เปลี่ยนผักขมๆ ให้น่าดมน่ากิน ปรับเมนูโปรดเพื่อสุขภาพเด็กน้อย


“เรามีการออกแบสมุดบันทึกนักเรียนที่บริโภคผักและผลไม้เหลือทิ้ง ให้นักเรียนแกนนำได้จดบันทึกพฤติกรรมที่เฝ้าสังเกตจากการรับประทานอาหารมื้อกลางวันทุกวัน ขณะเดียวกันก็ประเมินการจัดทำเมนูให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทุกสัปดาห์ อบรมให้ความรู้แก่แม่ครัว ให้จัดการอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามหลักโภชนาการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดี”


 “หนูกินไม่เป็น”

   “ผักไม่อร่อย มันขม”

            คำตอบจากปากของวัยจิ๋ว เฉลยปริศนาของเศษอาหารกลางวันที่เหลือทิ้งทุกวัน โดยเฉพาะประเภทผักและผลไม้ที่มักจะโดนเขี่ยทิ้ง ยิ่งหากวันไหนมีคะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ เป็นส่วนประกอบ เศษอาหารจะมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับผลไม้ประเภทมะละกอ และแก้วมังกร ที่เด็กๆ มักแอบทิ้งเป็นส่วนใหญ่

          สภาพปัญหานี้เกิดขึ้นที่โรงเรียนวัดศิริจันทาราม ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทางโรงเรียนไม่อาจมองข้ามได้ เพราะการที่เด็กมีทัศนคติไม่ชอบทานผักผลไม้ จะส่งผลไปถึงการเจริญเติบโต และพัฒนาการด้านอื่นๆ ทางคณะครูและผู้บริหารในโรงเรียนจึงหารือกัน และมองเห็นว่าโครงการส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียน ของ สสส.สำนัก 6 น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม และแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด

            กุมารี ช้างเชื้อวงษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนวัดศิริจันทาราม เล่าว่า จากสังเกตพฤติกรรมเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 196 คน พบว่าเด็กเลือกกินเฉพาะเนื้อสัตว์และข้าวเป็นหลัก ส่วนผักผลไม้จะเลือกกินแค่บางอย่าง ชนิดไหนไม่เคยกินมาก่อนจะไม่กินเลย โดยเฉพาะอนุบาล-ป.2 มีพฤติกรรมไม่ชอบรับประทานผักผลไม้มากที่สุด

            “เรามีการออกแบสมุดบันทึกนักเรียนที่บริโภคผักและผลไม้เหลือทิ้ง ให้นักเรียนแกนนำได้จดบันทึกพฤติกรรมที่เฝ้าสังเกตจากการรับประทานอาหารมื้อกลางวันทุกวัน ขณะเดียวกันก็ประเมินการจัดทำเมนูให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทุกสัปดาห์ อบรมให้ความรู้แก่แม่ครัว ให้จัดการอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามหลักโภชนาการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดี” ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบาย

            นอกจากนี้ยังได้พัฒนาศักยภาพแกนนำนักเรียน ด้วยการอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ แล้วให้แกนนำถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนในโรงเรียน ผ่านช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมหน้าเสาธง เสียงตามสาย โฮมรูม กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ กิจกรรมเมนูเพื่อสุขภาพ อาทิ เมนูส้มตำ ผัก/ผลไม้เพื่อสุขภาพ, เมนูผักชุบแป้งทอดเพื่อสุขภาพล เมนูน้ำผัก/ผลไม้ต้านมะเร็งเพื่อสุขภาพ เมนูแซนด์วิชประกันชีวิต, เมนูสลัดผัก ผลไม้เพ่อสุขภาพ, เมนูยำสารพัดผักเพื่อสุขภาพ, เมนูบิงชูน้ำแข็งใสเพื่อสุขภาพ รวมถึงจัดเวทีคืนความรู้ “หนูน้อยรักผัก”

            ครูกุมารี เล่าว่า เงื่อนไขสำคัญ คือคณะกรรมการ คณะทำงาน แกนนำนักเรียน ต้องเริ่มรับประทานผักผลไม้เป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เด็กนักเรียนคนอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ผักผลไม้ รณรงค์ให้มีการล้างก่อนรับประทานทุกครั้ง และยังนำกิจกรรมการส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้ไปบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์

  ขณะที่ วิศัลย์ บุญกัน ครูผู้ดูแลนักเรียนแกนนำโครงการ กล่าวเสริมว่า สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องจัดให้เอื้อต่อการบริโภคผักผลไม้ และลำพังการจัดการภายในโรงเรียนคงทำไม่สำเร็จ จึงต้องดึงแกนนำผู้ปกครองและชุมชนเข้าร่วม ให้เป็นแหล่งผลิตผักและผลไม้ปลอดสารพิษสู้สถานศึกษา โดยมีครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหลัก

   สารพัดวิธีที่คณะทำงานโครงการนำมาใช้ ทำให้ผลสำรวจพบว่าจำนวนเด็กนักเรียนที่บริโภคผักเล็กน้อย 154 คน และไม่บริโภคผักเลยก่อนเข้าร่วมโครงการ 30 คน เมื่อดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เด็กๆ 154 คน ที่บริโภคผักผลไม้อยู่แล้ว หันมาบริโภคผักผลไม้ในปริมาณที่มากขึ้น ส่วนเด็กที่ไม่บริโภคผัก 30 คน หันมาบริโภคผักจำนวน 20 คน

  แม้จะยังปรับพฤติกรรมให้หันมาบริโภคผักผลไม้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็สร้างแรงจูงใจให้เด็กส่วนใหญ่หันมารับประทานผักผลไม้ได้ในระดับที่ดี และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หากกระตุ้นและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่เด็กๆ จะหันมารับประทานผักผลไม้ย่อมมากขึ้น และช่วยให้พวกเขาได้รับคุณค่าทางโภชนาการจากผักผลไม้อย่างเพียงพอ

หมายเลขบันทึก: 643216เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2017 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2017 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ยายธี"..ก็เป็นเด็ก..ที่ไม่กินผัก..มาจนป่านนี้..ยังปรับพฤติ กรรม..ไม่ได้..๕๕๕..(จนแก่). แถมมีเพื่อนชอบกินผัก..เลย..ชอบ..ตักไปใส่จานเพื่อน..(หนูไม่ได้เขี่ยทิ้งนะ)..อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท