เป้าหมายไม่ไกลของชาว “สิงหนาท” จากเกษตรปลอดสารสู่ “ตำบลอาหารปลอดภัย”


เป้าหมายไม่ไกลของชาว “สิงหนาท”

จากเกษตรปลอดสารสู่ “ตำบลอาหารปลอดภัย”

          การทำเกษตรเคมีที่มุ่งหวังผลผลิตที่มากขึ้นเพื่อสนองความต้องการการตลาด นำมาซึ่งต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำลง แทนที่จะได้กำไรกลายเป็นหนี้สินที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นทุกปีๆ และผลกระทบที่มองข้าม คือปัญหาสุขภาพจากการสารเคมีตกค้าง ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริโภคที่ต้องรับสารเคมีจากการบริโภคเช่นกัน

            เช่นเดียวกับพื้นที่ตำบลสิงหนาท อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งมีการใช้เคมีทั้งปุ๋ยและยาในการผลิต จากภาวะหนี้สิน จึงเกิดความเครียด มีรายได้ไม่พอรายจ่าย ตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว สุขภาพก็ย่ำแย่

            ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากหลุดพ้นวงจรหนี้สิน และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เกษตรกรตำบลสิงหนาทจึงได้รวมกลุ่มระดมความคิดเห็นในการหาทางออกเรื่องนี้ และก็พบสาเหตุของปัญหา นั่นคือการใช้สารเคมีในปริมาณสูงจนเกิดอันตราย ทุกคนจึงลงความเห็นว่าจะ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี และสร้างอาชีพเสริมด้วยการ “ปลูกผักปลอดสารเคมี” ควบคู่กับการทำนา

            พื้นที่หัวไร่ปลายนา หรือพื้นที่เล็กๆ หลังบ้าน ถูกเนรมิตให้เป็นแปลงผักปลอดสาร ปลูกหมุนเวียนตามฤดู สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางรายถึงกับจะเลิกทำนาเพื่อหันมาปลูกผักปลอดสารอย่างจริงจัง

          สุวรรณ กาฬการ และ สิริวรรณ สายด้วง ซึ่งประกอบอาชีพทำนา เนรมิตพื้นที่หลังบ้าน 1-2 งานให้กลายเป็นแปลงผักปลอดสารพิษ ส่งขายทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เป็นรายได้เสริมเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท

            สุวรรณ บอกว่า การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายปลูกผักปลอดสาร เพื่อให้ได้ผักที่หลากหลายแตกต่างกันไป จะได้กระจายรายได้ทั่วถึงกัน ซึ่งตอนนี้มีสมาชิก 35 คน  บางคนถนัดปลูกไม่เหมือนกัน และดินเหมาะสมไม่เหมือนกันด้วย อย่างเธอจะปลูกถั่ว ชะอม มะระ แตงกวา และอื่นๆ หมุนเวียนตามฤดูกาล เพื่อให้มีรายได้เข้าทุกเดือน ผักที่มีอายุพอจะขายได้ ก็จะรวบรวมผลผลิตส่งตามยอดสั่งซื้อ บางส่วนจะนำมาขายตลาดภายในหมู่บ้าน

            ขณะที่ สิริวรรณ บอกถึงการดูแลการผลิต ว่า ผักที่ปลูกจะไม่ใช้สารเคมี แต่จะใช้น้ำหมักชีวภาพในการบำรุงพืชผักและไล่แมลงทั้งหมด เช่น ฮอร์โมนไข่ น้ำหมักหัวไชเท้า ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยไส้เดือนที่เลี้ยงไว้เอง

            “ปลูกผักปลอดสารขั้นตอนดูแลยาก ต้องใส่ใจเหมือนลูก ต้องคอยไปดูทุกเช้า-เย็น แต่ผลผลิตและรายได้ดีกว่าการทำนาด้วยซ้ำ ผักที่ปลูกมั่นใจได้ว่าปลอดสาร ดีต่อคนปลูกและคนกินแน่นอน” สิริวรรณ ยืนยัน

            จากการริเริ่มปลูกผักปลอดสารของเกษตรกรตำบลสิงหนาทอย่างจริงจังเมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนี้ผักปลอดสารของที่นี่จึงเป็นที่ยอมรับของตลาดในประเทศ และยังไปไกลถึงต่างประเทศอีกด้วย

            อย่างไรก็ตาม ผักปลอดสารของตำบลสิงหนาทจะไม่เป็นที่รู้จักและยอมรับ หากปราศจากชายที่ชื่อ ชัยวิทย์ พีเทียรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสิงหนาท  ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดของชาวตำบลสิงหนาทในการเอาตัวรอดจากภาวะราคาข้าวที่ตกต่ำ

            นายก อบต.สิงหนาท กล่าวว่า อาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ที่ชาวบ้านตำบลสิงหนาททำกัน ที่ผ่านมาประสบภาวะขาดทุนมาต่อเนื่อง เพราะข้าวราคาตกต่ำ ไม่คุ้มกับต้นทุน ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าปุ๋ย ค่ายา ดังนั้นก็มาร่วมกันคิดหาทางออก ว่าจะช่วยพี่น้องเกษตรกรได้อย่างไร จึงหันมาลองทำการเกษตรแบบอินทรีย์เมื่อ 4 ปีก่อน โดยการส่งเสริมให้มีการใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า แม้จะให้ผลผลิตน้อย แต่ก็ให้กำไรมากกว่า ขณะเดียวกันยังได้สนับสนุนให้มีการทำอาชีพเสริม นอกจากการทำนาแล้ว ก็ปลูกผัก เลี้ยงปลา เป็นต้น

            ขณะเดียวกัน ได้ต่อยอดไปทำ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน ซึ่งตำบลสิงหนาทได้เข้าร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ ให้รู้จักทำการเกษตรแบบปลอดภัย มีต้นทุนการผลิตต่ำ และผลิตโดยคำนึงถึงตลาดที่จะขายผลผลิตด้วย

            นายกฯชัยวิทย์ ยังยืนยันด้วยว่า เขาเตรียมประกาศให้ตำบลสิงหนาทเป็น “ตำบลอาหารปลอดภัย”  โดยการพัฒนากลุ่มอาชีพ กลุ่มปลูกผัก กลุ่มประมง และกลุ่มผลิตข้าว ให้ผลิตสินค้าที่ปลอดภัยจากสารเคมี และต่อไปจะมีการทำฉลากเพื่อนำไปติดสินค้าของตำบลสิงหนาท เพื่อเป็นเครื่องการันตีให้บริโภคมีมั่นใจว่าได้รับประทานอาหารปลอดภัย

            “เกษตรกรยุคใหม่ต้องปรับตัว จะทำวิถีเดิมๆ ไม่ได้ ต้องเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ พร้อมกับพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และต้องนำเด็กรุ่นใหม่ซึ่งมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี และการตลาดเข้ามาช่วยด้วย จึงจะอยู่รอด และในฐานะผู้นำต้องเป็นแบบ ทำให้เขาเห็นก่อน ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่ทำ ไปบอกอย่างเดียวเขาไม่เชื่อหรอก” นายก อบต.สิงหนาท กล่าว

           ตำบลสิงหนาท ถือเป็นตำบลต้นแบบที่มีผู้นำที่เข้มแข็งและเครือข่ายที่เข้มแข็งนำมาซึ่งความร่วมมือของเกษตรกรทั้งตำบลด้วย “ใจเดียวกัน” ทำให้เป้าหมาย “ตำบลอาหารปลอดภัย” คงไม่ไกลเกินเอื้อม

 

หมายเลขบันทึก: 643365เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท