เรื่องเล่าของครูบุญถึง (เรื่องที่ 6 จิตวิญญาณของความเป็นครู)


“คนที่เกิดมาเป็นครูได้นั้นเป็นผู้มีบุญกว่าใครๆ เพราะพระพรหมท่านกำหนดไว้แล้วว่าต้องเป็นผู้ที่มีพรหมวิหาร 4 คือ มีความเมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา ต่อลูกศิษย์ของตน”

      ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องเล่าของครูบุญถึง(ผมเอง)เรื่องที่ 6 ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน ...มีโลกในใจของตนเอง...เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสได้เป็นครู  เขาจึงสานฝันนั้นให้เป็นจริง โดยปฏิบัติต่อเด็กๆของเขาเหมือนที่เขาอยากให้เกิดกับตนในวัยเด็ก  ผมหวังว่าเรื่องเล่า(บันทึก)นี้ จะช่วยสะกิดใจครู  ช่วยปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูให้เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง  ในการอบรมสั่งสอน ดูแลช่วยเหลือเด็กๆที่จะเป็นอนาคตของชาติ  หยั่งถึงโลกในใจของพวกเขา  ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของพวกเขาให้เป็นเด็กดีและมีความเจริญก้าวหน้า เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของประเทศชาติสืบไป และหวังว่าบันทึกนี้จะเป็นข้อคิดให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทุกคนด้วยครับ...

              เรื่องที่ 6  จิตวิญญาณของความเป็นครู

           ต้นเดือนมิถุนายน เป็นวันไหว้ครูของโรงเรียนที่ผมกับครูแจงสอน หลังพิธีไหว้ครู ก็มีเด็กเป็นกลุ่มๆ ทั้งที่ผมเป็นครูประจำชั้นและที่ผมสอน รวมทั้งศิษย์เก่าบางรุ่น มารอผมอยู่ที่หน้าห้องประชุม  บางกลุ่มที่มีพวงมาลัยก็ให้ตัวแทนมามอบให้ บางกลุ่มที่ไม่มีพวงมาลัยก็นั่งพนมมือพร้อมกล่าวคำสวัสดีและขอบคุณผมที่ดูแลอบรมสั่งสอนเขามา       
         ผมก็ได้ให้ศีลให้พร ให้กำลังใจเขาไปทุกกลุ่ม พร้อมทั้งถามสารทุกข์สุกดิบกัน โดยเฉพาะกลุ่มศิษย์เก่าที่จบออกไปเรียนต่อหรือไปทำงานแล้ว ก็ได้แสดงความยินดีกับพวกเขากันทุกคน   
      หลังจากนำพวงมาลัยของเด็กๆไปไหว้พระพุทธรูปหน้าโรงเรียนเสร็จ ผมก็เดินไปที่ห้องครูแจง ได้เห็นภาพครูแจงกับลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งนั่งที่พื้นข้างๆโต๊ะทำงานของครูแจง จึงหยุดไปนั่งดูอยู่มุมหนึ่งของห้อง  เห็นนักเรียนแต่ละคนถือพวงมาลัยรอครูด้วยท่าทางที่บอกไม่ถูก  ซึ่งจำได้ว่าหลายคนเป็นเซียนยอดเกเรประจำห้อง ที่ถูกครูแจงเคี่ยวเข็ญ         
       "จะพูดอะไรก็ว่ามาสิ  มัวแต่ยิ้มม้วนไปม้วนมาอยู่นั่นแหละ"
ครูแจงทักทายด้วยรอยยิ้ม  ทำให้นักเรียนหญิงคนหนึ่งพูดขึ้นก่อน
     "พวกหนูมาไหว้คุณครูค่ะ คุณครูอย่าทิ้งพวกหนูไปไหนนะ" แล้วพวกเขาก็ร้องไห้ ครูแจงก้าวไปหาเขาดึงนักเรียนหญิงมากอดและตบไหล่นักเรียนชายทีละคนเบาๆ แล้วถือโอกาสอบรม และให้กำลังใจแก่ศิษย์ยอดเกเร
      พอเสร็จกลุ่มนี้ก็มีนักเรียนอีกหลายกลุ่มมารอที่จะไหว้ครูแจงที่หน้าห้อง แต่ละคนถือพวงมาลัยเข้าคิวเดินเข้ามาที่โต๊ะทำงานครูแจงเป็นกลุ่มๆ  ซึ่งล้วนเป็นนักเรียนห้องที่ครูแจงสอนคณิตศาสตร์ ทั้งปีนี้และปีแล้วๆมา  รวมทั้งห้องที่เป็นครูประจำชั้นด้วย  แต่ละกลุ่มที่เดินเข้ามาต่างมีสีหน้าท่าทางที่แสดงถึงความรักความศรัทธาต่อครูของเขาอย่างจริงใจ 
      ครูแจงกอดและตบไหล่พวกเขาแต่ละคนด้วยความรัก ทั้งครูและศิษย์ต่างน้ำตาซึมด้วยความเต็มตื้น
      "ครูอย่าทิ้งพวกเรานะคะ/ครับ  ครูสอนพวกเราทุกปีนะคะ/ครับ..." เป็นประโยคที่ศิษย์แต่ละคนกล่าวเป็นเสียงปนสะอื้น  ครูแจงพยายามพูดเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศไม่ให้ดูเศร้าสร้อย
      "ครูดุขนาดนี้ยังอยากให้ครูสอนอีกหรือ ไม่เข็ดหรือยังไง"
  "ไม่หรอกค่ะ ครูสอนเลขรู้เรื่องมากกว่าใครๆ เรียนกี่ชั่วโมงหนูก็ไม่เบื่อค่ะ" เด็กหญิงคนหนึ่งกล่าวขึ้นก่อนใคร เด็กคนอื่นๆก็กล่าวรับตาม
      “ใช่ค่ะ ใช่ครับ”
        เสร็จจากทุกกลุ่มแล้ว  ก็มีผู้แทนนักเรียนห้องที่ครูแจงเป็นครูประจำชั้นเมื่อปีที่แล้ว มาเชิญให้ไปที่ห้องๆหนึ่ง ที่พวกเขานัดหมายพรรคพวกที่ปีนี้อยู่ชั้น ม.ศ.4 กระจายอยู่ตามห้องต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อไหว้ครูของเขา ผมแอบเดินตามไปดูอยู่ห่างๆ  พอครูแจงเข้าไปตัวแทนกลุ่มก็ถือพวงมาลัยเข้ามาไหว้ จากนั้นนักเรียนหญิงแต่ละคนก็เข้ามากอดครู นักเรียนชายก็มาไหว้กันใกล้ๆ จนครบทุกคน ต่างรื้อฟื้นถึงความหลังที่แต่ละคนประทับใจเมื่อได้อยู่ห้องที่ครูแจงเป็นครูประจำชั้น และได้เรียนเลขกับครูแจง 
       หลังจากนั้นก็มีนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง เข้ามาไหว้ครูแจง พร้อมกับพูดว่า
 "เราอยากมาไหว้คุณครู  แต่เราไม่มีพวงมาลัยมาไหว้ครับ"  ครูแจงดึงพวกเขามาตบไหล่เบาๆด้วยความรักและเมตตา
       พอเสร็จจากนักเรียนปัจจุบันทุกกลุ่ม ครูแจงก็เดินกลับห้องพักครูพร้อมกับพวงมาลัยเต็มแขน  ผมก็เดินตามไปดูอีก ก็เห็นศิษย์เก่าอีกหลายรุ่นพากันมาไหว้ครูแจงกัน พอเห็นผมพวกเขาก็เข้ามาไหว้ผมด้วย   มองไปบนโต๊ะของครูแจงตอนนี้มีพวงมาลัยกองเต็มไปหมดจนนับไม่ถ้วน  ทำให้ครูคนอื่นๆในห้องพักครูเดียวกันต่างพากันตื่นเต้นไปด้วย  มีครูรุ่นน้องครูแจงคนหนึ่ง  พูดขึ้นมาว่า
       "พี่แจง เราไปตั้งร้านขายพวงมาลัยกันดีไหม"         
       หลังจากนั้นครูแจงได้เอาพวงมาลัยของลูกศิษย์ไปไหว้พระพุทธรูป  เธอบอกผมตอนหลังว่าได้อธิษฐานให้คุณพระคุณเจ้าคุ้มครองลูกศิษย์ทุกๆคนให้ประสบผลสำเร็จในการเรียนและชีวิตส่วนตัว                    
        ระหว่างเราทานอาหารกลางวันกันในวันนั้น  ดูครูแจงมีความสุขมาก เธอบอกกับผมว่า
      “หนูเองก็ไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในปีนี้  เพราะทุกๆปีที่ผ่านมาก็จะมีลูกศิษย์เข้ามาเหมือนกันแต่ไม่มากเหมือนปีนี้  มันเป็นความรู้สึกที่เต็มตื้นอย่างบอกไม่ถูก   หนูเป็นเพียงแค่ครูน้อย เงินเดือนก็นิดเดียว หนูอยากถือว่าความสุขที่หนูได้รับวันนี้เป็นสุดยอดของความสำเร็จในการเป็นครูของหนูที่ยิ่งใหญ่ และภาคภูมิใจเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น  "
         
ผมฟังเธอเล่าด้วยอารมณ์ร่วมที่คล้อยตาม  เราต่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคการอบรมสั่งสอนนักเรียนกันต่อ โดยครูแจงเล่าก่อน                    
        “หนูคิดว่าครูที่สามารถเข้าถึงโลกในใจของเด็กได้นั้น  น่าจะต้องสอนวิชาอะไรก็ต้องทำให้เขารู้เรื่องเข้าใจ มีความสุขและประสบผลสำเร็จจากการเรียน รวมทั้งเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุข ความเป็นอยู่ของพวกเขา ขาดเหลืออะไรก็เข้าไปช่วย ไม่จู้จี้จุกจิก ไม่เคี่ยวเข็ญให้เขาทำในสิ่งที่เราคิดอยู่เพียงฝ่ายเดียว มีปฏิกิริยาที่ดีกับเด็ก  พูดกันดีดี  ไม่เกรี้ยวกราด  แม้จะดุ เด็ดขาด จริงจัง แต่ก็จริงใจ อย่าให้มีช่องว่างระหว่างวัยมาก นอกจากนี้จะต้องเข้าใจเรื่องการใช้ภาษาของพวกเขา  ทันเขา มีมุขตลกสอดแทรกระหว่างสอนและสัมผัสให้ความรู้สึกที่อบอุ่นแก่เขาในโอกาสอันเหมาะสม”  ผมเล่าแลกเปลี่ยนกับครูแจงต่อ
       “พี่ว่าชั่วโมงแรกของการสอนเป็นชั่วโมงที่สำคัญที่สุด จะต้องเปิดใจกับนักเรียน มีข้อตกลงร่วมกันในการสอนและการปฏิบัติต่อกันตลอดภาคเรียนหรือตลอดปี แล้วเราช่วยกันดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลง พร้อมทั้งยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์  การอบรมสั่งสอนต้องทำทั้งด้านความรู้และคุณธรรมน้ำใจไปพร้อมๆกัน  การเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีพี่ว่าไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาเห็น ใช้วิธีซึมซับมากกว่าการโปรยหว่าน ทำให้เขาดูกู่ให้เขาตาม ในชีวิตประจำวันนี่แหละ เป็นครูที่พูดไม่ได้ เหมือนโบราณเขาว่า ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ แต่ทุกวันนี้ทั้งสถาบันครอบครัวและสังคมอ่อนแอ เป็นตัวแบบไม่ค่อยได้ จึงมาตกหนักที่ครูเรา ถ้าเราไม่ทำ  อนาคตเด็กๆจะเป็นยังไง  พี่ว่าความสำเร็จทั้งหลายอยู่ที่พื้นฐานของความศรัทธา  ถ้าเด็กเขายอมรับ ศรัทธาเรา ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน  จะอบรมกล่อมเกลาเขายังไงเขาก็เชื่อฟังเราทั้งนั้น”             

        ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานแสดงมุฑิตาจิตของคุณครูท่านหนึ่งที่ตอนหลังท่านขึ้นมาเป็นผู้บริหารและสุดท้ายได้เป็นอธิบดี ท่านเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว
      งานวันนั้นผมจำได้ว่ามีลูกศิษย์ของคุณครู ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นสุดท้ายที่ท่านสอน มากันเต็มหอประชุม            
      บรรยากาศของงานวันนั้น คณะศิษย์จัดให้เป็นบรรยากาศที่เป็นวัฒนธรรมไทยอย่างสมบูรณ์แบบ  ทั้งดนตรีไทย และการแสดงต่างๆ   
      มีลูกศิษย์แต่ละรุ่นผลัดกันมาเล่าเหตุการณ์ในสมัยนั้นซึ่งแสดงถึงความเป็นครูที่ยังอยู่ในหัวใจของพวกเขา เป็นแบบอย่างวิถีชีวิตให้แก่เขามาจนทุกวันนี้
         ลูกศิษย์คนหนึ่งบอกว่า  " เวลาสอนท่านก็สอนสนุก  ไม่มีใครเป็นตัวจับได้เลย เราจะได้ทั้งความสนุกและเนื้อหาสาระ  พวกเราทุกคนต่างรออยากให้ถึงชั่วโมงท่านเร็วๆ  ท่านเป็นครูที่อยู่ในหัวใจพวกเราจริงๆ"
           ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งบอกว่า  "เมื่อตอนที่ท่านขึ้นเป็นผู้บริหารโรงเรียน มีอยู่วันหนึ่งท่านชวนพวกเราปีนขึ้นไปที่เนินเขาในบริเวณโรงเรียน  แล้วให้บุญส่งที่ตัวโตและแข็งแรงที่สุด  หยิบก้อนหินขึ้นมาแล้วขว้างออกไปเต็มแรง  ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง  แล้วท่านให้พวกเราลงไปทำหมุด  เราก็ถามว่าท่านจะทำอะไร  ท่านบอกว่า จะสร้างบ้านพักอาจารย์ใหญ่ตรงนี้  ถ้ามีใครมาขว้างบ้านอาจารย์ใหญ่ ก็มีบุญส่งคนเดียวที่ขว้างถึง พวกเราก็ฮากันครืน ในอารมณ์ขันและความฉลาดน่ารักของท่าน"
          มีเกร็ดดีดีอีกเยอะที่ลูกศิษย์แต่ละคนขึ้นไปเล่า  พอถึงเวลาที่คุณครูขึ้นไปกล่าว  ท่านเริ่มต้นว่า          
       "วันนี้ถ้าครูมาในฐานะอธิบดีก็คงไม่มีใครมา  เพราะการเป็นอธิบดีของครูมันจบไปแล้วเมื่อตอนอายุ 60 ปี..."
         
        แล้วท่านก็เชิญชวนพวกเราให้ทำความดี  รักษาความดี  เป็นแบบอย่างความดี  เผยแพร่ความดี  เพื่อความมั่นคงน่าอยู่ของบ้านเมืองเรา
        มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า มีโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง อยู่ในจังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯนี่เอง ซึ่งตั้งอยู่ในวัด ณ ที่แห่งนี้จะมีคุณยายคนหนึ่งมานั่งอยู่แถวประตูทางเข้าออกวัดทุกวัน แกชอบเรียกนักเรียนมาอ่านหนังสือให้ฟัง และให้เขียนหนังสือให้ดู ใครอ่านออกเขียนได้แกก็จะให้ขนมกิน เด็กคนไหนอ่านไม่ได้แกก็จะเรียกมาสอน วิธีสอนของแกก็ใช้วิธีแบบครูโบราณใช้นั่นแหละ คือให้อ่านแล้วก็สอนไป จ้ำจี้จำไชไป จนอ่านได้ทุกคน พอเด็กชักเบื่อแกก็ให้ขนมกิน เล่านิทานให้ฟังบ้าง แกไม่ดุเด็ก แกทำเหมือนยายสอนหลาน และแกก็รักเด็กจริงๆ ทราบว่าคุณยายคนนี้ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่แกทำแล้วมีความสุข
          ตอนหลังครูในโรงเรียนพอพบเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกก็จะส่งมาให้คุณยายช่วยสอน และก็สำเร็จทุกรายไป    ผมก็เลยพูดเล่นๆไปว่า          “น่าจะแบ่งเงินเดือนของครูคนนั้นให้คุณยายด้วยนะ”
         อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าที่ครูโรงเรียนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า  มีครูคนหนึ่งท่านเกษียณอายุราชการไปนานแล้ว สมัยก่อนก็ได้รับเงินบำนาญเพียงไม่กี่พันบาท  ท่านยังเป็นโสด  และก็อายุยืนด้วย หลังอายุ 70 ปี  ท่านเริ่มเจ็บป่วยลง  ซึ่งการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก   แต่ด้วยอานิสงส์ของการเป็นครูดี ที่อยู่ในใจของศิษย์แต่ละรุ่น  พอลูกศิษย์แต่ละรุ่นได้ทราบข่าวว่าครูเจ็บป่วย ก็จัดทีมไปดูแลครูของเขากันอย่างต่อเนื่อง  โดยมีโปรแกรมจัดคิวพาครูไปหาหมอ  ดูแลเรื่องการรับประทานยา  อาหาร  เฝ้าไข้  ดูแลความเป็นอยู่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมด  จวบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตคุณครู เมื่ออายุเกือบ 90 ปี  ลูกศิษย์ทุกรุ่นได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพให้คุณครูของเขาอย่างสมเกียรติ         
          ผมเลยคิดว่าครูดีดีที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง ท่านจะอยู่สูงเหนือผลทางวัตถุหรือแม้แต่ยศตำแหน่งใดใด  ความสุขของท่านคือการได้ฝึก อบรม สั่งสอน ให้ศิษย์เป็นคนดี มีความรู้ และประสบความสำเร็จในชีวิต       
          ฟังเรื่องราวของครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูแต่ละท่านทำให้นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่านเจอ เขาได้ให้ความหมายประเภทของครูไว้สองคำ คือคำว่า อาชีพครู และครูอาชีพว่า
        “อาชีพครู คือครูผู้ประกอบอาชีพสอนหนังสือ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหารายได้กับความก้าวหน้าในอาชีพ  มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ด้วยการดิ้นรนขวนขวาย  ยกระดับปรับวุฒิตนเองให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับรองรับฐานเงินเดือน และฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น ขอบเขตงานและเวลาในการสอนจะจำกัดเฉพาะเวลาราชการเท่านั้น    ส่วน ครูอาชีพ หมายถึงครูที่เป็นครูด้วยใจรัก  ตั้งใจและพร้อมที่จะเป็นครูในทุกๆด้าน  ทั้งด้านความรู้ ความประพฤติ การวางตน  การเอาใจใส่ดูแลศิษย์  ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู  อุทิศตนให้แก่การสอนอย่างเต็มที่และเต็มเวลา  มิได้คำนึงถึงรายได้กับความก้าวหน้าของตนเท่ากับบทบาทความเป็นครู ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เป็นเพียงผลพลอยได้จากการทำความดีเท่านั้น บางขณะเป็นทั้งพ่อ แม่ เพื่อน พี่ไปพร้อมๆกัน แม้เกษียณอายุไปแล้วก็ยังเป็นครูจวบจนชั่วชีวิต”
       อย่างนี้นี่เองที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยพูดให้ฟังว่า   “คนที่เกิดมาเป็นครูได้นั้นเป็นผู้มีบุญกว่าใครๆ  เพราะพระพรหมท่านกำหนดไว้แล้วว่าต้องเป็นผู้ที่มีพรหมวิหาร 4 คือ มีความเมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา ต่อลูกศิษย์ของตน” ท่านยังพูดทิ้งท้ายให้เราคิดว่า
       “แล้วเราได้ทำหน้าที่สมกับที่พระพรหมท่านส่งมาเกิดรึยัง”
                              *********************************

          

หมายเลขบันทึก: 643463เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2017 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2017 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท