ข้อคิดจากโคลงโลกนิติ


ข้อคิดจากโคลงโลกนิติ

ดร.ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4
ศษ.บ. (ภาษาไทย)  มสธ.
ศน.บ. (ศึกษาศาสตร์) มมร.
ป.บัณฑิต (บริหารการศึกษา)  ม.ราชภัฏนครราชสีมา
ศษ.ม. (การประถมศึกษา) ม.ขอนแก่น
ค.ม. (การบริหารการศึกษา)ม.ราชภัฏนครราชสีมา
ศษ.ด. (การบริหารการศึกษา) ม.วงษ์ชวลิตกุล

     โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรม ประเภทคำสอน ในลักษณะของโคลงสุภาษิต

     คำว่า โลกนิติ (อ่านว่า โลก-กะ-นิด) แปลว่า ระเบียบแบบแผนแห่งโลก

     เนื้อหาในโคลงโลกนิติ จึงมุ่งแสดงความจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันต่อโลก และเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต พร้อมเป็นแม่แบบเพื่อให้ผู้อ่านได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงามสืบไป

     โคลงโลกนิติมีความไพเราะเหมาะสมทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาปรัชญาสาระ ครบคุณค่าทางวรรณกรรม ทำให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป บางท่านกล่าวยกย่องโคลงโลกนิติว่าเป็น อมตะวรรณกรรมคำสอน หรือ ยอดสุภาษิตอมตะ (วรรณกรรมที่ไม่มีวันตายหรือเลือนหายไปจากโลก)

      โคลงโลกนิติ ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นบทอ่าน ในหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาอยู่ทุกยุคสมัย และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน สอนให้ทำความดี


ความเป็นมา

       โคลงโลกนิติ เชื่อกันว่า มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย โดยนักปราชญ์ในสมัยนั้นได้คัดเลือกหาคาถาสุภาษิต ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท และ พระไตรปิฎก เป็นต้น มาถอดความแล้วเรียบเรียงแต่งเป็นโคลงโลกนิติ

ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ

         ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ฯ) ในปี พ.ศ. 2374 ก็มีดำริให้จารึกวิชาการสาขาต่างๆ ไว้บนแผ่นศิลาที่ประดับไว้ตามเสาหรือกำแพงพระวิหาร ในการนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร (ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร) ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่าให้ประณีตไพเราะยิ่งขึ้น เพื่อจารึกไว้ในคราวเดียวกัน

        จำนวนโคลงโลกนิติที่ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทย มีทั้งสิ้น 408 บท แต่ที่จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ แผ่นละบท มี 435 แผ่น (รวมโคลงนำ 2 บท) คาดว่ามีโคลงที่แต่งเพิ่มเติมเพื่อให้พอดีกับพื้นที่จารึก

สำนวนอื่น

ปี พ.ศ. 2385 โลกนิติคำฉันท์ แต่งเป็นคำฉันท์โดย ขุนสุวรรณสารวัด

ปี พ.ศ. 2428 โลกนิติคำโคลง อีกสำนวน เข้าใจว่าแต่งโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ฉบับชำระ ภายหลังมีการรวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์เผยแพร่โคลงโลกนิติ ดังนี้

หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง รวบรวม สอบทาน และจัดพิมพ์โดย กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ. 2447 เพื่อใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียน โดยนำโคลงที่สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระไว้ 408 บท ที่ปรากฏในต้นฉบับสมุดไทย (รวมโคลงนำ 2 บท โคลงส่งท้าย 2 บท และโคลงที่ซ้ำกันอยู่ 5 บท) มาพิมพ์ร่วมกับโคลงอีก 30 บท ที่พบในแผ่นศิลาวัดพระเชตุพนฯ

ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติจัดพิมพ์โคลงโลกนิติที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ร่วมกับโคลงโลกนิติสำนวนเก่าที่มีการค้นพบเป็นจำนวนมากจากหอพระสมุดวชิรญาณ พร้อมระบุคาถาอันเป็นที่มาของโคลง และจัดรวบรวมกันเป็นชุดๆ ได้โคลงภาษิตรวม 593 ชุด จำนวน 911 บท (ไม่รวมโคลงนำ 2 บท และโคลงส่งท้าย 2 บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2460

ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ เป็นฉบับที่คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ นำต้นฉบับ หนังสือสอนอ่านฯ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง และ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาสอบทาน แก้ไขอักขระ ตัดโคลงที่ซ้ำซ้อน เพิ่มเติมคาถา จัดทำคำอธิบายศัพท์ และจัดหมวดหมู่ใหม่ในโคลงบางชุด ทำให้ได้โคลงภาษิตรวม 594 ชุด จำนวน 902 บท (รวมโคลงนำ 2 บท และโคลงส่งท้าย 4 บท) พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543

ฉบับคัดลอก ที่น่าสนใจ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ คัดโคลงบางบท บรรจุลงเป็นบทเรียนอ่านหนึ่งใน หนังสือแบบเรียน วิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษา

โคลงโลกนิติ ฉบับถอดความ ถอดความโดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อ้างจาก ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ ทั้ง 435 บท แต่ละบทประกอบด้วย บทโคลง, บทแปลคำศัพท์, บทถอดความ


ข้อคิดจากโคลงโลกนิติ

     ให้แง่คิดความหวาน ความหวานหญิงรูปงาม อ้อย และถ้อยคำ หรือการพูด

รสหวานในโลกนี้      มีสาม
หญิงรูปบริสุทธิ์งาม  อีกอ้อย
สมเสพรสกลกาม     เยาวโยค
หวานไป่ปานรสถ้อย กล่าวเกลี้ยงไมตรี

สำนวนเก่า

    หวานใดในโลกนี้ มีสามสิ่งนา
 หวานหนึ่งคือรสกาม อีกอ้อย
   หวานอื่นหมื่นแสนทราม สารพัด
หวานเอยหวานไป่     ปานรสถ้อย กล่าวเกลี้ยงคำหวาน

(สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)

    สอนให้รู้จักความดีความชั่ว การที่เราได้รับผลอย่างไรย่อมมีเหตุจากการกระทำของเราทั้งสิ้น ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน ผู้ทำชั่ว ผลที่เกิดจากการทำชั่วนั้น ย่อมกัดกร่อนใจซึ่งเปรียบได้กับสนิมกัดกร่อนเนื้อเหล็กให้ผุพังไป ฉะนั้น ดังที่ว่า

    สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน
กินกัดเนื้อเหล็กจน         กร่อนขร้ำ
   บาปเกิดแต่ตนคน       เป็นบาป
บาปย่อมทำโทษซ้ำ       ใส่ผู้บาปเอง

กล่าวถึงความดีความชั่วไว้ในอีกบทหนึ่งว่า

วัวควายนั้น เมื่อสิ้นชีพแล้วยังมีเขาและหนังที่เป็นประโยชน์ ส่วนคนเราเมื่อสิ้นชีวิต
คงเหลือแต่เกียรติยศชื่อเสียงและความดีความชั่วให้คนได้จดจำไว้เท่านั้น ดังที่ว่า

    โคควายวายชีพได้ เขาหนัง
เป็นสิ่งเป็นอันยัง   อยู่ไซร้
    คนเด็ดดับสูญสัง- ขารร่าง
เป็นชื่อเป็นเสียงได้ แต่ร้ายกับดี

สอนให้รู้จักประมาณตน

     โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักประเมินความสามารถและประมาณกำลังของตน นับเป็นคำสอนที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องหลักปรัชญาของบเศรษฐกิจพอเพียง ดังคำสอนที่ใช้แนวเทียบกับนกตัวน้อยที่หากินตามกำลังของตนและทำรังแต่พอตัว

      นกน้อยขนน้อยแต่ พอตัว
   รังแต่งจุเมียผัว อยู่ได้
     มักใหญ่ย่อมคนหวัว ไพเพิด
   ทำแต่พอตัวไซร้ อย่าให้คนหยัน


สอนให้รู้จักพิจารณาคนและรู้จักคบเพื่อน

     โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักพิจารณาเลือกคบคน โดยกล่าวเปรียบเทียบว่า ก้านบัว สามารถบอกความตื้นลึกของน้ำได้ฉันใด กิริยามารยาทของคนก็สามารถบ่งบอกถึง
การอบรมเลี้ยงดูได้ฉันนั้น คำพูดก็สามารถบ่งบอกให้รู้ว่าคนนั้นพูดฉลาดหรือพูดโง่ เช่น เกี่ยวกับหย่อมหญ้าที่เหี่ยวแห้งย่อมบอกให้รู้ว่าดินในบริเวณนั้นไม่ดี ดังที่ว่า

      ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
  มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
     โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
  หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้านแสลงดิน

       อีกบทหนึ่งจะกล่าวเปรียบเทียบจิตใจของคนกับความลึกของมหาสมุทรที่แม้จะลึกเพียงใดก็อาจจะใช้เครื่องมือวัดได้ หรือภูเขาแม้จะสูงเพียงใดก็อาจใช้เครื่องมือวัดความสูงได้เช่นกัน แต่จิตใจคนนั้นวัดความรู้สึกจริงแท้ได้ยาก ดังที่ว่า

     พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
สายดิ่งทอดทิ้งมา        หยั่งได้
    เขาสูงอาจวัดวา       กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้           ยากแท้หยั่งถึง

อีกบทหนึ่งสอนให้อยู่ห่างไกลจากคนชั่ว เพราะหากคบคนชั่วเป็นมิตร เมื่อถึงเวลาผิดใจกันเขาก็อาจกล่าวโทษแก่เราได้ ดังที่ว่า

      มิตรพาลอย่าคบให้    สนิทนัก
พาลใช่มิตรอย่ามัก          กล่าวใกล้
     ครั้นครามเคียดคุมชัก เอาโทษ ใส่นา
รู้เหตุสิ่งใดไซร้               ส่อสิ้นกลางสนาม


สอนไม่ให้ทำตามอย่างผู้อื่น (ในทางไม่ดี)

เมื่อเห็นผู้อื่นมั่งมีกว่าก็ไม่ควรโลภ ไม่ควรอยากมีอยากได้ตามคนอื่น แม้จะยากจนก็ให้หมั่นทำมาหากิน อย่าเกียจคร้านและท้อแท้ ให้รู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ดังที่ว่า

      เห็นท่านมีอย่าเคลิ้ม ใจตาม
เรายากหากใจงาม         อย่าคร้าน
     อุตสาห์พยายาม       การกิจ
เอาเยี่ยงอย่างเพื่อนบ้าน อย่าท้อทำกิน

สอนให้มีความกตัญญู

     โคลงโลกนิติสอนให้ระลึกถึงพระคุณบิดามารดาและครู โดยกล่าวเปรียบว่าพระคุณของมารดานั้นยิ่งใหญ่เปรียบได้กับแผ่นดิน พระคุณของบิดาเล่าก็กว้างขวางเปรียบได้กับอากาศ พระคุณของพี่นั้นสูงเท่ากับยอดเขาพระสุเมรุ และพระคุณของครูบาอาจารย์ก็ล้ำลึกเปรียบได้กับน้ำในแม่น้ำทั้งหลาย ดังที่ว่า

      คุณแม่หนักหนาเพี้ยง พสุธา
คุณบิดรดุจอา-                 กาศกว้าง
      คุณพี่พ่างศิขรา          เมรุมาศ
 คุณพระอาจารย์อ้าง        อาจสู้สาคร

สอนให้เป็นคนมีวาจาอ่อนหวาน

        คนที่พูดจาสุภาพไพเราะย่อมมีเพื่อนมาก เปรียบได้กับดวงจันทร์ที่มีดาวจำนวนมากรายล้อมประดับ ต่างกับคนพูดจากระด้างหยาบคาย ทำให้มีไม่ใครปรารถนาจะคบหรือสมาคมด้วย เปรียบได้กับดวงอาทิตย์แสงร้อนแรงที่บดบังแสงของดาวดวงอื่น
ดังที่ว่า

      อ่อนหวานมานมิตรล้น    เหลือหลาย
หยาบบ่มีเกลอกราย            เกลื่อนใกล้
      ดุจดวงศศิฉายดาวดาษ  ประดับนา
สุริยาส่องดาราไร้                เพื่อร้อนแรงแสง

แหล่งข้อมูล

https://sites.google.com/site/...

https://goo.gl/GgiM3v

หมายเลขบันทึก: 643436เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท