เรื่องเล่าของครูบุญถึง (เรื่องที่ 5 เทคนิคการกระตุ้นนักเรียนให้สนใจเรียนคณิตศาสตร์ของครูแจง)


“ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ” ซึ่งต้นเหตุของเรื่องนี้ก็คือ การเรียนไม่รู้เรื่อง สอบครั้งใดก็ได้คะแนนไม่ดี มักจะถูกครูบ่นครูว่าแทบทุกชั่วโมง บางทีก็ถูกครูนำไปเปรียบเทียบกับห้องที่เรียนเก่ง ในที่สุดพวกเขาก็เลยต้องหาปมเด่นให้คนสนใจตนเองบ้าง เมื่อทำปมเด่นทางบวกไม่ได้ก็ทำทางลบให้สะใจเสียเลย

         ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องเล่าของครูบุญถึง(ผมเอง) เรื่องที่ 5 ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน ...มีโลกในใจของตนเอง...เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสได้เป็นครู  เขาจึงสานฝันนั้นให้เป็นจริง โดยปฏิบัติต่อเด็กๆของเขาเหมือนที่เขาอยากให้เกิดกับตนในวัยเด็ก  ผมหวังว่าเรื่องเล่า(บันทึก)นี้ จะช่วยสะกิดใจครู  ช่วยปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูให้เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง  ในการอบรมสั่งสอน ดูแลช่วยเหลือเด็กๆที่จะเป็นอนาคตของชาติ  หยั่งถึงโลกในใจของพวกเขา  ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของพวกเขาให้เป็นเด็กดีและมีความเจริญก้าวหน้า เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของประเทศชาติสืบไป และหวังว่าบันทึกนี้จะเป็นข้อคิดให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทุกคนด้วยครับ

         เรื่องที่5  เทคนิคการกระตุ้นนักเรียนให้สนใจเรียนคณิตศาสตร์ของครูแจง            

          วันหนึ่งครูแจงเล่าให้ผมฟังถึงการสอนคณิตศาสตร์ ชั้น ม.ศ.3 ห้องท้ายๆ ที่อ่อนแทบทุกวิชา เธอบอกว่าครูแต่ละคนที่เข้าสอนห้องนี้ต่างบ่นกันแทบทั้งนั้นว่า เวลาครูสอนไม่ตั้งใจเรียน บางคนก็ เล่นกันเวลาเรียน แกล้งเพื่อน นักเรียนหญิงบางคนก็หยิบกระจกมาหวีผมแต่งหน้า  บางคนก็พูดคำหยาบ แทรกออกมาโดยไม่เกรงใจครู ฯลฯ เป็นที่เอือมระอาของครูที่เข้าสอนและครูประจำชั้น ที่ต้องคอยอบรม และชำระคดีความกันไม่เว้นแต่ละวัน       
          ผมเองก็เข้าใจสถานการณ์ในห้องนี้ดี แต่เวลาสอนประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยมีปัญหา พวกเขาก็เข้าร่วมกิจกรรมดีมาโดยตลอด  เพราะเราพยายามเข้าใจพวกเขา เมื่อปีก่อนๆก็เคยเป็นครูประจำชั้นห้องท้ายๆเช่นนี้เหมือนกัน ต้องเหนื่อยกับเขาทั้งปี ในที่สุดก็เข้าทำนอง “ต้นร้าย ปลายดี” ต่างน้ำตาร่วงด้วยความอาลัยกันในวันสิ้นปีการศึกษามาแล้ว             
          ครูแจงบอกว่า เธอมองว่า เป็นเรื่องธรรมดาและท้าทายดี เธอใช้หลักอิทัปปัตยตาของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ” ซึ่งต้นเหตุของเรื่องนี้ก็คือ การเรียนไม่รู้เรื่อง สอบครั้งใดก็ได้คะแนนไม่ดี มักจะถูกครูบ่นครูว่าแทบทุกชั่วโมง บางทีก็ถูกครูนำไปเปรียบเทียบกับห้องที่เรียนเก่ง  ในที่สุดพวกเขาก็เลยต้องหาปมเด่นให้คนสนใจตนเองบ้าง เมื่อทำปมเด่นทางบวกไม่ได้ก็ทำทางลบให้สะใจเสียเลย บางทีก็มีการตั้งแก๊งเกเรกันขึ้นในโรงเรียนให้ครูปวดหัวกันเล่น การไปดุไปด่า หรือลงโทษเขาเหมือนกับที่ครูหลายๆคนทำกัน นอกจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว ยังเป็นการไปช่วยเพิ่มปมเด่นให้พวกเขาสะใจและอยากจะทำให้หนักข้อยิ่งขึ้นอีก เธอบอกว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องแก้ที่ต้นเหตุคือ     
        “ต้องพยายามทำให้เขาประสบผลสำเร็จในการเรียน หรือในเรื่องดีดีที่เขาทำได้ แล้วเสริมแรงให้แก่เขาอย่างจริงใจและทำอย่างต่อเนื่อง วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังเหลือเฟือ ครูจะต้องหากิจกรรมที่ถูกจริตและสร้างสรรค์ให้เขาทำ อย่าให้เขาว่างมือ ถ้าปล่อยปละละเลย เขาก็จะทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ตลอดเวลา”           
          ซึ่งดูพูดง่าย แต่ทำยาก ยิ่งเป็นวิชาคณิตศาสตร์ที่เด็กห้องท้ายๆเกลียดเป็นพิเศษแล้ว ยิ่งทำได้ยากยิ่ง แต่สำหรับครูแจงแล้ว อาจเป็นอานิสงส์จากการที่เธอได้ยึดมั่นและทำเยี่ยงนี้มาตลอด จนสามารถเข้าถึงโลกในใจของนักเรียนไม่ว่าห้องเก่งหรือห้องท้ายๆมาทุกรุ่น แล้วนักเรียนเหล่านั้นก็สื่อสารกับรุ่นหลังๆถึงบุคลิกของครูแจงให้เป็นที่รู้ทั่วกันปากต่อปากว่า     
         “ตัวเล็ก..ดุ...ใจถึง...ถึงลูกถึงคน...กัดไม่ปล่อย...แต่จริงใจ มีเมตตาต่อศิษย์ และสอนรู้เรื่องกว่าใครๆ”      
         บารมีเหล่านี้ส่งผลให้ชั่วโมงที่ครูแจงเข้าสอนห้องนี้ครั้งใดทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ ไม่มีปัญหาเหมือนกับชั่วโมงของครูคนอื่นๆ          

     ผมเลยถามเธอว่า “ครูแจงมีวิธีสอนให้เด็กห้องนี้เรียนเลขรู้เรื่องได้ยังไง” ก็ได้รับคำตอบว่า        
         “พยายามทำให้เขาประสบผลสำเร็จ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะนักเรียนห้องนี้ถูกสั่งสมความไม่รู้เรื่องและเบื่อวิชานี้มาตั้งแต่ต้นๆก่อนถึง ม.ศ.3 แล้ว การจะทำให้เขารู้ทุกเรื่องเหมือนเด็กห้องเก่ง คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในชั่วโมงแรกๆจึงต้องพยายามสอนทบทวนประสบการณ์เดิม เอาแต่ที่เป็นแก่นๆ ที่เป็นพื้นฐานอย่างง่ายๆที่สุด ไปช้าๆ แล้วออกข้อสอบง่ายๆให้เขาทำ ซึ่งผลปรากฏว่า เขาทำได้เกินครึ่งเกือบทั้งห้อง ที่ไม่ผ่านก็ได้คะแนนเกือบถึงครึ่ง แล้วก็เลยรีบเสริมแรงให้เขาทันที" โดยตั้งคำถามว่า      
        “ในชีวิตของพวกเราเคยทำเลขได้คะแนนมากขนาดนี้ไหม” ดูพวกเขาตาโตเป็นประกายด้วยความภาคภูมิใจขึ้นมาทันที เธอจึงไม่ละโอกาสอันดีนี้กล่าวกับพวกเขาต่อว่า       
        “เห็นไหมว่า วิชาคณิตศาสตร์ไม่ได้ยากอย่างที่เธอคิดหรอก แล้วพวกเราอยากเรียนคณิตศาสตร์ในชั้น ม.ศ.3 ให้รู้เรื่องไหม”      
        “อยากครับ/ค่ะ...”
เสียงดังกระหึ่มพร้อมกันขึ้นมาทั้งห้อง เธอจึงวางเงื่อนไขกับพวกเขาขึ้นมาทันที     
        “สัญญากับครูได้ไหมว่าต่อไปนี้เธอจะตั้งใจเรียน ถ้าไม่รู้เรื่องก็รีบถาม ทำการบ้านด้วยตนเองทุกข้อ และถ้าไม่ทำตามนี้จะต้องถูกครูลงโทษด้วย”
    
        “สัญญาค่ะ...” เสียงตอบดังขึ้นพร้อมกันอีกครั้ง    
        “ครูก็จะให้สัญญากับเธอเหมือนกันว่า ครูจะพยายามสอนให้เธอรู้เรื่อง และถ้าใครสอบวิชาคณิตศาสตร์ของครูในการทดสอบเก็บคะแนนครั้งต่อไปได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มครูจะมีรางวัลให้ทุกคน” เด็กๆตาเป็นประกายอย่างมีความหวังอีกครั้ง     
        “รางวัลอะไรครับ/ค่ะ...” เด็กๆถามอย่างสนใจ     
        “ถึงเวลาก็รู้เอง แต่จะเป็นสิ่งที่มีค่าในชีวิตของเธอ ครูบอกได้เท่านั้น”     
         ...หลังจากนั้นทุกชั่วโมงเด็กๆจะตั้งใจเรียนและทำตามสัญญากันอย่างเคร่งครัด ครูแจงเองก็พยายามจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สนุกสนาน ท้าทาย เช่น ถ้ามีโจทย์แก้ปัญหาที่ไม่ยากนักก็จะเชียร์ให้นักเรียนออกมาช่วยกันทำบนกระดานดำ โดยทำคนละบรรทัด ถ้าไม่กล้าออกมาคนเดียว ออกมาสองคนก็ได้ ซึ่งจะมีหน่วยกล้าตายออกมา คนอื่นๆก็จะเป็นกองเชียร์ให้กำลังใจ พอเด็กทำได้ครูก็จะให้ทุกคนปรบมือชื่นชมเพื่อน ถ้าใครทำไม่ได้ครูก็ไม่ตำหนิแต่จะหาจุดเด่นชม เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียกำลังใจ เช่น  “วิธีทำของเธอถูกแล้ว แสดงว่าเธอจำสูตรได้ เพียงแต่รีบเร่งไปหน่อยเลยคิดเลขผิด คราวหน้าเอาใหม่นะ”         
         ก็ไม่ทำให้เด็กเสียหน้า และทำให้คนอื่นๆอยากอาสาออกมาแก้โจทย์ปัญหาบ้าง และจากโจทย์ที่ง่ายๆก็ขยับขึ้นมาให้ยากขึ้นตามพัฒนาการและศักยภาพของเด็ก นอกจากนั้นเธอยังมีวิธีสอนอื่นๆที่ท้าทายและให้กำลังใจเด็กอีกหลายอย่าง เช่น ใช้เพื่อนสอนเพื่อน ใช้การแข่งขัน ฝึกการทำโจทย์เลขบ่อยๆ บูรณาการกับวิชาต่างๆ เป็นต้น       
         พอถึงวันทดสอบเก็บคะแนนครั้งแรกของโรงเรียน  ดูเด็กห้องนี้ตั้งใจสอบวิชาคณิตศาสตร์กันเป็นพิเศษ ไม่มีใครออกจากห้องสอบก่อนเวลาเลย ทำให้ครูที่คุมสอบแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับการสอบวิชานี้      
         หลังจากสอบเสร็จ ทุกวันเด็กๆจะพากันมาเวียนถามว่า      
        “ครูตรวจข้อสอบเสร็จหรือยัง…ผม/หนูผ่านไหม?”
     
        อีกสี่วันต่อมาครูแจงก็ตรวจคะแนนเสร็จ เธอได้เตรียมรางวัลไปมอบให้นักเรียนที่สอบผ่านได้คะแนนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งตามสัญญา โดยไปซื้อแฟ้มพลาสติกจากสหกรณ์โรงเรียน ราคาแฟ้มละไม่กี่สตางค์ร่วม 40 แฟ้มหอบเข้ามาในห้อง เห็นนักเรียนแต่ละคนนั่งเงียบอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ต่างใจจดใจจ่อที่จะฟังข่าวดี ดูตื่นเต้นจนผิดสังเกต ครูแจงคิดว่าพวกเขาคงลุ้นว่าจะได้คะแนนถึงครึ่งหรือไม่ คงไม่ลุ้นว่าจะได้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็มหรอก      
         “นั่งกันตามสบายก็ได้ ไม่ต้องนั่งเกร็ง ตัวตรงยังงี้ เดี๋ยวก็อัมพาตกินหรอก” ครูแจงสร้างบรรยากาศด้วยการทักทายนักเรียนอย่างเป็นกันเอง เรียกเสียงหัวเราะและทำให้บรรยากาศที่เคร่งเครียดดูคลายลง      
         “ก่อนอื่นครูดีใจและขอชื่นชมนักเรียนทุกคนอย่างยิ่งว่า ผลการทดสอบครั้งนี้นักเรียนได้คะแนนถึงครึ่งกันเป็นส่วนใหญ่ มีบางคนแม้ได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง แต่ก็เฉียดฉิว ไม่มีใครได้คะแนนต่ำจนผิดสังเกตเลย”
ครูแจงกล่าวเปรยเพื่อให้กำลังใจแก่นักเรียนก่อนประกาศผลสอบ และกล่าวต่อ      
         “ตามที่ครูให้สัญญากับเธอไว้ว่าใครสอบเก็บคะแนนครั้งแรกได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มครูจะมีรางวัลให้นั้น ตอนนี้ครูจะทำตามสัญญาแล้วนะ และบอกเสียก่อนว่า ครูไม่ได้ร่ำรวยอะไรแต่ครูก็ตั้งใจทำให้พวกเรา และครูอยากให้พวกเราภาคภูมิใจว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลจากการเรียนคณิตศาสตร์ อาจเป็นรางวัลแรกในชีวิตของนักเรียนหลายๆคน จึงนับเป็นรางวัลที่มีคุณค่ายิ่งของนักเรียน แม้บางคนจะไม่ได้ในครั้งนี้แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ในครั้งต่อๆไปอีก เพียงแต่ขอให้ตั้งใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยเท่านั้น”
         

      แล้วครูแจงก็เริ่มประกาศรายชื่อนักเรียนที่จะได้รับรางวัล ออกมารับรางวัลกันทุกคน ท่ามกลางเสียงปรบมือ และความตื่นเต้นดีใจของผู้ที่ได้รับกันทุกคน...

         

หมายเลขบันทึก: 643461เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2017 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2017 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท