สืบทอดภูมิปัญญา "อาหารไทยเบิ้ง" ด้วยสองมือคนรุ่นใหม่บ้านโคกสลุง


สืบทอดภูมิปัญญา "อาหารไทยเบิ้ง"

ด้วยสองมือคนรุ่นใหม่บ้านโคกสลุง

            "ไม่เคยคิดเลยว่าเด็กๆ จะสนใจมากขนาดนี้ คอยถามโน่น ถามนี่ตลอด เห็นแล้วก็มีความสุข" เที่ยว สลุงอยู่ ปราชญ์ชาวบ้านโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บอกถึงความรู้สึก ระหว่างสารวนกับการสอนเด็กๆ ปรุงเมนู "ต้มไก้เครื่องดำ"

            หนึ่งใน 10 เมนูอาหารพื้นบ้านไทยเบิ้งที่ถูกคัดสรรให้เป็นเมนูแนะนำประจำถิ่นบ้านโคกสลุง ตามโครงการ “ส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพด้วยวิถีภูมิปัญญาไทยเบิ้ง ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี” จากการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

             ทั้ง10 เมนู ประกอบด้วย ต้มไก่เครื่องดำ, ต้มกระดูกหมูใบมะขามอ่อนเครื่องดำ, ลาบหมูเครื่องดำ, ลาบปลาเครื่องดำ, เลียงแตงปลาย่างใบมะขามอ่อน, คั่วหน่อไม้ส้มหมู, แกงเปราะเหมือดอึ่ง, แกงบอนปลาย่าง, เลียงหัวปลีปลาย่างใบมะขามอ่อน และเห็ดปิ้งพริกตะเกลือกำจัด โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน คอยถ่ายทอดองค์ความรู้การปรุงอาหารไทยเบิ้งทุกขั้นตอน ให้กับเด็กๆ นักเรียนในพื้นที่ได้แบ่งกลุ่มทดลองทำแต่ละเมนูด้วยตัวเอง

            เด็กผู้ชายที่ไม่เคยเข้าครัวมาก่อน ก็ช่วยกันลงแรง ก่อเตาถ่าน สับเนื้อ โขรกเครื่องปรุงต่างๆ ขณะที่เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ถนัดงานครัวอยู่แล้ว ก็ช่วยกันคนละไม่คนละมือเพื่อมีส่วนร่วมกับอาหารมื้อสำคัญ

            "อยู่ที่บ้านกินเป็นประจำ ช่วยแม่ ช่วยยายทำตลอด พอต้องมาทำเองเหนื่อยมาก แต่ก็สนุกเพราะได้ช่วยกันกับเพื่อนๆ หลายคน" เป็นความรู้สึกของ ด.ญ.วรรณ์รดา โชติพงศ์พุฒิ หรือ "น้องได๋" ตัวแทนนักเรียน ร.ร.วัดหนองตามิ่ง หลังได้เรียนรู้วิธีทำลาบหมูเครื่องดำอย่างจริงจัง เธอยังมั่นใจด้วยว่า ต่อไปทุกคนในบ้านจะได้กินอาหารไทยเบิ้งด้วยฝีมือเธอเอง

            ส่วน ด.ญ.สุชาดา สลุงอยู่ หรือ "น้องฟอง" ตัวแทนนักเรียน ร.ร.วัดโคกสลุง นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำอาหารไทยเบิ้ง แม้ว่าจะมีหลายขั้นตอน แต่ก็ได้ทำให้รู้จักวิธีการทำอาหารที่กินเป็นประจำ

            "ทุกครั้งก็จะรอกินอย่างเดียว แต่เมื่อได้มาลองทำเอง ก็รู้สึกว่าต่อไปคงต้องช่วยแม่ทำ หรือเมื่อต้องอยู่คนเดียวจะได้ทำกินเองได้ด้วย" น้องฟอง ถ่ายทอดความรู้สึก

            นอกจากให้เด็กได้รู้จักอาหารพื้นถิ่นของตัวเอง แต่สิ่งที่เด็กๆ หลายคนพูดตรงกัน คือ ตลอดครึ่งวันที่ได้มาเรียนรู้ มีส่วนทำให้พวกเขาไม่หลงลืมวิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ซึ่งตรงตามจุดมุ่งหมายของโครงการนี้

            นางพยอม อ่อนสลุง หรือ พี่มุ่ย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชน ต.โคกสลุง ยอมรับว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่แต่ละครอบครัวจะเน้นแต่การบริโภคอาหารจานด่วน อาหารตามร้านสะดวกซื้อ จึงกังวลว่าเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จักอาหารไทยเบิ้ง

            ดังนั้นการให้เด็กได้สัมผัสอาหารไทยเบิ้ง ได้ทำเอง กินเอง น่าจะมีส่วนช่วยให้พวกเขาไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ คงเป็นสิ่งสะท้อนได้ดีว่าอย่างน้อยก็ช่วยสร้างความตระหนักให้กับพวกเขาได้

            "จากกระแสภายนอก ถือว่าน่าห่วง เมื่อส่วนใหญ่มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเท่านั้นที่ยังทำอาหารไทยเบิ้งกิน ส่วนคนวัยหนุ่มสาวที่มีครอบครัว ส่วนใหญ่ก็จะทำงานโรงงาน เลยซื้อแต่อาหารจานด่วน อาหารถุง มากิน การที่เด็กๆ ได้มาสัมผัสทุกขั้นตอนการทำ ก็คงทำให้พวกเขาจดจำอาหารไทยเบิ้งได้ นี่เป็นเป้าหมายการทำงาน คือ ให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญหาท้องถิ่นเอาไว้" พี่มุ่ย ให้ภาพการทำงาน

            ในความพยายามสร้างการยอมรับในวิถีด้านอาหารไทยเบิ้ง อีกแนวทางสำคัญคือต้องสานต่อแนวคิดนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง นำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่

            ขณะที่ นายประทีป อ่อนสลุง หรือ "น้ามืด" คณะทำงานโครงการฯ บอกว่า ขณะนี้มีโรงเรียนอย่างน้อย 2 แห่ง คือ โรงเรียนวัดโคกสลุง และ โรงเรียนวัดหนองตามิ่ง ที่ตอบรับ และสนใจ การนำเมนูอาหารไทยเบิ้ง มาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารกลางวันภายในโรงเรียน ซึ่งจากนี้จะนำปราชญ์ชาวบ้านเข้าให้ความรู้เรื่องการทำอาหารไทยเบิ้ง 10 เมนูหลัก เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ก่อน จากนั้นจะช่วยจัดสรรเมนูอาหารกลางวันด้วยอาหารไทยเบิ้ง

            "เบื้องต้นผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง ตอบรับและยินดีให้การสนับสนุนการทำงาน จึงตั้งเป้าในปีการศึกษานี้จะทำให้อาหารกลางวัน มีสัดส่วนของอาหารไทยเบิ้ง 30% ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะมี 2 วันที่นักเรียนได้กินอาหารไทยเบิ้ง นอกจากนี้จะพัฒนาแหล่งอาหารในชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนการจัดการอาหารพื้นบ้าน" น้ามือ ขยายความทิ้งท้าย

          แม้ทั้งหมดจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และยังไม่มีอะไรมาเป็นตัวชี้วัดได้ความสำเร็จในการรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิต วัฒนธรรมเฉพาะถิ่น แต่ถึงตรงนี้การที่คนต่างวัยได้มีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ก็น่าจะทำให้เห็นภาพความสุขของชุมชน โดยมี "อาหารไทยเบิ้ง" เป็นสื่อกลาง

 



ความเห็น (1)

อาหารไทยเบิ้ง คืออาหารพื้นบ้าน ใช่ไหมคะ หรืออาหารที่อนุรักษ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท