผือก) ลอกเอาะ และหมู่บ้านเมตตา ผู้คนสองฝั่งมีการไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ภายหลังการแพ้สงครามของ "กองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง" (Karen National Union: KNU) ต่อกองทัพเมียนมาร์ หรือเหตุการณ์ที่ชาวบ้านบ้องตี้เรียกกันว่า "ค่ายกะเหรี่ยงตะวันแตก" ในปี พ.ศ. 2540 ทำให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของกะเหรี่ยงฝั่งพม่าเป็นจำวนมาก และส่งผลให้ชายแดนถูกปิดตัวลง และหมู่บ้านในฝั่งเมียนมาร์ เช่น ห้วยโมง ลานช้างเผือก ลอเอาะ เป็นต้น กลายเป็นหมู่บ้านร้าง ในขณะที่ชุมชนบ้องตี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการขยายพื้นที่ทำกิน และการเพิ่มขึ้นของประชากรกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของชุมชน และการอพยพเข้ามาของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีมากตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา เช่น คนไทย กะเหรี่ยงฝั่งประเทศเมียนมาร์หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่ากะเหรี่ยงนอก เมียนมาร์/ทวาย แขกและคนมอญ กะเหรี่ยงฝั่งประเทศเมียนมาร์เป็นหมู่บ้านเล็กๆ กลับกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีความหลากหลายและซับซ้อนของพื้นที่และผู้คน (เรวดี อุลิต, 2552: 32)

                บ้านบ้องตี้ล่าง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีโดยทั่วไปเป็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกับที่ราบ บริเวณชุมชนถูกล้อมรอบไปด้วยป่าและภูเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อนกันออกไป บริเวณแนวภูเขาและผืนป่ารอบนอกกลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างชุมชนบ้องตี้กับหมู่บ้านและตำบล และประเทศเมียนมาร์ ปัจจุบันชุมชนบ้านบ้องตี้อยู่ในเขตการปกครองของหมู่ที่ 1 บ้านบ้องตี้บน หมู่ที่ 2 บ้านบ้องตี้ล่าง และหมู่ที่ 3 บ้านท้ายเหมือง มีเอกสารงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้กล่าวถึงที่มาของชุมชนแห่งนี้ อาทิ งานวิจัยเรื่อง ความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนของคนชายขอบ: รูปแบบการบริโภค และแหล่งที่มาของอาหารของครัวเรือนกะเหรี่ยงภาคตะวันตก ประเทศไทย โดยสุรชัย รักษาชาติ (2545: 47 - 49)  และงานวิจัยเรื่อง 80 ปี ของชุมชนบ้องตี้: จาก "หมู่บ้านกะเหรี่ยง" ถึง "หมู่บ้านชายแดน" โดยเรวดี อุลิต (2552: 30 -33) และงานวิจัยเรื่องกะเหรี่ยงในนอกปฏิสัมพันธ์ชุมชนชายแดน โดย คมลักษณ์ ไชยยะ (2551: 23- 25) ได้กล่าวถึงที่มาของบ้องตี้ สอดคล้องกัน กล่าวคือ "บ้องตี้" มีที่มา  2 กรณี ด้วยกัน คือ

                ข้อมูลจากเอกสารพบว่า บ้องตี้ น่าจะเพี้ยนมาจากคำในภาษากะเหรี่ยง ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า "เปาะทิ" มีความหมายว่า "ห้วยน้ำเหลือง"  ชุมชนมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่า บริเวณถิ่นนี้เป็นที่จุดพักของผู้คนมาตั้งแต่สมัยอดีตยุคก่อนประวัติศาสตร์จากคำที่กล่าวมาข้างต้นผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ห้วยน้ำเหลืองอาจจะมาจากชื่อ ลำห้วยในชุมชน และจากสภาพของภูเขาหินปูนที่มีสีเหลืองติดบริเวณผา ซึ่งสอดคล้องกับการจัดสนทนากลุ่มที่ได้สอบถามถึงที่มาของชื้อหมู่บ้านบ้องตี้ ที่ได้กล่าวว่า

 

          "บ้องตี้ มาจากภาษากะเหรี่ยงนะ เพราะกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หลักๆ คำว่าบ้องตี้ มันมาจากคำว่า "เบาะทิ" แปลว่า น้ำเหลือง ไม่รู้มาจากอะไร"

 

                ส่วนอีกความหมายหนึ่งกล่าวว่า "บ้องตี้" มาจากภาษามอญ หากพูดว่าว่า "บ้องตี่" คนมอญสามารถเข้าใจความไดทันที ชาวมอญเป็นชนชาติเก่าแก่ เคยครอบครองดินแดนพม่าตอนล่าง ซึ่งมีเมืองสะเดิมเป็นศูนย์กลาง สำหรับบ้องตี่ แปลว่า เมื่อขา บางคนบอกว่า เมื่อยน่อง ขาล้า เป็นต้น อาการปวดเมื่อนเหนื่อยล้าเหล่านี้ บ่งบอกถึงความห่างไกลของพื้นที่ อันเกิดจาการเดินทางในสมัยนั้น หากมาจากในเมืองหรือหมู่บ้านอื่นกว่าจะถึงหมู่บ้านบ้องตี้ต้องเดินกันจน "เมื่อยขา" หรือต้องเดินกันจนถึงเหนึ่งวันเต็มๆ กว่าจะไปถึงตัวอำเภอไทรโยคหรือกาญจนบุรี ดังคำกล่าว

       ""บ้องตี้" มาจากภาษามอญ แปลว่า เมื่อยขา ปวดเมื่อย ล้า เพราะการเดินทางจากในอดีต มันต้องเดินทางไกล กว่าจะไปถึงเมือง ต้องเดินลัดเขา ใช้เวลาเป็นวันๆ "

 

                จากการสอบถามในการจัดเวทีสนทนากลุ่ม พบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีความเชื่อว่า หมู่บ้านบ้องตี้นั้น มาจากภาษามอญ และน่าจะเคยมีคนมอญอาศัยอยู่ก่อน แต่บ้องตี้ในยุคบรรพบุรุษของพวกเขามาตั้งถิ่นฐานมีแต่คนกะเหรี่ยง ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยงที่เกิดในประเทศไทยและฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในมอญในชุมชนบ้องตี้มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

            กล่าวได้ว่า ชุมชนชายแดนบ้านบ้องตี้ล่าง ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีที่มาที่ยังคงสับสนของคนในชุมชนอยู่ ในทัศนะของผู้วิจัยมีความเห็นว่า คำว่าบ้องตี้ เป็นคำที่เป็นไปได้ ทั้งสองชื่อ ขณะเดียวกัน มีความเห็นว่า บ้องตี้ น่าจะเป็นภาษามอญมากกว่า เนื่องจากในอดีต การสำรวจพรมแดนระหว่างไทย - เมียนมาร์ ต้องใช้คนมอญ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวในการสำรวจเส้นทาง การเดินทางสำรวจดังกล่าวต้องเดินข้ามหุบเขาตามแนวชายแดน จนต้องพูดว่า "บ้องตี้" ซึ่งแปลว่าเมื่อยขา ปวดเมื่อยนั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 643507เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2017 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2017 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท