เก็บตกวิทยากร (41) : ความดีในความทรงจำ


ผมเป็นคนประเภท หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง จะไม่พยายามเข้าไปกระตุกกระตุ้นในระยะแรกๆ ตรงกันข้าม จะประเมินช่วงไหนเหมาะสมที่จะเข้าไป “กำกับติดตาม-หนุนเสริม” หรือแม้แต่ “พิพากษา”

 

วันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2560)  ในช่วงที่รอพระวิทยากร  ผมและทีมงานถือโอกาสสร้างกระบวนการเรียนรู้เล็กๆ น้อยๆ  เพื่อเตรียมความพร้อม  หรือนำเข้าสู่การเรียนรู้เนื่องในการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ

 



ปรับกระบวนการ  :  ความดีในความทรงจำ 


ผมตัดสินใจใช้กระบวนการอันคุ้นเคยของตนเอง  นั่นก็คือ  ชวนนิสิตวาดภาพในหัวข้อ “ความดีในความทรงจำ”  โดยบริหารจัดการเวลาให้เสร็จสิ้นภายใน 10-15 นาที  แต่ไม่ได้ตีกรอบว่าจะปลีกวิเวกไปวาดภาพ  หรือจับกลุ่มวาดภาพ  เพราะต้องการสังเกตพฤติกรรมของแต่ละคน  รวมถึงการสังเกตว่าจะมีการบริหารทรัพยากร (แท่งสี) ร่วมกันอย่างไร –

ภายใต้เวลาอันจำกัด  ไม่ได้มีเวลามากมายให้นิสิตล้อมวง “โสเหล่”  หรือ “บอกเล่า”  เรื่องราวให้กันฟัง  แต่ก็พยายามบริหารจัดการเวลาอันน้อยนิดนั้นให้เกิดผล  ซึ่งอาจจะเรียกว่าเน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ก็ไม่ผิด


ถึงแม้จะไม่ได้จัดกลุ่มให้บอกเล่าเรื่องราวเชิงลึกสู่กันฟัง  แต่ก็หนุนเสริมด้วยการเชื้อเชิญให้นิสิตออกมาเล่า เสมือนการเล่าหน้าชั้นเรียนนั่นแหละ  มีทั้งที่ปลุกเร้าให้สบายใจที่จะเล่า  อันหมายถึง “ใครอยากเล่าก็ลุกออกมาเล่า  รวมถึงการชี้เป้านิสิตบางคนให้ออกมาเล่าให้เพื่อนฟัง   หรือแม้แต่การกระตุกกระตุ้นว่า “ใครอยากฟังเรื่องเล่าของใคร”

พอเล่าเสร็จ ก็มีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้พอหอมปากหอมคอ  ประหนึ่งการชี้ให้เห็นว่า “ทำดีมีรางวัล –ไม่ต้องขอแต่เราก็มีให้ตามสมควร”


ปรับกระบวนการ : โยนงานให้ลูกทีม


โดยปกติผมมักจะเป็นคนสรุปองค์รวมเกี่ยวกับกระบวนการนี้ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง  หากแต่คราวนี้ผมเลือกที่จะนิ่งเงียบ  เริ่มจากสังเกตว่า  ทีมงานคิดที่จะบริหารจัดการภาพที่นิสิตวาดอย่างไร   พอทิ้งช่วงแล้วเห็นว่าไม่ขยับอะไร  จึงมอบให้ไปเก็บภาพและนำมาติดโชว์ไว้ในห้องประชุม  เสมือนการสร้างฐานการเรียนรู้ หรือสร้างบริบทของการเรียนรู้แบบง่ายๆ

 

จากนั้นก็สังเกตอีกรอบว่า ทีมงานจะขยับอย่างไร –

ที่สุดแล้วก็มอบหมายซ้ำอีกรอบว่าให้ช่วยสังเคราะห์หมวดหมู่ประเด็นภาพวาด “ความดีในความทรงจำ”ให้หน่อย  โดยไม่บอกว่าให้คืนข้อมูลมายังผมด้วยรูปแบบใด  

 


ครับ- ผมเป็นคนประเภทนี้แหละ  ไม่ชอบสั่งการ  หรือบอกอะไรให้สุดๆ  และไม่ใช่คนประเภท “คิดไม่ออก บอกไม่ได้”  แต่กรณีนี้ผมเจตนาที่จะเปิดพื้นที่ให้ทีมงานได้ออกแบบกระบวนการทำงานด้วยตนเองเสียมากกว่า  

ผมเป็นคนประเภท  หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง  จะไม่พยายามเข้าไปกระตุกกระตุ้นในระยะแรกๆ   ตรงกันข้าม  จะประเมินช่วงไหนเหมาะสมที่จะเข้าไป “กำกับติดตาม-หนุนเสริม” หรือแม้แต่ “พิพากษา”

 


และนี่คือส่วนหนึ่งที่ “ทีมงาน” ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และนิสิตได้ช่วยกันรวบรวมสกัดออกมาเป็นหมวดหมู่  ผิดถูกผมไม่รู้ – รู้แค่ว่าอยากให้พวกเขาทำอะไรๆ ด้วยตนเอง  เดี๋ยวสักพักค่อยมาถอดบทเรียนว่าข้อมูลที่ได้กลับมานั้นเป็นอย่างไร  คลาดเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน ฯ

 

 

  • ความดีด้านจราจรและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน   :  ใส่หมวกนิรภัยขับรถมอเตอร์ไซค์   เดินข้ามทางม้าลาย  ช่วยผู้สูงอายุเดินข้ามถนน  ไม่ฝ่าไฟแดง การห่างไกลจากอบายมุข
  • ความดีด้านการบำเพ็ญประโยชน์และการเป็นอาสาสมัคร  :  ปลูกป่า ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เรื่องโรคระบาดจากสัตว์เลี้ยง  สอนหนังสือเด็ก  ปล่อยปลา  รับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้  ให้อาหารสัตว์/อาบน้ำให้  (สุนัขจรจัด/ลูกแมว)  กวาดลานวัด  เก็บขยะ/กวาดขยะ/เก็บขยะในแหล่งน้ำ  บริจาคหนังสือเพื่อเด็กในที่ห่างไกล  ช่วยซ่อมรถให้ผู้อื่นที่เสียบริเวณข้างถนน  ผู้นำทำกิจกรรมหน้าเสาธง

  • ความดีด้านการกตัญญูและการซื่อสัตย์  :  เชื่อฟังคำสั่งสอนของบุพการีและครูอาจารย์  เก็บสิ่งของแล้วได้ส่งคืนเจ้าของ   ช่วยงานอาจารย์
  • ความดีด้านวิถีศาสนา  :  ทำบุญตักบาตรตอนเช้า/จัดทำบุญตักบาตร

 

ครับ – นี่คืออีกหนึ่งเรื่องเล่าของการปรับกระบวนการหน้างานแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย  รวมถึงการใช้สถานการณ์จริงเพื่อ "สอนงานสร้างทีม"  ด้วยการฝึกลูกทีมในแบบ “โยนไมค์และโยนงาน”  ไปพร้อมๆ กัน

เช่นเดียวกับการซ่อนกลไกการฝึกทักษะบางอย่างไว้เงียบๆ  เช่น  การทบทวนชีวิต  การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพ  ผ่านการเล่าเรื่อง  ฝึกการฟัง ฝึกการกล้าแสดงออก ฝึกการสื่อสารสาธารณะ  ฝึกความกล้าที่จะเชิดชูความดี ฯลฯ

แต่ที่แน่ๆ  นี่คืออีกครั้งของการนำเวลาว่างมาสู่การเรียนรู้ภายใต้เวลาอันแสนจำกัดได้อย่างมีความสุข  เป็นการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญาผ่านงานศิลปะหลากรูปรส

และเชื่อว่า  ไม่ใช่ผมแค่นั้นที่มีความสุข  ทว่าคนส่วนใหญ่ในเวทีก็คงมีความสุขไม่แพ้ผม

ยิ่งในช่วงพักยกเล็กๆ  พระอาจารย์ที่เป็นวิทยากรกระบวนการได้เข้ามาถามทักถึงกระบวนการที่ผมและทีมงานจัดขึ้นในทำนองว่า  "เป็นกิจกรรมที่ดี -มีความน่าสนใจ  ถึงแม้จะมีเวลาจำกัด  สั้น กระชับ  แต่ก็สามารถทำให้กิจกรรมที่ว่านั้นมีคุณค่าและความหมายอย่างมาก"

ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา/รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง/นิสิตจิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 643372เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาทักทายก่อนนอนจ้ะน้องแผ่นดิน

คิดถึงนะจ๊ะ

ขอบคุณครับ พี่ คุณมะเดื่อ  

เป็นสาร์-อาทิตย์ ที่ยังต้องทำงานครับ -ทำต่อเนื่องแบบไม่หยุดมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2560  เพราะเป็นช่วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร  แต่ทั้งปวงก็มีความสุขกับการงานครับ 

ทางอีสาน  หนาวแล้วครับ 

ใต้ เป็นยังไง บ้างครับ

เป็นกระบวนการบันทึกความจำที่ดีมาก

ได้ทบทวนการทำงานจากการบันทึกด้วย

ขอบคุณมากๆครับ

ครับ   อ.ดร.ขจิต ฝอยทอง

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ

ผมยังชอบที่จะใช้ภาพวาดมาเป็นกระบวนการเสมอ

เพราะมันช่วยชะลอชีวิตของคนในเวทีให้ช้าลง  -ช้าลงโดยการกลับเข้าหาตัวเอง และค้นหาพลังบวกในตัวเอง  แล้วสื่อสารออกมา - ออกมาแบ่งปัน 

ขอบพระคุณครับ  ---

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท