ปฐมบทเพลาแรกเทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้าสู่สยาม


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

ผู้สนใจประวัติศาสตร์การสื่่อสารสยาม

 


 

อารัมภบท

บทความวิชาการนี้ได้ทำการวิจัยแบบ Documentary research ทางวิชาการประวัติศาสตร์ เพื่อค้นหาปฐมกาลเวลาแรกที่เทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้าสู่สยาม และเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปและบุคคลในวงการโทรคมนาคมไทยได้รับรู้ความเป็นมาของบรรพบุรุษการสื่อสารไทย เพื่อคุณค่าทางวิชาการและรำลึกถึงพระคุณท่านเหล่านั้นที่ได้เริ่มก่อการให้กิจการโทรคมนาคมไทยรุ่งเรืองดังวันนี้

 

ชาวสยามรู้จัก “โทรเลข” ครั้งแรกเมื่อใด

ไม่กี่เดือนหลังจาก ซามูเอล มอร์ส นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันได้ส่งโทรเลข ประวัติศาสตร์ครั้งแรก จากวอชิงตันไปบัลติมอร์ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ หรือ ๖๒ ปีหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ หมอ แดเนียล บรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกันก็ได้นำเรื่องราวของโทรเลขนี้มาเล่าให้ชาวสยามฟัง โดยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok recorder เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๘ ทำให้ชาวสยามรู้จักคำว่า “เตลิคราฟ” หรือ Telegraph เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคมแรกที่สามารถทำการส่งข่าวสารได้นับพันๆ โยชน์ ในเวลาเพียงพริบตา

หมอ แดเนียล บรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้ทำให้ชาวสยามรู้จักคำว่า Telegraph (โทรเลข)

 

 “บางกอกรีคอเดอ” ฉบับเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๘ ได้เล่าเรื่องการส่งโทรเลข ของ ซามูเอล มอร์ส จากวอชิงตันไปบัลติมอร์ และบรรยายลักษณะการทำงานของเทคโนโลยีโทรเลขว่า หลักการทำงานของเครื่องส่ง และเครื่องรับโทรเลข คือ เมื่อกดคันเคาะของเครื่องส่งให้วงจรไฟฟ้าปิด กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าไปในขดลวดของเครื่องรับ ทำให้ขดลวดของเครื่องรับ เกิดสนามแม่เหล็ก จึงดูดแผ่นเหล็กมากระทบแกนเหล็ก ทำให้เกิดเสียงที่มีจังหวะเดียวกับคันเคาะ การปิดเปิดวงจรทำให้เกิดเสียงเป็นสัญญาณโทรเลข แล้วจึงแปลงสัญญาณโทรเลขให้เป็นข้อความ โดยกำหนดรหัสในโทรเลขไว้ ๒ ลักษณะ คือ เคาะแล้วกดไว้ (กดยาว) และ เคาะแล้วปล่อย (กดสั้น) ที่เรียกว่า รหัส มอร์ส ตามชื่อผู้ประดิษฐ์ นั่นคือ ซามูเอล มอร์ส (Samuel Morse)

 

รหัส มอร์ส Morse code

            รหัสมอร์ส (Morse code) คือวิธีการส่งข้อมูลด้วยการใช้รูปแบบสัญลักษณ์สั้น และยาวที่กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานไว้แล้ว ซึ่งมักจะแทนด้วย เครื่องหมายจุด (.) และ เครื่องหมายขีด (-) ผสมกันเป็นความหมายของตัวหนังสือ ตัวเลข และเครื่องหมายพิเศษต่างๆ

รหัส มอร์ส

ภาพอันสำคัญของเทคโนโลยีโทรคมนาคมโลก คือ กระดาษที่ มอร์ส ส่งจากวอชิงตันไปบัลติมอร์ด้วยคำว่า “What hath god wrought?” คำว่า hath นั้นก็คือคำว่า has ที่ใช้ในประโยคนี้เป็น Active voice ในประโยคคำถาม เป็นคำถามว่า “พระเจ้าได้เขียนหนังสืออะไรไปแล้วบ้าง?”

 


 

ลักษณะเครื่องโทรเลขของ มอร์ส ที่ใช้สาธิตการในการส่งครั้งนั้น


 

เครื่องโทรเลขเครื่องแรกเข้าสู่สยาม

 

ในหนังสือ ๓ ปี กทช. เป็นครั้งแรกที่ได้มีการระบุว่า โทรเลขเครื่องแรกเข้ามาสู่สยามในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ โดยมีคณะทูต ปรัสเซีย หรือเยอรมนีในปัจจุบัน มาเจริญราชไมตรี และหนึ่งสิ่งที่เป็นของสำคัญในบรรดาเครื่องราชบรรณาการนั่นคือ “เครื่องโทรเลข” ที่คณะทูตดังกล่าวนำมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๔ พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ของคนไทยเรา

ซึ่งในหนังสือ ๓ ปี กทช. กล่าวเพียงว่า ครั้งนั้นอาจจะเป็นโทรเลขเครื่องแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดครั้งแรกที่สยามประเทศได้รู้จักเทคโนโลยีโทรคมนาคมแรกในประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือบทความวิชาการใด ที่จะระบุเหตุการณ์ย้อนหลังได้ยาวนานไปเกินกว่า  4 สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ (วันสถาปนากรมไปรษณีย์) ผู้เขียนจึงตั้งเป้าว่าจะเริ่มต้นค้นคว้าถอยไปให้ไกลที่สุดที่จุดนั้นก่อน

 ...นับจากในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ หรือ ค.ศ. ๑๘๕๙ ยุคที่ประเทศมหาอำนาจกำลังออกล่าอาณานิคม เกิดกลียุคคุกคามประเทศด้อยพัฒนาไปทั่วโลก โดยมีสามประเทศมหาอำนาจหลักที่ถือว่ามีกองทัพเรือแข็งแกร่งที่สุดในโลกออกเดินทางแสวงหาประโยชน์ไปทั่วเอเชีย นั่นคือ ปรัสเซีย (Prussia) อังกฤษ (Great Britain) และฝรั่งเศส (France) ต่างไม่ทับเส้นกัน ไม่กระทบกระทั่งกัน แยกกันหาผลประโยชน์ แต่ปรัสเซียนั้นเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีคุณธรรมมากกว่าชาติอื่น ไม่ได้เพียงต้องการใช้กำลังบังคับเอาประโยชน์จากประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แต่ต้องการเพียงโอกาสทางการค้า และต้องการมิตรภาพ ปรัสเซียนั้นเป็นแคว้นใหญ่ในยุโรปก่อนที่ต่อมาจะรวมแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกันเป็น “เยอรมนี” ดังในปัจจุบัน

    

สยามประเทศเองได้รู้ถึงสัญญาณอันตรายจากลัทธิล่าอาณานิคม โดยการดำเนินนโยบายเรือปืน (Gunship Policy) ของบรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรป เพื่อล่าเมืองขึ้น ล่าทรัพยากรต่างๆ ทั่วโลกเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตน

ภัยคุกคามต่อเอกราชของสยามมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนหนักขึ้นในยุครัชกาลที่ ๔ ประเทศเพื่อนบ้านพม่า ลาว กัมพูชา หรือแม้แต่จีนก็ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศยุโรปทั้ง อังกฤษ และฝรั่งเศส ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องใช้พระปรีชาสามารถอย่างสูงในการดำเนินนโยบายทางการทูต โดยครั้งแรกได้ส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ

 

 

ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ทูตสยามเฝ้า พระนางเจ้าวิกตอเรีย

ส่วนฝรั่งเศสนั้น จักรพรรดิ นโปเลียน ผู้เลื่องลือนามถึงแสนยานุภาพกองทัพเรืออันเกรียงไกร ยากที่ประเทศสยามจะต่อกรได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระเกียรติยศแด่ พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ โดยแต่งทูตเชิญเครื่องราชบรรณาการ คือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องหมายแสดงพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์ไทย อันประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี  ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าสยามให้เกียรติฝรั่งเศสอย่างสูงสุด

 

ทูตสยามถวายเครื่องราชบรรณาการ (เครื่องราชกกุธภัณฑ์ อาทิเช่น พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นต้น )

 แด่ พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เมื่อ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ณ พระราชวัง ฟองแตนโบล

 

ครานั้น Prince William ผู้สำเร็จราชการ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนกษัตริย์ เฟรียดริช วิลเฮม ที่สี่ (Friedrich Wilhelm IV) ซึ่งป่วยอยู่ พระองค์ได้แต่งตั้ง “เฟรียดริช อัลเบรชต์ กราฟ ฟริส ซู ออยเลนเบอร์ก” (Friedrich Albrecht Graf Fritz zu Eulenburg) เป็นทูตพิเศษ และอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของ ปรัสเซีย ในนามของสหภาพเยอรมัน (German Customs Union) เพื่อเดินทางพร้อมคณะผู้ติดตาม เพื่อไปปฏิบัติภารกิจในเอเชียตะวันออก ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ ถึง ๒๔๐๕

Crown Prince William of Prussia มหามิตรแห่งสยาม

 

ภารกิจดังกล่าวถูกขนานนามว่า “Eulenburg Expedition” ซึ่งเป็นเรือสำรวจของปรัสเซียที่มีภารกิจเดินทางไป จีน ญี่ปุ่น และสยาม ในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๙ ถึง ๑๘๖๒ โดยมี เฟรียดริช อัลเบรช เคานต์ ซู ออยเลนเบิร์ก ( Friedrich Albrecht Graf Fritz zu Eulenburg) เป็นหัวหน้าคณะ (ในพงศาวดารรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกนามท่านผู้นี้เป็นภาษาไทยใช้ตัวสะกดสลับกันไปมาหลายรูปแบบ ผู้เขียนจึงขอเรียกทับศัพท์สั้นๆ เอาว่าท่าน Eulenburg (ออยเลยเบิร์ก)) ผู้แทนกษัตริย์ ปรัสเซีย ผู้มีอำนาจเต็ม
 

ด้วยผู้เขียนไม่รู้ภาษาเยอรมัน จึงได้ค้นคว้าเพียงลำพังแล้วสันนิษฐานคำว่า Graf ที่นำหน้านามท่านนั้นเปรียบเสมือนเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นสูง และในฟงศาวดารไทยเขียนว่า "กอนเอวแลนเบิก" แต่ผู้เขียนขอเขียนสลับกับ "ออยเลนเบิร์ก" ไปมาตามสะดวก  โดยภารกิจ Eulenburg Expedition นี้มีภารกิจเพื่อไปเจริญราชไมตรีและการค้าในสามประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และสยาม

 

ภาพถ่าย Friedrich Albrecht Graf Fritz zu Eulenburg ผู้นำโทรเลขเครื่องแรกมาสู่สยาม

เป็นภาพที่มีเพียง ๑ ใน ๒ ภาพที่หาได้ในประเทศไทยปัจจุบัน

การดำเนินขบวนเรือภารกิจ Eulenburg Expedition เพื่อเจริญราชไมตรีกับประเทศที่สำคัญในเอเชียนั้น นอกจากเป็นคณะทูตแล้ว ยังมีการจัดรูปแบบการเดินเรือที่เรียกได้ว่าเป็นเสมือนขบวนเรือสำรวจ ซึ่งขบวนเรือสำรวจของชาติตะวันตกทั่วไปนั้น จะมีทูต มีทหาร มีแพทย์ มีนักวิทยาศาสตร์ มีจิตรกร มีช่างภาพ มีนักเขียน นักดนตรี เป็นต้น ร่วมคณะเดินเรือสำรวจไปด้วย คณะทูตในภารกิจ Eulenburg Expedition ประกอบไปด้วยเรือรบ (Warship) จำนวน ๓ ลำ ชื่อ เรือ SMS Arcona เรือ SMS Thetis และ เรือ SMS Frauenlob

 

ภาพเรือ SMS Arcona หรือ Kovertte Arcona

 

ภาพเรือ SMS Thetis

ส่วนเรือ SMS Frauenlob ผู้เขียนได้ค้นพบข้อมูลที่ยังไม่สามารถอ้างอิงเชิงวิชาการได้ว่า ถูกไต้ฝุ่นโจมตีก่อนถึงญี่ปุ่น นอกฝั่ง โยโกฮาม่า เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๓ สูญเสียลูกเรือไปประมาณห้าสิบคน แต่ผู้เขียนกลับพบเอกสาร ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ บันทึกช่วงประวัติศาสตร์ครานั้นว่า “ทางคณะทูตได้แจ้งทางคณะผู้ประสานงานฝ่ายสยามว่าจะมีเรือรบเข้ามา ๓ ลำ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงมีหมายรับสั่ง เรื่องต้อนรับทูตปรูเซีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ บันทึกไว้ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่องทูตฝรั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังได้ระบุไว้ว่าจะมีเรือรบเข้ามา ๓ ลำ ตามนั้น แต่ตอนเข้ามาจริงๆ จักมีจำนวนเท่าใดก็ไม่อาจทราบแน่ชัดได้ รอให้นักประวัติศาสตร์มาค้นคว้าเพิ่มเติม ในภารกิจ Eulenburg Expedition นั้น ก็มีลูกเรือเป็นบุคคลต่างๆที่มีความสำคัญหลายท่านร่วมเดินทางที่ผู้เขียนพอจะค้นคว้าหานามได้มีดังนี้

- ลูเซียส วอน บอลฮอสเซน (Lucius von Ballhausen คาดว่าเป็น แพทย์)

- แม็กซ์ วอน แบรนดต์ (Max von Brandt คาดว่าเป็น attaché หรือผู้ช่วยทูต)

- วิลเฮม ฮายน์ (Wilhelm Heine  คาดว่าเป็นจิตรกร)

- คาร์ล เอ็ดดวด ฮุสเนอร์ (Karl Eduard Heusner)

- ฟริตซ์ วอน ฮอลแมนน์ (Fritz von Hollmann)

- เวอร์เนอร์ วอน เรนโฮล (Werner Von Reinhold)

- เฟอร์ดินานด์ วอน ริชทอเฟน (Ferdinand von Richthofen คาดว่าเป็นช่างภาพ และนักวิทยาศาสตร์) 

- กัสตัฟ สปีส์ (Gustav Spies)

  ฯลฯ

            คณะเรือสำรวจของยุโรปนั้น จะประกอบไปด้วยนักการทูต นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน แพทย์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีชื่อ พิชเชล ซึ่งท่านทูต Eulenburg เอ่ยถึงบ่อยในบันทึกของท่าน ซึ่งแสดงไว้ในเอกสาร ๑๒๐ ปี มิตรภาพไทยเยอรมัน

หนังสือ ๑๒๐ ปีมิตรภาพเยอรมัน-ไทย ซ่อนไว้ซึ่งช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์โทรคมนาคมไทย

ที่ไม่เคยมีใครทราบมากว่า ๑๕๐ ปี

 

ผู้เขียนพอจะหาชื่อมาได้เท่านี้ ขอเรียนตามตรงว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเรื่องเหตุการณ์ครั้งนั้น สำหรับประเทศไทยคงมีแค่สามแหล่งคือ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ ซึ่งก็มีรายละเอียดน้อยนิด อีกอันก็คือเอกสารของสถานทูตเยอรมนีซึ่งละเอียดขึ้นมาหน่อย อีกอันก็คงเป็นเอกสารกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเกี่ยวพันกับการทูต แต่ก็มีเพียงบันทึกของพระองค์เจ้าทิพากรวงศ์สั้นๆ

แต่นาม และประวัติของแต่ละบุคคลในคณะเดินทางนั้น ผู้เขียนคิดว่าคงต้องไปหาที่ประเทศเยอรมนี อย่างไรก็ตามคาดว่านามทั้งหมดที่เอ่ยมานี้ ทุกท่านคงได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์ทั้งหมด ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเองโดยไม่ถือพระองค์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์สยามก้าวข้ามกฎมณเฑียรบาล โดยมีการต้อนรับแบบลับเฉพาะส่วนพระองค์ครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงได้มีการต้อนรับยิ่งใหญ่อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายที่รับราชการในขณะนั้น พาคณะทูตปรัสเซียนี้ ท่องเที่ยวพร้อมทั้งชมมหรสพในสยาม จนกลายเป็นมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การทูตสยาม

ข้อมูลในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเทียม ลดานนท์ ในประชุมพงศาวดารเรื่องนี้กรมศิลปากรได้รวบรวมขึ้นให้จัดพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสรรพกิจปรีชา (ชื่น โชติกเสถียร) เรียกได้ว่ามีเหตุการณ์ที่บรรยายเรื่องราวของคณะทูต ปรัสเซีย ไว้พอควร โดยมีเนื้อหาข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่อง ทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในตอน ปรูเซียแต่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ซึ่งเป็นหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเตรียมการต้อนรับทูตปรูเซีย (ปรูเซีย หรือปรุสเซีย หรือ ปรัสเซีย คือ Prussia เป็นความหมายเดียวกัน แต่ผู้เขียนขอเรียกแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน เพราะจะเรียกตามหนังสือที่เป็นหลักฐานต้นฉบับในแต่ละเล่ม) ปรูเซียได้ติดต่อประสานมายังขุนนางไทยให้ในหลวงได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า คณะทูตจะเข้ามาถวายราชไมตรี
 

 

ศัพท์แสงทางการสมัยโบราณตามในพงศาวดารนั้น ผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่คล่อง เกรงว่าจะอ่านไม่สนุกผู้เขียนจึงขออนุญาตเรียบเรียงเป็นคำเข้าใจง่าย ต่อหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องต้อนรับทูตปรูเซีย มีใจความว่า

...”ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีรับสั่งว่า พระเจ้าแผ่นดินเมืองปรูเซียมีพระราชสาส์นแต่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ขอทำหนังสือสัญญาให้ขายค้าไปมา ได้เหมือนอย่างไทยกับต่างประเทศอื่นที่เคยแต่งให้ราชทูตเข้ามาแต่ก่อน ๆ 

          กำหนดราชทูตจะเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ในเดือน ๗ ข้างแรม ปีวอกโทศก ทูตเข้ามาครั้งนี้จะให้พักที่ตึกหลวงหน้าวัดประยุรวงศารามนั้น 

  • ให้พระคลังวิเศษจัดมุ้งแพรมีระบายสำหรับผูกเตียงทูต ๔ 
  • ให้จัดมุ้งผ้ามีระบายสำหรับผูกเตียงขุนนางที่เข้ามากับทูต ๗ เป็น ๑๑ หลัง 
  • ให้เร่งเย็บตามเคยไปผูกเตียงให้ทันกำหนด 
  • ให้พระคลังในซ้ายจัดฟูก ๑๑ จัดผ้าขาวปูที่นอน ๑๑ เป็น ๒๒ ผืน 
  • ให้จัดหมอนหนุนศรีษะ ๑๑ หมอนข้าง ๒๒ รวมเป็น ๓๓ ใบ 
  • ให้เร่งเย็บลงไปปูลาดที่นอนตามเคย 
  • ให้พระคลังพิมานอากาศจัดโคมหวด จัดโคมหม้อ จัดโคมตั้งจัดถ้วยแก้วกระบอก ไปแขวนไปตั้งที่ตึกรับทูตให้พอ 
  • ให้กรมพระนครบาล ยืมตุ่มสามโคกต่อกรมพระกลาโหม ไปตั้งที่ตึกรับทูต ๒๐ ใบ 
  • ให้พระคลังราชการจัดเสื่ออ่อนเสื่อลวด ไปปูตึก
  • ให้เจ้าพนักงานทั้งนี้เร่งเอามุ้งหมอนฟูก เอาเสื่ออ่อนเอาตุ่มไปตั้ง เอาโคมไปแขวน ที่ตึกรับทูตหน้าวัดประยุรวงศารามแต่ณวันพุธเดือน ๗ แรม ๓ ค่ำปีวอกโทศก เมื่อจะเอาของไปตั้งให้บอกบัญชีต่อขุนอักษรสมบัติ เสมียนตรากรมท่า พาทูตกลับไปแล้ว ให้เจ้าพนักงานทั้งนี้ รับเอาสิ่งของที่ไปตั้งคืนมาตามเคย อย่าให้ขาด ได้ตามรับสั่ง”

 

จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านมีรับสั่งละเอียดมาก เพื่อเป็นการเตรียมการต้อนรับให้เกียรติคณะทูตที่จะมาเข้าเฝ้าในปีถัดไปอย่างเต็มที่ โดยมี เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นผู้รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ

............................................................


 

วันที่เทคโนโลยีโทรคมนาคมแรกเข้ามาในสยาม

ครั้นพอถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ถึงกำหนดการที่คณะราชทูต ปรัสเซีย ขอเข้าเฝ้า ได้ปรากฏหลักฐานในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่อง ทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในตอนเรื่อง ปรูเซียแต่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีหมายรับสั่ง เรื่องต้อนรับทูตปรูเซีย ฉบับที่ ๑ เรื่องจัดของไปรับทูตปรูเซีย มีใจความว่า

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระบรมราชโองการรับสั่งว่า พระเจ้าแผ่นดินปรูเซียแต่งให้ คอลออยเลนเบิต ราชทูต เข้ามาจำเริญทางพระราชไมตรี ทำหนังสือสัญญากับกรุงฯ (กรุงเทพ) เข้ามาด้วยเรือรบ ๓ ลำ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีรับสั่งให้

  • ให้พระคลังในซ้าย จัดน้ำตาลทรายขาว หนัก ๒๕ หาบ
  • ให้กรมท่าซ้ายจัดใบชาหีบใหญ่ ๔ หีบ
  • ให้กรมนา จัดข้าวสารมารวมซ้อมขาวใส่กระสอบ ๓ เกวียน
  • ให้พระคลังราชการจัดน้ำมันมะพร้าวหนัก ๑๕ หาบ
  • ให้กรมพระคลังสินค้าเจ้าภาษีจัดปลาหางตากแห้ง ๓๐ หาบ จัดเผือกมัน ๓๐ หาบ จัดฟักทอง ๖๐๐ ผล
  • และให้เจ้าพนักงานทั้งนี้ จัดสิ่งของไปพระราชทานทูตที่ตึกหลวง หน้าวัดประยุรวงศาราม แต่ ณ วันศุกร์เดือนยี่ขึ้น ๓ ค่ำปีระกาตรีศก เมื่อเอาสิ่งของไปทักทูตนั้น ให้บอกบัญชีที่เวรกรมท่าก่อน อย่าให้ ขาดได้ตามรับสั่ง

 

ผู้เขียนเข้าใจว่า พระราชประสงค์ที่พระองค์ท่าน มีรับสั่งให้จัดสิ่งของออกไปพระราชทานทูต และขุนนาง ทหาร และลูกเรือ ที่จอดเรือรบรออยู่ที่นอกสันดอน ตามอย่างธรรมเนียมบ้านเมืองเป็นไมตรีกันนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของส่งไปให้คณะทูตดังกล่าวไป ๑ ลำแล้ว ยังมีอีก ๒ ลำที่ยังไม่ได้รับพระราชทานสิ่งของ โปรดให้จัดสิ่งของแบบเดิมอีก

ในหนังสือ “๑๔๐ ปีความสัมพันธ์เศรษฐกิจเยอรมัน-ไทย พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๕๔๑” โดยในหน้า ๒๑ ย่อหน้าที่ ๒ ได้บอกว่า ท่าน Eulenburg และเรือ อโคนา มาถึงเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ แต่มีส่วนหนึ่งของคณะทูตที่มากับเรือ เธติส ได้ล่วงหน้ามาก่อนแล้วเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายไทย

.......................................

 

ในหมายรับสั่ง ฉบับที่ ๒ เป็นเรื่อง “มีละครที่ท้องสนามหลวงให้ราชทูตปรูเซียดู” แค่อ่านชื่อ ผู้เขียนก็เชื่อว่าผู้อ่านคงรู้สึกสนุกแล้ว อาจจินตนาการเห็นบรรยากาศแล้วว่า คงครึกครื้นดี

เมื่อจินตนาการถึงฝรั่งชาวเยอรมันที่ไม่น่าจะพูดคุยกับราชทูตไทยรู้เรื่องสักเท่าใดดีนัก ผู้เขียนสันนิษฐานเอาเองว่า ขุนนางไทยน่าจะเก่งภาษาอังกฤษมากกว่า แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ราชทูตเยอรมนี น่าจะพูดอังกฤษได้ หรือไม่ก็อาจจะพอมีพ่อค้าเยอรมนี (ปรูเซีย) ที่เข้ามาค้าขายก่อนหน้านั้นที่พอพูดไทยได้มาเป็นล่ามให้ แล้วที่สำคัญร่วมคณะพาท่านทูตไปชมละครเสียด้วย

ในหนังสือ ๑๔๐ ปีฯ ได้กล่าวว่า มีพ่อค้า ๒ คน นั่นคือ มาร์ควัล (Markwald) และ ธีส-พิคเคนพัค (Thies-Pickenpack) คนของ บริษัท เยอรมนี ที่ดำเนินกิจการอยู่ในบางกอก ได้เสนอเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกคณะทูตดังกล่าว

(ณ เวลาที่เขียนอยู่ตอนนี้ ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่า มาร์ควัล (Markwald) ท่านนี้ ต่อมาจะใช่ กงสุลสยามประจำ ปรัสเซีย หรือไม่ ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเรื่อง “ข้าวของในอดีต” ของคุณเอนก นาวิกมูล พบความว่า ..ในหนังสือบางกอก เรคคอร์เดอร์ ของหมอ บรัดเลย์ ฉบับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ ได้ลงข่าวน่าสนใจว่า มิสเตอร์มากวลด์ กงสุลสยามประจำ ปรัสเซีย ได้ฝากเตเลแครฟมาให้เจ้าพระยาพระกลาโหมสัมรับหนึ่ง...ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเบาะแสที่สำคัญของการมีโทรเลขเข้ามาในสยามและเกี่ยวข้องกับพระกลาโหม)

...พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีรับสั่งว่า กำหนดให้มีละครที่ทุ่งสนามหลวง ในวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาเช้า ทำไมต้องเป็นเพลาเช้า แปลว่าตอนเช้าจริงหรือไม่ผู้เขียนก็ไม่ทราบได้ แต่เข้าใจได้ว่าการเล่นละครให้ทูตชมนั้น สยามเพิ่งจัดมาได้ไม่กี่ครั้ง และผู้เขียนเข้าใจว่าคงเป็นที่ประทับใจของทูตต่างชาติก่อนๆ ที่เคยได้ชมละคร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้จัดแสดงให้คณะนี้ชม อย่างไรก็ตามผู้เขียนคาดเดาเอาว่า แม้ละครจะเล่นที่สนามหลวงตอนเช้าจริงตามที่เข้าใจ อากาศตอนนั้นก็คงไม่ร้อนเพราะบรรยากาศโลกเมื่อร้อยห้าสิบกว่าปีก่อนน่าจะไม่ร้อนเท่าโลกปัจจุบันแล้ว ช่วงเวลาที่คณะทูตมายังเป็นฤดูหนาวอีกด้วย

ในหมายรับสั่ง ฉบับที่ ๒ พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีรับสั่งตอนหนึ่งว่า “ให้ยกเว้นเลขนายด่าน นาย กองประจำการในหมู่หามแคร่ กั้นสัปทนรับราชทูตนั้นเกณฑ์ และให้ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์ทั้งนี้เอาตัวเลขส่งให้แก่ราชยาน แต่วันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลา บ่าย จะได้จ่ายเครื่องแต่งตัวให้ รุ่งขึ้น วัน พฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เพลาเช้า ให้หามแคร่ตามรับสั่ง

เรียนตามตรงผู้เขียนอ่านไม่เข้าใจเลยในตอนแรก สุดท้ายค่อยนั่งคิดก็พอจับใจความได้ว่า ทรงมีรับสั่งให้เตรียมคนไปจัดขบวนพิธีหามแคร่รับราชทูตนั่นเอง ส่วนวิธีการอ่านท่านจะระบุชนิด ตามด้วยตัวเลข (จำนวน) ไม่ระบุหน่วยครับ

ตอนต่อมาประชุมพงศาวดารท่านเขียนว่า... “พอถึงเพลาหามแคร่มี กองนาวาพลานุโยค ๑๐ คน กองหลวงวิจารณ์โกศา ๑๐ คน กองหลวงราชฤทธานนท์ ๗ คน กองหลวงคชสิทธิ ๕ คน กองพระราชฐานบริคุตทำทิม ๗ ศาลา ๕ (รวม) ๑๒ ช่างหลวง (รวม) ๒๐ (รวม) ๓๒ (รวม) ๕๒ กั้นสัปทน กองพระราชฐานบริคุต ๕ กองหลวงรามรักษา ๕ ทำพระที่นั่ง อนึ่งในกองพระพิพิธสาลี ๓ (รวม) ๑๐ (รวม) ๑๓ คน

...ผู้เขียนอ่านแล้วด้วยที่มีความรู้น้อย คงรอครูบาอาจารย์ให้ท่านช่วยแปลให้ลูกหลานฟังต่อว่าหมายถึงอะไร ส่วนความรู้สึก (มิใช่ความคิด) ของผู้เขียนนั้น พอจะคาดเดาเอาว่าเป็นการเตรียมขบวนนำคณะทูตไปชมละคร โดยมีการเตรียมกองทหาร ฝ่ายพิธีการ และฝ่ายทำหน้าที่หามแคร่

 

ภาพลักษณะการเชิญคณะทูตฝรั่งขึ้นแคร่หามในสมัยโบราณ

 

ในหมายรับสั่ง ฉบับที่ ๓ เรื่อง “จัดเสบียงให้เรือเสพสหายส่งทูตนอกสันดอน และให้ไปรับทูตที่เพชรบุรีด้วย” ในหมายรับสั่งฉบับนี้ ก็ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเสบียงอาหารต่างๆ ดังเคย ให้พาคณะทูต ปรูเซีย ไปท่องเที่ยว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเป็นเรือพระที่นั่งเสพสหายไมตรี คอยรับพระราชสาส์นที่ตึกแขกเมือง แล้วรับขุนนางปรูเซียไปด้วย แล้วให้เรือเสพสหายไมตรีเลยไปรับทูตที่เพ็ชรบุรีด้วย โดยรับสั่งจัดเสบียงทั้งหมดให้มาส่งที่ จมื่นสรรพเพธภักดี ใน วันอาทิตย์ที่ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ เพลาเช้า

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ยังมิได้ทรงให้คณะทูตเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการเลยตั้งแต่เข้ามาสยาม แต่พระองค์ทรงให้เหล่าเสนาบดี แลขุนนางไทยให้การต้อนรับไปก่อน จนพาไปเที่ยวถึงเพชรบุรี ผู้เขียนก็ยังประหลาดใจยิ่งว่าเพราะเหตุใด? เป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือ? ก็ไม่น่าใช่ เพราะอ่านพงศาวดารอื่นๆ ก็มิเคยพบ ทรงรับสั่งให้รับพระราชสาส์น แล้วรับขุนนางไปด้วย แล้วให้เรือพระที่นั่งเลยไปถึงเมืองเพชร ผู้เขียนเดาว่ากว่าจะไปกลับคงไปหลายวันครับ

แล้วในประชุมพงศาวดารฯ ก็มาถึงหมายรับสั่ง ฉบับที่ ๔ อันนี้ยาวมาก แต่ช่วงต้นผู้เขียนเข้าใจได้ชัดเจนพอจับใจความได้ว่า

ทรงมีรับสั่งว่า พระเจ้าแผ่นดิน ปรูเซีย แต่งให้คอยออยเลนเบิตเป็นราชทูต เชิญพระราชสาส์น ขอทำหนังสือสัญญาพระราชไมตรีเป็นทางการกับกรุงเทพฯ และฝ่ายสยามได้ทำหนังสือสัญญาเสร็จแล้ว (ตกลง) โดยกำหนดจะแห่พระราชสาส์นลงไปให้คณะราชทูตที่ตึกหลวงหน้าวัดประยูรวงศาราม ในวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ เพลาเที่ยง (ยังไม่ได้ส่ง) โดยตั้งกองทหาร มีพิธีการใหญ่โตแห่พระราชสาส์น ของพระเจ้ากรุงสยามอันมีสัญญากับปรูเซีย 

พิธีการที่สยามเราให้เกียรติคณะทูต อยากให้ลูกหลานไทยลองอ่านแล้วจินตนาการภาพขึ้นตามตัวหนังสือดู แม้อ่านไม่เข้าใจความหมายในคำก็ชั่งเถิด ก็ทำเป็นเข้าใจ จินตนาการตามตัวหนังสือที่สะกดด้วยภาษาโบราณ รับรองได้ว่าท่านจะมีความสุข จากการอ่านที่ท่านได้รับชมศิลปะที่แฝงในตัวหนังสืออันงดงามจริงๆ ภาพวัฒนธรรมอันงดงามของไทยเรา ในหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉบับนี้มีใจความว่า...

กำหนดจะได้แห่พระราชศาสน์ลงไปให้ราชทูตที่ตึกหลวงหน้าวัดประยุรวงศาราม ณ วันจันทร์เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำเพลาเที่ยง ให้เกณฑ์ยกเอาเลขนายด่านนายกอง ประจำการในหมู่ถือธง เชิญเครื่อง สูง ตีกลองชะนะ หามราชยาน ปี่พาทย์ พายเรือเอกชัย เรือศรี รูปสัตว์ เรือแซเป็นอันมากนั้นเกณฑ์ และให้ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์ทั้งนี้ เอาตัวเลขส่งให้แก่เจ้าพนักงานนายเรือ แต่ ณ วันอาทิตย์เดือน ๓

แรม ๒ ค่ำ จะได้ยกเรือลงจ่ายเครื่องแต่งตัวให้ ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ เวลาเช้าจะได้พายเรือเข้ากระบวนแห่พระราชศาส์นทางบกทางเรือทั้งสองกระบวน อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่งบก ๒๐๒ เรือ ๔๓๐ ( รวม ) ๖๓๒ คน ตำรวจในซ้าย ตำรวจในขวาถือธงมังกร กองพระมหามนตรี ๑๑ กองหลวงสุทธาพิทักษ์ ๑๕ นายหมู่ ๔ ( รวม ) ๓๐ ตำรวจในซ้าย ตำรวจในขวา ถือธงมังกร กองพระมหาเทพ ทำ โรงม้า ๕ กองพระพิเรนทรเทพ ๕ กองพระราชฐานบริคุตศาลา ๕ กองนายแจ้ง ๗ กองขุนทรงฤทธิ ๔ ในหมู่ ๔ รวม ๓๐ ตำรวจนอกซ้ายตำรวจนอกขวาถือธงมังกร กองพระอภัยสุรินทรรักษ์ ๖ กองพระราชโยธาเทพ ๔ กองหลวงเสนาภิมุข ๓ กองหลวงเทพเดช ๓ ในหมู่ ๔ ( รวม ) ๒๐ สนมซ้าย สนมขวา ถือธงมังกร กองพระราชโยธาเทพ ๓ กองขุนอินทรรักษา ๗ กองขุนภักดีอาษา ๓ กองขุนโยธานุรักษ์ ๓ ในหมู่ ๔ ( รวม ) ๒๐ สี่ตำรวจหามพระราชยาน กองพระอภัยสุรินทรรักษ์ ๘ หาม ปี่พาทย์ ๒ สำรับ นายประตูซ้ายนายประตูขวา ๘ อภิรมเชิญ เครื่องสูงสัปทน กองพระรามพิชัยระเบียง ๗ นายประตู ๒ กอง นันทะพิชัยชาญสิทธิ ๕ กองขุนชัยสรฤทธิ์ ๕ ( รวม ) ๑๗ ตี กลองชนะ กองขุนวิเศษสงคราม ๕ กองฟั่นเชือก ๑๕ ช่าง ลาง ๑๐ ( รวม ) ๓๐

ราชยานหามเฉลี่ยงน้อย หามแคร่ ๑๐ แคร่ ๔๐ กองพระราชฐานบริคุต ดิด ๖ กองหลวงยี่สานประเวสน์ ๖ กองหลวง วิเศษสุริยงค์ ๖ กองหลวงไกรสรเดช ๖ กองขุนพรมรักษา ๗ กองหลวงมนทานุโยค ๕ กองหลวงราชฤทธานนท์ กองหลวง วิชิตสรไกร ๕ ( รวม ) ๘ ( รวม ) ๔๔ 

หามมะโหระทึก นายประตูซ้าย นายประตูขวา กองหลวง ราชสิทธิ ๔ ฝีพายเรือเอกชัย ๓๐ เรือศรี ๓๐ กองพระอนุรักษ์ โยธา ๑๒ กองหลวงพลพ่ายกรีฑา ๑๐ ฝีพายประจำท่า ๒๑ กองพระ อภัยรณฤทธิ โรงเงิน ๖ เก๋ง ๓ ( รวม ) ๙ กองหลวงอภิบาลภูวนาถ ๘ ( รวม ) ๖๐ พายเรือเหราอาษาในกรมวังซ้าย กองพระพิเดช สงคราม ๑๑ กองหลวงสกลพิมาน ๑๑ กองหลวงอภัยพิทักษ์ ระเบียง ๗ กองพระอิศราภัย ๖ ( รวม ) ๓๕ กองพระอินทราทิตย์ ๒ การ...... ๑๐ พายเรือเหราอาษาในกรมวังขวา กองพระรามพิชัยโรงทหาร ๑๐ กองหลวงประสูทสำแดงฤทธิ ๑๐ กองหลวงเจตียา นุรักษ์ ๖ กองพระองค์เจ้าภุมเรศ ๖ กองหมื่นประจักษ์ราชกิจ ๓ ( รวม ) ๓๕ 

พายเรือดั้งเกณฑ์หัดซ้าย กองพระพิพิธเดช ๑๖ กองพระมหาเทพ ๑๓ ห้อง ๖ กองขุนราชกิจปรีชา ๑๐ กองหลวงราชวราช วรานุรักษ์ ๘ (รวม) ๔๐ พายเรือดั้งอาษาในกรมท่าซ้าย กองหลวง ศรีทรงยศ ๔ กองหลวงวิสูตร์สมบัติ ๔ กองขุนนราฤทธิไกร ๔ กองหมื่นรุด ๔ กองหมื่นภักดี ๔ ( รวม ) ๒๐ กองหลวงอนุรักษ์ภักดี ๘ กองหม่อมเจ้าหุ่น ๗ ( รวม ) ๓๕ กองหลวงนรา เรืองเดช ๒ พายเรือดั้งเกณฑ์หัดขวา กองขุนชาติวิชา ๑๖ กองหลวงวงศาธิราช ๕ กองหลวงภูเบนทรพิทักษ์ ๕ กองหลวงรามรักษาตำหนักน้ำ ๕ กองหลวงไกลาศ ๔ ( รวม ) ๔๐ 

พายเรือดั้งอาสาในกรมท่าขวา กองหลวงชินศรีรักษา ๘ กองหมื่นภูบาลบริรักษ์ ๕ กองหลวงรักษานาถ ๘ กองขุนวิเศษสมบัติ ๘ กองขุนผลาญไพรณ ๖ กองหลวงพิทักษ์โยธา ๒ ( รวม ) ๓๕ 

พายเรือโต คลังสินค้า กองพระยานาวาพลานุโยค ๑๕ กองขุนศรีสังหาร ๕ กองพระราชฐานบริคุต ตำหนักน้ำ ๑๐ ( รวม ) ๓๐ พายเรืออสุรวายุภักษ์ กองหลวงพลาสัย การ.....๕....๖ ( รวม ) ๑๑ กองขุนรณฤทธิพิชัย การวัด ๖.......๖ ( รวม ) ๑๒ กองหลวงมณีรักษา ๖ กองพระพิพิธภูบาล ๕ กองหลวงเสนพล ๖ กองหลวงพิพิธมนเทียร ๖......๘......๗....... ( รวม ) ๔๐ 

พายเรือโต คลังสินค้า กองหลวงวิจารณ์โกษา ๑๕ กอง หลวงอเรนทรชาติสังหาร ๗ กองพระราชฐานบริคุต ทำทิม ๘ (รวม) ๓๐ ตีกระเชียงแซง ๒ ลำ กองขุนจิตร์จอมราษฎร์ ๑๐ กองหลวงอินทโรดม ๘ กองขุนฤทธิพิชัย ๘ กองพระ อินทรเดช ๘ กองพระมหาเทพ วร ๑๑ กองพระเทพผลู ๕ (รวม) ๕๐

 

พออ่านจบ ก็พอเห็นภาพที่ได้ปลาบปลื้มกับวัฒนธรรมอันงดงามของไทย คงไม่มีที่ใดในโลกจะมีศิลปวัฒนธรรมอันสวยงามลงตัวเท่าของไทยเราแล้วกระมัง

 

 ใน ฉบับที่ ๔ เรื่อง “ราชทูตปรูเซียกราบถวายบังคมลา” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้จัดการรับรองให้พร้อมทุกหน้าที่ ด้วยท่าน Eulenburg จะได้เข้าเฝ้าถวายบังคมลา รับพระราชสาส์น ณ พระที่นั่ง อนันตสมาคมในวันจันทร์เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำปีระกาตรีศกนั้น ทรงมีรับสั่งว่า

ให้เกณฑ์เรืออสุรวายุภักษ์ รับทูตลำหนึ่ง ให้ดาดหลังคามีเสื่ออ่อนมีหมอน มีพรมพร้อม ให้บรรจุพลพายใส่เสื้อแดงหมวกแดงให้ครบกะทง ลงไปรับคอลวอยเลนเบิตราชทูต ที่ตึกพักหน้าวัดประยุรวงศาราม ณ วันจันทร์เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำเพลาเที่ยง มาขึ้นประตูท่าพระแล้ว ให้คอยรับคอยส่งด้วย ให้ถึงที่เรือ ให้ชาวพระราชยานจัดแคร่จัดเก้าอี้ตามธรรมเนียม ๑๐ แคร่ ให้รับสัปทนคนหามให้พร้อม มาคอยรับทูต ที่ท่าพระ เข้าประตูเทวาพิทักษ์ ให้คอยรับคอยส่งตามเคย อนึ่ง ให้พนักงานโต๊ะเก้าอี้จัดโต๊ะเก้าอี้มาตั้งที่เก๋งทูตพักให้พอ อนึ่ง ให้ขุนทินบรรณาการขุนธารกำนัล จัดหมากบุหรี่จัด คณโฑน้ำ จัดถ้วยแก้ว มาตั้งให้ทูตรับพระราชทานที่เก๋งรับทูต ตามเคย อนึ่งให้พันพุฒ พันเทพราช จ่ายเลขให้ผู้ต้องเกณฑ์ให้พอ

อนึ่งให้อาษายืมพรมที่ใหม่งามดีต่อชาวพิมานอากาศ มาปูที่เก๋งทูตพัก เหนือพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ให้เต็มอย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง”

 

            งดงามสุดจะบรรยาย สยามเราต้อนรับคณะทูตมหามิตรอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติจริงๆ โดยพระเจ้าอยู่หัวของไทยเราทรงมีรับสั่งด้วยพระองค์เองในรายละเอียดงานด้วยพระองค์เอง

…………………………………….

 

ฉบับที่ ๕ เรื่องราชทูตจะออกไปเพ็ชรบุรี โดยเรือแจวเรือพาย

ด้วยมีรับสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท โปรดเกล้าฯ สั่งว่า “ราชทูตปรูเซียซึ่งเข้ามาจำเริญทางพระราชไมตรี มาพักอยู่ตึกแขกเมือง ณ วันจันทร์เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำเพลาเช้าราชทูต จะออกไปเที่ยวเล่นเมืองเพ็ชรบุรี ให้ฝีพายจัดเรือให้ราชทูตสองลำ ให้เกณฑ์ยกเอาเลขนายด้านนายกองประจำการในหมู่แจวเรือ พายเรือราชทูตไปเมืองเพ็ชรบุรีนั้นเกณฑ์ และให้ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์ทั้งนี้เอา ตัวเลขส่งให้แก่ฝีพาย ณ วันอาทิตย์เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำจะได้จัดแจงยกเรือลง ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำเพลาเช้า จะได้แจว พายเรือราชทูตไปเมืองเพ็ชรบุรี ไปกว่าจะกลับมา อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่งฯ ฝีพายแจวเรือพาย เรือราชทูตไปเมืองเพ็ชรบุรี ๒ ลำ ๆ ละ ๒๐ คน กองหลวงศรีคงยศ ๒ กองหลวงอินทรสมบัติ ๒ กองขุนนราฤทธิ ไกร ๒ กองหมื่นภักดี ๒ กองหมื่นรุด ๒ กองพระพิพิธเดชะ ๘ กองขุนชาติวิชา ๘ กองหลวงชินศรีรักษา ๓ กองพระมหาเทพ ๑๓ ห้อง ๓ กองพระอนุรักษ์โยธา ๖ กองหลวงพลกายกรีฑา ๒ ( รวม ) ๘ ( รวม ) ๑๑ ( รวม ) ๒๙ ( รวม ) ๔๐ คน ฯ สมเด็จเจ้าฟ้ารับสั่งให้จ่ายคน ๓๕๖ ให้หามแคร่รับแขกเมือง ๑๐ แคร่ กองพระยานาวาพลานุโยค ๘ กองหลวงวิจารณ์โกษา ๘ กองพระราชโยธาเทพ ๖ กองขุนอินทรรักษา ๖ กองพระรามพิชัย ๔ กองหลวงอภัยพิทักษ์ ๔ กองหลวงเจติยานุรักษ์ ๔ ( รวม ) ๑๒ ( รวม ) ๒๘ ( รวม ) ๔๐ คน บอกนายด่านแล้ว”        ศิลปะวัฒนธรรมไทยคือสิ่งที่ ผู้เขียนเห้นว่า คือ ศิลปะขั้นสูงสุดแขนงหนึ่งของโลกศิลปะวิทยาการ

...............................

 

ฉบับที่ ๖ เรื่องแห่พระราชศาสน์ตอบพระเจ้าแผ่นดินปรูเซีย ไปส่งให้ทูตที่ตึกหน้าวัดประยุรวงศ์

ด้วยเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี รับพระบรมราชโองการ ใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งว่า “พระเจ้าแผ่นดินปรูเซียแต่งให้คอลออยเลนเบิตเป็นราชทูตเชิญพระราชศาสน์ และของทรงยินดีขึ้นมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ขอทำหนังสือสัญญาเป็นทางพระราชไมตรี กับกรุงเทพ ฯ บัดนี้คอลออยเลนเบิตราชทูตได้ทำหนังสือสัญญาเสร็จแล้ว จะได้กราบถวายบังคมลากลับไป โปรดเกล้า ฯ มีพระราช สาสน์ตอบออกไปยังพระเจ้าแผ่นดินกรุงปรูเซียด้วยฉบับหนึ่ง กำหนดจะได้แห่พระราชสาสน์ลงไปส่งให้คอลออยเลนเบิตราชทูต ที่ตึกหลวงหน้าวัดประยุรวงศาราม ณ วันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา ตรีศก เพลาเที่ยงนั้น ให้มหาดไทย ให้กลาโหม เกณฑ์กระบวนแห่พระราชศาสน์ทางบกทางเรือ เหมือนอย่างแห่พระราชสาสน์ไปต่างประเทศแต่ก่อน และกระบวนแห่ทางบกนั้น เกณฑ์พระพัฒนโกษา

จัดทหารอย่างยุโรป มีปืนมีกลองพร้อม ๑๐๐ เกณฑ์ขุนหมื่นเป็นคู่ แห่เดินเท้านุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุยลำพอกแห่หน้า ๖๐ แห่หลัง ๔๐ เป็น ๑๐๐ เกณฑ์ตำรวจเวร ๘ กรม นุ่งไหมคาดราตคตถือมัดหวายแห่หน้า ๒๐ เกณฑ์มะโหระทึกนุ่งกางเกงแดงใส่เสื้อแดงใส่หมวกแดง แห่พระราชศาสน์ ๒ สำรับ ปี่พาทย์ ๒ สำรับ เกณฑ์พระคลังมหาสมบัติยืมพานทอง ๒ ชั้นให้อาลักษณ์รับพระราชศาสน์พาน ๑ เกณฑ์ กรมกลองชะนะ จัดจ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ เป็น ๒ จ่ากลองชะนะ ๓๐ จ่าแตรงอน ๖ จ่าแตรฝรั่ง ๔ เป็น ๑๐ จ่าสังข์ ๒ นุ่งกางเกงแดง ใส่เสื้อแดงหมวกแดงตามเคย ๔๔ เกณฑ์ชาวพระอภิรมนุ่งห่ม ตามเคยเชิญเครื่องสูงแห่หน้า ๖ แห่หลัง ๔ เป็น ๑๐ เชิญบังสูรย์บังแทรกแห่พระราชศาสน์ เกณฑ์สี่ตำรวจรับพระราชยานต่อพัน เงินองค์ ๑ ยืมพรมน้อยต่อพระคลังพิมานอากาศผืน ๑ นุ่งกางเกงแดงคาดเกี้ยวลายหามพระราชยาน ๘ คน เกณฑ์ชาวพระมาลาภูษา เชิญพระกลดกั้นพระราชศาสน์องค์ ๑ เกณฑ์คลังพิมานอากาศยืม พรมน้อยให้สี่ตำรวจปูพระราชยานผืน ๑ เกณฑ์ให้ราชยานจัด พระราชยานกงส่งให้สี่ตำรวจองค์ ๑ ให้ราชยานจัดพระที่นั่งน้อย รับพระราชศาสน์พิเศษองค์ ๑ เป็น ๒ องค์ เกณฑ์อาลักษณ์รับ พานทอง ๒ ชั้น รับพระราชศาสน์ขึ้นตั้งบนพระราชยาน แล้วเดิน เคียงพระราชศาสน์ข้างละ ๒ คน เป็น ๔ เกณฑ์สี่ตำรวจ เกณฑ์ สนมตำรวจนุ่งกางเกงแดงใส่เสื้อเสนากุฎใส่หมวกหนัง ถือธงมังกร แห่หน้า ๖๐ แห่หลัง ๔๐ เป็น ๑๐๐ เกณฑ์กรมแสงในนุ่งกางเกง

แดงใส่เสื้อเสนากุฎใส่หมวกหนังถือปืนรางแดงแห่หน้า ๔๐ และให้ ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้ ผู้ใดควรจะรับก็ให้ไปรับเลขต่อพันพุฒ พันเทพราช ให้ครบจำนวน เบิกเสื้อเบิกหมวกเบิกธงเบิกเกี้ยวลาย ต่อชาวพระคลังเสื้อคลังหมวกคลังธง แต่คู่แห่เดินเท้าให้มารับเสื้อครุยลำพอก ที่ วังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา ให้ชาวพระคลังเสื้อ คลังหมวกคลังธง จ่ายเสื้อจ่ายหมวกจ่ายธงจ่ายเกี้ยวลาย ให้ผู้ต้องเกณฑ์ให้ครบจำนวนทั้งกระบวนบกกระบวนเรือ อนึ่งให้เกณฑ์ข้าหลวงเป็นคู่เคียงแห่พระราชศาสน์ ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น เกณฑ์กรมท่าหลวงรักษาสมบัติ ๑ หลวงอินทรโกษา ๑ เป็น ๒ เกณฑ์กรมท่า พระพิพิธสาลี ๑ หลวงศรีทิพโภชน์ ๑ เป็น ๒ เกณฑ์กรมเมือง หลวงสวัสดิ์นัคเรศ ๑ หลวงวิเศษธานี ๑ เป็น ๒ เกณฑ์อาษากรมวัง หลวงวิเชียรไทยชน ๑ หลวงสกลพิมาน ๑ เป็น ๒ เกณฑ์กรมสนมกลาง หลวงภูเบนทรสิงหนาท ๑ หลวงอเรนทรชาติ ๑ เป็น ๒ นุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุยขาวใส่ลำพอกขาว รวมเป็น ๑๐ คน และให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้ เร่งมาคอยเตรียม แห่พระราชศาสน์ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ณวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ เพลาเที่ยงแล้วแห่ลงไปส่งที่เรือพระที่นั่งเอกชัยประตู ท่าพระ ให้พร้อมทันกำหนด อนึ่งให้ชาวพระคลังแสง สรรพยุทธแต่งเกยที่ท่าพระให้งามดี เร่งแต่ง แต่ณวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ เพลาเที่ยงให้ทันตามกำหนด

อนึ่งให้เกณฑ์แห่พระราชศาสน์ทางเรือนั้น เกณฑ์เรือเอกชัย รับพระราชศาสน์ลำ ๑ เรือศรีดาษหลังคาผูกม่านทอง บรรทุกกำปั่นบรรณาการลำ ๑ เกณฑ์อาลักษณ์รับพานทอง ๒ ชั้นต่อชาวพระคลังมหาสมบัติลงเรือพระที่นั่ง เกณฑ์เอกชัยรับพระราชศาสน์ตั้งบน บุศบก เกณฑ์อาลักษณ์ลงเรือรักษาพระราชศาสน์ เป็น ๒ คน เกณฑ์ชาวพระมาลา ชาวพระภูษา เชิญพระกลดลงเรือพระที่นั่งเอกชัย กับพระราชศาสน์องค์ ๑ แล้วกับทางบกที่ท่าพระด้วยองค์ ๑ เกณฑ์เรือดั้งเป็นคู่ชัก ๒ ลำ เกณฑ์เรือเหราล่องลอยสินธุ์ ๑ เรือเหราลินลาสมุทร ๑ เป็น ๒ เรือโตขมังคลื่น ๑ เรือโตฝืนสมุทร ๑ เป็น ๒ เกณฑ์เรือสางกำแพงหาญ ๑ เรือสางชาญชลสินธุ์ ๑ เป็น ๒ ลำ ๖ ลำให้มีกลดมีคาดหลังคา แห่ไปท่าเรือคู่ชัก เกณฑ์เรือแซ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ เป็น ๒ เรือกลองชะนะ ๕ คู่ ลงเรือโตเรือสางเรือเหรา ๑๒ คน เกณฑ์แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ แตรสังข์ ๒ ลงเรือดั้ง ๑๒ คน เกณฑ์ปี่พาทย์ลงเรือโตเรือสางเรือเหรา ๒ สำรับ เกณฑ์เรือโตเรือสางเรือเหราลำละ ๒ คัน ใส่ธงมังกรเรือกันยาข้าราชการ ลำละคัน เกณฑ์มะโหระทึกลงเรือดั้ง ๒ สำรับ เกณฑ์เครื่องสูงลงเรือเอกชัย เครื่องสูงหน้า ๓ วง เครื่องสูงท้าย ๒ วง บังสูรย์บังแทรกหัวหมื่นตำรวจลงเรือพระที่นั่งเอกชัยเป็นนัก ส้างนุ่งสมปักลายใส่เสื้อ ครุยใส่ลำพอกขาว ถือธงหักทองขวาง ๒ คน นั่งม้าตีนตองนุ่งสม ปักลายใส่เสื้อครุยใส่ลำพอก ๖ คน และให้เจ้าพนักงานทั้งนี้ไปรับเลขต่อพันพุฒ พันเทพราช มาบรรจุเรือให้ครบกะทง พลพลายใส่เสื้อ

แดงใส่หมวกแดงจงทุกคน และให้ผู้ต้องเกณฑ์เบิกเสอเบิกหมวกเบิกธงเบิกกางเกง ต่อพระคลังเสื้อคลังหมวกคลังธง แล้วให้มาคอยพร้อมกันที่ท่าพระ รับแห่พระราชศาสน์ลงไปส่งที่ตึกรับทูตหน้าวัดประยุรวงศาราม แต่ณวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ เพลาเที่ยงจงทุกพนักงานให้ทันกำหนด อนึ่งให้พันพุฒ พันเทพราช จ่ายเลขให้ผู้ต้องเกณฑ์ให้ครบจำนวน ทั้งกระบวนบกกระบวนเรือ อนึ่งให้เกณฑ์เรือกันยาข้าราชการ เป็นเรือกำกับแห่พระราชศาสน์นั้น เกณฑ์พระบรมมหาราชวัง กรมมหาดไทย ๒ กรมพระกลาโหม ๒ กรมวัง ๑ กรมเมือง ๑ กรมนา ๑ กรมท่าซ้าย ๑ ขวา ๑ เป็น ๒ กรมพระคลังมหาสมบัติ ๑ กรมพระสัสดี ๑ กรมล้อมพระราชวัง ๑ กรมคลังสินค้า ๑ รวมเป็น ๑๓ เกณฑ์พระบวรราชวัง กรมมหาดไทย ๑ กรมพระกลาโหม ๑ กรม เมือง ๑ กรมวัง ๑ กรมนา ๑ กรมท่า ๑ กรมพระสัสดี ๑ กรม พระคลังมหาสมบัติ ๑ กรมล้อมพระราชวัง ๑ เป็น ๙ รวมเป็น ๒๒ ลำ ให้บรรจุพลพายให้ครบกะทง ให้ขุนหมื่นเป็นนายลำด้วยลำละคน ให้มีเสื่ออ่อนมีพรมมีเบาะปูให้มีหมอนอิง ผูกผ้าหน้าโขนม่านบังแดด ให้เบิกธงมังกรปักลำละคันจงทุกลำ ให้เร่งไปพร้อมกันที่ท่าพระแต่ณวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ เพลาเที่ยงให้ทันกำหนด แล้วให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้ เร่งจัดแจงกระบวนแห่ทางบกทางเรือ ให้พร้อมทันกำหนดจงทุกพนักงาน ถ้าสงสัยสิ่งใดก็ให้ไป”

จำเป็นต้องคัดลอกทั้งหมดมาให้ท่านผู้อ่านได้ชมจริงๆ ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นตัวหนังสือที่บรรยายสวยงามเป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่จริงๆ อ่านแล้วสัมผัสได้ เกิดความรู้สึกมากมายรู้สึกว่าโลกสว่างไสวจริงๆ

เท่าที่เคยอ่านประวัติศาสตร์ไทยอันต้องเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างชาติแล้วก็มี เยอรมนี หรือปรูเซีย ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเต็มไปด้วยมิตรภาพและรู้สึกตื้นตันจริงๆ กับคำว่ามิตรภาพ จะด้วยอันใดมิทราบหรือจะเป็นเพราะประเทศมหาอำนาจประเทศนี้มีเกียรติสูงยิ่ง และได้ให้คำมั่นกับสยามไว้ว่าจะไม่คิดครอบครองดินแดน เพียงต้องการไมตรี และโอกาสทางการค้าเท่านั้น แล้วเยอรมนีก็รักษาวาจาเช่นนั้นจริงๆ

ในหมายรับสั่งนี้ สรุปใจความว่า คอลออยเลนเบิต ราชทูต ได้ทำหนังสือสัญญาเป็นทางการราชไมตรีกับสยามเสร็จแล้ว จะได้ถวายบังคมลากลับ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระราชสาส์นตอบกลับไปยังพระเจ้าแผ่นดินปรูเซียอีกด้วยฉบับหนึ่ง และโปรดฯ ให้มีการแห่พระราชสาส์นนั้นไปส่งให้ คอลออยเลนเบิต ราชทูต ที่ตึกหลวงหน้าวัดพระประยูรวงศาราม ดูเหมือนว่าพงศาวดาร บรรยายไว้น้อยมาก ทั้งที่เป็นงานเอิกเกริกระดับชาติ ทั้งตื่นเต้น และตื่นตาทั้งสองฝ่าย ไฉนจึงมีเพียงแค่บันทึกหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ในพงศาวดารเท่านั้น

 

บรรดานักประวัติศาสตร์ทั่วไปหรือบุคคลทั่วไปได้อ่านพงศาวดารจบ คงยังไม่เห็นกล่าวถึงเครื่องโทรเลขเลยสักนิด ก็ให้นึกสงสัยว่าตำนานที่ว่าโทรเลขมากับคณะทูตปรูเซียนั้นมีที่มาอย่างไรกันแน่

นั่นก็เพราะประวัติศาสตร์เครื่องโทรเลขแรก อันหมายถึงการเข้ามาของอุปกรณ์โทรคมนาคมแรกในสยามนั้นถูกบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไว้ใน “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี” ซึ่งได้ให้รายละเอียดต่อจากพงศาวดารตอนต้น เมื่อคราวอุปทูตปรุสเซียเข้ามา ในหน้า ๑๖๓ หัวข้อ “ทูตปรุสเซียเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี” ความในย่อหน้าแรกมีว่า


 

 

ครั้น พอถึง วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ (ในหนังสือได้บอกว่าเป็นวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔) พระยามหาอรรคนิกร พระยาสมุทบุรานุรักษ์บอกขึ้นมาว่า พระเจ้าแผ่นดินปรูเซียแต่งให้กอนเอวเลนเบิก (Graf Fritz zu Eulenburg) เป็นราชทูตนาย ๑ มิศเตอซานลีใบเซล เป็นอุปทูตนาย ๑ กอนเวเลนเบิกหลานอุปทูตเป็นตรีทูตนาย ๑ กับขุนนางปรุสเซียมาด้วยเรือกลไฟ ชื่อ เบติค กำมโดดชื่อ ซุนเดระอาล มาถึงนอกสันดอน ได้ทรงทราบแล้ว จึ่งโปรดให้เรือกลไฟเสพย์สหายไมตรี เรือเขจรชลคดีลำหนึ่ง ให้พระยาราชานุประพรรณ์ ขุนพิทักษ์คงคา หลวงวิสูตรสาครดิฐ ลงไปรับทูต

 นั่นหมายถึงได้ทราบว่าวันที่โทรเลขเครื่องแรกเข้ามาในสยามน่าจะเป็นวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ก็ทำให้รู้สึกดีใจที่ได้ทราบความจริงซะที อีกทั้งได้ทราบนามขุนนางฝ่ายไทยที่มีรับสั่งให้ไปต้อนรับราชทูตมีผู้ใดบ้าง ได้ทราบนาม คณะทูต มีผู้ใดบ้าง กัปตันเดินเรือชื่ออะไร อาจจะเป็นทางให้ผู้สนใจไปค้นคว้าต่อยอดได้ ทั้งได้รู้จักคุณซานลีใบเซล ที่บอกว่าเป็นอุปทูต และยังมี กอนเวเลนเบิก หลานอุปทูต และยังมีอีกชื่อคือ ซุนเดระอาล เป็นกำมโดด (สงสัยมาจากคำว่า กัปตัน) แค่ชื่อก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเยอรมันสักเท่าใดนัก ที่สำคัญมีชื่อเรือ เบดิค (?) แต่ผู้เขียนชื่นชอบชื่อเรือเสพย์สหาย อ่านแล้วเห็นภาพทันที หากสยามเรามีเรือชั้นดี ลอยกลางทะเลเพื่อต้อนรับสหายคนสำคัญ ให้เกษมสำราญ

 

ในพงศาวดารฉบับพระองค์เจ้าทิพหากรวงศ์ฯ ความว่า “...เมื่อเรือไทยออกไปต้อนรับถึงเรือรบ ปรุสเซีย ให้ปรุสเซียยิงปืนใหญ่ ๒๑ นัด คำนับธงชาติสยามเมื่อเรือรับทูตเข้ามาถึงสมุทราปราการ ทหารปืนที่ป้อมเสือซ่อนเล็บยิงสลุตคำนับธงปรุสเซีย ๒๑ นัด และเมื่อเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ให้พักที่ตึกแขกเมืองวัดประยูรวงษ์ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๐๔”

จะเห็นได้ว่า นับจาก ๒๑ พฤศจิกายน มาถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม นั้น สามอาทิตย์เลยทีเดียว แต่คงมิใช่การเดินเรือล่าช้า ผู้เขียนเข้าใจว่าคงมีการเจรจาอะไร หรือมีกลยุทธ์ด้านการทูตอะไรสักอย่างที่ต้องใช้เวลา แม้จะเตรียมการมาเป็นปีแล้วก็ตาม

ท่านทูตเอวเลนเบิก นั่งขวาสุด กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ทำสนธิสัญญาทางการค้า ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี

 

ครั้นต่อมาวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๑๐ ค่ำ (๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๔) เข้าเฝ้าออกใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ถวายรูปพระเจ้าปรูเซีย ๑ เครื่องตะแรแกลบ ๑ สำรับ พระแสงกระบี่องค์ ๑ เครื่องพิมพ์หนังสือสำรับ ๑ แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งผู้รับสั่งปรึกษาทำหนังสือสัญญากับกอนเอวแลนเบิกราชทูต คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ๑ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ ที่สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยารวิวงษมหาโกษาธิบดี ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ พระยามนตรีสุริยวงษ แทนพระยาวรพงษพิพัฒ ๑ รวม ๕ ประชุมปรึกษาทำหนังสือสัญญาด้วยกอนเอวแลนเบิกราชทูตที่พระราชวังเดิม

 กอนเอวแลนเบิกได้แจ้งในสัญญาว่า มีเมืองต่างๆ ในกลุ่มของปรูเซีย ได้แนบสัญญามาขอลงนามด้วยอีก ๒๘ เมือง หลังจากประทับตราหนังสือแล้ว ได้ยิงปืนสลุตที่ป้อมวิไชยเยนทร์ประสิทธิ ๒๑ นัด ฝ่ายทูตเอาแตรขึ้นมาเป่าประโคมด้วย

วันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๑๐ ค่ำ (๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้กอนเอวแลนเบิกราชทูตเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ถวายรูปพระเจ้าปรูเซีย ๑ เครื่องตะแรแกลบ ๑ สำรับ พระแสงกระบี่องค์ ๑ เครื่องพิมพ์หนังสือสำรับ ๑
 

หมายเหตุ ภาพตัวอย่างราชทูตฝรั่งเข้าเฝ้าพระยาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าใช่ราชทูตจากปรัสเซียหรือไม่

 

ดังนั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ บันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ที่ได้ระบุชี้ชัดว่า เครื่องตะแรแกลบ (Telegraph) ๑ สำรับ ได้เข้ามาพร้อมคณะทูตปรูเซีย และได้ถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมนั่นเอง ได้เป็นหลักฐานชี้ชัดเสร็จสิ้นภารกิจการค้นคว้าหาวันที่ที่เทคโนโลยีโทรคมนาคมแรกเข้ามาสยามดังในตำนานจนสำเร็จแน่นอนแล้ว

หมายเหตุ พระที่นั่งอนันตสมาคมในสมัยรัชกาลที่ ๔ มิใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมในปัจจุบัน แต่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง และถูกรื้อไปแล้ว

ในหนังสือ ๑๒๐ แห่งมิตรภาพเยอรมัน-ไทย ซึ่งสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี พิมพ์เมื่อ พศ. ๒๕๒๕  มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไม่ยึดถือพระราชประเพณีในการอนุญาตให้บุคคลเข้าเฝ้า ทรงเปิดโอกาสโดยไม่ถือพระองค์ให้คณะทูตเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์เลยทีเดียว น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์แห่งสยามก็ว่าได้ และพระองค์พระองค์ท่านทรงเปี่ยมไปด้วยพระราชอัจฉริยภาพ ทรงสามารถนำสยามให้ได้รับมิตรภาพอันยิ่งใหญ่จากมหาอำนาจประเทศหนึ่งได้สำเร็จ

 

เริ่มต้นในหนังสือได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย และเยอรมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ เมื่อเรือกำปั่นชื่อ เธติส ล่องเข้ามา จากนั้นไม่กี่วันเรือชื่อ อาร์โอนา ก็เข้ามา โดยเรือทั้งสองลำนี้นำคณะทูต และท่านทูต กราฟ ซู ออยเลนบวร์ก แห่งปรัสเซีย มายังสยาม นอกจากนั้นยังได้กล่าวอีกว่า ก่อนหน้าที่คณะทูตจะเข้ามาอย่างเป็นทางการ เยอรมัน (ปรัสเซีย) ก็ได้มีพ่อค้ามาค้าขายอยู่บ้างแล้วแต่ไม่มากนัก

            ความตอนหนึ่งกล่าวว่า...คณะทูตได้เข้าเฝ้าพระจอมเกล้าฯ และเสนาบดี หลายครั้งทั้ง เป็นการส่วนพระองค์ และเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ ท่านทูต ออยเลน บวร์ก ได้บันทึกว่า

พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม มีพระราชประสงค์ที่จะรู้จักข้าพเจ้าและคณะ และได้พระราชทานวโรกาสเบิกตัวให้เข้าเฝ้าเวลาบ่ายสามโมง 

เมื่อมาถึงประตูพระบรมมหาราชวังชั้นนอก พระยาคลังได้มาคอยต้อนรับอยู่แล้ว พวกเรานั่งสนทนา และสูบบุหรี่ได้สักหนึ่งชั่วโมง ก็ได้มีพระกระแสรับสั่งให้เบิกตัวข้าพเจ้าและคณะเข้าเฝ้า พระยาคลังนำพวกเราเดินผ่านวังชั้นกลาง เข้าสู่วังชั้นใน และที่ตรงบันไดวังชั้นในนี้ พระยาคลังได้หยุดยืนถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จออกมาต้อนรับ ทรงยื่นพระหัตถ์ให้ข้าพเจ้าก่อน และคณะตามลำดับ

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวมพระมาลา และฉลองพระองค์ด้วยเสื้อนอกสีฟ้ายาวๆ ขัดดุมอัญมณีมีค่าต่างๆ ทรงประดับเหรียญตราชั้นสูงหลายเหรียญ ทรงสนัลเพลา และฉลองพระบาททอง พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นภาษาอังกฤษสลับกับภาษาไทย ซึ่งฟังยากสักหน่อย แต่พระองค์พระราชทานความเป็นกันเองแก่คณะของเรามาก จนรู้สึกอบอุ่น และชื่นชมในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหลังจากที่ได้ยืนสนทนาอยู่ครู่หนึ่ง พวกเราได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นั่งร่วมโต๊ะ ใถ้วยแก้ว และเหยือกน้ำวางเตรียมไว้บนพานทองที่สวยหรู พระองค์ทรงรินเหล้าเชอรี่พระราชทานแก่พวกเราคนละหนึ่งแก้วเต็มๆ  และการสนทนาก็ได้เริ่มขึ้น พระองค์ทรงมีพระบรมราชาธิบายมีเหตุผลมาก และดำรัสว่าการล่าอาณานิคมจะนำประเทศไปสู่สงคราม พระองค์ทรงยินดีที่ปรัสเซียไม่มีทั้งเจตนา และนโยบายที่จะล่าอาณานิคมในแถบนี้

            ในหนังสือ ๑๒๐ ปีฯ ฉบับเดียวกัน ได้มีบทความเรื่อง “ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับประเทศไทย” ในหน้า ๒๕ โดย เคล้าซ์ เว็งค์ (Klaus Wenk) ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ที่คณธทูต Eulenburg ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไม่เป็นทางการครั้งนั้น เมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ว่า

“ทีแรกพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบัตรเล็กๆ ให้แก่พวกที่เข้าเฝ้าทุกคน บนบัตรพิมพ์พระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ส่วนทางด้านหลังเขียนว่า ณ วันที่ ๓๘๗๗ แห่งรัชกาล หรือตรงกับวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๔” ผู้เขียนเข้าใจว่า นั่นคือ “นามบัตร!” (Name card) นามบัตรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแนะนำพระองค์ต่อคณะทูตอย่างสากล ผู้เขียนเรียนตามตรงไม่เคยทราบมาก่อนเลยในชีวิตว่าเคยมีนามบัตรของพระมหากษัตริย์ไทย

 

            สรุปว่าในการเข้าเฝ้าครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถามท่านทูตตรงๆ ว่า ปรัสเซียประสงค์ต้องการเมืองขึ้นหรือไม่ ท่านทูตตอบกลับว่า "หากต้องการเมืองขึ้น คงไม่ต้องการเมืองเขตร้อน" และในหนังสือบรรยายว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัย

            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสว่ายินดีได้เพื่อนใหม่ที่ไม่หวังประโยชน์ เพราะเพื่อนเก่าสร้างปัญหาไว้เยอะ…

            ...จากนั้นก็ได้มีการเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ ตรงกับพระราชพงศาวดารที่กล่าวข้างต้น

            ท่านทูต Eulenburg ได้บันทึกไว้ว่า... “เวลาบ่าย ๒ โมงครึ่ง ได้มีขบวนเรือหลวงจำนวนมากมาลอยลำเพื่อคอยต้อนรับทูต และคณะ ลำดับเรือนำหน้าด้วยขบวนนักดนตรี ขบวนกลาสีเรือประมาณ ๔๐ คน เรือที่จะอัญเชิญพระราชสาส์นมีตู้ลายทองวิจิตรพิศดารตั้งอยู่ภายในบุษบก มีพานทองอัญเชิญพระราชสาส์นอยู่ภายในด้วย จากนั้นเป็นเรือคณะผู้ติดตามของข้าพเจ้า ซึ่งมีนายทหาร สุนเดลวัล และบัคมานท์ (มีชื่อที่ไม่เคยได้ยินเพิ่มขึ้น) ขบวนนี้จะมีทั้งเรือทรงไทยและเรือทรงยุโรปสลับปะปนกันไป และในที่สุดก็เป็นเรือของข้าพเจ้า พิชเชล และล่าม เรือดังกล่าวนี้ตกแต่งหรูหราสมเกียรติยศมาก หากมองดูไกลๆ จะเห็นขบวนเรือนี้งดงามยากจะหาที่ติได้

            “เมื่อแล่นไป ๒๐ นาทีถึงท่าเนือจะขึ้นบก กองทหารได้ยิงสลุตเป็นการต้อนรับพระราชสาส์นแห่ง กษัตริย์ปรัสเซีย เมื่อขึ้นบกแล้ว มีการจัดตั้งขบวนการแห่ใหม่ คือ นำหน้าด้วยวงดนตรีไทย และธงทิวนำแห่พระราชสาส์น ซึ่งล้อมรอบติดตามด้วยขบวนแห่ของคนไทย ถัดมาเป็นวงดุริยางค์ของ ปรัสเซีย ขบวนกลาสี ๔๐ คน และก็ถึงขบวนของข้าพเจ้า ซึ่งนั่งอยู่บนเสลี่ยงมีคนหาม ๔ คน การนั่งบนเสลี่ยงนี้ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความหวาดกลัว เพราะเสลี่ยงโอนเอนไปมาอยู่เสมอ ต่อจากขบวนของข้าพเจ้าก็เป็นคณะผู้ติดตามของข้าพเจ้า บางส่วนได้นั่งบนเคร่ที่มีคนหามให้ ซึ่งก็มองดูแล้วก็คล้ายกับว่าเราขี่ม้ากันอยู่ แต่ก็มีบางส่วนได้ขี่ม้าจริงๆ ร่วมอยู่ในขบวนนี้ด้วย พวกเราทุกคนแต่งเครื่องแบบเต็มยศคงทำให้ขบวนเรามีสีสรรงามตระการตา แต่ถ้าพวกเราได้เห็นข้าพเจ้านั่งบนเสลี่ยงนี้แล้ว คงจะกลั้นหัวเราะไม่อยู่แน่ เพราะลักษณะเหมือนอีกาที่กำลังเกาะบนสายล่อฟ้า” (บันทึกส่วนนี้ทำให้เห็นว่า ท่านทูต Eulenburg ช่างสังเกต เก็บรายละเอียดมากที่สุด สมกับที่สยามจัดขบวนยิ่งใหญ่สมเกียรติให้ท่านประทับใจ นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่า ท่านทูตรู้สึกประทับใจกับการนั่งเสลี่ยงอย่างยิ่ง และแอบนึกขันอยู่ในใจ)

 “...ตลอดทางจนมาถึงพระบรมมหาราชวัง มีกองทหารสวมเสื้อเกราะเต็มยศยืนเข้าแถวเรียงรายทั้งสองฟากให้การต้อนรับ ที่ด้านหลังทหารมีชาวบ้านยืนมุงอยู่ (บรรพบุรุษไทยมุง) ขบวนแห่แน่นขนัดพอไปถึงประตูพระบรมมหาราชวังมีกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แต่งกายเหมือนทหารยุโรปยืนอยู่ พร้อมกับกองทหารม้า และกองทหารช้างประมาณ ๖ เชือก ประดับด้วยเครื่องอานที่ประทับสวยงาม กองดุริยางค์และกลาสีเรือของเราได้เข้าไปตั้งแถวต่อจากกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พระยาพระคลังมาคอยต้อนรับตามเคย สักสิบห้านาทีต่อมาได้ยินดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับท้องพระโรง “

ท่านทูต Eulenburg บรรยายต่อว่า... “พระองค์ทรงฉลองพระองค์สีทอง ทรงมงกุฎทอง และประทับบนพระราชอาสน์ ณ ระหว่างกึ่งกลางเสาทองท้องพระโรง พระองค์ทรงประทับนิ่งประดุจพระพุทธรูปทองคำ แต่ก็มิได้ทำให้สะดุดตาทันทีที่แลเห็น เพราะท้องพระโรงนั้นมีความวิจิตรงดงามตระการตาอยู่มากแล้ว


ลักษณะการแต่งกายทหาร ปรัสเซีย

 

พิชเชล เป็นผู้ถือพานทองอัญเชิญพระราชสาส์น และได้วางพานทองบนโต๊ะหน้าบัลลังก์ที่ประทับ บรรดาเจ้าฟ้า และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงฉลองพระองค์ด้วยเสื้อผ้าสีสวยสดใน ติดเหรียญตราของพระเจ้าอยู่หัว ประทับองค์พิงกับพระเขนยไหม มีกาพระสุธารส และพานพระศรีวางไว้ข้างองค์ องค์ใดจะเสวยหมากก็ทรงบ้วนพระโอษฐ์ลงในภาชนะเหล็กใกล้ๆ

ข้าพเจ้าเดินเข้าไปยังโต๊ะนั้นแล้วถวายบังคมทูลเบิกความเป็นภาษาอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก้าวลงจากแท่นพระราชอาสน์ที่ประทับ แล้วทรงยื่นพระหัตถ์รับพระราชสาส์นไปจากข้าพเจ้า แล้วทรงยื่นพระราชสาส์นตอบซึ่งเขียนเป็นภาษาไทยให้แก่ข้าพเจ้า แล้วประทับร่วมโต๊ะกับข้าพเจ้า...

พระองค์กับข้าพเจ้าเริ่มสนทนากันผ่านล่าม และจากคำบอกเล่าของล่าม พระองค์ได้ทรงอ่านพระราชสาส์นตอบ ที่ทรงมอบให้กับข้าพเจ้าเมื่อครู่นี้ 

เมื่อพระองค์ทรงอ่านพระราชสาส์นเสร็จ ก็ประทับยืนทรงเปิดมาลาที่ประดับด้วยเพชรพลอย ๓ ครั้ง อันหมายถึงการอำลา นั่นคือการได้รับพระบรมราชนุญาตให้กลับได้ แม้การถวายพระราชสาส์นเสร็จพิธีแล้วก็ยังมีการเลี้ยงรับรองอีก พวกเราได้รับเชิญไปยังปีกอีกด้านของพระบรมมหาราชวัง ที่นั่นได้ถูกจัดเตรียมอาหารไว้ต้อนรับพวกเรา พระยาคลังก็ได้มาเลี้ยงรับรองพวกเราด้วย และได้ขอให้พวกเราดื่มเพื่อถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากนั้นข้าพเจ้าได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าและคณะเข้าเฝ้าที่ห้องประทับส่วนพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องที่ได้เข้าเฝ้าอย่างไม่เป็นทางการในครั้งแรกนั่นเอง ข้าพเจ้าได้ถวายแนะนำสุภาพบุรุษที่ร่วมคณะของข้าพเจ้าทีละคน ซึ่งพระองค์ได้ทรงยื่นพระหัตถ์ให้สัมผัสอย่างตะวันตก แล้วพระองค์ทรงพระราชทานเหล้าเชอรี่แก่ทุกคนด้วยพระองค์เองพร้อมกับมีรับสั่งให้ดื่มภวายพระพรแด่กษัตริย์ปรัสเซียด้วย โดยทรงขอให้พวกเราร้อง “ไชโย (HURA)” ดังๆ พวกเราก็ร้องดังจนผนังห้องสั่นสะเทือน ระหว่างนั้นพระราชโอรสและพระราชธิดาอายุราว ๘ พรรษา ทรงวิ่งมาประทานซิการ์คนละ ๑ มวน พวกเราได้ยินเสียงดนตรีบรรเลง ซึ่งเป็นเพลงของวงดนตรี อาร์โคน่า ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้ว พระองค์ทรงเสด็จไปฟังเพลงที่วง อาร์โคน่า เล่นและถูกพระราชหฤทัยยิ่งนัก...”

จากนั้น วันจันทร์ที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๕ คณะทูต และคณะผู้แทนฝ่ายไทยทั้ง ๕ ได้มาประชุมพร้อมกันเพื่อหารือเรื่องสนธิสัญญา ณ ตำหนักของเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ  โดยมีการประชุมแบบสบายๆ บนเสื่อใต้ต้นไม้ใหญ่บริเวณหน้าตำหนัก โดยความที่ได้จะทูลเกล้าฯ ให้พระเจ้าอยู่หัวได้รับทราบต่อไป ต่อมาในวันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๕ ก็ได้มีการตั้งโต๊ะเจรจาลงนามในสนธิสัญญา  (เข้าใจว่าคือ “สนธิสัญญาพระราชไมตรี ค้าขาย และการเรือ ระหว่างสหพันธ์ศุลกากรเยอรมัน (Deutscher Zollverein) อาณาจักรเม็คเลนบวร์ก-ซเวริน และเม็คเลนบวร์ก-สเตรลิตซ์ กับพระราชอาณาจักรสยาม”) โดยมีการซักถามและตอบข้อสงสัยก่อนลงนาม และประทับตรา สนธิสัญญาฉบับนี้มีถึง ๒๕ มาตรา

ท่านทูต ออยเลนบวร์ก ยังได้บันทึกไว้ว่า “เวลา ๑๒.๐๐ น. ได้ตามไปยังตำหนักที่พักของ เจ้าฟ้ากรมหลวงฯ (เจ้ากรมหลวงวงศาธิราชสนิท) ข้าพเจ้าได้สั่งให้ช่างภาพถ่ายภาพข้าพเจ้ากับผู้แทนฝ่ายสยามผู้มีอำนาจเต็มในการทำสนธิสัญญาครั้งนี้ โดยถ่ายเป็นรูปหมู่และรูปเดี่ยวสลับกันไป (แต่จากหนังสือเรื่อง ฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับสยาม ๒ ของคุณเอนก นาวิกมูล ได้คาดว่าในประเทศเราคงมีภาพจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นภาพหมู่รูปเดียวเท่านั้น แต่จากบันทึกของท่าน ออยเลนบวร์ก แสดงให้เห็นว่าต้องมีภาพถ่ายจำนวนมาก วอนผู้ที่อาจจะได้ไปเกี่ยวข้องกับประเทศเยอรมนี โปรดช่วยหาภาพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวส่งกลับประเทศไทยด้วยเถิด) ในการนี้ข้าพเจ้านำวงดนตรีของเราไปบรรเลงด้วยเช่นเคย เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่เคร่งเครียดจากการลงนาม และประทับตราสนธิสัญญาให้สดชื่นขึ้น (ท่านทูตช่างมีอารมณ์สุนทรีย์จริงๆ ถ้าเป็นพวกเราสมัยนี้ไปไหนมีเพลงเปิดในรถฟัง ยังเทียบท่านไม่ได้เลย ท่านเอาไปทั้งวงเล่นสดๆ เลยครับ คลาสสิคจริงๆ) การลงนามในสนธิสัญญาเสร็จสิ้นเวลา ๑๔.๔๐ น. โดยกองทหารยิงสลุต ๒๑ นัด จากนั้นวงดนตรีบรรเลงเพลง มาร์ช นั่นหมายถึงเสร็จสิ้นภารกิจในการทำสนธิสัญญาในเอเชียตะวันออกเสร็จสิ้นแล้ว (Eulenberg expendition) ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ดลบันดาลให้ข้าพเจ้าสามารถทำภารกิจนี้ได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอบคุณพระเจ้า

ครั้งนั้นนับเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่สำคัญทั้งของชาติ และของวงการสื่อสารไทย แต่ในฝ่ายไทยนั้นมีบันทึกน้อยนัก อันที่จริงผู้เขียนได้ค้นพบว่ายังมีบันทึกส่วนตัวของท่านทูต ออยเลนบวร์ก ซึ่งได้บันทึกไว้มากกว่านี้ นับร้อยหน้า อันที่จริงแล้วดังที่กล่าวมาตอนต้นว่าคณะทูต ปรัสเซีย นั้นมีผู้จดบันทึก มีจิตรกร มีช่างภาพ รวมอยู่ด้วย และแต่ละท่านในคณะก็มักจะจดบันทึกส่วนตัวกันไว้ด้วย

แต่สมุดที่จดบันทึกเหตุการณ์ของคณะทูตที่ล่องเรือมานั้น ผู้เขียนคาดว่าหลังจากที่คณะทูตจากไปในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ แล้ว ไม่เคยมีผู้ใดในคณะนั้นได้กลับมายังสยามอีกเลย ผู้เขียนก็เชื่อว่าคงไม่มีผู้ใดในสยามในรอบร้อยห้าสิบปีก่อน จะเคยได้รับรู้เรื่องราวในบันทึกของฝรั่งเยอรมันที่จดบันทึกไว้ในครานั้นเช่นกัน แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ขณะนั้นยังทรงเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังทรงพระเยาว์อยู่ในเพลานั้น ก็คงมิเคยได้ทอดพระเนตรบันทึกเหตุการณ์สำคัญในบันทึกนั้นมาก่อนเช่นกัน

บันทึกท่านทูต ออยเลนบวร์ก นั้น เป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ผู้เขียนได้ค้นพบจากโลกไซเบอร์ แต่ผู้เขียนคิดว่าผู้เขียนคงมิใช่คนไทยคนแรกที่เคยพบ เพราะเชื่อมั่นว่าคงมีคนไทยบางท่านอาจเคยอ่านมาแล้ว แต่จะให้ความสำคัญเรื่องทางการทูตมากกว่าการให้ความสำคัญเหตุการณ์นั้นในเรื่องโทรคมนาคม แต่ก็ไม่แน่อาจมีบันทึกของบางท่านในคณะสำรวจ ที่ผู้เขียนอาจจะเป็นคนแรกที่พบก็เป็นได้ ต้องขอขอบคุณเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ที่ช่วยให้โลกแห่งความรู้เป็นไปได้ง่ายขึ้น

 


 

เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องราววันที่โทรเลขเครื่องแรกเข้ามาในสยาม บันทึกโดย เวอร์เนอร์ วอน เรนโฮล (Werner Von Reinhold) ผู้ร่วมคณะเดินเรือในภารกิจ Eulenburg expedition บันทึกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ หรือนับจากปี ๒๕๕๕ ได้ ๑๔๙ ปี

 

บันทึกบันทึกเหตุการณ์ของคณะสำรวจหรือคณะทูตดังกล่าวที่ ที่ผู้เขียนดาวน์โหลดไฟล์มาได้นั้น เวอร์เนอร์ วอน เรนโฮล (Werner Von Reinhold) ผู้ร่วมคณะเดินเรือในภารกิจ Eulenburg expedition บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ หรือนับจากปี ๒๕๕๒ ได้ ๑๔๖ ปี ซึ่งได้บันทึกไว้หลายร้อยหน้า และมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนีอยู่ในบันทึกนั้นด้วย

แต่อุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับผู้เขียนก็คือบันทึกนั้นเป็นภาษา เยอรมัน ทำให้ผู้เขียนซึ่งไม่มีความรู้ไม่สามารถจะเข้าใจได้เลย แต่ก็ถือว่าอาจจะเป็นทางให้ผู้มีความรู้มีศักยภาพจริงจังได้ค้นคว้าเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป นอกจากนั้นยังมีหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่งนั่นคือ “ราชสำนัก” ของคุณคุณประยุทธ สิทธิพันธ์

ในหนังสือ “ราชสำนักไทย” ของคุณประยุทธฯ ยังได้บอกว่า ท่านเคานต์ Eullen burg ได้เขียนจดหมายติดต่อกับสยาม ทั้งเรื่องการขอตั้งสถานทูต การทำสนธิสัญญาทางการค้า โดยในหนังสือท่านประยุทธ ได้บอกไว้ว่า ปัจจุบันเยอรมันก็มีบันทึกนี้เป็นจดหมายเหตุไว้ค่อนข้างละเอียดเหมือนกัน ซึ่งเป็นเบาะแสไว้ให้ค้นคว้าต่อไป

 


 

หนังสือสารคดีพิเศษเรื่อง “ราชสำนักไทย” ของคุณประยุทธ สิทธิพันธ์ ในหน้า ๒๑๔ ท่านบอกว่า เยอรมัน (ปรูเซีย) ได้เข้ามาติดต่อกับไทยอย่างเป็นทางการช้ากว่าชาติอื่น แต่กลับบอกว่าเข้ามาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยเรือ “เธติส” และ “อาร์โก” ทั้งสองลำทอดสมออยู่ที่ด่านปากน้ำ (ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นสมุทรปราการ ซึ่งหมายรับสั่งในพงศาวดารเรียกว่านอกสันดอน) เลยเอาไปทำสำเนาเก็บไว้

อย่างไรก็ตาม การเจรจาสัญญาพระราชไมตรี การค้าและการเดินเรือระหว่างรัฐปรัสเซียกับไทย โดยเจ้าฟ้ากรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย เรื่องหนึ่งที่ฝ่ายไทยได้ให้ความสำคัญ คือ นโยบายการแสวงหาอาณานิคมของมหาอำนาจบางประเทศ ปรากฏตามบันทึกความทรงจำของเคานท์ ซู ออยเลนบวร์ก ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยินดีที่ปรัสเซียไม่มีนโยบายที่จะล่าอาณานิคมในแถบเอเชียอาคเนย์ การเจรจาได้เสร็จสิ้นและได้มีการลงนามสัญญาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๕  สัญญาระบุให้มีการปฏิบัติต่อกันโดยไมตรี ไม่ขึ้นภาษีขาเข้าเกินร้อยละสามของราคาสินค้า รัฐบาลไทยซึ่งค้าเกลือและข้าวก็อลุ้มอล่วยเมื่อทำการค้ากับชาวเยอรมัน และโดยสัญญานี้ได้มีการจัดตั้งสถานกงสุลปรัสเซียในกรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสถานกงสุลแห่งสหพันธ์รัฐเยอรมันทางเหนือ และกลายเป็นสถานกงสุลสหพันธ์ในเวลาต่อมา 

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเก็บภาษีอากรที่ยุติธรรม ยกเลิกการค้าผูกขาด อันเป็นคุณูปการต่อประเทศไทย การลงนามในสัญญามิตรภาพระหว่าง สยาม และปรัสเซีย ครั้งนั้น แฝงนัยสำคัญต่อประเทศชาติไทยเราอย่างมาก ในยุคล่าอาณานิคมนั้น กองทัพเรือ เป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการดำเนินล่าเมืองขึ้น และ ๓ ประเทศที่มีกองทัพเรือแข็งแกร่งสุดในยุคนั้นก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า อังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างก็จ้องสยามอย่างหิวกระหาย บางเหตุผลในห้วงความคุ้นเคยที่คนไทยเคยได้ยินมาได้กล่าวว่าแม้หากอังกฤษ หรือฝรั่งเศสได้สยามไป อาจเกิดเหตุพิพาทกันเพื่อแย่งสยาม จึงปล่อยสยามเป็นประเทศกันชน แล้วตกลงแบ่งผลประโยชน์กัน แต่ผู้เขียนเห้นว่าการที่ปรัสเซียเข้ามาลงนามมหามิตรร่วมกับสยาม ถือเป็นการคานอำนาจครั้งสำคัญ ที่มหาอำนาจตะวันตก ยกย่อง ให้เกียรติ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสหาย เป็นกลยุทธ์ทางการทูตสยามในการป้องกันรักษาไม่ให้มีสงครามกับมหาอำนาจเรือปืน

ดังนั้นการที่สยามได้พบมหามิตรดั่งท่าน เคานต์ ออยเลนเบิก และได้เกิดมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ ส่งผลความรุ่งเรืองใหญ่หลวงต่อสยามในทุกด้าน ทั้งความมั่นคง การทูต การวิทยาศาสตร์ การดนตรี การพิมพ์ ...โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการโทรคมนาคมไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่แรกพระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์สยามได้พบเทคโนโลยีโทรคมนาคมแรก และส่งผลให้พระองค์ริเริ่มกิจการโทรคมนาคมของชาติให้บังเกิดขึ้นจนได้ และเป็นไกลไกที่สำคัญในการช่วยสนับสนุนหนทางพัฒนาบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

  • พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาม ๒๕๔๗
  • ๑๒๐ แห่งมิตรภาพเยอรมัน-ไทย, สถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี, ๒๕๒๕
  • ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, คณะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเทียม ลดานนท์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
  • ราชสำนักไทย, ประยุทธ สิทธิพันธ์, สำนักพิมพ์คลังวิทยา, วังบูรพา
  • ๑๔๐ ปี ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เยอรมัน-ไทย พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๕๔๑
  • สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสาร และเหตุการณ์, ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๑, ๒๙ กรกฎาคม-๔ สิงหาคม ๒๕๒๖
  • ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ ๑ นำเบอร์ ๒๖๕ วันอาทิตย เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีจอฉศก ๑๒๓๖
  • จดหมายเหตุ สยามไสมย
  • ประชุมพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ ๓ (ตอน ๒), ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๓๔ ถึง พุทธศักราช ๒๔๕๓, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี
  • ประชุมพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ภาคที่ ๔ พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระราชทานเจ้าพระยาภาณุวงศ์โกษาธิบดี เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี
  • การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕, กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร, จัดพิมพ์เผยแพร่ ๒๕๒๑
  • ตำนานแสตมไทย์สำหรับนักสะสม, พ.ต.อ.นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช
  • สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสาร และเหตุการณ์, ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๑, ๒๙ กรกฎาคม-๔ สิงหาคม ๒๕๒๖
  • หมอบรัดเลย์ กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม” เขียนโดย สุกัญญา สุดบรรทัด คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 643379เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท