เรื่องเล่าของครูบุญถึง(เรื่องที่ 2 เมื่อครั้งเป็นครูประจำชั้น ม.ศ.3/5)


หนึ่งปีผ่านไป...ภายใต้บรรยากาศที่มีทั้งทุกข์ สุข โกรธกัน ดุกัน ร้องไห้สารภาพผิดกัน ปลอบโยนกัน ชื่นชมกันเมื่อทำอะไรให้เราชื่นใจ ฯลฯ ...รู้สึกดีใจ...ปลื้มใจ...ที่เห็นพวกเขาแต่ละคนอยู่รอดปลอดภัย ประสบผลสำเร็จในการเรียนตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคน

ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องเล่าของครูบุญถึง(ผมเอง) เรื่องที่ 2 ต่อนะครับ  ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน ...มีโลกในใจของตนเอง...เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสได้เป็นครู  เขาจึงสานฝันนั้นให้เป็นจริง โดยปฏิบัติต่อเด็กๆของเขาเหมือนที่เขาอยากให้เกิดกับตนในวัยเด็ก  ผมหวังว่าเรื่องเล่า(บันทึก)นี้ จะช่วยสะกิดใจครู  ช่วยปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูให้เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง  ในการอบรมสั่งสอน ดูแลช่วยเหลือเด็กๆที่จะเป็นอนาคตของชาติ  หยั่งถึงโลกในใจของพวกเขา  ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของพวกเขาให้เป็นเด็กดีและมีความเจริญก้าวหน้า เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของประเทศชาติสืบไป และหวังว่าบันทึกนี้จะเป็นข้อคิดให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทุกคนด้วยครับ

        เรื่องที่ 2  เมื่อครั้งเป็นครูประจำชั้น ม.ศ.3/5                   

       ปีนี้ผมได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/5 ซึ่งเป็นห้องท้ายสุดที่รวมนักเรียนยอดเกเร และเรียนอ่อนสุดๆทั้งชายและหญิง 45 คน 45 แบบ ไว้ด้วยกัน  ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าตอนนั้นทำไมโรงเรียนจึงจัดห้องเรียนตามระดับความรู้ของเด็ก  ทำให้เด็กห้องเก่งเหมือนเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง  ส่วนเด็กห้องอ่อนจะรู้สึกว่าตนมีปมด้อย จึงมักแสดงปมเด่นที่ตนเองทำได้ทั้งด้านดีและไม่ดี  ส่วนใหญ่จะออกทางไม่ดี เช่น หนีเรียน หรือแสดงออกทางด้านกีฬา  ยังดีที่ตอนนั้นไม่มีเรื่องยาเสพติดและเรื่องชู้สาวโดดเด่นเหมือนสมัยนี้  ไม่เช่นนั้นครูคงต้องปวดหัวอีกหลายเท่า     
       ครูส่วนใหญ่มักมีอคติไม่อยากสอนหรือเป็นครูประจำชั้นห้องท้ายๆ  โรงเรียนจึงใช้วิธีเวียนการเป็นครูประจำชั้นแต่ละห้องกัน  ตอนนั้นครูไม่ค่อยมีปากเสียงอะไร โรงเรียนจะให้สอนวิชาอะไร ประจำชั้นห้องไหนก็รับได้ทั้งนั้น          
        วันแรกที่ก้าวเข้าไปในห้อง3/5  ก็โดนนักเรียนในห้องลองของ  ต้องควบคุมสติ  ระงับอารมณ์โกรธ พยายามให้กำลังใจตัวเองว่า เรามีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงกว่าเขา ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการชั้นเรียนให้สงบเรียบร้อยได้ก็ไม่ควรมาเป็นครู  หลายวันเข้าก็เริ่มชิน  สามารถตอบโต้ควบคุมเกมที่แต่ละคนเข้ามาลองดีจนทุกคนยอมจำนน          
       พอไปเยี่ยมบ้านนักเรียนได้รู้ข้อมูลประวัติชีวิตครอบครัวของนักเรียนแต่ละคน  แล้วนำมาเทียบเคียงกับพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมา  ที่มีทั้งก้าวร้าว  เกเร  หยาบกระด้าง  ขี้เกียจ  โกหก  ขี้ขโมย  ฯลฯทำให้เริ่มเข้าใจพวกเขามากขึ้น  ผมเชื่อว่า พฤติกรรมของคนย่อมมีสาเหตุ  เมื่อรู้สาเหตุก็จึงพยายามแก้ไข ช่วยเหลือเขาตามอาการของโรคเป็นรายคน            
       การดูแลช่วยเหลือนักเรียนแต่ละคน  ผมพยายามใช้ทั้งความรัก  ความเมตตา  ความจริงจัง  ความจริงใจ  และความเข้าใจกันเป็นตัวตั้ง  บนพื้นฐานของการใช้เหตุใช้ผล  พยายามเข้าให้ถึงโลกในใจของพวกเขาแต่ละคน            
        ถ้าเป็นเรื่องการเรียน เมื่อรู้ว่าเขาอ่อนวิชาใดก็จะประสานกับเพื่อนครูที่สอนวิชานั้นให้ช่วยเหลือกวดขันเป็นพิเศษ  โดยคอยติดตามอยู่ไม่ห่าง  ถ้าเป็นวิชาที่ตนเองสอนอยู่ ก็จะสอนพิเศษให้ในช่วงเช้า  กลางวัน  เย็น  ตามเงื่อนไขที่สะดวก           
       ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว  เรื่องเศรษฐกิจ  ก็จะช่วยเหลือเขาตามความเหมาะสม  บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้เขามีทักษะในการดำรงชีวิตที่ดี  มีพลังใจ  มุ่งมั่น  เข้มแข็ง  สู้ชีวิตอย่างมีความหวัง  ทั้งเรื่องการเสนอข้อมูลเพื่อติดต่อขอทุนการศึกษาให้กับเด็กที่ยากจน  หรือจัดทำคูปองอาหารกลางวันจากเงินส่วนตัวให้รับประทาน เป็นต้น                 
       สิ่งที่ผมไม่ลืมที่จะพร่ำสอนนักเรียนก็คือ  ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง  ต้องช่วยเหลือกิจการของท่าน ดูแลเอาใจใส่บุพการี  และแบ่งเวลาระหว่างการเรียนกับเรื่องครอบครัวส่วนตัวอย่างเหมาะสม        
        มีนักเรียนในห้องจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวแตกแยก  ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งเงินทองและความรัก  บางคนก็ถูกเลี้ยงดูให้เป็นคุณหนู  เอาแต่ใจตนเอง  พ่อแม่บางคนก็เอาแต่ทำมาหากินไม่สนใจรับรู้ว่าลูกจะมีปัญหาอะไร...ช่างไม่มีอะไรลงตัวเลย           
        แต่ละวันนักเรียนในห้องจะสร้างปัญหาให้ผมต้องแก้ไม่ซ้ำเรื่องกัน  บางเรื่องรุนแรงถึงขั้นตำรวจต้องเข้ามาสืบสวนสอบสวน  แม้ความผิดจะชัดแจ้ง  แต่เมื่อเป็นลูกศิษย์ของเราก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปปกป้อง  วิงวอนขอโอกาสจากฝ่ายบริหาร  ตำรวจ  คู่กรณี และสัญญาว่าจะดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก  เขาเห็นความรักความจริงใจของเราที่มีต่อศิษย์   ทุกฝ่ายก็ใจอ่อน ยอมความกัน หรือไม่ก็ภาคทัณฑ์ทำให้ไม่เสียอนาคต  ...แล้วผมก็มาอบรมลูกของเราต่อ เพื่อให้เขาเป็นคนดีให้ได้         
       ครั้งหนึ่งผมเคยตั้งคำถามถามเด็กคนหนึ่งที่ครอบครัวแตกแยกแล้วคอยสร้างปัญหาให้ครูต้องแก้ไขเป็นประจำว่า       
      “ถามจริงๆเถอะ ทุกวันที่อยู่บ้านเบื่อบ้านไหม เบื่อที่พ่อแม่แยกทางกันไหม”
  เด็กก้มหน้านิ่ง พอผมถามซ้ำประโยคเดิมด้วยสำเนียงที่อ่อนโยน  เขาก็ตอบเบาๆ       
      “เบื่อครับ”
ตอบเสร็จน้ำตาก็ร่วงตามมา  ผมถามเขาต่อด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนเช่นเดิม      
      “เธออยากมีงานทำ มีบ้านเป็นของตนเอง อยู่อย่างอิสระ ไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องขอเงินใครไหม”
  เขาตอบด้วยเสียงดังขึ้นกว่าเดิม     
      “อยากครับ”  ผมเลยถามเขาต่อเนื่องว่า     
      “ถ้าเธอยังเกเร ประชดชีวิต แล้วไม่ตั้งใจเรียน จะมีบ้านเป็นของตนเองและมีชีวิตที่อิสระ ไม่เดือดร้อนได้ไหม” เขาก้มหน้าอีกครั้งและตอบเบาๆ     
      “ไม่ได้ครับ”  ผมถามต่ออีก     
      “แล้วเราคิดว่า ต่อไปนี้เราจะทำยังไงกับชีวิตเราดี”  เขาตอบปนเสียงสะอื้น    
      “ผมจะไม่เกเร  จะตั้งใจเรียน คุณครูช่วยผมด้วยนะครับ”  ผมดึงเขาไปกอด พร้อมกับบอกเขาว่า   
      “ดีแล้วลูก เราอย่าไปผูกชีวิตของเราให้ตกต่ำไปกับชะตาชีวิตที่เราไม่ได้สร้างขึ้น ชีวิตเป็นของเราเอง เราสามารถเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้นได้เอง ครูดีใจที่เธอคิดได้อย่างนี้  และครูสัญญาว่าจะคอยเป็นกำลังใจช่วยเหลือให้เธอมีกำลังใจ เข้มแข็งเดินไปสู่ฝันของเธอได้”  เขาโอบกอดผมแน่นพร้อมกับพูดเสียงเครือ              
        “ขอบคุณคุณครูครับ....  ขอบคุณคุณครูครับ”
     
        ก็ถือเป็นรสชาติของชีวิตครู  เมื่อสามารถช่วยเขาให้รอดพ้นจากปัญหาได้ก็รู้สึกมีความสุข  และอยากเข้าใกล้ชิดผูกพันกับเขามากขึ้น  เขาเองก็คงรู้สึกรับรู้ถึงความรัก  ความปรารถนาดีที่เรามีต่อเขา  ซึ่งสามารถสัมผัสได้จากท่าทีที่เขาอ่อนโยนลง  รู้จักเข้ามาดูแลเอาใจใส่เรา  มีความในใจก็ไว้ใจมาเล่าให้เราฟัง            
        ดูแลพวกเขาแต่ละคนเหมือนลูกๆยังไม่พอ  ต้องดูแลช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขาด้วย  ดึกดื่นเที่ยงคืนมีปัญหาทะเลาะกับลูก  ลูกไม่กลับบ้านก็มาตะโกนเรียกที่บ้านพักครูให้ครูช่วยไกล่เกลี่ยช่วยตามให้  ทำให้ผมรู้สึกว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราที่ต้องดูแลผูกพันกัน  สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือลายน์หรือเฟสบุ๊คเหมือนทุกวันนี้ ไม่เช่นนั้นคงได้ช่วยเหลือกันสนุกทั้งวันทั้งคืน             
        หลังจากเปิดเทอมใหม่มาได้สักหนึ่งเดือน ผมพบว่าไม่มีวันใดเลยที่นักเรียนห้องนี้มาโรงเรียนครบทุกคน  ก็มานั่งวิเคราะห์ว่า การขาดเรียนเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง  ส่งงานไม่ครบ และอาจจะขาดการทดสอบเก็บคะแนนบางวิชาในบางครั้งด้วย  ผมจึงหาวิธีแก้ปัญหามาวิธีหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้ผลหรือไม่ คงต้องลองดู  รุ่งขึ้นผมบอกนักเรียนในห้อง ไปว่า               
       “ถ้าใครไม่ขาดเรียนเลยตลอดภาคเรียนนี้ ครูจะมีรางวัลให้”
          
       ทันใดนั้นก็มีเสียงอื้ออึงขึ้นในห้อง  พร้อมคำถามรัวตามมา        
      “จริงหรือ”  “จริงรึเปล่า”  “จริงนะ”   “ครูพูดเล่นมั๊ง”        
       ผมจึงยืนยันไปว่า  “จริงๆ”   ทุกคนเงียบ  ผมสังเกตได้ว่าหลายคนมีนัยน์ตาแวววาว  แล้วก็มีเสียงหนึ่งต่อรองมาว่า       
      “ถ้าป่วยล่ะครู  ป่วยจริงๆนะ”  ผมจึงบอกไปว่า        
      “ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป”  เด็กคนหนึ่งต่อรองอีก       
      “แล้ววันที่ขาดไปแล้วล่ะครู”   ผมก็ตอบไปว่า       
      “ที่แล้วก็แล้วไป เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้”  ก็มีเสียงเฮพร้อมปรบมือกันลั่น          
      ไม่น่าเชื่อ งานวิจัยชิ้นเล็กๆเริ่มต้นขึ้นแล้ว  ปัญหาต่อไปเป็นปัญหาของผมเอง  เตรียมหาของรางวัลน่ะสิ         
       วันหนึ่งผมผ่านไปตลาดเห็นปากกาลูกลื่นสวยๆหลากสีที่ราคาไม่แพงนัก จึงซื้อมา 4 โหล ตั้งใจจะมาให้รางวัลนักเรียนตอนปิดภาคเรียนที่ 1และแลกธนบัตรใบย่อยที่ธนาคารไว้จำนวนหนึ่ง      
       รุ่งขึ้นเกิดใจร้อนอยากให้รางวัลเด็กก่อนกำหนด เลยบอกนักเรียนว่า     
      “ครูมีข่าวดีจะบอก จำได้ไหม เมื่อตอนเปิดเทอมครูบอกพวกเราว่าจะให้รางวัลนักเรียนที่ไม่ขาดเรียนเมื่อสิ้นเทอม แต่ตอนนี้ครูใจร้อน เปลี่ยนใจแล้วอยากให้ก่อนกำหนด  ไหนใครยังไม่เคยขาดเรียนเลยตั้งแต่เปิดเทอมมา ยกมือขึ้น” เด็กๆก็ยกมือกันร่วม 30 กว่าคน และถามครูพร้อมกัน        “รางวัลอะไรคะ/ครับ” เด็กๆท่าทางอยากรู้อยากเห็น       
       “บอกเสียก่อนนะ ว่าครูไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่มีปัญญาให้ของแพงๆเธอหรอก แต่ครูก็ตั้งใจอยากให้นะ”
ว่าแล้วผมก็ชูปากกาหลากสีขึ้นและบอกให้นักเรียนเรียงแถวมารับ        
        สิ่งที่ผมไม่คาดฝันคือ ปากกาเพียงด้ามละไม่กี่สตางค์ ดูช่างมีค่าต่อความรู้สึกของนักเรียนแต่ละคนเหลือเกิน ทั้งๆที่หลายๆคนมีปากกาสวยกว่าที่ครูจะให้ตั้งหลายด้าม        
        แต่ละคนจ้องปากกา ตาแป๋ว ปากก็ส่งเสียงจองปากกาสีนั้นสีนี้กันอื้ออึง      
        “หนูอยากได้สีนี้ค่ะ ...ผมอยากได้สีนี้ครับ... เร็วๆซิเธอ เดี๋ยวถึงคิวเราก็ไม่ได้สีนั้นหรอก”        
        พอทุกคนรับเสร็จ เด็กๆ อีก 7-8 คน ก็บ่นปอดแปด      
        “ขาดแค่วันเดียว ป่วยจริงๆด้วย ก็ไม่ได้เหรอ?”
    
        “กติกาก็ต้องเป็นกติกาสิ”
ผมทำเสียงเข้มแต่หน้ายิ้ม     
        “คุณครูครับ...คุณครูขา…ให้หัวหน้าห้อง กับรองฯ เถอะนะ เขาทำงานหนัก และขาดแค่วันเดียวเท่านั้น” เพื่อนๆในห้องช่วยต่อรอง                      “ก็ได้”   เด็กที่เหลืออีกไม่กี่คนก็ตั้งท่าจะต่อรองอีก ผมจึงยกมือห้ามไว้ก่อน     
       “ยังมีเวลาทำความดีอีกเยอะ เริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้เลยนะ”  ทุกคนจึงสงบลงและกลับเข้าที่เข้าทาง  แล้วผมก็พูดกับพวกเขาต่ออีกว่า      
       “ครูยังมีรางวัลที่จะให้พวกเธอต่อตามสัญญาที่ให้ไว้อีกเรื่องจำได้ไหม” เด็กๆตอบพร้อมกัน      
       “ส่งการบ้าน งานครบ ทำด้วยตนเอง ไม่ลอกใคร ในหนึ่งเดือน”
     
       “ใช่แล้ว ตอนนี้ครูมีรายชื่อพวกเราที่เข้าเกณฑ์นี้แล้ว 29 คน” เด็กๆทำตาตื่น ลุ้นว่าตัวเองจะมีรายชื่อหรือไม่  แล้วผมก็   เปิดกระเป๋าสตางค์ พร้อมประกาศรายชื่อนักเรียนที่จะได้รับรางวัล โดยคลี่แบ๊งค์ใบละ 5 บาทใหม่เอี่ยมออกมาทีละใบ ส่งให้แต่ละคน พร้อมให้นักเรียนในห้องปรบมือแสดงความยินดีกับเพื่อน        
        “รางวัลนี้ยังมีต่อเนื่องทุกเดือนนะ พวกเรายังมีเวลาได้รับรางวัลนี้กันทุกคน”       
         เหตุผลที่ผมตั้งรางวัลนี้ขึ้นมาเพราะเข้าใจดีว่า ในชีวิตของพวกเขาแทบจะไม่ได้รับคำชมจากใคร ยิ่งถ้าเป็นรางวัลจากการประกวดแข่งขันทางวิชาการคงไม่มีโอกาสได้รับกับเขาแน่  ผมเลยคิดว่าทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า ด้วยการให้รางวัลเล็กๆที่เขาสามารถทำได้ และเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีให้แก่เขาด้วย โดยเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นก็ได้ เช่น ขอให้เขาทำการบ้านหรือส่งงาน ตามความเข้าใจของตนเอง ไม่ต้องลอกใคร โดยมีร่องรอยการตรวจ การลงชื่อของครูกำกับ แม้จะทำผิด หรือเว้นข้อยากมากๆไปบ้างเล็กน้อยก็อนุโลมให้ เพื่อผมจะได้รู้จักเขาแต่ละคนว่าเก่งอ่อนตรงไหนจะได้หาทางช่วยเหลือเขาต่อไป                 
         มีเรื่องหนึ่งที่ผมภาคภูมิใจอย่างมาก คือการได้ให้กำลังใจ นักเรียนหญิงในห้อง 3/5 คนหนึ่งชื่อสมใจ  ให้เธอหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวโดยทำแกงใส่ถุงมาขายให้กับครูที่โรงเรียน  โดยผมจะเป็นพรีเซ็นเตอร์เอง  ซึ่งสมใจสามารถขายแกงหมดทุกวัน  ถ้าวันใดขายไม่หมดผมก็จะเป็นคนเหมาเสียเองแล้วเอาไปแจกให้นักเรียนในห้องที่ฐานะทางบ้านยากจน  รวมทั้งผมจะเป็นนักชิมอาหารและเสนอแนะการปรุงอาหารให้สมใจด้วย  จนต่อมาปรากฏว่า สมใจสามารถขยายกิจการเปิดแผงเล็กๆขายข้าวแกงกับแม่ในวันหยุดและหลังเลิกเรียน โดยไม่ทำให้การเรียนตกต่ำ          เมื่อสิ้นปีการศึกษาสมใจได้เขียนจดหมายส่งให้ผม โดยมีข้อความตอนหนึ่งที่ทำให้ผมอดตื้นตันใจไม่ได้      
          “...อยากพูดว่า “รักคุณครู” ค่ะ... ครูน่ารักมาก เข้ากับพวกหนูที่เป็นวัยรุ่น ค่อนข้างขี้เกียจ เกเรทั้งผู้ชายและผู้หญิงได้อย่างดี    ครูเอาใจใส่พวกหนูทุกอย่าง  คอยดูแลทุกเรื่อง  เป็นครูประจำชั้นที่เยี่ยมมาก  ให้ใจกับพวกหนูมากกว่าอารมณ์  ครูใจดีมากด้วย  และยังช่วยพวกหนูหลายๆเรื่อง  ความรู้สึกที่หนูมีต่อครูบรรยายยังไงก็ไม่หมด  แม้กระทั่งฟ้าก็ไม่พอ  อาหารที่หนูทำให้คุณครูทานบ่อยๆ ถ้าอยากทานอีกก็บอกได้นะคะ หนูจะทำมาให้ทานบ่อยๆ...ถึงหนูจบไปแล้วก็ยังจะเจอคุณครู  ขอให้คุณครูแข็งแรงตลอดไปนะคะ  หนูจะเก็บสิ่งดีดีที่ครูให้มาไว้ตลอดไป...”        หนึ่งปีผ่านไป...ภายใต้บรรยากาศที่มีทั้งทุกข์  สุข  โกรธกัน  ดุกัน  ร้องไห้สารภาพผิดกัน  ปลอบโยนกัน  ชื่นชมกันเมื่อทำอะไรให้เราชื่นใจ ฯลฯ ...รู้สึกดีใจ...ปลื้มใจ...ที่เห็นพวกเขาแต่ละคนอยู่รอดปลอดภัย  ประสบผลสำเร็จในการเรียนตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคน  ทุกคนต่างมีความหวังในชีวิต  และเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น          
       สมบัติ...สอบคัดเลือกได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลายโรงเรียนประจำจังหวัด                  
       เกษม จำรัส จงกลและสมใจ...เรียนต่อโรงเรียนอาชีวศึกษาในจังหวัด             
       โกมล และสุนีย์...เรียนต่อวิทยาลัยครู            
       โกศล...ไปเป็นนักเรียนนายสิบ  สมภพ...ไปเป็นนักเรียนจ่าทหารอากาศ          
       ลูกๆที่เหลือทุกคน... ได้เรียนต่อที่โรงเรียนเดิม    
        สรุปคือลูกๆได้เรียนต่อกันทุกคน        
      ในวันอำลาอาลัย เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา รู้สึกใจหาย น้ำตาไหล  เต็มตื้น เมื่อลูกๆแต่ละคนเข้ามากราบ มาอำลา...มาขอบคุณเรา  กลุ่มลูกๆที่ได้เรียนต่อโรงเรียนเดิมกล่าวละล่ำละลัก ปนเสียงสะอื้น...              
     “คุณครูไปเป็นครูประจำชั้น ม.ศ.4 ห้องพวกเราด้วยนะครับ/ค่ะ...”                                    
                               

                                     *************************************

หมายเลขบันทึก: 643456เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2017 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2017 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเชียร์บุญถึง

ตอนนี้มาสอนในมหาวิทยาลัยแล้ว

5555

คิดถึงอาจารย์ตลอดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท